‘มาตรฐานที่เท่าเทียม’ ของพาราลิมปิกเกมส์ 2020
มหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มนุษยชาติได้แสดงออกถึงบรรทัดฐานแห่งยุคสมัยที่ว่าด้วย ‘ความเท่าเทียม’ อย่างแท้จริง
เหล่านักกีฬาที่ถูกสังคมมองว่าเป็นเพียงผู้พิการ แต่ในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ พวกเขาคือความภูมิใจของประเทศชาติ ที่ได้รับโอกาสครั้งสำคัญในการพิสูจน์ให้เห็นว่า ความสามารถทางด้านกีฬาของพวกเขานั้นโดดเด่นไม่เป็นรองใคร
หนึ่งในไฮไลต์ที่ถูกจับตามองในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ คือการบรรจุการแข่งขันกีฬาเทควันโด หรือพาราเทควันโด (เทควันโดสำหรับผู้พิการ) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แม้จะมีคำว่า ‘พารา’ นำหน้า ทว่ามาตรฐานอันยอดเยี่ยมของนักกีฬาพาราเทควันโดก็ไม่ได้ด้อยไปกว่านักกีฬาเทควันโดเลย ผู้เข้าแข่งขันทุกคนล้วนผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ต้องซ้อมลูกเตะกว่าหมื่นครั้ง ต้องพิสูจน์ตัวเองบนเวทีท่ามกลางสายตามากมายคอยจับจ้อง ถึงร่างกายจะไม่สมบูรณ์เฉกเช่นคนปกติ แต่หัวใจที่มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ทำให้พวกเขาสามารถฟันฝ่าอุปสรรค จนได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรี
และเพื่อให้สมศักดิ์ศรีของเหล่านักกีฬาพาราเทควันโดเหล่านี้ การได้ใช้อุปกรณ์และมีเทคโนโลยีในการวัดผลที่แม่นยำ เพื่อที่ทั้งโลกจะได้รับรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งทาง OMEGA ก็ได้ทำหน้าที่ตรงนี้อยู่สุดความสามารถอีกเช่นเคย เพื่อมอบ ‘ความสำเร็จ’ ที่แม่นยำให้กับการแข่งขันอันทรงเกียรตินี้
แม้ร่างกายพิการ แต่หัวใจที่ไม่เคยพิการ
สำหรับ ‘ขวัญ’ – ขวัญสุดา พวงกิจจา นักกีฬาพาราเทควันโดหญิงทีมชาติไทย เธอก็เป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตล้นเหลือ กระนั้นเองก็ต้องการมีชีวิตที่ดีและสุขสบายเหมือนกับทุกคน
วันหนึ่ง ขวัญสุดาต้องพบจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เธอประสบอุบัติเหตุไฟคลอก และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สุดท้ายต้องสูญเสียมือข้างซ้าย กลายเป็นผู้พิการอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในวันที่ชีวิตต้องเผชิญกับความยากลำบาก เต็มไปด้วยความทุกข์ตรมโศกเศร้า แต่ขวัญสุดาเลือกที่จะยอมรับความจริงแล้วเดินหน้าต่อไป เธอเป็นนักกิจกรรมตัวยง ขยันขันแข็ง สดใสร่าเริง จนเป็นที่รักของคนทั้งโรงเรียน กระทั่งโชคชะตาได้นำพาให้เธอมารู้จักกับ โค้ช ชิน ยอง-กุน อดีตโค้ชเทควันโดทีมชาติไทยที่เคยร่วมงานกับโค้ช ชเว ย็อง-ซ็อก หรือ ‘โค้ชเช’ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมเทควันโดทีมชาติไทย
ขวัญสุดาตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางนักกีฬาเทควันโดนับจากนั้น ด้วยความมุ่งมั่น การฝึกซ้อมอย่างหนัก ฝีมือของเธอเริ่มพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ระยะเวลาไม่ถึงสองปีเธอสามารถคว้าแชมป์โลกพาราเทควันโด รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม ได้เป็นคนแรกของประเทศไทย ก่อนจะคว้าสิทธิ์เข้าแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว
