คริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo), คาริม เบนเซมา (Karim Benzema), เอ็นโกโล ก็องเต้ (N’golo Kante) ชื่อเหล่านี้คือระดับพระกาฬในวงการฟุตบอลของโลกทั้งสิ้น หากย้อนไปเพียงไม่นานนี้ แฟนฟุตบอลยังเห็นพวกเขายังโลดแล่นอยู่ในสโมสรระดับท็อปของยุโรปอยู่เลย

แต่ช่วงที่ผ่านมา นักเตะเหล่านี้กลับกลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ในสำนักข่าวกีฬาทุกแห่ง จากการย้ายไปร่วมสโมสรในซาอุดี โปรเฟสชันแนล ลีก (Saudi Pro League) ลีกที่ไม่มีใครคาดคิดของประเทศซาอุดีอาระเบีย 

ยังไม่นับสตาร์คนอื่นๆ ที่กำลังจะกลายเป็นนักเตะใหม่บนดินแดนแห่งคาบสมุทรอาหรับนี้อีก เช่น เอดูอาร์ด เมนดี้ (Edouard Mendy) ฮาคิม ซีเยค (Hakim Ziyech) และคาลิดู คูลิบาลี (Kalidou Kulibaly) สามนักเตะจากเชลซี กระทั่งก่อนหน้านี้ก็มีชื่อของซน ฮึงมิน (Son Heung-Min) สตาร์ทีมชาติเกาหลีใต้จากท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ส หรือ ลิโอเนล เมสซี (Lionel Messi) นักฟุตบอลหมายเลขหนึ่งของโลก ซึ่งรายหลังตัดสินใจเลือก เมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ (Major League Soccer) ของอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางแทน

อายุอานามของแต่ละคนอาจเข้าสู่ช่วงบั้นปลายอาชีพแล้ว แต่หากนับเฉพาะฝีเท้าและประสบการณ์ แฟนฟุตบอลต่างรู้กันดีว่าพวกเขายังสามารถเล่นเกมระดับท็อปได้อย่างน้อย 2-3 ปี

แต่หากพูดถึงเกียรติยศในการคว้าแชมป์กับสโมสรต้นสังกัดหรือรางวัลส่วนตัวที่ผ่านมา นักเตะหลายคนที่กล่าวมาก็คว้ามาจนแทบครบทุกโทรฟี่บนโลกนี้แล้ว ดังนั้นเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ อาจเป็นเพราะนักเตะเหล่านี้ต้องการแสวงหาความท้าทายบนดินแดนใหม่ๆ ในช่วงท้ายของอาชีพ และแน่นอนว่าค่าจ้างในระดับที่สูงมหาศาลก็มีผลเช่นกัน

ท่ามกลางความสนใจของสโมสรอื่นๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่จุดหมายปลายทางของนักเตะระดับท็อปเหล่านี้กลับมุ่งสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย 

ทำไมต้องที่นี่?

ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย

ซาอุดีอาระเบียถือเป็นชาติยักษ์ใหญ่และแข็งแกร่งของฟุตบอลทวีปเอเชีย พวกเขาอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย ตามหลังเพียงแค่ ญี่ปุ่น อิหร่าน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ส่วนในอันดับโลก พวกเขาอยู่ในอันดับที่ 54 ถือว่าไม่สูงมาก (ไทยอยู่อันดับ 114)

ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในทีมชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชีย พวกเขาได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เอเอฟซี เอเชียน คัพ (AFC Asian Cup) ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติถ้วยใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย 6 ครั้ง และคว้าแชมป์มาได้ 3 สมัย (1984, 1988 และ 1996) รวมถึงผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 6 ครั้ง ถือเป็นอีกหนึ่งขาประจำจากเอเชียในฟุตบอลโลก

ขณะที่การแข่งขันภายในประเทศอย่าง Saudi Pro League ซึ่งเป็นลีกการแข่งขันทางการของซาอุดีอาระเบีย ภายใต้การควบคุมของสหพันธ์ฟุตบอลซาอุดีอาระเบีย (SFF) ก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นลีกที่มีคุณภาพสูงสุดอันดับที่ 58 ของโลก โดยพิจารณาจากความแข็งแกร่งของแต่ละทีมในลีกโดยเฉลี่ย อันดับดังกล่าวต่ำกว่า Premiership ของสกอตแลนด์ (อันดับที่ 49) แต่เหนือกว่า Serie C (อันดับที่ 68) ในอิตาลี

จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา แม้ทีมชาติซาอุดีอาระเบียจะเป็นยักษ์ใหญ่ในระดับเอเชีย แต่หากเทียบในระดับโลก พวกเขาก็ยังไม่ได้แข็งแกร่งขนาดนั้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากมองในระดับลีกฟุตบอลของซาอุดีอาระเบียถือว่าเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีแฟนบอลจำนวนมากที่มาเชียร์ทีมรักจนเต็มสนาม รวมถึงมีการจัดแข่งขันชิงถ้วยภายในประเทศ ทั้งยังมีสโมสรจากซาอุดีอาระเบียที่ได้เข้าร่วมศึก AFC Champions League ซึ่งเป็นการชิงชัยถ้วยระดับสโมสรที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียเป็นประจำ และปัจจุบันก็มีนักเตะซาอุดีอาระเบียที่ไปค้าแข้งกับสโมสรในยุโรปบ้างแล้ว

จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า ฟุตบอลถือเป็นกีฬา ‘สมัยใหม่’ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย ณ ขณะนี้ 

ฟื้นฟูภาพลักษณ์

ในขณะที่ความทะเยอทะยานด้านกีฬาของซาอุดีอาระเบียเติบโตขึ้น ผู้คนยังคงสงสัยว่าอะไรอยู่เบื้องหลังทั้งหมดนี้ 

มีการวิเคราะห์ว่า ความเป็นจริงคือซาอุดีอาระเบียต้องการใช้กีฬาในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ (Sportswashing) ของประเทศ ใช้กีฬาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ใช้กีฬาช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร ซึ่ง 70% ในจำนวนนี้มีอายุต่ำกว่า 35 ปี และสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน

มีข้อมูลที่ระบุว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมการแข่งขันกีฬาของซาอุดีอาระเบียเติบโตขึ้น 8% ต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.1 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2018 เป็น 3.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2019 

และในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียทุ่มเงินอย่างน้อย 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ลงทุนทั่วโลกกีฬาทั้งในระดับนานาชาติและภายในประเทศ ตั้งแต่หมากรุก กอล์ฟ เทนนิส สนุกเกอร์ มวย และเพียงแค่งานแข่งม้า Saudi Cup งานเดียว ก็ใช้เงินไปกว่า 60 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อชิงเงินรางวัล 20 ล้านดอลลาร์ฯ จนกลายเป็นงานแข่งม้ามูลค่าสูงที่สุดในโลก

ยังไม่นับการเซ็นสัญญาข้อตกลงสิบปี มูลค่า 650 ล้านดอลลาร์ฯ ในการแข่งขันฟอร์มูลาวัน และทำข้อตกลงกับสมาคมฟุตบอลสเปน 145 ล้านดอลลาร์ฯ

ดังนั้น หากคำถามคือ ภาพลักษณ์ที่ซาอุดีอาระเบียต้องการฟื้นฟูคืออะไรกันแน่

คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดคงเป็น ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้าย 

นับตั้งแต่ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed Bin Salman) ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองอำนาจซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ปี 2015 และได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย เมื่อปีที่ผ่านมา (2022) ชื่อของเขาก็ถูกเชื่อมโยงกับการปราบปรามศัตรูหรือผู้เห็นต่างทางการเมืองมากมาย มีการจับนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว รวมถึงจับกุมและกวาดล้างเจ้าชายกว่า 40 พระองค์ 

สื่อตะวันตกวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งของการปราบปรามเป็นไปเพื่อรักษาฐานอำนาจ ขณะที่อิยาด เอล-แบกห์ดาดี (Iyad El-Baghdadi) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน อธิบายว่าสิ่งที่เจ้าชายทำเป็น ‘ความปรารถนาที่จะได้รับความรัก’

มีการวิเคราะห์อีกว่า เขาจำเป็นต้องพยายามรักษาโครงสร้างอำนาจไว้ เนื่องจากรายได้จากระบบเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียที่พึ่งพาน้ำมันลดน้อยลง ส่งผลกระทบให้การลงทุนจากต่างชาติหดตัวลงตาม จึงจำเป็นต้องกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจให้ห่างไกลจากการพึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว

นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของซาอุดีอาระเบียติดลบในสายตาต่างชาติ

จึงไม่มีอะไรที่จะช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของซาอุดีอาระเบียได้ดีเท่ากีฬา ที่เป็นภาพแทนของความมีน้ำใจนักกีฬาที่เต็มไปด้วยคุณธรรม รู้แพ้รู้ชนะ และสปิริตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ยังเป็นการนำเสนอซาอุดีอาระเบียมุมมองใหม่ ในฐานะประเทศที่เป็นมิตรและมีความคิดก้าวหน้า ทั้งเป็นการการจูงใจนานาชาติว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลกแห่งใหม่ รวมถึงการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ร่มของเมกะโปรเจกต์ ‘Vision 2030’ ของเจ้าชาย บิน ซัลมาน เพื่อพลิกโฉมซาอุดีอาระเบีย 

