1
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่า เทรนด์กีฬาจะถูกนำไปผนวกกับแวดวงแฟชันได้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะสายสตรีทแวร์ (Streetware) มินิมัลลิสต์ (Minimalist) แอธลีเชอร์ (Athleisure) โบลกคอร์ (Blokecore) และอีกสารพัด
แน่นอนว่าไอเทมที่ขาดไม่ได้ในแต่ละแนวแฟชันข้างต้นคือ ‘สนีกเกอร์’ (Sneaker) หรือรองเท้าผ้าใบ จะหน้าตาธรรมดาหรือสีสันฉูดฉาดก็สุดแล้วแต่ความชอบ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากรองเท้ากีฬาในร่ม บาสเกตบอล ฟุตบอล หรือเทนนิสก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในปี 2023 นี้ ดูเหมือนว่าแบรนด์สนีกเกอร์ที่มาแรงอันดับหนึ่งจะไม่ได้มาจากค่ายสวูชแดนอเมริกัน หรือค่ายสามแถบเมืองเบียร์ แต่เป็น ‘เอสิกส์’ (ASICS) แบรนด์ผลิตภัณฑ์กีฬาจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมไปทั่วประเทศสหรัฐฯ และทวีปยุโรปในช่วงปลายทศวรรษ 90s
ก่อกำเนิดหลังเหตุการณ์พ่ายสงครามโลกครั้งที่ 2 เติบโตด้วยความมุ่งมั่น ต้านธารแสเวลาด้วยความตั้งใจเดิม แม้อาจเป็นม้านอกสายตาบ้าง นี่คือความตั้งใจของเอสิกส์ที่ถูกส่งต่อยุคสู่ยุค แต่เหตุใดในสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเขาจึงครองตลาดสนีกเกอร์อยู่หมัด เราขอชวนไขคำตอบจากคอลัมน์ Game On คราวนี้
2
หากจะเท้าความถึงที่มาของแบรนด์เอสิกส์ ต้องทวนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปปี 1949 หรือ 4 ปีหลังจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
ณ เวลานั้น นอกจากการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่เสียหายยับเยิน ‘สภาวะจิตใจ’ ก็เป็นอีกหมุดหมายสำคัญ ที่ชาวญี่ปุ่นใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อเยียวยาบาดแผลทางจิตใจที่เหลือไว้จากสงคราม ไม่ว่าจะในหมู่คนชรา หนุ่มสาว หรือเด็กน้อย
คิฮาชิโระ โอนิสึกะ (Kihachiro Onitsuka) อดีตทหารผ่านศึกประจำฝ่ายธุรการ คือชายผู้มีอุดมการณ์เรียกรอยยิ้มคนในบ้านเกิดกลับมาอีกครั้ง ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ กีฬา’ คือเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูจิตใจ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท โอนิสึกะ โชไค (Onitsuka Shokai) ขึ้นมา พร้อมผลิตสินค้าหลักจำพวกรองเท้าผ้าใบที่เหมาะใช้ใส่เล่นกีฬาในร่ม โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นบรรดานักเรียน ก่อนจะค่อยๆ พัฒนารองเท้าไปสู่กลุ่มนักเล่นกีฬาบาสเก็ตบอล และนักวิ่งมาราธอน
กระทั่งในปี 1953 บริษัท โอนิสึกะ โชไค ได้ตัดสินใจควบรวมกิจการกับบริษัท ไทเกอร์ (Tiger) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางในเมืองโกเบ ภายใต้ชื่อ ‘โอนิสึกะ ไทเกอร์’ (Onitsuka Tiger) เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและพัฒนารองเท้ากีฬา
ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัย ว่าเรากำลังพูดถึงแบรนด์เอสิกส์กันอยู่จริงใช่ไหม แต่ทั้งสองแบรนด์อย่างเอสิกส์และโอนิสึกะ ไทเกอร์ มีรากฐานมาจาก คิฮาชิโระ โอนิสึกะ
เพราะหลังจากที่แบรนด์โอนิสึกะ ไทเกอร์ โด่งดังเป็นพลุแตกและประจักษ์แก่สายตาชาวโลกในการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก จากรองเท้าผ้าใบรุ่นเม็กซิโก 66 (Onitsuka Tiger Mexico 66) ที่ทัพนักกีฬาญี่ปุ่นใช้ใส่เป็นเครื่องแบบ
ในปี 1977 พวกเขาได้ตัดสินใจปรับแนวทางของแบรนด์อีกครั้งด้วยการเปลี่ยนชื่อจดทะเบียนจากบริษัท โอนิสึกะ ไทเกอร์ เป็น ‘เอสิกส์ คอปอร์เรชัน’ (ASICS Corporation)
