อภิมหากาพย์กัลโชโปลี จุดเริ่มต้นเนื้อร้ายแห่งวงการฟุตบอลอิตาลี

ย้อนกลับไปฤดูกาล 2005/2006 เป็นปีที่วงการฟุตบอลอิตาลีต้องประสบกับความอื้อฉาวครั้งใหญ่กับคดีล็อบบี้ผู้ตัดสินเพื่อเอื้อผลการแข่งขัน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘กัลโชโปลี’ (Calciopoli)  โดยคดีนี้มีสโมรสรฟุตบอลในลีกกัลโชเซเรียอา เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 5 ทีม ได้แก่ ยูเวนตุส (Juventus) เอซีมิลาน (AC Milan) ลาซิโอ (Lazio) ฟิออเรนตินา (Fiorentina) และเรจจินา (Reggina) โดยมีหลักฐานเป็นซิมโทรศัพท์และเทปเสียงบันทึกการสนทนากันระหว่าง ลูชาโน มอจจี (Luciano Moggi) ผู้อำนวยการสโมสรยูเวนตุส ณ เวลานั้น กับ ปิแอร์ลุยจิ ไปเร็ตโต (Pier Luigi Pairetto) ประธานกรรมการผู้ตัดสินแห่งสมาพันธ์ฟุตบอลอิตาลี    

สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (FIGC) ใช้เวลาการตัดสินคดีดังกล่าวเพียง 2 อาทิตย์ และลงดาบ 5 ทีมมีส่วนเกี่ยวข้อง ตามวาระต่างกันไป แต่ที่หนักสุดย่อมหนีไม่พ้นยูเวนตุส ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ให้เกิดการกระทำดังกล่าว โดยทีมฉายาเบียงโคเนรี ถูกสั่งปรับตกชั้นลงไประดับกัลโชเซเรียบี ปรับเงินมหาศาล พร้อมถูกริบแชมป์ลีกย้อนหลัง 2 ปี คือ ฤดูกาล 2004/2005 และ 2005/2006 ซึ่งปีท้ายแชมป์ถูกยกให้กับอินเตอร์มิลาน (Inter Milan) อริตัวฉกาจ อีกทั้ง ลูชาโน มอจจี ยังถูกสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีสั่งแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลในประเทศตลอดชีวิต

แน่นอนว่า ลูชาโน มอจจี รู้สึกว่าผลตัดสินออกมาไม่เป็นธรรม คดีใหญ่ขนาดนี้แต่ทำไมเลือกสืบสาวเพียง 2 สัปดาห์ มีทีมถูกตัดสินแค่ 5 ทีม และทำไมเลือกจำเพาะเจาะจงเล่นงานยูเวนตุสหนักสุด

อดีตประธานยูเว่ใช้เวลานานหลายปีเก็บหลักฐานเพื่อลากอีกหนึ่งทีมต้องสงสัยที่ดูเหมือนจะมีสิทธิ์เกี่ยวข้องกับคดีกัลโชโปลีมาร่วมรับกรรม ซึ่งทีมต้องสงสัยคือ  ‘อินเตอร์มิลาน’ แชมป์ส้มหล่นและตัวตั้งตัวตีให้เกิดการสอบสวนคดี ที่มีประธานสโมสร ณ เวลานั้นเป็น มัสซิโม โมรัตติ (Massimo Moratti) รวมถึงบอร์ดบริหารที่มี ผ.อ. สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี และเจ้าของหนังสือพิมพ์กีฬาพิมพ์ลากัซ เซ็ตตา เดลโล สปอร์ต สื่อเจ้าแรกที่ตีข่าวคดีกัลโชโปลีรวมอยู่ด้วย

 ความสัมพันธ์อันน่าสงสัยและเอื้อให้เกิดการฉ้อฉลคล้ายจะใกล้เรื่องจริงเข้าไปทุกขณะ ปี 2012 มอจจี นำเทปดักฟังการสนทนากว่า 10,000 ม้วน เป็นหลักฐานยื่นพิจารณาคดีกับศาลเมืองเนเปิลส์ โดยหนึ่งในนั้นมีบทสนทนาระหว่าง จิอาซินโต ฟัคเค็ตติ (Giacinto Facchetti) กับ เปาโล แบร์กาโน (Paolo Bargano) กรรมการระดับอาวุโส แต่จนแล้วจนรอดศาลเมืองเนเปิลส์ได้ตัดสินว่าอายุความของคดีกัลโชโปลีหมดไปนานแล้ว หากต้องพิจารณาคดีใหม่ มัสซิโม โมรัตติ ต้องยินยอมให้เกิดกระบวนการรื้อฟื้นคดี

