นอกจากปัญหาสารพัดร้อยแปดที่หลายคนจับตามอง ในกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กฎการห้ามสวมใส่ ‘ฮิญาบ’ สำหรับนักกีฬาทีมชาติฝรั่งเศสในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงไม่ใช่น้อย
สถานการณ์เริ่มขึ้นเมื่อ อเมลี อูเดอา กัสเตรา (Amelie Oudea-Castera) รัฐมนตรีกระทรวงการกีฬาฝรั่งเศสออกมา ‘ปฏิเสธ’ คำอนุญาตของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ในเดือนกันยายน 2023 โดยย้ำว่า นักกีฬาฝรั่งเศสสวมฮิญาบในระหว่างการแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากฝรั่งเศสยึดหลักการรัฐโลกวิสัย (Secularism) หรือความเป็นกลางทางศาสนา
“คุณถูกคัดเลือกให้เข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่จัดขึ้นในประเทศของคุณ แต่กลับไม่สามารถเข้าร่วมพิธีเปิดได้ เพียงเพราะคุณใส่ฮิญาบ”
ซูนคัมบา ซิลลา (Sounkamba Sylla) นักกีฬาวิ่งผลัดทีมชาติฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบายความในใจบนอินสตาแกรมส่วนตัว ถึงกฎที่ดูไร้เหตุผลสำหรับเธอ จนท้ายที่สุดทางการฝรั่งเศสพยายามทางออกร่วมกับเธอ ด้วยการให้สวมหมวกในพิธีเปิดแทน
แม้นักกีฬายอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ทว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกำลังประณามนโยบายดังกล่าว โดยระบุว่า นี่คือการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มมุสลิม ขณะที่ IOC ไร้ความกล้าหาญและยอมจำนนต่ออำนาจของประเทศเจ้าภาพอย่างง่ายดาย
(1)
จุดกำเนิดการแบนฮิญาบเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2022 หลังวุฒิสมาชิกสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 160 เสียงต่อ 143 เสียง เพื่อแก้ไขกฎหมายห้ามสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนา ในการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยสหพันธ์กีฬาของประเทศ ซึ่งรวมถึง ‘ผ้าคลุมศีรษะ’ ไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม
นอกจากเหตุผลที่อ้างแนวคิดรัฐโลกวิสัย หรือเลซิเต (Laïcité) ในภาษาฝรั่งเศส ว่าด้วยการที่รัฐต้องวางตัวเป็นกลางทางศาสนา เพื่อรักษาเสรีภาพการนับถือศาสนาของประชาชน ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 1 ของประเทศฝรั่งเศส
การแบนดังกล่าวยังระบุเหตุผลด้าน ‘ความปลอดภัย’ ทั้งในความหมายโดยตรง และการป้องกัน ‘ช่องว่างทางกฎหมาย’ โดยในแถลงการณ์ชี้แจงว่า เป็นสร้างความชัดเจน ในกรณีที่มีสโมสรหรือนักกีฬาอ้างเหตุผลอื่นเพื่อสวมผ้าคลุมศีรษะ แต่มีเจตนาซ่อนเร้นด้วยเหตุผลทางศาสนา
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์จาก IOC ในปี 2023 ย้ำว่า ผู้ชมยังสามารถสวมฮิญาบในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ตามปกติ และสาเหตุที่ห้ามเฉพาะนักกีฬาทีมชาติฝรั่งเศส เป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ทำหน้าที่รับใช้ชาติในฐานะ ‘ตัวแทนของประเทศ’ ซึ่งหนึ่งในข้อปฏิบัติคือ การวางตัวเป็นกลางต่อศาสนา และไม่แสดงออกว่ากำลังนับถือศาสนาใด
อย่างไรก็ตาม IOC อนุญาตให้นักกีฬาทีมชาติฝรั่งเศสสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาอื่น รวมถึงฮิญาบได้ตามปกติในหมู่บ้านนักกีฬา พร้อมย้ำว่า ทุกอย่างผ่านการหารือกับรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดเป็นที่เรียบร้อย
(2)
ฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวในบรรดา 38 ชาติยุโรป ที่มีกฎหมายสั่งห้ามสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาในการแข่งขันกีฬา โดยแอมเนสตี (Amnesty International) ระบุว่า นโยบายดังกล่าวขัดกับองค์กรระดับนานาชาติหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) และสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (International Basketball Federation)
หากย้อนกลับไปในอดีต ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เคร่งครัดกับหลักความเป็นกลางทางศาสนาเป็นทุนเดิม สะท้อนจากกฎหมายในปี 2004 หลังสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสลงมติเห็นชอบ 494 เสียงต่อ 39 เสียง ให้แบนสัญลักษณ์ทางศาสนาในรั้วโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ หมวกกิปปะห์ (Kippah) ของชาวยิว และฮิญาบในศาสนาอิสลาม
