ย้อนกลับไปช่วงวัยเด็ก เชื่อว่า ‘การ์ดสะสม’ ในภาพจำของหลายคนคงไม่ต่างจากของเล่นทั่วไปที่แถมมากับซองขนม ส่วนใหญ่มักเป็นรูปตัวการ์ตูนที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษแข็งเคลือบมันลวดลายงดงาม ซึ่งในวงการกีฬาเองก็มีของสะสมประเภทนี้เช่นกัน ทั้งยังมีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าผ้าพันคอ เสื้อแข่ง พวงกุญแจ ตลอดจนของที่ระลึกต่างๆ สะท้อนถึงความรักและความหลงใหลที่มีต่อทีมหรือนักกีฬาคนนั้น 

โดยในโลกกีฬานั้นจะเรียกว่า ‘สปอร์ตการ์ด’ (Sport Card) ส่วนใหญ่มักนำภาพนักกีฬาชื่อดังแต่ละวงการมาพิมพ์ลงบนกระดาษแข็งเคลือบมัน ขนาดประมาณ 2.5 x 3.5 นิ้ว อีกทั้งยังมีการระบุวันเดือนปี วาระสำคัญที่ผลิต รวมถึงเลขจำนวนการผลิต เพื่อเพิ่มคุณค่าในการสะสมไปด้วยในตัว

 

 การ์ดนักฟุตบอลที่วางขายโดยบริษัท Panini ในมหกรรมฟุตบอลโลกปี 2010 (ที่มา: Panini)

ความนิยมในช่วงยุค 1900s

ช่วงต้นทศวรรษ 1900s การแข่งขันกีฬาเบสบอลเมเจอร์ลีกสหรัฐฯ ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับหนึ่งในหมู่ชาวอเมริกัน บริษัทผลิตยาสูบชื่อดังอย่าง American Tobacco Company จึงเริ่มผลิตภาพเหมือนนักกีฬาเบสบอลออกวางขายคู่กับซองบุหรี่ หรือที่เรียกกันว่า ‘บัตรบุหรี่’ (Tobacco Card) ตามสนามแข่งขัน แทนที่การ์ดภาพวาดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยชื่อซีรีส์การ์ดว่า ‘T206’ ซึ่งสามารถเจาะตลาดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

จนกระทั่งปี 1911 การ์ดนักกีฬาเบสบอลที่แถมมากับซองบุหรี่ต้องถูกระงับการขาย หลังจากนักกีฬาเบสบอลระดับตำนานอย่าง โฮนัส วากเนอร์ (Honus Wagner) แห่งทีมพิตส์เบิร์ก ไพเรตส์ (Pittsburgh Pirates) ออกมาต่อต้านและไม่อนุญาตให้นำใบหน้าของเขามาผลิตลงบนการ์ดคู่กับการขายบุหรี่ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการส่งเสริมให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพก่อนวัยอันควร ทำให้ราคาการ์ดที่มีรูปวาดของ โฮนัส วากเนอร์ ที่ว่ากันว่าถูกผลิตออกมาด้วยจำนวนจำกัดเพียง 200 ใบเท่านั้น ราคาพุ่งสูงจาก 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปเป็น 3.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลาต่อมา จากการประมูลบนเว็บไซต์อีเบย์

 

การ์ดเบสบอลที่มีภาพของ โฮนัส วากเนอร์ ตีพิมพ์ (ที่มา: Yahoo Finance)

ไฉนจึงสร้างมูลค่าได้มหาศาล?

หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดของสะสมที่ทำจากกระดาษใบเล็กๆ นี้ สามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล บ้างก็ว่าเพราะความชื่นชมในตัวนักกีฬาคนนั้น หรือเพราะความคลั่งไคล้สุดขีดต่อทีมที่ชื่นชอบ แต่หากเจาะลึกลงไปกว่านั้นก็จะพบว่า นอกจากเรื่องกาลเวลาและจำนวนการผลิตอันจำกัดที่ช่วยเพิ่มมูลค่าขึ้นแล้ว ลายเซ็นและชิ้นส่วนชุดแข่ง (Jersey) ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สปอร์ตการ์ดได้อีกหลายเท่าตัว เนื่องจากการผลิตหนึ่งคอลเลกชัน จะหลุดการ์ดที่มีองค์ประกอบที่ว่าอย่างน้อย 1-100 ใบเท่านั้น ต่ออัตราการ์ดที่อยู่ในซองเพียง 5-6 ใบ ฉะนั้น ผู้ที่ได้ไปครอบครองย่อมไม่ต่างจากการค้นพบขุมทรัพย์ที่ประเมินค่ามิได้ ตัวอย่างเช่น การ์ด Exquisite Collection – LeBron James ปี 2003-2004 ผลิตโดยบริษัท Upper Deck ซึ่งมีภาพของ ‘คิงเจมส์’ หรือ เลบรอน เจมส์ (LeBron James) นักกีฬาบาสเก็ตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ของเอ็นบีเอ ในสมัยที่ยังอยู่กับทีมคลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส โดยรายละเอียดของการ์ดนอกจากภาพของเลบรอนแล้ว ยังมีลายเซ็นและเศษชายเสื้อแข่งแนบมาด้วย รวมถึงตัวเลข 9.5 ที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของการ์ดใบนี้ ที่สำคัญ มีการบอกเลขรันนัมเบอร์เพื่อบ่งบอกว่ามีการผลิตจำนวนจำกัด เพราะคอลเลกชันการ์ดของเขาถูกผลิตออกมาเพียง 23 ใบตามหมายเลขบนเสื้อแข่ง ทั้งหมดทำให้ราคาการ์ดใบนี้พุ่งสูงถึง 1.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในตลาดซื้อขายการ์ด

