หากคุณเป็นผู้ที่หลงใหลเสน่ห์ของการวิ่งมาราธอน ลอนดอนมาราธอน (London Marathon) ย่อมเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่อยากไปสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันสักครั้งในชีวิต เพราะถือเป็นการแข่งขันมาราธอนระดับเมเจอร์ที่สำคัญของโลก เช่นเดียวกับการแข่งขันมาราธอนในเมืองใหญ่อื่นๆ อย่าง บอสตัน โตเกียว หรือนิวยอร์ก

ย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ลอนดอนมาราธอนกลายเป็นงานวิ่งประจำปีที่สร้างแรงบันดาลใจและสร้างสีสันบนปฏิทินกีฬาโลก นับตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปี 1981

จากครั้งแรกจนถึงวันนี้ มีนักวิ่งมากกว่าล้านคนที่เข้าเส้นชัยในสนามลอนดอนมาราธอน มีการระดมเงินกว่าพันล้านปอนด์เพื่อการกุศลนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และงานแข่งขันนี้ยังบรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าทึ่งของมนุษย์ไว้มากมาย

ในปีนี้ (2023) ลอนดอนมาราธอน ครั้งที่ 43 จะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019 ที่งานจะจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากการแข่งขัน 3 ครั้งก่อนหน้านี้จัดในฤดูใบไม้ร่วง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 

Game On สัปดาห์นี้ โหมโรงด้วยเรื่องราวของการแข่งขันลอนดอนมาราธอน ก่อนที่นักวิ่งหลายพันคนจะหลั่งไหลออกจากจุดเริ่มต้นที่สวนสาธารณะกรีนิช (Greenwich Park) เป็นระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ผ่านสถานที่สำคัญและมีชื่อเสียงหลายแห่งของเมือง ก่อนสิ้นสุดที่หน้าพระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace) ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้

จากนิวยอร์กสู่ลอนดอน

การแข่งขันลอนดอนมาราธอนในปัจจุบันก่อตั้งขึ้นในปี 1981 โดย คริส แบรชเชอร์ (Chris Brasher) นักกรีฑาและนักข่าวกีฬา และนักวิ่งโอลิมปิก จอห์น ดิสลีย์ (John Disley) ซึ่งแบรชเชอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากการได้ลงแข่งขันในรายการ New York City Marathon ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1979 

หลังจากกลับมาลอนดอน แบรชเชอร์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับประสบการณ์ครั้งนั้นในหนังสือพิมพ์ The Observer ว่า

“คุณต้องเชื่อว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นครอบครัวเดียวกันที่มีความสุข ทำงานร่วมกัน หัวเราะด้วยกัน บรรลุสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในเมืองที่มีปัญหามากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ชายหญิง 11,532 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก ได้รับการสนับสนุนจากคนผิวสี ขาว และผิวเหลืองกว่าล้านคน หัวเราะ ให้กำลังใจ ระหว่างเทศกาลท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่โลกได้เห็นแล้ว”

ด้วยความมุ่งมั่นอยากให้มีการจัดแข่งขัน บวกกับความช่วยเหลือจากบรรณาธิการของ The Observer อย่าง โดนัลด์ เทรลฟอร์ด (Donald Trelford) รวมถึงสมาชิกสภามหานครลอนดอน อีกสองปีถัดมา ความฝันของแบรชเชอร์ก็เป็นจริง

ลอนดอนมาราธอนครั้งแรกมีผู้สมัครเข้าร่วมวิ่งกว่า 2 หมื่นคน มีผู้ผ่านการสมัคร 6,747 คน และเข้าเส้นชัย 6,255 คน ที่น่าสนใจคือเป็นการคว้าชัยร่วมกันของสองนักวิ่งจากสองชาติ คือ อิงเง ซิมอนเซน (Inge Simonsen) นักวิ่งจากนอร์เวย์ และคริส เบียร์ดสลีย์ (Chris Beardsley) นักวิ่งชาวอเมริกัน ที่จับมือกันเข้าเส้นชัยในเวลา 2 ชั่วโมง 11 นาที 48 วินาที 

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการกลายเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 

สู่ความรุ่งเรือง

การแข่งขันลอนดอนมาราธอนแบ่งเป็นหลายหมวด ได้แก่ การแข่งขันสำหรับประชาชนทั่วไป การแข่งขันระดับมืออาชีพสำหรับนักวิ่งระยะไกลชายและหญิง การแข่งขันวีลแชร์ระดับอีลีทสำหรับชายและหญิง รวมถึงการแข่งขันมินิมาราธอนระยะทาง 3 ไมล์สำหรับนักกีฬาอายุต่ำกว่า 17 ปี 

นับจากการแข่งขันครั้งแรก ความนิยมของมาราธอนก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยของเว็บไซต์ run247.com ที่เก็บสถิติลอนดอนมาราธอนนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปี 1981 และพบว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เข้าเส้นชัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 88.66% ในปี 1981 จนถึงปี 1990 และรักษาระดับไว้ที่ 97-98% มาตั้งแต่ปี 1996 

แต่แม้การแข่งขันบนเกาะอังกฤษนี้จะได้รับความนิยม นักวิ่งจากอังกฤษกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยนับตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรก มีนักวิ่งอังกฤษเพียงสองคนเท่านั้นที่ชนะเลิศในสนามนี้ คือ จอยซ์ สมิธ (Joyce Smith) และฮิวจ์ โจนส์ (Hugh Jones) ในปี 1982 หรือการแข่งขันครั้งที่สองของลอนดอนมาราธอน

