‘บอลนอกแค่สะใจ แต่บอลไทยอยู่ในสายเลือด’

วาทกรรมข้างต้นคอลูกหนังบ้านเราน่าจะคุ้นชินหูมาเนิ่นนาน ในแง่คือหนึ่งการเชิดชูความภูมิใจต่อกีฬาอันดับหนึ่งชนิดนี้ ที่เชื่อมั่นมาตลอดว่ามีศักยภาพไม่แพ้ใคร และอีกแง่หนึ่งหนึ่งคือการปลุกกระแสความนิยมของกีฬาฟุตบอลให้กลับมาฟีเวอร์อีกครั้ง 

เชื่อว่าความฝันสูงสุดของแฟนฟุตบอลไทยคงมีอยู่ไม่กี่ประการ ไม่ขอให้ทัพช้างศึกได้ไปโลดแล่นบนสังเวียนเวิลด์ คัพ สักครั้งก่อนตาย ก็คงขอให้ความนิยมของฟุตบอลไทย ลีก ได้รับความนิยมเฉกเช่น พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, ลาลีกา สเปน, บุนเดสลีกา เยอรมนี, กัลโช เซเรียอา อิตาลี หรือเจลีก ญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าลิขสิทธิ์มหาศาล และเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมได้แนบเนียน   

ทว่านับตั้งแต่ที่คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยามก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 จนถึงวันนี้นับรวมแล้วเกือบ 108 ปี ฟุตบอลไทยแทบไม่ใกล้เคียงความฝันเหล่านั้นแม้แต่น้อย

 

  ผู้คนอาจกล่าวโทษว่าความฝันไม่เป็นจริงเพราะนักกีฬา บ้างก็ว่าความสามารถไม่ถึง บ้างก็ว่าไร้ระเบียบวินัย บ้างก็ว่าใจไม่สู้ แต่นั่นเป็นเพียงปัญหาผิวเผิน เพราะต้นตอปัญหาที่แท้จริง คือการที่ฟุตบอลถูกผูกโยงเข้ากับการเมืองมาโดยตลอด จนมีสถานะไม่ต่างจากเครื่องมือใช้หาเสียง ที่พร้อมจะถูกทิ้งขว้างได้ตลอดเวลาหากหมดประโยชน์

ขณะเดียวกันความจริงที่ว่าถูกสะท้อนให้เห็นชัดแจ้ง เมื่อนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ประกาศขอลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วิพากษ์วิจารณ์ออกสื่อชนิดไร้เยื่อใย คล้ายการกล่าวเป็นนัยว่าความสัมพันธ์อันดีของทั่งคู่จบลงแล้ว โดยที่ประมุขลูกหนังระบุทิ้งทายกับสื่อว่า ฟุตบอลไทยถูกการเมืองแทรกแซงแน่นอน 1 ล้าน% 

คงไม่ต้องสาธยายถึงผลงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Football Association of Thailand: FA Thailand) ในยุคพลตำรวจสมยศ ซึ่งหลายท่านน่าจะประจักษ์สายตาชัดแจ้งว่ามีทั้งดีและแย่ปะปนกันไป แต่สิ่งที่กำลังจะอธิบายต่อจากนี้ คือสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลไทยกับการเมืองผูกติดกันมานานถึง 3 ทศวรรษ

สาเหตุหลักเริ่มมาจาก ‘รัฐธรรมนูญ 2540’ ที่ถูกยกให้เป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว คือการขยายสิทธิ เสรีภาพ และส่วนร่วมของประชาชนในการเมือง กระทั่งนำไปสู่ร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งนับเป็นการกระตุ้นให้บรรดานักการเมืองมุ่งมั่นทำหน้าที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ปกครอง 

ประจวบเหมาะกับโครงสร้างของฟุตบอลไทยในเวลานั้น ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

 1. จอห์นนี วอล์กเกอร์ไทยแลนด์ ซอกเกอร์ลีก (Johnny Walker Thailand Soccer League)  ลีกฟุตบอลไทยที่ถูกปรับเปลี่ยนมาจากรายการพระราชทาน ก. ที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทีมที่มีเจ้าของเป็นองค์กรเอกชนหรือองค์กรรัฐ และมีถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเอกชน เช่น การท่าเรือฯ, สิงห์ เทโรศาสน, สินทนา, ธนาคารกรุงเทพ, พนักงานยาสูบ, ทหารอากาศ, ตำรวจ เป็นต้น   