 

การ์ด Exquisite Collection – LeBron James ปี 2003-2004 (ที่มา: Fox Sport)

แด่ความรักจากนักสะสมตัวยง

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา ในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา มีข่าวฮือฮาหลังการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ของ ด็อกเตอร์ โธมัส นิวแมน (Dr.Thomas Newman) นักประสาทวิทยาชาวสหรัฐฯ ครอบครัวของเขาต้องตกตะลึงในสิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้ นั่นคือชุดการ์ดของนักเบสบอลระดับตำนานอย่าง เบ็บ รูธ (Babe Ruth) ปี 1933 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการ์ดคอลเลกชันซีรีส์ Goudey ใบที่ 53 รวมอยู่ด้วย

 หลังจาก Memory Lane Auctions บริษัทผู้ผลิตการ์ดที่ด็อกเตอร์นิวแมนเก็บสะสม และ Professional Sports Authenticator (PSA) หนึ่งในแผนกย่อยของ Collectors Universe, Inc. องค์กรรับรองการเก็บสะสมที่น่าเชื่อถือ ได้ทราบข่าวดังกล่าว พวกเขาประเมินราคาการ์ดที่ว่า ซึ่งเพียงใบเดียวอาจตีมูลค่าได้สูงสุดถึง 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ยังเหลือการ์ดอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ

“ไม่มีใครสนุกกับการสะสมของทอมเท่าไหร่นัก เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งของชีวิตหมดไปกับการสะสมการ์ดพวกนั้น ทอมมีความสุขมาก และมักเรียกการ์ดของเขาแบบติดตลกว่ากระดาษเบบี้ มีเพียงเหตุผลเดียวที่เขาจะยอมปล่อยการ์ดเหล่านั้นออกจากอ้อมอก คือการเอาไปแลก หากได้ซ้ำมา” แนนซี นิวแมน ภรรยาของด็อกเตอร์นิวแมน พูดอย่างติดตลกถึงความรักที่สามีเธอมีต่อการ์ดนักกีฬาเบสบอลสุดรักสุดหวง

ครอบครัวนิวแมนยังเล่าอีกว่า ด็อกเตอร์นิวแมนเก็บสะสมการ์ดเบสบอลมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หรือตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา ก่อนจะเก็บสะสมมาเรื่อยๆ ทั้งในบ้าน ห้องนอน รวมถึงห้องทำงานที่สำนักงานทางการแพทย์รัฐแทมปา จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จึงไม่ต่างกับมรดกมูลค่ามหาศาลที่ทิ้งไว้ให้ครอบครัวแบบไม่ตั้งใจ

ดอกเตอร์ โธมัส นิวแมน กับหนึ่งในการ์ดเบสบอลสุดล้ำค่าของเขา (ที่มา: The Independent)

สุดท้าย สปอร์ตการ์ดจะกลายเป็นเพียงแค่กระดาษที่รอวันย่อยสลาย หรือสร้างมูลค่ามากมายมหาศาลเพียงใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่แฝงอยู่ในนั้นล้วนมีจุดกำเนิดจากความรักที่มีต่อกีฬาของผู้เก็บสะสม ไม่ต่างจากสิ่งชุบชูใจยามเหนื่อยล้าเศร้าหมอง อย่างน้อยสิ่งของเหล่านี้ก็เป็นมูลค่าทางจิตใจให้หายคิดถึง ยามมองย้อนกลับไปในอดีตอันแสนหวาน

 

ที่มา

https://athlonsports.com/overtime/most-valuable-sports-trading-cards-by-sport

https://www.ebay.com/b/Michael-Jordan-Basketball-Sports-Trading-Cards-Accessories/212/bn_16641292

https://memorylaneinc.com/smr21-newman-press-release.html

https://vintagecardprices.com/

https://www.psacard.com/smrpriceguide

 

Tags: , , ,