หากใครเป็นคอกีฬารถสูตรหนึ่ง หรือ ฟอร์มูลาร์วัน (Formula 1) น่าจะตกใจไม่น้อยกับเหตุการณ์ที่ จอร์จ รัสเซล (George Russell) นักขับสังกัดทีมเมอร์เซเดส (Mercedes) เสียหลักบริเวณโค้งแรกของจุดสตาร์ทจนไปชนเข้ากับรถของ โจว กวานยู  (Zhou Guanyu) จากทีมอัลฟ่า โรเมโอ (Alfa Romeo) จนรถของนักขับชาวจีนหงายท้อง ก่อนพุ่งไถลชนเข้ากับแบริเออร์บริเวณอัฒจันทร์คนดูอย่างจัง ในการแข่งขันรายการบริติช กรังด์ปรีซ์ สนามที่ 10 ณ สังเวียนซิลเวอร์สโตน เซอร์กิต ประเทศอังกฤษ เมื่อคืนวันที่ 4 กรกฎาคม 2022

วินาทีแรกที่แฟนๆ ทั้งจากในสนามและทางหน้าจอโทรทัศน์เห็นภาพอุบัติเหตุดังกล่าว อาจนึกว่า โจว กวานยู ต้องหมดสติ แขนขาหัก หรือร้ายแรงยิ่งกว่านั้น เพราะภาพที่ถูกบันทึกไว้ดูหวาดเสียว และผู้ควบคุมต้องตีธงแดงเป็นสัญลักษณ์เพื่อหยุดการแข่งขันนานกว่า 56 นาที

แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกนำตัวหามใส่เปลขึ้นเฮลิคอปเตอร์ส่งโรงพยาบาล โจวกลับมาอัพเดทอาการตัวเองผ่านแอคเคาท์ทวิตเตอร์ส่วนตัวด้วยรูปเซลฟีปราศจากรอยฟกช้ำใดๆ ราวกับเพิ่งตื่นนอน โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า 

“I’m ok, all clear. Halo saved me today. Thanks everyone for your kind messages!” หรือ “ผมโอเค ทุกอย่างเรียบร้อยดี ฮาโลช่วยผมไว้ ขอบคุณทุกคนสำหรับข้อความให้กำลังใจนะ”

ทันทีที่ทราบข่าวแฟนๆ ต่างโล่งใจ และหลายคนสนใจว่า ฮาโล (Halo) ที่โจวระบุว่าช่วยชีวิตเขานั้นคืออะไรกันแน่

เพื่อคลายข้อสงสัย เราจึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับ ฮาโล (Halo) อุปกรณ์ที่ถูกคิดค้น และออกแบบมาเพื่อปกป้องชีวิตนักแข่งฟอร์มูลา วัน ให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุและความตาย ขณะเบียดแย่งชิงเจ้าความเร็วบนสนามแข่งขัน ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหมวกกันน็อก

มัจจุราชของ ‘นักขับ F1’ ที่ชื่อว่า ‘ความเร็ว’

ย้อนกลับไปช่วงยุค 90 กีฬารถฟอร์มูลาร์ วันขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬาสุดแสน ‘อันตราย’ ที่ชีวิตนักขับหลังพวงมาลัยเต็มไปด้วย ‘ความเสี่ยง’ ทุกวินาทียามลงสนามแข่ง เริ่มตั้งแต่ปี 1994 ที่ โรลันด์ รัตเซนแบร์เกอร์ (Roland Ratzenberger) นักขับชาวออสเตรีย และ ไอร์ตัน เซนนา (Ayrton Senna) นักขับชาวบราซิล ดีกรีแชมป์โลก 3 สมัย ต้องสังเวยชีวิตให้กับกีฬาความเร็วชนิดนี้ ในการแข่งขันซานมารีโน กรังด์ปรีซ์  

