“การแข่งขันโอลิมปิกนั้นเป็นเรื่องที่ดี คุณค่าของการแข่งขันโอลิมปิกนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน แต่ปัญหาที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่นั้น ก็คือการจัดการแข่งขันโอลิมปิกมันสมเหตุสมผลในด้านเศรษฐกิจหรือไม่สำหรับเมืองบางเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยมากมายที่ค้นพบว่ามันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลยสำหรับเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพ”

แอนดรูว์ ซิมบาลิสต์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เคยแสดงความกังวลถึงการที่เมืองบอสตันต้องการจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ไว้ในการให้สัมภาษณ์กับ PBS News เมื่อปี 2015 

ตัดภาพมาที่โอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว หนึ่งงานโอลิมปิกที่ถูกต่อต้านมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับให้เลื่อนการแข่งขันมาเป็นปี 2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระแสสังคมที่ชาวญี่ปุ่นเองออกมาคัดค้านมานานนับปีก่อนการจัดงานจริง จวบจนกระทั่งวันเปิดตัวงานอันยิ่งใหญ่อลังการ ก็ยังไม่วายมีการประท้วงจากประชาชนในอีกฟากของเมืองให้ยกเลิกการแข่งขัน

credit: AFP

หลักใหญ่ใจความของการประท้วงครั้งนี้คือความไม่พอใจประชาชนชาวญี่ปุ่นที่เห็นประเทศตัวเองตัดสินใจทุ่มเงินมหาศาลในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นมาเร่งแก้ปัญหาการจัดการกับโรคโควิด-19 ที่ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่โลกจะเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็มีปัญหาคาราคาซังที่แก้ไม่ตก เช่น ความสิ้นเปลืองทางงบประมาณ การกำจัดขยะ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ

การจัดโอลิมปิก 1 ครั้งต้องการอะไรบ้าง

ในเมื่อสายตาของผู้คนทั้งโลกกำลังจับตาดูอยู่ การจัดงานมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแบบประหยัดและเรียบง่าย ไม่เคยอยู่ในหัวของประเทศเจ้าภาพ เพราะมองให้ลึกไปกว่าการแข่งขันกีฬา มหกรรมโอลิมปิกคือการแสดงสถานะและศักยภาพของประเทศเจ้าภาพให้คนทั้งโลกได้ชื่นชม ซึ่งราคาของคำชมนั้นก็ต้องแลกมาด้วยงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมหาศาล

  • สถานที่แข่งขัน (Sporting Venue)

การจัดงานโอลิมปิกหนึ่งครั้งนั้น เมืองที่จัดต้องมีสถานที่แข่งขันกีฬา 35 แห่งที่ผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ส่วนใหญ่ต้องทำการปรับปรุงหรือไม่ก็สร้างใหม่ขึ้นมา

Credit: AFP

  • ที่พักนักกีฬา (Accommodation)

หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก (Olympic Village) สำหรับเป็นที่พักของนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ที่ต้องใช้เงินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ฯ 

  • ศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับสื่อ (Media Production Facilities)

การแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว มีค่าเฉลี่ยผู้ชมอยู่ที่ประมาณ 15.6 ล้านคน เมื่อมีผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลก สื่อจากนานาประเทศก็ต้องการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน เพราะฉะนั้น เจ้าภาพโอลิมปิกก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างศูนย์อำนวยความสะดวกเหล่านี้ให้กับสื่อต่างๆ ด้วย ซึ่งศูนย์ที่ว่านี้ก็ใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ฯ เลยทีเดียว

ยังไม่นับพื้นที่ในการจัดกิจกรรม พิธีการต่างๆ พื้นที่สีเขียว การคมนาคมที่ดี แถมยังต้องมีเลนพิเศษเพิ่มเติมบนถนนให้กับผู้บริหารระดับสูงของ IOC โดยเฉพาะอีกด้วย

 