Vision 2030 เมกะโปรเจกต์พลิกโฉมซาอุดีอาระเบีย

ตั้งแต่การเข้าเทกโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล แห่งศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ในปี 2021 กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุดีอาระเบีย Public Investment Fund (PIF) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นเจ้าของของสโมสร ก็ได้เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ของ 4 สโมสรใหญ่ในซาอุดีอาระเบียเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือสโมสรอัล นาสเซอร์ ต้นสังกัดของคริสเตียโน โรนัลโด สตาร์เบอร์หนึ่งทีมชาติโปรตุเกส ที่เพิ่งย้ายมาจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา

นอกจากการฟื้นฟูภาพลักษณ์ระดับประเทศในสายตาของนานาชาติ สิ่งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ตอนนี้ซาอุดีอาระเบียกำลังพยายามที่จะผลักดันและปรับปรุงลีกฟุตบอลในประเทศทั้งหมด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ ‘Vision 2030’ ที่เริ่มประกาศเมื่อปี 2016 ความทะเยอทะยานล่าสุดของเจ้าชายบิน ซัลมาน ที่ต้องการผลักดันแผนเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ในปี 2030 โดยมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย และจะ ‘เปลี่ยน’ ซาอุดีอาระเบียทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ 

ไม่ต้องสงสัยว่า นี่เป็นการปูทางเพื่อไปสู่การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030 และเมื่อถึงวันนั้น ซาอุดีอาระเบียอาจจะกลายเป็น ‘อิทธิพลใหญ่’ คนใหม่ของโลกฟุตบอลในตะวันออกกลาง และดึงดูดเหล่าสตาร์ให้มาค้าแข้งเป็นจำนวนมาก 

ดั่งที่คริสเตียโน โรนัลโด เคยให้สัมภาษณ์ไม่นานมานี้ว่า “Saudi Pro League มีโอกาสก้าวไปเป็นลีกระดับท็อป 5 ของโลกได้”

ดินแดนแห่งโลกมุสลิม

นอกจากแผนการอันทะเยอทะยานที่ดึงดูดเหล่านักเตะระดับท็อปให้มาค้าแข้งแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่มีส่วนคือเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมุสลิม

หลายครั้งมักมีคนเปรียบเทียบ ‘ฟุตบอล’ กับเรื่องของ ‘ศาสนา’ เพราะทั้งสองสิ่งคล้ายเป็น ‘ภาพ’ ที่ทำให้เหล่าสาวกศรัทธาสุดใจ แต่ก็ไม่บ่อยนักที่เรื่องของศาสนศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญต่อเรื่องเงินๆ ทองๆ ในกีฬาระดับสูง

แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กรณีของ คาริม เบนเซมา ดาวยิงระดับบัลลงดอร์คนล่าสุด ซึ่งเป็นรางวัลส่วนบุคคลสูงสุดของโลกฟุตบอล ที่เพิ่งย้ายจากเรอัล มาดริด สู่ทีมอัล-อิตติฮัด ของซาอุดีอาระเบีย 

ในการแถลงข่าวเปิดตัวสู่สโมสรอัล-อิตติฮัด เบนเซมาถูกถามว่าทำไมจึงเลือกซาอุดีอาระเบีย เขาตอบว่า “เพราะว่าผมเป็นมุสลิม และที่นี่เป็นประเทศมุสลิม ส่วนตัวผมอยากอาศัยอยู่ในประเทศแบบนี้มาตลอด” และเสริมว่า ครอบครัวของเขาก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ย้ายไปอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสองแห่งของศาสนาอิสลาม (เมืองเมกกะและเมืองเมดินา) ซึ่งเขาเคยเดินทางไปทำพิธีอุมเราะห์ในประเทศนี้มาแล้วสองครั้ง

“การย้ายทีมครั้งนี้จะทำให้ผมได้มีชีวิตใหม่ ผมอยากเรียนภาษาอาหรับและพูดได้คล่อง” เบนเซมา ผู้มีเชื้อสายแอลจีเรียกล่าวเสริม “ผมเคยมาซาอุดีอาระเบียแล้ว กรุงเมกกะก็อยู่ใกล้มาก สิ่งนี้สำคัญสำหรับผมในฐานะผู้ศรัทธา นี่คือที่ที่ผมจะรู้สึกดีที่สุดจากสภาพแวดล้อมต่างๆ”