แล้วใครมันจะไปยอมล่ะครับ…

15 ปีต่อมา เนื้อร้ายแห่งฟุตบอลอิตาลีเติบโตขึ้นอีกครั้งในชื่อ ‘พลัสวาเลนซา’

ความอัปยศรอบแรกของวงการฟุตบอลอิตาลีจบลงไป เหลือไว้เพียงรอยแผลด่างพร้อยของยูเวนตุสและบรรดาสาวกเบียงโคเนรี แม้ในปี 2018 ศาลจะพิจารณาคดีใหม่ว่าอินเตอร์มิลานมีเอี่ยวกับคดีกัลโชโปลี ทว่าผลลัพธ์หรือเกียรติประวัติแชมป์ลีก 2 หนของยูเว่ก็ไม่ได้ถูกมอบคืน (เมื่อยูเวนตุสคว้าแชมป์ลีกพวกเขาจะบวกแชมป์ 2 สมัยที่ถูกริบรวมเข้าไปด้วย เห็นได้จากฤดูกาล 2019/2020 ที่พวกเขาคว้าแชมป์สมัยที่ 29 แต่กลับปักดาวเหนือตราสโมสร 3 ดวง และปักเลขฉลองแชมป์เป็น 31 สมัย)

กระทั่งผ่านไป 15 ปี ‘เนื้อร้าย’ ของลีกฟุตบอลกัลโชเซเรียอาได้ฉายแววลุกลามอีกครั้ง

28 พฤศจิกายน 2021 ชื่อของสโมสร ‘ยูเวนตุส’ ถูกพาดหัวตามสื่อกีฬาชื่อดังหลายเจ้าถึงคดีฉ้อโกงครั้งใหม่ ทว่าไม่ใช่การล็อกผลบอลหรือล็อบบี้กรรมการ แต่คดี ‘ตกแต่งบัญชีรายรับ-รายจ่าย’  หรือที่คนอิตาลีเรียกว่า ‘พลัสวาเลนซา’ (Plusvalenza – Capital Gains) เพื่อเสกตัวเลขกำไรซื้อ-ขาย นักเตะ ให้มีมูลค่าเป็นบวกเกินจริง โดยคาดว่าพวกเขาเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับคดีล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูง อาทิ  อันเดรีย อันเญลลี (Andrea Agnelli) พาเวล เนดเวด (Pavel Nedved) และฟาบิโอ ปาราติซี (Fabio Paratici) ที่ตอนนี้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของท็อตแน่มฮ็อทสเปอร์

ยูเวนตุสอาจเป็นทีมที่ถูกจับตามองมากที่สุด ด้วยสองปัจจัยหลัก คือ 1. เป็นทีมที่เคยโดนคดีกัลโชโปลี และ 2. มีดีลที่กำลังถูกตรวจสอบเข้าข่าย 42 คดี โดยหนึ่งในนั้นเป็นดีลสำคัญอย่างการแลกเปลี่ยน อาตูร์ เมโล (Arthur Melo) กองกลางจากบาร์เซโลนา กับ มิราเล็ม ปานิช (Miralem Pjanic) ที่มีส่วนต่างเป็นเงิน 12 ล้านยูโร แต่ในหลักฐานบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งพบในห้องสำนักงานสโมสรเบียงโคเนรีกับลงไว้ถึง 132 ล้านยูโร ส่วนเคสอื่นมักเกี่ยวกับดีลซื้อ-ขาย นักเตะดาวรุ่งโนเนม

อย่างไรก็ตามยูเวนตุสไม่ใช่สโมสรเดียวที่ถูกสอบสวน นาโปลี (Napoli) อาแอส โรมา (Roma) และซามพ์โดเรีย (Sampdoria) คือ สามสโมสรต่อมาที่ถูกเปิดเผยรายชื่อว่าตกเป็นจำเลยคดีพลัสวาเลนซา โดยเฉพาะยอดทีมแห่งเมืองเนเปิลส์พวกเขาโดนจับตามองกรณีขาย 4 นักเตะอะไหล่ให้กับลีลล์ (Lille) ทีมจากลีกเอิง ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการซื้อตัว วิกเตอร์ โอซิมเฮน (Victor Osimhen) กองหน้าชาวไนจีเรีย ในราคาพิเศษ