ถ้าเรามาดูค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวในปีนี้ มีการรายงานว่า เป็นโอลิมปิกที่มีค่าใช้จ่ายเยอะที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในประวัติศาสตร์ อยู่ที่ 15.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (นี่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่รายงานออกมาอย่างเป็นทางการเท่านั้น คาดว่างบประมาณที่แท้จริน่าจะเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มากกว่าโอลิมปิกครั้งล่าสุดที่กรุง ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินจำนวนนี้เกินงบประมาณที่ทางเมืองโตเกียวได้ตั้งไว้ตอนที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในปี 2013 ถึง 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ในการจัดงานโอลิมปิกแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายที่เยอะที่สุดก็คือ ค่าก่อสร้าง (Construction of Venue) เช่น การสร้างสนามกีฬาใหม่ หรือการปรับปรุงสนามกีฬาดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วให้ได้มาตรฐานตามที่ IOC กำหนดไว้ ซึ่งก็มีการรายงานออกมาว่า ค่าใช้จ่ายของการสร้างสนามใหม่ของโอลิมปิกที่โตเกียวสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหมดไปกับการสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ขนาด 68,000 ที่นั่ง ในปี 2019 ศูนย์กีฬาขนาด 15,000 ที่นั่งสำหรับแข่งขันว่ายน้ำและวอลเลย์บอล รวมถึงปรับปรุงสนามแข่งขันกีฬาอื่นๆ อีก 25 แห่ง นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการเจรจาสัญญาต่างๆ ใหม่ เนื่องจากผลกระทบจากโควิดที่ทำให้งานโอลิมปิกครั้งนี้ต้องถูกเลื่อนไปอีก 1 ปี

Credit: Reuters

เมื่อมาดูตัวเลขจริงๆ ก็พอเข้าใจได้ถึงแรงต้านของประชาชนหลายกลุ่มที่ไม่พอใจต่อการจัดงานที่แพงระยับขนาดนี้ ท่ามกลางช่วงเวลาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้ แต่ถึงไม่มีโรคโควิด-19 นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่การจัดงานโอลิมปิกได้รับการต่อต้านจากกระแสสังคม 

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ในการจัดงานโอลิมปิกทุกครั้ง ประเทศที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกได้ใช้เงินเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ทั้งหมด จนทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดคะเนว่า มหกรรมกีฬาโอลิมปิกนั้นใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

 

Credit: Rheinruhrcity

Rhein-Ruhr 2032

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็ยังเป็นการแข่งขันทรงเกียรติและมีคุณค่าในแง่ของกีฬา เพราะฉะนั้น ประเทศเยอรมนีจึงได้คิดโปรเจ็กต์หนึ่งขึ้นมา เพื่อที่จะเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2032 ที่เมืองไรห์น-รัวร์นั่นเอง

ปกติแล้ว ไรห์น-รัวร์ไม่มีสิทธิ์เป็นเมืองเจ้าภาพในการจัดงานโอลิมปิก แต่ในปี 2020 นั้น ทาง IOC ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่าต้องการให้งานโอลิมปิกครั้งต่อๆ ไปมีความ ‘ยั่งยืน’ มากขึ้น จึงอนุญาตให้ประเทศต่างๆ สามารถยื่นเสนอภูมิภาค (Region) ในการเป็นเจ้าภาพได้ เนื่องจากจะได้ขยายพื้นที่ในการจัดงานโอลิมปิกให้มีศูนย์กีฬามากขึ้น เพื่อลดการก่อสร้างศูนย์กีฬาแห่งใหม่สำหรับงานโอลิมปิกโดยเฉพาะนั่นเอง จึงทำให้ไรห์น-รัวร์ซึ่งมีสถานะเป็นปริมณฑล (Metropolitan Region) สามารถทำหน้าที่เป็นเมืองเจ้าภาพได้นั่นเอง

แม้ว่าเขตปริมณฑล หรือมหานครไรห์น-รัวร์อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ว่าไรห์น-รัวร์เป็นเขตปริมณฑลที่ครอบคลุมเมือง 14 เมือง ตามแนวแม่น้ำไรน์และแม่น้ำรัวร์ มีจำนวนประชากรกว่า 11 ล้านคน ไรห์น-รัวร์เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมของเยอรมนี มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง เป็นเขตปริมณฑลที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของทวีปยุโรป พื้นที่ศูนย์นิทรรศการกว่า 700,000 ตารางเมตร พื้นที่ว่างสำหรับเตียง 100,000 เตียง และที่สำคัญที่สุดคือ เมืองกว่า 14 แห่งภายในพื้นที่ ทำให้ศูนย์กีฬาต่างๆ สำหรับการจัดการแข่งขันกว่า 90% นั้นมีพร้อมอยู่แล้วโดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรเพิ่ม

 

Credit: Rheinruhrcity

นอกจากนี้ ไรห์น-รัวร์ยังเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมจากทั่วยุโรป แต่สามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านความแข็งแกร่งของสโมสรกีฬา เช่น ดอร์ทมุนด์, เลเวอร์คูเซน, โคโลญจน์ ฯลฯ ซึ่งผู้วางแผนจัดงานนี้ก็ได้ให้คำจำกัดความสภาพจิตใจของผู้คนในพื้นที่นี้ว่า “We Mentality” หรือ “มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” นั่นเอง ถือเป็นจุดขายสำคัญ เนื่องจากผู้คนในพื้นที่นี้มีทัศนคติที่ดีต่องานโอลิมปิกและงานกีฬาต่างๆ 