ชื่อ ‘ASICS’ มีความหมายในภาษาละตินว่า ‘Anima Sana In Corpore Sano’ หรือที่แปลว่า ‘จิตใจที่สดใสอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง’ ตรงตามปณิธานแรกเริ่มของ คิฮาชิโระ โอนิสึกะ ที่ต้องการสร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย แต่ใช่ว่าโอนิสึกะ ไทเกอร์ จะถูกยุบไปดื้อๆ เพียงแค่เปลี่ยนสถานะไปเป็นแบรนด์ลูกที่ผลิตรองเท้าสายแฟชั่นโดยเฉพาะ ส่วนเอสิกส์ที่เป็นบริษัทแม่มีหน้าที่ผลิตรองเท้ากีฬาและผลิตภัณฑ์กีฬาอื่นๆ
3
ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชื่อของเอสิกส์แทบไม่ได้อยู่ในสารบบของวงการสนีกเกอร์แต่อย่างใด หนำซ้ำยังถูกจดจำในฐานะแบรนด์เสื้อกีฬามากกว่า โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล อาทิ เสื้อฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น ปี 1998, สโมสรแอสตันวิลลา, แบล็กเบิร์นโรเวอร์ส, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, โรมา, โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัก ฯลฯ และที่สำคัญคือ ‘รองเท้าวิ่ง’ ที่วงการเจ้าลมกรดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือแบรนด์รองเท้าวิ่งอันดับต้นๆ ของโลก
แล้วเหตุใดช่วงรอยต่อระหว่างปลายปี 2022-2023 กระแสของสนีกเกอร์ยี่ห้อเอสิกส์จึงกลับมานิยม ทั้งที่ก่อนหน้านี้กระแสในไทยยังนิยมใส่รองเท้าไนกี้ ดังก์ โลว์ แพนด้า (Nike Dunk Low Panda) แอร์ จอร์แดน (Air Jordan) หรือแม้แต่รองเท้าจากค่ายนิวบาลานซ์ (New Balance) มากกว่า
คำตอบคือเอสิกส์ลุยฝั่งสนีกเกอร์มานานแล้ว แต่ทำมาเงียบๆ เรื่อยๆ โดยพวกเขาจัดรองเท้าประเภทดังกล่าวไว้ในหมวดสปอร์ตสไตล์ (SportStyle) หรือการนำโมเดลรองเท้าวิ่งยุคเก่ามาปรับปรุงใหม่ พร้อมกับใส่เทคโนโลยีสุดล้ำที่ชื่อว่า ‘เจล’ (GEL) ซัพพอร์ตฝ่าเท้าผู้ใช้งาน เหมือนได้เหยียบย่ำอยู่บนพื้นยางนุ่มๆ เหมาะแก่การใส่ลุยในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น รุ่น GEL-Kayano 14, GEL-Nimbus 9, ตระกูล GEL Lyte หรือสามรุ่นล่าสุดอย่าง GT 2160, GEL-1130 และ GEL-NYC
ทั้งนี้ เทคโนโลยีข้างต้นเป็นผลผลิตจากการทดลองในปี 1984-1986 โดยทีมพัฒนาของเอสิกส์มุ่งมันที่จะหาวัสดุรับแรงกระแทงฝ่าเท้า จากที่แต่เดิมเป็นวัสดุจำพวกฟองน้ำยูรีเทนที่ชำรุดและรองรับน้ำหนักได้ไม่มากนัก โดยเทคโนโลยีเจลยังคงถูกใช้เรื่อยมาแทบทุกสายการผลิตรองเท้าของเอสิกส์
หาก ‘ความสบาย’ คือโจทย์แรกที่เอสิกส์ตีแตกสำเร็จ โจทย์ต่อมาที่พวกเขายังทำได้ไม่พลาด ก็คงเป็นเรื่องของ ‘รูปลักษณ์’ ที่บรรดาสนีกเกอร์เฮดหรือคนรักรองเท้าทั่วไปให้ความสำคัญ
มองผิวเผินหน้าตาภายนอกอาจเรียกว่ารองเท้าจำพวก ‘Dad Shoes’ แต่ก็ยังแฝงความโฉบเฉี่ยวแพรวพราว ไม่ซ้ำซากจำเจยามเดินสวนกับคนอื่น แม้เป็นดีไซน์หน้าตามาตรฐานทั่วไป แต่กลับดูดีเหมือนงานคอลแลบส์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุหนังกลับที่ให้ความคลาสสิก หรือการใช้ผ้าตาข่าย (Mesh Fabric) ผิวเงินมันวาว ตรงตามคุณลักษณะที่แฟชั่นแนวเรโทรยุค 80s และ 90s โหยหา จึงไม่แปลกใจที่สนีกเกอร์จากแดนอาทิตย์อุทัยนี้จะกลับมาดังเปรี้ยงปร้างตลอดสองปีที่ผ่านมา
4
ไม่ใช่แค่ในมุมผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้นที่ให้ความสนใจกับแบรนด์เอสิกส์ แต่ในมุมของบรรดาดีไซเนอร์ตัวเอ้ก็ตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ที่ว่า ทั้งพร้อมใจกันออกผลงานคอลแลบส์กับเอสิกส์เรื่อยมา เริ่มตั้งแต่ปี 2018 ที่ร่วมงานกับ กิโก กอสตาดินอฟ (Kiko Kostadinov) ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวบัลแกเรีย ด้วยการผลิตโมเดลรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า ‘GEL-Burz 1’ ซึ่งเป็นการหยิบหน้าตาโมเดลรุ่น GEL-Nimbus 20 และ GEL-Venture 6 มารวมร่างกัน โดยเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในงานแฟชันโชว์ The Spring/Summer