กระทั่ง 5 ปีถัดมา ในทัวร์นาเมนต์เจแปนนีส กรังด์ปรีซ์ ฌูลส์ เบียงคี่  (Jules Bianchi) กลายเป็นนักขับคนที่ 3 ที่ต้องพบกับจุดจบแสนโศรกเศร้า จากเหตุการณ์ที่เจ้าตัวซิ่งฝ่าสายฝน ก่อนถนนจะลื่นจนเสียการควบคุม พุ่งเข้าชนกึ่งกลางระหว่างแบริเออร์และรถแทรกเตอร์ที่จอดยกรถอีกคันข้างทาง แม้เบื้องต้นแพทย์จะสามารถผ่าตัดยื้อชีวิตนักขับชาวฝรั่งเศสไว้ได้ แต่ก็ต้องอยู่ในสภาพโคม่าเป็นเจ้าชายนิทรา ก่อน 1 ปีให้หลังมัจจุราชจะพรากนักขับพรสวรรค์สูงรายนี้ไปไม่มีวันกลับ

ใช่ว่าผู้จัดอย่าง ‘สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ’ หรือ ‘FIA’ (International Automobile Federation) จะไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อต้องมีนักขับบาดเจ็บ ล้มตายติดๆ กัน เพียงไม่กีปี และไม่ใช่แค่กับรายการ F1 เพราะยังลามไปถึงรายการฟอร์มูลาอี (Formula E), F2, F3, F4 และยูเอส อินดี้คาร์ (US IndyCar Series) ที่มีนักแข่งบาดเจ็บหนักและเสียชีวิต เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุมีเพียงแค่ 3 สิ่ง คือ  ชุดกันไฟ, เข็มขัดนิรภัย และหมวกกันน็อกแบบเต็มใบ ดังนั้น FIA จึงจำเป็นต้องหาข้อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก 

Aerocreen ต้นกำเนิดอุปกรณ์ป้องกันชีวิตนักแข่ง

ที่ผ่านมาโครงสร้างของรถสูตรหนึ่งถูกออกแบบให้สามารถป้องกันอุบัติเหตุต่อบริเวณ ‘โมโนค็อก’ (Monocoque) หรือ ‘ตัวที่นั่งคนขับ’ ด้วยวัสดุผลิตจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) ความหนา 6.6 มิลลิเมตร และเคลือบด้วยวัสดุเคฟลาร์ (Kevlar) อีกชั้น เพื่อดูดซับแรงกระแทกจากทั่วทิศทาง ขณะที่ FIA ออกกฎให้จำกัดระดับความเร็วอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้อาจยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับกรณีที่รถเสียหลักพลิกคว่ำไถลไปกับพื้นถนน นักแข่งผู้โชคร้ายอาจต้องพบกับจุดจบหัวกระแทกพื้นเสียชีวิต รวมไปถึงกรณีที่เศษชิ้นส่วนจากรถคันอื่นอาจพุ่งกระเด็นกระแทก ดังนั้น ในปี 2016 ประธานผู้บริหารสูงสุดของ FIA อย่าง ฌ็อง โทดต์ (Jean Todt) ตัดสินใจเรียกคณะกรรมธิการทั้งหมด มาร่วมมือวางแผนหาข้อแก้ไข โดยได้ผลสรุปว่า จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถป้องบริเวณรัศมีด้านหน้าของคนขับ ในกรณีที่

1. ป้องกันคนขับจากการชนของรถ 2 คัน

2. ป้องกันคนขับจากการชนแบริเออร์ข้างทาง

3. ป้องกันคนขับจากเศษชิ้นส่วนอะไหล่ของรถคันอื่นที่กระเด็นมา

โจทย์ดังกล่าว FIA ได้นำไปคิดค้นร่วมกับทีมเทคนิคสังกัดเรดบูล เรซซิ่ง (Redbull Racing) ก่อนจะกำเนิดเป็นอุปกรณ์ชื่อว่า ‘เอโรสกรีน’ (Aeroscreen) ที่มีลักษณะเป็นชิลด์โปร่งใสขนาดใหญ่ เคลือบด้วยสารโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) ยึดรอบโครงด้วยวัสดุไทเทเนียม (Titanium) ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าคนขับ โดยเริ่มทดลองใช้ในทัวร์นาเมนต์รัสเซียน กรังด์ปรีซ์ 2016 จนถึง บริติช กรังด์ปรีซ์ 2017 ทว่ากระแสตอบรับไม่สู้ดีนัก และถูกวิจารณ์ว่าแม้จะป้องกันคนขับได้ แต่ก็บดบังทัศนียภาพอย่างมากเช่นกัน