2.โปรวินเชียลลีก (Provincial League) หรือลีกภูมิภาค ที่เกิดขึ้นตามแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติฉบับที่ 2 (2540-2544) ที่หนึ่งในนั้นมีสาระสำคัญ คือการพัฒนาฟุตบอลอาชีพในประเทศ ให้มีความนิยมในประเทศ และ สามารถพัฒนาเป็นกีฬาอาชีพได้ นั่นเท่ากับว่านักการเมืองท้องถิ่นแต่ละจังหวัดจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทีมฟุตบอลของจังหวัดตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ 2542 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ฟุตบอลจอห์นนี วอล์กเกอร์ไทยแลนด์ ซอกเกอร์ลีก ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ถึงขั้นต้องจ้างคณะตลกชื่อดังมาเล่นคั่นระหว่างพักครึ่งเพื่อเรียกกระแสคนดู สวนทางกับฝั่งโปรวินเชียลลีก ที่นับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของแฟนคลับ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณสนับสนุน จนสุดท้ายสมาคมฟุตบอลไทยฯ ตัดสินใจควบรวมทั้ง 2 ลีก เข้าด้วยกันเพื่อหาจุดร่วมด้านผลประโยชน์ กลายมาเป็นฟุตบอลไทยลีก (Thai League) ดังที่เห็นทุกวันนี้ 

แต่อย่างที่เกริ่นไปในข้างต้นว่า ทีมฟุตบอลที่เกิดขึ้นจากท้องถิ่นส่วนภูมิภาคมีฐานแฟนบอลที่มั่นคงทำให้ได้เปรียบ ทว่าอีกมุมหนึ่งทีมฟุตบอลเหล่านี้ก็ถูกควบคุมโดยนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งล้วนเป็นตระกูลเก่าแก่ หรือที่เรียกว่า ‘บ้านใหญ่’ ที่อาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ.กระจายอำนาจ 2542 เป็นเครื่องมือในการหาเสียงมัดใจคนในจังหวัดแบบกลายๆ

ถ้าถามว่าโมเดลบ้านใหญ่มีอำนาจมากขนาดไหนในฟุตบอลไทย ก็ขอให้ลองกวาดสายไปในทีมฟุตบอลที่จะลงแข่งขันในไทยลีกฤดูกาล 2023/2024 ดู จะพบว่าจาก 16 ทีมที่ร่วมเข้าแข่งขัน มีถึง 11 ทีม ที่มีนักการเมืองนั่งแท่นเป็นประธานสโมสร 

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนสุดคือ ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ของตระกูลชิดชอบ ที่ถึงแม้เจ้าของอย่าง เนวิน ชิดชอบ จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ด้วยอำนาจการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น จึงสามารถกุมฐานเสียงประชากรแถบภาคอีสานได้ไม่ยาก ผ่านการใช้นักการเมืองในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำทีมฟุตบอล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหม้อในสมัยพรรคไทยรักไทยจนถึงปัจจุบันที่เป็นพรรคภูมิใจไทย ด้วยกลยุทธ์หาเสียงแบบบ้านๆ เช่น ช่วยเหลืองานบุญ งานบวช หรืองานศพ เป็นต้น 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักหากผลการเลือกตั้งปี 2566 ภูมิใจไทยจะยังคงยืนหนึ่งในบุรีรัมย์ ขณะที่บ้านใหญ่ต่างพากันพลิกล็อกล้มระเนระนาด เพราะการทำบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ใช่แค่การทำทีมฟุตบอล แต่ยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับจังหวัด จนมีอำนาจมากพอจะแยกตัวเป็นเอกเทศได้สบายๆ 

ขณะเดียวกัน ด้วยอำนาจล้นเหลือของบุรีรัมย์ในฐานะทีมฟุตบอลที่กวาดแชมป์เป็นว่าเล่น ได้สิทธิ์แข่งขันในรายการเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก (AFC Champions League) แทบทุกฤดูกาล ทั้งมีระบบอคาเดมีเลื่องชื่อ ที่สร้างนักฟุตบอลระดับประเทศก้าวขึ้นมาติดทีมชาติมากมาย อาทิ สุภโชค สารชาติ, สุภชัย ใจเด็ด, ศศลักษณ์ ไหประโคน, รัตนากร ใหม่คามิ และ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ยิ่งทำให้ทีมมีอำนาจเทียบเคียงสมาคมฟุตบอลไทยฯ ดังที่เมื่อปลายปี 2565 สมาคมฟุตบอลไทยฯ ร่วมมือกับบุรีรัมย์ผุดไอเดีย ‘บุรีรัมย์ บลูล็อก’ (ฺฺBuriram Blue Lock) ที่เฟ้นหานักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี มาอยู่อาศัยร่วมกันเพื่อคัดผู้เล่นที่ดีที่สุด ที่จะเป็นอนาคตในการพาทัพช้างศึกก้าวขึ้นสู่ท็อป 10 เอเชีย โดยมี ชิดชนก ชิดชอบ เป็นผู้จัดการทีม