กระทั่งปี 2023 ดูเหมือนว่าเอสิกส์จะหวนร่วมงานกับสตูดิโอดีไซเนอร์เพื่อออกคอลเลกชันสุดเอ็กคลูซีฟ จนตลาดรีเซลล์คึกคักราคาพุ่งสูง อาทิ Bodega, JJJJound, Dime ไปจนถึง HAL Studios
แอนดรูว์ ไวต์ (Andrew White) หนึ่งในทีมดีไซเนอร์จาก Bodega เคยกล่าวในงานเปิดตัวโปรเจ็ก ASICS x Bodega ว่า ตลอดระยะเวลา 74 ปีที่ผ่านมา เอสิกส์สามารถคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของตัวเอง นั่นคือ ‘ความสบาย’ มีระบบลดแรงกระแทกที่ไม่แพ้แบรนด์รองเท้าอื่น โดยเฉพาะเทคโนโลยีเจลที่เป็นดังกุญแจไปสู่ความสำเร็จ
“เอสิกส์มีความเฉพาะตัวสูง ขณะที่ประสิทธิภาพเรื่องการใช้วิ่งก็ดีไม่แพ้กัน ในเมืองนิวยอร์กคุณอาจเห็นผู้สูงอายุจนถึงนักธุรกิจเลือกสวมใส่รองเท้ายี่ห้อนี้เพราะเหตุผลดังกล่าว ผมว่าเทคโนโลยีเจลไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเลย แต่คือเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เอสิกส์ได้รับความนิยม” แอนดรูว์กล่าว
5
ล่าสุด ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2023 เว็บไซต์แฟชั่นเมนสตรีมอย่าง hypebeast.com เพิ่งประกาศให้เอสิกส์คว้ารางวัลแบรนด์รองเท้าแห่งปี (Best Footwear Brands) เป็นปีที่สองติดต่อกัน รวมไปถึงสื่อสำนักอื่นๆ และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ด้านสนีกเกอร์ทั่วโลกที่เห็นพ้องต้องกันว่า เอสิกส์ได้ครองใจพวกเขาไปแล้ว
ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ข้างต้นยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมสนีกเกอร์เฮดยุคปัจจุบันว่า แม้ความเท่จะเป็นปัจจัยนำ แต่สุดท้ายแล้ว ความสบายกลับเป็นตัวชี้วัดว่า ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับตัวเองมากที่สุด
รวมไปถึงอีกเหตุผลหนึ่งคือหลายคนอยากดูโดดเด่น ไม่ซ้ำใคร เฉกเช่นเดียวกับการเลือกสวมใส่แอสเซสซอรีแฟชั่นชิ้นอื่นนั่นเอง
อย่างไรก็ดี เรื่องของแฟชั่นคือ ‘ปัจเจก’ เหมือนการเชียร์ทีมกีฬาสักทีม เพราะไม่ว่าสุดท้ายจะเลือกคล้อยตามกระแสหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่ดุลยพินิจ เพียงแค่ดำเนินไปอย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนใคร และไม่สะเทือนเงินในกระเป๋าสตางค์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ส่วนใครที่อยากลองหาสนีกเกอร์ของเอสิกส์มาใส่ก่อนหมดปี 2023 ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะมีช็อปวางจำหน่ายในห้างใหญ่ทั่ว กทม. หรือกดผ่านเว็บไซต์ แต่ที่น่าเสียดายคือ ตอนนี้หน้าร้านส่วนใหญ่ยังมีทางเลือกน้อย ใครที่อยากทดลองใส่ก่อนซื้ออาจจะต้องคิดหนักเล็กน้อย
อ้างอิง
https://hypebeast.com/hb100/2023/awards
https://hypebeast.com/2023/8/asics-gel-nyc-gel-1130-gel-kayano-14-ex-89-gt-2160-aw23-lookbook
https://www.asics.com/be/nl-be/voice/shigeyuki-mitsui/
https://www.asics.com/us/en-us/asics-history-page/
https://www.gearpatrol.com/style/shoes-boots/a42922410/asics-sneakers-2023/
https://www.gq.com/story/inside-the-asics-resurgence
https://www.gq-magazine.co.uk/fashion/article/jjjjound-asics-kayano-14-collaboration-2022
https://fashionista.com/2023/04/asics-sneaker-revival-trend