สถิติ และฟุตบอลยุคใหม่

 

“แมนซิตี้ครองบอลเหนือยูไนเต็ด 54%”

“จำนวนการผ่านบอลของบาร์เซโลนาอยู่ที่ 18 ครั้ง” 

“เปอร์เซนต์การจ่ายบอลเข้าสู่พื้นที่อันตรายของ บรูโน เฟอร์นันเดส อยู่ที่ 64%”

 

เชื่อว่าแฟนกีฬาฟุตบอลที่ดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันเป็นประจำ จะต้องได้ยินประโยคทำนองนี้จากผู้บรรยายบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในโลกของฟุตบอลยุคใหม่ ‘สถิติ’ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ฝึกสอนในการวิเคราะห์รูปแบบการเล่น และเหล่านักวิเคราะห์ที่ทำงานเป็นผู้บรรยาย เพื่อที่จะสามารถอธิบายสถานการณ์ของเกมการแข่งขันให้ผู้ชมทางบ้านเข้าใจ 

มากกว่าไปกว่านั้น ‘สถิติ’ ยังเป็นการบ่งบอกถึงผลงานส่วนตัวของผู้เล่นภายในทีมว่า แต่ละคนมีความเข้าใจเกมและสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้สมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งเกมฟุตบอลอาจต้องอาศัยข้อมูลเชิงเทคนิคเข้ามาช่วย ในสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตาของมนุษย์

แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ‘ใคร’ คือคนที่อยู่เบื้องหลังของการทำงานเกี่ยวกับด้าน ‘สถิติ’ ของเกมฟุตบอลเหล่านี้ ตัวเลขที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในระยะเวลา 90 นาทีของการแข่งขันนั้น มีการบริหารจัดการกันอย่างไร?  

ตัวเลขที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในสนามฟุตบอล

 

หากพูดถึงกีฬาฟุตบอล สิ่งที่หลายคนมักนึกถึงเป็นอย่างแรกคือ ทักษะที่เหนือชั้นของผู้เล่น การดูแลร่างกายของนักกีฬาและทีมแพทย์ การวางแทคติกเพื่อเอาชนะของผู้จัดการทีม และอารมณ์ร่วมที่อยากจะเอาชนะของแต่ละทีม แต่ทุกสิ่งที่กล่าวไปนั้นไม่สามารถวัดผลได้ด้วยตาเปล่า เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนแสดงผลลัพธ์ออกมาผ่านทางตัวเลขบนสกอร์บอร์ด และรูปเกมในวันแข่งเท่านั้น หลายครั้งที่ทีมที่ทำได้ดีกว่ากลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป เพียงเพราะ ‘ลูกยิงผีจับยัด’ หรือการยิงประตูที่ไม่มีใครคาดคิด แต่นั่นหมายความว่าทุกอย่างที่เตรียมการมานั้น ไม่มีค่าเลยอย่างนั้นหรือ?

คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’

เพราะแท้จริงแล้วภายในเวลา 90 นาทีของการแข่งขันนั้น เต็มไปด้วยตัวเลขรายละเอียดทางสถิติจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น จำนวนการส่งบอล จำนวนการเข้าสกัด การดวลกลางอากาศ หรือแม้กระทั่งนักกีฬาใช้เท้าข้างไหนในการจับบอลจังหวะแรก ที่เราคงไม่มีทางสังเกตเห็นได้ในระหว่างการแข่งขันด้วยสาตาเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ออกมาเป็น ‘ตัวเลข’ ก็แทบจะเทียบความสำคัญได้กับทองคำเลยทีเดียว

หากฟุตบอลยุคใหม่วัดความเฉียบขาดกันที่ ‘รายละเอียด’ ในการเล่น ‘สถิติ’ เหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่เก็บบันทึกรายละเอียดเหล่านั้นให้สโมสรฟุตบอลต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแท็กติก การฝึกซ้อม และพัฒนานักเตะภายในทีม ส่วนใครจะสามารถทำได้ดีกว่ากันนั้น ผลงานในสนามจะเป็นคำตอบ

 

การเก็บข้อมูลในระหว่างการแข่งขันทำได้อย่างไร?