ถึงกระนั้น เอโรสกรีนได้กลายเป็นอุปกรณ์ป้องกันชิ้นสำคัญ ต่อการแข่งขันรถยนต์ประเภทอินดี้คาร์ เพราะนักขับส่วนใหญ่ต่างรู้สึกว่าไม่ได้บดบังทัศนียภาพมากนัก ทั้งยังสามารถป้องกันอุบัติเหตุได้ดี เพราะสามารถรองรับน้ำหนักการกระแทกได้สูงสุด 15 ตัน และปัจจุบันก็ยังมีการใช้อยู่ 

สู่การกำเนิดของอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Halo

เมื่อเอโรสกรีนไม่ตอบโจทย์ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันแบบใหม่ ที่เป็นมิตรต่อคนขับมากขึ้นกว่าเดิม โดย FIA เลือกจะเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ ก่อนที่ทีมเทคนิคของเมอเซเดส-เอเอ็มจี ยื่นเสนอแนวคิดอุปกรณ์ลักษณะ ‘โครงง่ามสามเหลี่ยม’ ยึดกับด้านหน้าและด้านหลังสองข้างของคนขับ ที่ผลิตจากวัสดุไททาเนียมและแชสซีส คาร์บอน ไฟเบอร์  (Chassis Carbon Fiber) รวมน้ำหนัก 9 กิโลกรัม  ในชื่อว่า ‘ฮาโล’ (Halo) 

คุณสมบัติของฮาโล ที่ทีมเมอเซเดส-เอเอ็มจี ได้ระบุหลังทำการทดลองสามารถรองรับน้ำหนักของลอนดอนบัส 1 คันได้สบายๆ และมากสุดคือรับน้ำหนักสิ่งของที่มีน้ำหนัก 12 ตัน นอกจากนั้นยังสามารถกันกระแทกยางรถยนต์น้ำหนัก 20 กิโลกรัม ที่พุ่งมาด้วยความเร็ว 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ตัวโครงยังบดบังทัศนียภาพคนขับน้อยกว่าอุปกรณ์เอโรสกรีนหลายเท่า ดังนั้นปี 2018 FIA จึงประกาศออกกฎบังคับข้อใหม่ในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งว่า

“มีข้อตกลงเป็นเอกฉันท์ว่าการแข่งขันฟอร์มูลาวัน ฤดูกาล 2018 จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านหน้าตัวรถ (ฮาโล) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่”

แม้ FIA ยืนยันว่าฮาโลเป็นอุปกรณ์ทางเลือกที่จะปกป้องชีวิตนักขับเพิ่มขึ้นอีก 17 เปอร์เซ็นต์ แต่บรรดานักขับและทีมงานสังกัดอื่นกลับพาเหรดกันออกมาวิพากวิจารณ์ต่อกฎดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ลูอิส แฮมิลตัน (Lewis Hamilton) ตำนานนักขับ ที่ระบุว่า ฮาโลเป็นดีไซน์ที่ ‘ห่วยบรม’ ที่สุดของประวัติศาสตร์รถฟอร์มูลาวัน 

“ผมซาบซึ้งนะที่พวกเขาแสวงหาความปลอดภัยแด่นักขับ แต่นี่คือฟอร์มูลาวัน และที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็สมบูรณ์อยู่แล้ว ผมหลงใหลในดีไซน์ของรถประเภทนี้ที่มีในยุค 1980 และ 1990 การเอาเจ้าสิ่งนี้มาติดตั้งจะทำให้เสนห์ของดีไซน์ที่เคยมีหายไป”

“นี่มันไม่ใช่ F1 ในอุดมคติของผมอีกต่อไป หวังว่าถ้าพวกเขา (FIA) ตั้งกฎให้นำไปใช้อย่างจริงจังในการแข่งขัน พวกเราจะมีทางเลือกว่าต้องการติดตั้งหรือไม่ติดตั้งฮาโลด้วยความสมัครใจ เพราะท้ายที่สุดนี่คือความปลอดภัยของตัวเราเอง ท้ายสุดผมเข้าใจดีถึงความปลอดภัย และเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ แต่สำหรับผม นี่ไม่ใช่ปัญหา”

ได้รับการยอมรับมาตรฐานอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี แม้ลูอิส แฮมิลตัน จะวิจารณ์ฮาโล แต่ปี 2021 ในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์อิตาเลียน กรังด์ปรีซ์ รอบที่ 26 แฮมิลตันกลับเกือบต้องเหลือแต่ชื่อ จากน้ำหนักรถของนักขับชาวเนเธอร์แลนด์ แม็กซ์ เวอร์สแตพเพน (Max Verstappen) ขณะพยายามเบียดแซงกันในช่วงโค้งที่ 2 โดยผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่าตัวรถแทบจะทั้งคันของเวอร์สแตพเพน เกยขึ้นมาอยู่เหนือศรีษะของนักขับชาวสหราชอาณาจักร แต่โชคดีที่ฮาโลคานรับน้ำหนักไว้ได้หวุดหวิด

นอกจากกรณีของแฮมิลตันแล้ว ก่อนหน้านี้ปี 2018 ในทัวร์นาเมนต์เบลเจี้ยน กรังด์ปรีซ์ 2018 นักขับชาวฝรั่งเศส ชาร์ล เลคเลิร์ค (Charles Leclerc) ก็รอดพ้นจากความตายด้วยฮาโล หลังรถของเฟร์นันโด อลอนโซ (Fernando Alonso) เสียหลักและลอยข้ามมาเฉี่ยวศรีษะแต่กลับติดอุปกรณ์ง่ามสามเหลี่ยมแทน

 รวมไปถึงในทัวร์นาเมนต์บาห์เรน กรังด์ปรีซ์ 2020 ที่รถของนักขับชาวฝรั่งเศส โรแม็ง โกรส์ฌอง (Romain Grosjean) เสียหลักพุ่งกระแทกกับรั้วกำแพง ด้วยความแรงในการชนถึง 53 จี จนตัวรถขาดเป็น 2 ท่อน ก่อนที่นักขับสังกัดทีมฮาส เอฟวัน ทีม (HASS F1 Team) จะติดอยู่ในซากกองรถที่มีกองไฟลุกท่วมนานกว่า 30 วินาที แต่หลังช่วยออกมากลับมีแผลไฟไหม้แค่บริเวณมือและเท้าทั้งสองข้างเท่านั้น

ปัจจุบัน ฮาโลยังคงทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันชีวิตนักขับรถสูตรหนึ่งชั้นยอด ไปจนถึงการแข่งขันรถยนตร์ตระกูลฟอร์มูลารุ่นอื่นๆ และพิสูจน์ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่อุปกรณ์หน้าตาพิลึกพิลั่นไร้ประโยชน์แต่อย่างใด มิเช่นนั้นเราคงไม่อาจเห็นนักกีฬาชนิดนี้ยืนตระหง่านอยู่บนโพเดี้ยมแบบอวัยวะครบ 32 ได้แน่

และสุดท้ายยังเป็นข้อพิสูจน์อีกว่า จงอย่าตัดสินใครแค่รูปลักษณ์ภายนอก เพราะบางทีสิ่งนั้นอาจจะมีคุณูปการมากกว่าที่ตาเห็น

ที่มา

https://www.bbc.com/sport/formula1/62031509

https://www.bbc.com/news/newsbeat-62037334

https://www.driving.co.uk/news/motor-sport/f1-halo-explained/

https://www.autosport.com/f1/news/history-of-safety-devices-in-formula-1-the-halo-barriers-more-4982360/4982360/

https://www.fia.com/news/f1-why-halo-best-solution

https://www.autoevolution.com/news/f1s-halo-or-indycars-aeroscreen-which-crash-protection-system-is-better-154926.html

https://www.fia.com/news/f1-red-bull-tests-aeroscreen-head-protection-system-sochi-autodrom

https://www.skysports.com/f1/news/12479/10301170/ron-dennis-says-aeroscreen-concept-good-but-needs-work

https://www.dailymail.co.uk/sport/formulaone/article-3476393/Lewis-Hamilton-slams-Halo-design-worst-looking-modification-Formula-One-history.html

Tags: , , ,