ทว่าในระยะหลังแรงปะทะระหว่างรัฐกับศาสนาอิสลาม จากเหตุก่อการร้ายโดยมุสลิมหัวรุนแรง ยิ่งตอกย้ำอคติทางเชื้อชาติและศาสนาที่ลุกลามไปในพื้นที่อื่นของสังคม โดยเฉพาะแวดวงกีฬาเป็นพิเศษ
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนจากท่าทีของ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งออกกฎหมายจัดการกับมุสลิมหัวรุนแรงในปี 2021 โดยเฉพาะการเฝ้าระวังไม่ให้กลุ่มมุสลิมมีบทบาทระดับสูงในองค์กรระดับประเทศ รวมถึงองค์กรกีฬา หลังถูกมองในฐานะ ‘แหล่งบ่มเพาะ’ กลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดน
(3)
ไม่เพียงแต่การห้ามสวมใส่ฮิญาบที่เชื่อมโยงกับกระแสความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกระแสก่อการร้ายในระยะหลังมานี้ นักเคลื่อนไหวและองค์กรสิทธิมนุษยชนยังแสดงความคิดเห็นว่า นโยบายดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติทางเพศ ผ่านอาชีพการงานของนักกีฬาจำนวนหนึ่ง
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้มีผลเฉพาะกับกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น โดยนิตยสารไทม์ (TIME) เผยว่า การสวมใส่สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเฉพาะฮิญาบ ถูกสั่งห้ามในแวดวงกีฬาฝรั่งเศสทุกชนิด ทั้งในการฝึกซ้อม การเล่นแบบสันทนาการ และระดับมืออาชีพด้วย
อีกหนึ่งกรณีโด่งดังคงหนีไม่พ้นเรื่องราวของ ดิอาบา โกนาเต (Diaba Konate) นักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติฝรั่งเศสวัย 23 ปี ที่หมดโอกาสลงแข่งขันในโอลิมปิก 2024 หลังสหพันธ์บาสเกตบอลฝรั่งเศส (French Basketball Federation: FFBB) ออกกฎในปี 2022 ว่า ห้ามนักกีฬาทุกคนสวมใส่สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและการเมือง แม้จะมีความสามารถล้นหลาม และถูกจับตามองในฐานะดาวรุ่งคนสำคัญก็ตาม
“ฉันไม่อยากเชื่อเลย ตอนแรกฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องล้อเล่น” โกนาเตแสดงความคิดเห็นผ่านบีบีซี (BBC) โดยเล่าว่า เธอเพิ่งเริ่มสวมฮิญาบตอนเรียนในสหรัฐฯ ช่วงโควิด-19 และผ้าคลุมดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเธอไปเสียแล้ว
ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กระแสต่อต้านกฎห้ามสวมใส่ฮิญาบก็ไม่ได้นิ่งเฉย ในแวดวงฟุตบอลหญิงฝรั่งเศสเกิดกลุ่ม ‘Les Hijabeuses’ ที่นำโดย คาร์ทูม เดมเบเล (Karthoum Dembelé) นักฟุตบอลหญิงชาวมุสลิม และเด็กผู้หญิงที่มีใจรักกีฬาฟุตบอลราว 150 คน
จุดประสงค์เรียบง่ายของพวกเธอคือ การปลุกให้สหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (Fédération Française de Football: FFF) ตื่นจากอคติดั้งเดิม โดยเน้นการมอง ‘ความสามารถ’ มากกว่าเชื้อชาติ ใบหน้า สีผิว และศาสนา หลัง FFF ยังแบนการสวมใส่ฮิญาบ แม้ว่า FIFA จะยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวตั้งแต่ปี 2014
“ผู้หญิงไม่ได้อยากถูกมองผ่านผ้าคลุมอีกต่อไป แต่พวกเธอคือนักฟุตบอลคนหนึ่ง”
ไฮฟา ตลิลิ (Haïfa Tlili) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Les Hijabeuses ให้สัมภาษณ์ถึงเจตจำนงของกลุ่มกับอัลจาซีรา (Al Jazeera) โดยย้ำว่า หนึ่งในปัญหาใหญ่ของ FFF ที่บดบังความสามารถของผู้หญิงมุสลิม คือการไหลไปตามกระแสสังคมอย่างความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นไป
อ้างอิง
https://time.com/7000437/france-sporting-hijab-ban-olympics/
https://www.theguardian.com/world/2004/feb/11/schools.schoolsworldwide
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2024/07/france-hijab-bans-olympic-and-paralympic/
https://www.aljazeera.com/news/2021/2/15/frances-controversial-separatism-bill-explained
https://www.bbc.com/news/world-europe-54383173
Tags: ศาสนาอิสลาม, โอลิมปิกปารีส 2024, รัฐโลกวิสัย, กีฬาโอลิมปิก, โอลิมปิก 2024, Olympics, โอลิมปิกปารีส, ศาสนา, โอลิมปิกฝรั่งเศส, มุสลิม, Secularism, ฮิญาบ, Game On