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักหากทิศทางของสมาคมฟุตบอลไทยฯ ยุคพลตำรวจเอกสมยศ จะมีความสนิทสนมอันดีกับฝั่งบุรีรัมย์เป็นพิเศษ และได้รับการหนุนหลังจากพลกเอกประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทว่าภายหลังผลการเลือกตั้ง 2566 ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐของพลเอกประวิตร แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ผนวกกับผลงานฟุตบอลทีมชาติไทยที่ถอยหลังลงคลองแทบทุกชุด ยิ่งเป็นชนวนทลายความสัมพันธ์ของพลตำรวจเอกสมยศและพลเอกประวิตร ในลักษณะ ‘การเชือดไก่ให้ลิงดู’ เพื่อที่จะเรียกคะแนนเสียงความนิยมในตัวพลเอกประวิตรกลับมา ในการเพิ่มโอกาสการเป็นพรรครัฐบาลหรือนายกฯ ก็ตาม โดยที่บุรีรัมย์และพรรคภูมิใจไทยได้แต่ลอยตัวเฝ้ามองอยู่ห่างๆ

และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2565 เนวิน ชิดชอบ เคยออกมาโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ตำหนิสมาคมฟุตบอลไทยฯ ที่ยกเลิกตารางอุ่นเครื่องฟีฟ่าเดย์ เพื่อหลีกทางให้แก่ทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ ตามคำสั่งของพลเอกประวิตร ที่เอ่ยประกาศิตให้คว้าเหรียญทองกลับมาให้ได้ แต่หากพิจารณาจะพบว่า การแข่งขันฟีฟ่าเดย์มีผลประโยชน์มากกว่าในการเก็บค่าสัมประสิทธิ์ ทั้งบทสรุปสุดท้ายทีมชาติก็ไม่สามารถคว้าเหรียญทองกลับมาได้กลายเป็นการสูญเปล่าโอกาสอย่างน่าเสียดาย จึงไม่ต่างจากการหักหน้าทั้งพลตำรวจเอกสมยศและพลเอกประวิตร 

ความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงระหว่างฟุตบอลไทยและการเมืองดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังมาช้านาน ทั้งสามารถชี้เป็นชี้ตายว่าทีมใดจะอยู่หรือไป ดังที่เคยอธิบายในบทความ จาก ศรีสะเกษ เอฟซี ถึง พัทยา ยูไนเต็ด วิบากกรรมทีมไทยลีกที่ต้องสูญพันธ์ุเพราะปัญหา ‘ย้ายถิ่น’  ฉะนั้น คำถามที่อยากจะฝากทิ้งท้ายให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาตาม นั่นคือ 

ถึงเวลาแล้วหรือยังกับการถอนรากถอนโคนความสัมพันธ์นี้เสีย 

แล้ววางรากฐานวงการฟุตบอลไทยเสียใหม่ โดยที่ประชาชนมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลท้องถิ่นได้ไม่ต่างจากเจลีก ญี่ปุ่น หรือบุนเดสลีกา เยอรมนี ที่มีกฎ 50+1 ในการให้สิทธิ์แฟนบอลถือหุ้นของสโมสร 

เพราะฟุตบอลระดับสโมสรนี่แหละ ที่จะนำไปสู่พื้นฐานอันแข็งแกร่งระดับทีมชาติได้ 

ได้แต่คิดแล้วก็ถอนหายใจ ว่าวัฏจักรฟุตบอลไทยจะยังวนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน ในขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนเราวิ่งกวดไล่หลัง ชาติอื่นวิ่งแซงหน้าฝุ่นตลบ แต่เรากลับพายเรือวนอยู่ในอ่างไม่ไปไหนเสียที

Tags: , ,