ตัวแปรแห่งความสำเร็จที่ทุกคนภาคภูมิใจ
เคยมีคำกล่าวว่า ในการแข่งขันกีฬาใดก็ตาม ถ้าทั้งสองฝ่ายมีฝีมือสูสีกัน รายละเอียดเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญ อาจเป็นตัวแปรที่จะนำพาไปสู่ชัยชนะ ซึ่งเส้นทางสู่การคว้าเหรียญทองแดงของ ขวัญสุดา พวงกิจจา ก็เป็นการตอกย้ำความจริงของประโยคดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขวัญสุดาลงแข่งขันครั้งแรกในรอบ 16 คนสุดท้าย พบกับ โรยาลา เฟตาลิเยวา จากอาเซอร์ไบจาน และเอาชนะไปแบบง่ายดาย 17-4 คะแนน ก่อนจะผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ ไปพบกับ เคฟดาร์ เมอร์เย็ม จอมเตะสาวทีมชาติตุรกี แต่กลับพลาดท่าพ่ายไปด้วย 13-34 คะแนน หมดสิทธิ์คว้าเหรียญเงินและเหรียญทอง
ต่อมา สำหรับการแข่งขันชิงเหรียญทองแดง ขวัญสุดาต้องเจอกับคู่แข่งที่มีฝีมือสูสี นั่นคือ อิกห์ตูยา คูห์รีลบาทาร์ จอมเตะสาวเบอร์หนึ่งของรุ่นจากมองโกเลียในรอบตัดเชือก โดยขวัญสุดาสามารถระเบิดฟอร์มล้มคู่แข่งไปด้วย 33-30 คะแนน ชนิดต้องลุ้นระทึกกันถึงยกสุดท้าย เรียกว่าต้องอาศัยความแม่นยำในการนับผลคะแนนอย่างแท้จริง
ในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ นักกีฬาพาราเทควันโดจะได้รับการติดตั้งเซนเซอร์ของ OMEGA เหมือนกับนักกีฬาเทควันโดในโอลิมปิกเกมส์ ครอบคลุมตั้งแต่หมวก เกราะ ถุงมือ และถุงเท้า เพื่อรวบรวมข้อมูลแรงกดและแรงปะทะ ทำให้ทุกท่วงท่าของการเตะนั้นสามารถนำไปสู่ชัยชนะได้ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังโต๊ะอุปกรณ์ของ OMEGA เพื่อให้กรรมการใช้ประกอบการตัดสินใจและแสดงผลผ่านสกอร์บอร์ด นอกจากนี้ OMEGA ยังสนับสนุนจอแสดงผลการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและสกอร์บอร์ด รวมไปถึงสกอร์บอร์ดขนาดเล็กบนลานประลองด้วย
การนับคะแนนในการแข่งขันกีฬาเทควันโดนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก สองคะแนนสำหรับเทคนิคการใช้เท้าที่ถูกต้องกับอุปกรณ์ป้องกันลำตัว สามคะแนนสำหรับเทคนิคการหมุนเท้าที่ถูกต้องไปยังอุปกรณ์ป้องกันลำตัว และสี่คะแนนสำหรับเทคนิคการหมุนที่ถูกต้องกับอุปกรณ์ป้องกันลำตัว นอกจากนี้ จะได้รับหนึ่งคะแนนสำหรับทุกๆ การทำฟาวล์ที่มอบให้กับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งหากไม่ได้อุปกรณ์ในการวัดคะแนนที่แม่นยำในทุกรายละเอียดจริงๆ ก็อาจได้ผลการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมกับนักกีฬาได้
แต่ในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ในครั้งนี้ ที่ได้เทคโนโลยีชั้นนำจาก OMEGA มาทำหน้าที่ Time Keeper อย่างยุติธรรมต่อความสามารถของนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดง
OMEGA ได้ร่วมเป็นสักขีพยานที่เป็นกลางและอยู่เคียงข้างนักกีฬา เพื่อให้ชัยชนะของนักกีฬาทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ถือเป็นความสำเร็จอย่างขาวสะอาด ยุติธรรม และสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ท่ามกลางสายตาของผู้ชมทั่วโลก สมศักดิ์ศรีกับความเป็น ‘ฮีโร่’ ของประเทศชาติอย่างแท้จริง
Tags: พาราลิมปิก 2020, OMEGATimeKeeper, Paralympic 2020, พาราลิมปิกเกมส์, พาราเทควันโด, ขวัญสุดา พวงกิจจา, OMEGA