 

หลายครั้งระหว่างชมเกมการแข่งขันผ่านหน้าจอ เรามักได้ยินผู้บรรยายคอยให้ข้อมูลสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกมการแข่งขันอยู่ตลอด แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ‘ใคร’ ที่เป็นคนนั่งนับสถิติเหล่านี้ และใช้วิธีใดในการนับสถิติมากมายมหาศาลเหล่านี้ เพราะหากนับเฉพาะแค่จำนวนการเตะมุม โอกาสการทำประตู และการเข้าสกัด อาจยังพอเข้าใจได้ แต่สถิติเหล่านี้สามารถบอกได้ถึงเปอร์เซนต์การส่งบอล จำนวนการจับบอล ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แล้วใครกันที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านี้

หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นการใช้เครื่องจักรอย่าง AI ในการนับสถิติ แต่แท้จริงแล้วได้มีการเปิดเผยโดยบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลทางด้านฟุตบอลอย่าง Opta และ Prozone ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลเหล่านี้ก็คือ ‘คน’ นี่แหละ โดยในระหว่างการแข่งขัน 90 นาที จะมีการใช้กลุ่ม ‘นักวิเคราะห์’ ที่แบ่งหน้าที่ตามแต่ละการกระทำของนักเตะ เช่น การส่งบอลระยะสั้น การส่งบอลระยะไกล หรือแม้กระทั่งอัตราการครองบอลของแต่ละทีม หลังจากนั้นข้อมูลดังกล่าวจะถูกประมวลผลและส่งต่อให้ผู้บรรยาย ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ฟรี รายการถ่ายทอดสดของแต่ละสถานีต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านี้มา 

ความน่าสนใจคือ นักเก็บข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ‘แฟนบอลเดนตาย’ ที่รักการดูฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ในบางครั้งห้องของนักวิเคราะห์จึงมีเสียงเชียร์ดังขึ้นมาเป็นบางคราว แต่ทาง Opta และ Prozone ยืนยันว่า นักเก็บข้อมูลเหล่านี้มีความเป็นมืออาชีพมากพอที่จะนับสถิติอย่างเป็นกลาง

แต่แม้ว่าจะมีการใช้นักวิเคราะห์ข้อมูลในการนับสถิติเป็นหลัก แต่ก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการนับด้วย อย่างเช่น ‘กล้อง’ ที่จะช่วยจับภาพผู้เล่นแต่ละคนว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ระหว่างการแข่งขัน

สถิติ และการเลือกใช้นักเตะ

 

การซื้อขายนักเตะสำหรับสโมสรยักษ์ใหญ่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการที่จะเสริมทัพผู้เล่นจะต้องเป็นที่มั่นใจจริงๆ ว่านักเตะที่กำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมนั้น จะเป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไป และในขณะเดียวกันยังคงต้องระวังเกี่ยวกับกฎ ‘ไฟแนนซ์เชียล แฟร์เพลย์’ หรือกฎการเงินในโลกฟุตบอล อีกด้วย ดังนั้น นักเตะที่เป็นสตาร์ดังๆ หรือนักเตะที่มีค่าสถิติของตำแหน่งตัวเองที่ดีย่อมเป็นที่จับตาของสโมสรต่างๆ

ตัวชี้วัดที่น่าสนใจอีกข้อ แต่อาจถูกมองข้าม คือ ค่า XG และ XA หรือ ‘Expected Goal’ และ ‘Expected Assist’ หรือค่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดการยิงประตู หรือการจ่ายฟุตบอลให้เพื่อนร่วมทีมยิงประตู จากการกระทำที่เกิดขึ้นในสนาม ยกตัวอย่างเช่น จำแหน่งกองกลางตัวรุกที่มี XA สูง หมายความว่าทุกครั้งที่นักเตะส่งบอลให้ผู้เล่นอีกคนหนึ่ง อาจแปลว่า มีโอกาสสูงที่ผู้เล่นที่รับบอลไปจะสามารถทำประตูได้

ฮาร์เวียร์ เฟอร์นานเดซ (Javier Fernández) นักวิทยาศาสตร์ทางด้านข้อมูลของสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งสเปนอย่างบาร์เซโลนา ได้ลองเก็บข้อมูลว่า แต่ละคนจะสามารถสร้างโอกาสขณะวิ่งหรือเดินได้มากกว่ากัน โดยอ้างอิงจากการเกมที่เจอกันระหว่าง บาร์เซโลนา เจอกับ บียาร์เรอัล ในปี 2017 โดยผลปรากฎว่า นักเตะซุปเปอร์สตาร์ของทีม ณ ขณะนั้นอย่าง ‘ลิโอเนล เมสซี่’ สามารถสร้างโอกาสได้มากกว่าเมื่อ ‘ยืนอยู่เฉยๆ หรือวิ่งจ๊อก’ ในขณะที่ผู้เล่นกองกลางอย่าง ‘อันเดรส อินเนียสต้า’ สามารถสร้างโอกาสได้มากกว่าเมื่อ ‘วิ่งด้วยความเร็วสูง’ 