อะไรคือมูลเหตุสำคัญที่ทำให้สโมสรฟุตบอลตัดสินใจปลอมแปลงบัญชี

สาเหตุหลักที่คาดว่าทำให้บรรดาสโมสรแห่งลีกกัลโชเซเรียอา พาเหรดกันตกแต่งบัญชีกันเกินงามย่อมหนีไม่พ้น ‘ไฟแนลเชียลแฟร์เพลย์’ (Financial Fair Play) กฏกติกาสำคัญที่ถูกเขียนไว้โดยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (UEFA) สำหรับป้องกันการผูกขาดอำนาจจากบรรดาทีมเงินถุงเงินถังใน 53 ลีกยุโรป ด้วยการวัดรายรับ-รายจ่าย ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ถ่ายถอดสด, ค่าเข้าชมแฟนบอล, เงินจากสปอนเซอร์, เงินจากการซื้อ-ขายนักเตะ และเงินรางวัลแชมป์ ต้องบวกลบไม่ขาดทุนเกิน 30 ล้านยูโรต่อปี

กรณีที่เห็นได้ชัดสุดที่เคยเกิดขึ้นคงจะหนีไม่พ้น ปี 2020 กับ แมนเชสเตอร์ซิตี้ (Manchester City) สโมสรแห่งเกาะอังกฤษ หลังจากทัพเรือใบสีฟ้าตกเป็นจำเลยว่าพยายามปลอมแปลงเอกสารการเงิน และใช้เงินส่วนตัวของประธานสโมสร ชีค มันซู (Sheikh Mansour) ปนไปกับเงินสนับสนุนสปอนเซอร์คาดหน้าอก เอติฮัดแอร์เวย์ส (Etihad Airways) ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น จนตัวเลขบัญชีเป็นบวก แต่ผลสุดท้ายก็ได้ เดวิด แพนนิก (David Pannick) ทนายความมือดีชาวอังกฤษ ช่วยให้รอดพ้นจากโทษสถานหนักของศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลก (CAS) ด้วยช่องว่างทางกฏหมายหลายข้อ 

อีกประการสำคัญ คือ ‘มูลค่าหุ้นสโมสร’ ในเคสต์ของยูเวนตุส พวกเขามีตัวเลขกำไรหุ้นอยู่ในระดับบวกสูง มีเหรียญสกุลเงินดิจิทัลแฟนโทเคน ‘JUV’ เป็นของตัวเอง และมาตรฐานแบรนด์อันแข็งแกร่งล่อใจนักลงทุนให้เข้ามาเก็งกำไร พวกเขาเลยจำเป็นต้องทำตัวเลขผลกำไรแต่ละปีให้เป็นบวกสม่ำเสมอ ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่ ‘โคดาคอนส์’ (CODACONS) หรือสมาคมผู้ปกป้องสิทธิบริโภคอิตาลีจะเข้ามายื่นฟ้องร้องให้พวกเขาถูกดำเนินคดีพร้อมทีมอื่นๆ ในข่ายด้วย

ยังคงต้องจับตามองผลการตัดสินต่อไป

คดีพลัสวาเลนซายังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินพิจารณา ยังไม่มีใครถูกตัดแต้ม ยังไม่มีใครถูกยึดแชมป์ ยังไม่มีใครถูกปรับตกชั้น และเรายังไม่อาจชี้นิ้วได้ว่าบรรดาทีมที่ถูกกล่าวหามีส่วนทำให้ลีกฟุตบอลอิตาลีต้องแปดเปื้อนมลทินได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ทว่าลึกๆ แล้วนัยสำคัญที่ทำให้ลีกฟุตบอลอิตาลีเกิดการฉ้อโกง คงหนีไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจถดทอยในทวีปยุโรปตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ลามถึงปัจจุบัน ยิ่งเมื่อประธานสโมสรหรือผู้ถือหุ้นมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ‘เงิน’ เลยกลายเป็นตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จพอๆ กับถ้วยโทรฟี่ในตู้โชว์

แต่นั่นคงไม่ใช่ข้ออ้างให้กระทำการผิดกฏหมายและผิดน้ำใจนักกีฬา หากแก่นแท้สำคัญของวงการกีฬายังแปะหน้าป่าวประกาศด้วยคำว่า ‘แฟร์เพลย์’

ที่มา:

https://www.forbes.com/sites/adamdigby/2021/11/19/what-is-plusvalenza-and-why-are-juventus–napoli-under-investigation-for-it/?sh=73e044a67505

https://www.nytimes.com/2021/11/16/sports/soccer/juventus-plusvalenza-italy-serie-a.html

https://www.goal.com/en/news/pjanic-arthur-transfer-secret-ronaldo-payments-juventus/blt8b27b040ed8aeced

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10257743/Juventus-raid-revives-dark-memories-Calciopoli-match-fixing-scandal.html

https://www.bbc.com/sport/football/49910626

https://www.bbc.com/sport/football/53571659

Fact Box

สามารถรับชมสารคดี ‘กัลโชโปลี’ ได้ยังซีรีส์ ‘Bad Sport’ (กีฬาสกปรก) ได้ที่เน็ตฟลิกซ์

Tags: , , , , ,