ด้วยจิตใจที่รักในกีฬาของคนในพื้นที่ย่อมทำให้ศูนย์กีฬาน้อยใหญ่ต่างๆ มีความสำคัญ ได้รับการดูแลรักษาและพัฒนาเป็นอย่างดี ในไรห์น-รัวร์นั้นมีสโมสรกีฬากว่า 19,000 แห่ง รวมสมาชิกกว่า 5 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว และด้วยการที่มีสโมสรกีฬามากมายขนาดนั้น ไรห์น-รัวร์สามารถรองรับผู้ชมกีฬากว่า 6 แสนคนได้ในเวลาเดียวกันโดยที่ไม่มีความแออัดแม้แต่น้อย

Credit: Rheinruhrcity

สืบเนื่องจากทรัพยากรทางด้านกีฬาของเมืองไรห์น-รัวร์ที่มีพร้อมกว่า 90% ทำให้เป้าหมายของการเป็นงานโอลิมปิกที่ยั่งยืนที่สุดในประวัติศาตร์นั้นเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะถ้าเกิดว่ายิ่งลดจำนวนการก่อสร้างเพิ่มเติมไปได้มากเท่าไร ก็จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมลพิษต่อโลกได้มากเท่านั้น แถมภูมิศาสตร์ของเมืองไรห์น-รัวร์ก็เอื้อให้กับการเดินทางที่ยั่งยืนอีกด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางยุโรปทำให้คนทั่วทั้งยุโรปสามารถเดินทางมาได้ด้วยรถไฟภายใน 6 ชั่วโมงเท่านั้น

ไรห์น-รัวร์ยังตั้งเป้าที่จะจัดงานโอลิมปิกแบบไร้พลาสติก (Plastic Free) เป็นครั้งแรกของโลก ประกอบกับพัฒนาภาพลักษณ์ของไรห์น-รัวร์ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีแต่ถ่านหินและเหล็ก กลายเป็นเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัล ด้วยการลดความหนาแน่นของการจราจรด้วยรถยนต์อัตโนมัติ แท็กซี่ลอยฟ้า และการส่งของด้วยโดรน ล้วนแต่จะส่งผลดีต่อพื้นที่ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นไปได้ด้วยการจัดงานโอลิมปิก

แต่น่าเสียดายที่โปรเจกต์ ไรห์น-รัวร์นี้ยังไม่ได้ถูกรับเลือกจากทาง IOC และเจ้าภาพงานโอลิมปิก 2032 นั้นก็ตกเป็นของเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลียไปเรียบร้อยแล้ว แต่ทางประเทศเยอรมนีก็ยังไม่พับโปรเจ็กต์นี้ทิ้งไปเสียทีเดียว โดยได้วางแผนที่จะยื่นเสนอให้ปริมณฑลไรห์น-รัวร์เป็นเจ้าภาพอีกครั้งในช่วงปี 2030s  ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าโปรเจ็กต์แห่งอนาคตนี้จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เพราะว่างานโอลิมปิกอันทรงเกียรตินี้คงจะมีคุณค่าและน่าติดตามในหลายแง่มุมมากขึ้น หากว่ามันสามารถเพิ่มคุณค่าที่มากกว่าแค่คำว่า ‘กีฬา’ ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง

Credit: Rheinruhrcity

ที่มา

https://www.youtube.com/watch?v=WNrNrU9TnOc&ab_channel=AthleticInterest

https://www.prologisgermany.de/en/industrial-logistics-warehouse-space/europe/germany/rhine-ruhr-industrial-capital-western-germany

https://www.rheinruhrcity.com/en

https://www.theguardian.com/sport/2021/feb/26/german-officials-bemoan-non-transparency-of-2032-olympics-bid-selection

https://www.press1.de/wrapper.cgi/www.press1.de/files/kmeigen_kmpresse_1510061888.pdf

https://apnews.com/article/tokyo-coronavirus-pandemic-2020-tokyo-olympics-japan-olympic-games-3c46bce81928865d9aae0832b5ddd9e3

https://www.wsj.com/articles/the-tokyo-olympics-staggering-price-tag-and-where-it-stands-in-history-11627049612

Tags: , , , , , ,