แอฟริกาผงาด

ในช่วงระหว่างปี 2003 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องน่าสนใจว่า นักวิ่งชายที่ชนะการแข่งขันลอนดอนมาราธอน มาจากสองประเทศเท่านั้น คือ เอธิโอเปียและเคนยา เช่นเดียวกับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปล่งประกายของนักวิ่งหญิงที่มาจากทั้งสองประเทศข้างต้นเช่นกัน

แน่นอนว่าหนึ่งในนักวิ่งระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง เอลิอุด คิปโชเก (Eliude Kipchoge) เจ้าของสถิติโลก ก็เคยคว้าชัยในลอนดอนมาราธอนมาแล้วถึงสี่ครั้ง ในปี 2015, 2016, 2018 และ 2019 โดยเฉพาะในปี 2019 ที่เขาทำเวลาไป 2.02.37 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่มีใครทำลายลงได้ และทำให้เขายังคงเป็นนักวิ่งชายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสนามนี้

สีสันแห่งมาราธอน

นอกจากการแข่งขันของเหล่านักวิ่ง ลอนดอนมาราธอนยังมีสิ่งที่น่าจับตาอีกอย่างนั่นก็คือ ‘การแต่งชุดแฟนซี’ ของนักวิ่งที่มาร่วมสร้างสีสันในจุดสตาร์ท ที่ทั้งประหลาดและสร้างสรรค์ อาทิ มินเนี่ยน ตู้โทรศัพท์ กอริลล่า เทเลทับบีส์ สไปเดอร์แมน และอีกมากมายแล้วแต่จินตนาการของแต่ละคน 

ลูคัส เบตส์ (Lukas Bates) หนึ่งในผู้ร่วมแต่งกายแฟนตาซีเป็นหอนาฬิกา ‘บิ๊กเบน’ ในปีที่ผ่านมา (2022) เคยบอกว่า “ก่อนหน้านี้ผมเคยวิ่งลอนดอนมาราธอนมาแล้ว 4 ครั้ง ปีนี้ผมตัดสินใจว่าอยากจะทำอะไรที่สนุกและแตกต่างออกไป โดยการสวมชุดบ้าๆ บอๆ” 

เช่นเดียวกับ เจซ อัลลินสัน (Jez Allinson) อดีทหารผ่านศึก แฟนตัวยงของหนังแฟรนไชส์สตาร์วอร์ส ที่แต่งเป็น ‘สตรอมทรูปเปอร์’ โดยมีเป้าหมายมากกว่าการร่วมสร้างสีสัน นั่นคือการดึงความสนใจให้คนมาร่วมระดมทุนในโครงการ ‘Make-A-Wish and Spread a Smile’ ของเขา ที่จะมอบเงินให้กับเด็กที่ป่วยโรคร้ายแรง โดยสุดท้ายเจซก็สามารถระดมทุนไปได้ถึง 2 หมื่นปอนด์

ลอนดอนมาราธอน 2023

สำหรับลอนดอนมาราธอนที่จะสตาร์ทในวันที่ 23 เมษายนนี้ จะมีนักวิ่งทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นกว่า 5 หมื่นคน ที่เตรียมจะเข้าร่วมลงชิงชัยในเส้นทาง 42.195 รอบเมืองหลวงอย่างเข้มข้น โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 08.50 น. ในการแข่งขันวีลแชร์ชายและหญิง ก่อนที่เวลา 09.00 น. จะเริ่มการแข่งขันของนักวิ่งหญิงระดับอีลีต และเวลา 09.40 น. เริ่มการแข่งขันของนักวิ่งชายระดับอีลีท และนักวิ่งทั่วไปเริ่มประมาณ 10.00 น. ซึ่งคาดการณ์ว่า นักกีฬามืออาชีพจะใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมงในการเข้าเส้นชัย ขณะที่มือสมัครเล่นอาจใช้เวลาสามถึงห้าชั่วโมง 

สิ่งที่ต้องตามในวันอาทิตย์นี้ นอกจากการแข่งขัน คือสภาพอากาศในเดือนเมษายนของอังกฤษที่มักจะคาดเดาไม่ได้ แต่ทาง Met Office คาดการณ์ว่า ในวันแข่งขัน ลอนดอนจะมีเมฆมาก อุณหภูมิในตอนกลางวันอยู่ระหว่าง 11-14 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่สมบูรณ์แบบสำหรับนักวิ่งหลายคน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ฝนจะตกระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 16.00 น. ประมาณ 20%

มีเรื่องขำๆ เล่ากันว่า เมื่อพิจารณาเรื่องที่ว่าสภาพอากาศจะส่งผลต่อการแข่งขันมากน้อยเพียงใด นักวิ่งจำนวนมากจึงต้องใช้เวลาหลายวันก่อนหน้าการแข่งขันเพื่อตรวจสอบพยากรณ์อากาศซ้ำไปซ้ำมา

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คงไม่มีอะไรหยุดยั้งเหล่านักวิ่งจำนวนมากที่หมายมั่นจะพิชิตเส้นชัยที่พระราชวังบักกิงแฮมได้อย่างแน่นอน

ยกเว้นจะมีพายุถล่ม

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2009/apr/24/london-marathon-brief-history

https://www.tcslondonmarathon.com/results/history-of-the-london-marathon

https://en.wikipedia.org/wiki/London_Marathon

https://inews.co.uk/sport/athletics/london-marathon-2023-weather-forecast-met-office-predictions-weekend-conditions-route-2284060

https://olympics.com/en/news/the-history-of-the-london-marathon

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/the-running-blog/2015/apr/21/marathons-by-numbers-running-the-data

Tags: , , ,