แม้แต่แม้แต่ยอดทีมจากอังกฤษ เจ้าของแชมป์ยุโรป 6 สมัยอย่างลิเวอร์พูล ภายใต้การคุมทีมที่ประสบความสำเร็จของ ‘เจอร์เกน คล็อปป์’ ก็มีนักวิเคราะห์ข้อมูลคู่ใจอย่าง เอียน เกรแฮม (Ian Graham) ผู้ที่วิเคราะห์แผนการเล่นของลิเวอร์พูลได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ก่อนหน้าความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นของลิเวอร์พูล คล็อปป์ ได้วางแผนที่จะใช้ ‘ฟิลิปเป้ คูตินโญ่’ กองกลางจอมยิงไกล เป็นศูนย์กลางในเกมรุกของทีม เนื่องจากทักษะเฉพาะตัวที่มากล้น บวกกับความสามารถในการทำประตู และวิสัยทัศน์ในการจ่ายบอล แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดอ่อนของลิเวอร์พูล เมื่อคู่ต่อสู้สามารถอ่านทางได้อย่างง่าย ว่าหากคูตินโญ่ได้ครองบอล เขาจะตัดสินใจทำอะไรต่อ เอียน เกรแฮม จึงแนะนำให้คล็อปป์ขายกองกลางสัญชาติบราซิลคนนี้ออกไปเสียในปี 2018 

ภายหลังลิเวอร์พูลกลับไปใช้แผนที่ให้นักเตะทุกคนสามารถจะทำประตูได้ พร้อมกับเซ็ตเกมการเล่นจากแนวหลังในตำแหน่งฟูลแบ็คซ้ายขวาทั้งสองข้างอย่าง แอนดี้ โรเบอร์สัน และ เทรนด์ อเล็กซานเดอร์ อาโนล์ด จึงทำให้ทุกตำแหน่งของลิเวอร์พูลเต็มไปด้วยความอันตราย ที่สามารถนำบอลเข้าสู่พื้นที่สุดท้ายได้จากทุกตำแหน่ง

เอียน ชี้อีกว่าจุดอ่อนของลิเวอร์พูลขณะนั้นคือ ‘เสียประตู’ ง่ายเกินไป บวกกับไม่มีกองหลังที่มีความสม่ำเสมอในทางด้านของสภาพร่างกาย เอียนจึงแนะนำให้คล็อปป์ซื้อ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ กองหลังจากเซาท์แธมป์ตัน ในราคาที่แพงที่สุดของเกาะอังกฤษ ณ ขณะนั้น เข้ามาร่วมทีม ท่ามกลางคำวิจารณ์ว่า กองหลังจากทีมกลางตารางจะช่วยยกระดับทีมได้อย่างไร

แต่สิ่งที่ไม่มีใครรู้คือ เอียน ได้คำนวนไว้แล้วจากข้อมูล ‘สถิติ’ การลงเล่นของ ฟาน ไดจ์ ว่า ในระยะเวลา 2 ฤดูกาลกับเซาท์แธมป์ตัน เขาลงเล่นไปถึง 55 นัดจากทั้งหมด 76 นัด ทั้งยังคงความสม่ำเสมอของฟอร์มการเล่นเป็นอย่างดี ส่วนสภาพร่างกายก็สูงใหญ่ แข็งแกร่ง มีความเป็นผู้นำ และที่สำคัญคือสถิติของอัตราการป้องกันการเสียประตูที่สูง ทำให้เขาเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของลิเวอร์พูลอย่างแท้จริง และ ฟาน ไดจ์ ก็เป็นนักเตะคนสำคัญที่พาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์รายการใหญ่อย่างยูฟ่าแชมป์เปียนส์ลีค และแชมป์พรีเมียร์ลีคอังกฤษได้ในที่สุด 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ‘สถิติ’ ในโลกฟุตบอลมีความสำคัญอย่างมาก ตั้งแต่เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยที่ผู้บรรยายมอบให้ผู้ชม ไปจนถึงการออกแบบแทคติคของผู้จัดการทีม และการวางแผนเสริมทัพซื้อตัวนักเตะของสโมสร จึงได้แต่คาดหวังว่า ต่อไปในอนาคตประเทศไทยจะมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้กับแวดวงกีฬามากขึ้น เพื่อยกระดับวงการนี้ให้ก้าวไปไกลได้อย่างต่อเนื่อง

 

ภาพ: https://www.skysports.com/football/news/11095/12073198/premier-league-games-live-on-sky-sports-in-october-man-city-vs-arsenal-man-utd-vs-chelsea 

https://thailand.liverpoolfc.com/news/thailand-news/398775-behind-the-badge-the-physicist-who 

https://www.the-sun.com/sport/premier-league/4048697/man-utd-city-tactics-de-bruyne/ 

ที่มา:

 

https://www.ft.com/content/84aa8b5e-c1a9-11e8-84cd-9e601db069b8 

https://fivethirtyeight.com/features/the-people-tracking-every-touch-pass-and-tackle-in-the-world-cup/  

https://www.11v11.com/how-are-football-stats-collected/ 

https://medium.com/the-spekboom/how-math-and-data-science-made-liverpool-the-best-team-on-the-planet-a72d50b325 

Tags: , ,