เช่นเดียวกับ เอ็นโกโล ก็องเต้ มิดฟิลด์คนสำคัญจากเชลซี ที่เพิ่งตกลงย้ายมาสู่ทีมเดียวกับเบนเซมา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติฝรั่งเศส และเป็นมุสลิมที่ถือศีลอดเป็นประจำในช่วงเดือนรอมฎอน

ขณะที่ มอสตาฟา โมฮาเหม็ด (Mostafa Mohamed) นักข่าวชาวอียิปต์ที่เขียนบทความเกี่ยวกับกีฬาและเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์กับ Middle East Eye ว่า “สำหรับผู้เล่นชาวมุสลิมบางคนที่ใกล้เข้าสู่ช่วงบั้นปลายของอาชีพ และอาจมีครอบครัวที่ต้องการย้ายมาอยู่กับพวกเขา โอกาสที่จะได้รับประสบการณ์และใช้ชีวิตในประเทศมุสลิมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ” 

แต่นอกเหนือจากเรื่องความศรัทธาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่มีบทบาทเช่นกัน 

“ในท้ายที่สุด เช่นเดียวกับนักเตะคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่มุสลิม นักฟุตบอลย่อมมีการแข่งขันตามปกติและต้องการเล่นในระดับสูงสุด พร้อมกับเหล่านักเตะที่ดีที่สุดและเพื่อเงินมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” โมฮาเหม็ดเน้นย้ำ

ค่าเหนื่อยมหาศาล

มีรายงานว่า คาริม เบนเซมา จะได้รับค่าเหนื่อยมากถึง 200 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ คริสเตียโน โรนัลโด อดีตเพื่อนร่วมทีมเรอัล มาดริด ในขณะที่ เอ็นโกโล ก็องเต้ จะได้รับค่าเหนื่อยประมาณ 107 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี

ในประเด็นนี้ มีการวิเคราะห์ว่า สำหรับผู้เล่นหลายคน ‘เงิน’ เป็นองค์ประกอบหลัก ที่สโมสรในยุโรปไม่สามารถแข่งขันกับจำนวนเงินมหาศาลของซาอุดีอาระเบียได้

“ลีกของซาอุดีอาระเบียกำลังเสนอแพ็คเกจค่าเหนื่อยที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับผู้เล่นที่ยังเหลือเวลาอีกหลายปีในการเล่นในระดับสูงสุด” ซามี อัล-อาเรียน (Sami Al-Arian) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวคูเวตกล่าว

ซาอุดีอาระเบียไม่ใช่ประเทศแรกที่พยายามใช้ค่าเหนื่อยมหาศาลจูงใจนักเตะจากลีกท็อปไฟว์ของยุโรป (อังกฤษ, สเปน, เยอรมนี, อิตาลี และฝรั่งเศส) แต่ความพยายามของประเทศนี้ถือเป็น ‘ระดับใหม่’ ซึ่งแตกต่างออกไปและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิเคราะห์มองว่า ระดับการลงทุนของซาอุดีอาระเบียครั้งนี้อยู่ใน ‘ลำดับความสำคัญ’ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และด้วยการสนับสนุนจากระบอบการปกครองของซาอุดีอาระเบีย การสั่นสะเทือนนี้จะยั่งยืนยิ่งกว่าที่จีน รัสเซีย หรือหรือสหรัฐอเมริกา เคยทำการซื้อผู้เล่นระดับท็อปในช่วงปลายอาชีพเพื่อไปโลดแล่นในลีกของประเทศตัวเอง แบบเดียวกันนี้มาแล้ว

น่าสนใจว่าความทะเยอทะยานเพื่อเขย่าโลกกีฬาครั้งนี้ จะพาซาอุดีอาระเบียกลายมาเป็นมหาอำนาจในโลกฟุตบอลได้มากน้อยแค่ไหน 

เพราะมันอาจหมายถึง การเป็นมหาอำนาจของโลกได้เลยทีเดียว

 

อ้างอิง

https://theathletic.com/4600483/2023/06/12/saudi-benzema-kante-transfers/

https://www.independent.co.uk/sport/football/messi-saudi-arabia-liv-pga-golf-sportswashing-b2353242.html

https://www.theguardian.com/sport/blog/2023/jun/07/saudi-arabia-deal-pga-major-step-sportswashing-golf

https://www.theguardian.com/world/2021/mar/28/saudi-arabia-has-spent-at-least-15bn-on-sportswashing-report-reveals

https://www.middleeasteye.net/news/saudi-arabia-footballers-going-why-faith-fortune

https://khelnow.com/football/2023-06-world-football-why-saudi-arabia-investing-heavily

Tags: , ,