แม้การแข่งขันวิ่งทั้งในประเภทลู่ (Track) และถนน (Road) จะเป็นการแข่งขันกับศักยภาพร่างกายและหัวใจของตัวเอง ทั้งต้องอดทนกับสภาพร่างกาย มัดกล้ามเนื้อถูกกระตุ้นให้ใช้งานอยู่ตลอดเวลา อัตราการเต้นหัวใจที่สูงเกินปกติ การหายใจที่เริ่มที่ตัดขัด รวมไปถึงสภาพจิตใจที่ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากร่างกาย โดยเฉพาะในระดับนักกีฬาที่ต้องดันกำแพงตัวเอง กัดฟันวิ่งตลอดเส้นทางเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง
แต่ถ้าถามว่า แล้วการวิ่งระยะไหนที่โหดร้ายและทรมานที่สุดสำหรับนักวิ่ง เชื่อว่าหลายคนจะต้องตอบระยะ 400 เมตร หรือ 1 รอบลู่วิ่งอย่างแน่นอน ขนาด ยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) นักวิ่งระดับโลกชาวจาไมกา ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขามักเลี่ยงระยะวิ่ง 400 เมตรอยู่เสมอ
“ผมหวังว่าตัวเองจะไม่ต้องฝึกซ้อมโปรแกรม 400 เมตร ผมพยายามบอกโค้ชเรื่องนี้อยู่เสมอ” โบลต์ กล่าว
น่าสนใจไม่น้อยว่า ทำไมระยะ 400 เมตร ถึงเป็นยาขมของเหล่านักวิ่ง ในระยะเวลา 44.52 วินาทีสำหรับเจ้าของสถิติโลก หรือเวลา 1.30 นาที สำหรับนักวิ่งทั่วไปโดยเฉลี่ยนั้น เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและจิตใจของพวกเขาบ้าง
400 เมตร ระยะทางที่พอดีสำหรับการเจ็บปวดของร่างกาย
อันดับแรกที่ต้องพูดถึงกันก่อน คือทำไมระยะทาง 400 เมตรถึงทรมานที่สุด เหตุใดจึงไม่ใช่ระยะที่ไกลกว่าอย่าง 800 เมตร 1,500 เมตร 10,000 เมตร หรือกระทั่งระยะมาราธอนที่ไม่ใช่ทุกคนจะวิ่งได้เลยในระยะเวลาอันสั้น
คำตอบคือระยะที่ไกลกว่าเหล่านั้น จะมีช่องว่างและเวลาสำหรับการพักระหว่างวิ่งค่อนข้างนาน หากสังเกตในการวิ่งแข่งขันระยะเหล่านี้ เรามักจะเห็นวิธีของบรรดานักกีฬาที่จะไม่วิ่งสุดกำลังตั้งแต่ออกสตาร์ท แต่เราจะเห็นการประคองเพซ (Pacing) หรือการรักษาความเร็วไว้ประมาณหนึ่ง ซึ่งเป็นความเร็วที่ร่างกายจะไม่บีบเค้นเกินไป หรือพูดง่ายๆ คือมีเวลาให้พักหายใจหายคอกันระหว่างการแข่งขัน
และยิ่งในระยะยาวๆ เช่น ฮาลฟ์มาราธอนหรือมาราธอน เราจะเห็นการ ดราฟติ้ง (Drafting) หรือการกรุ๊ปปิ้ง (Grouping) คือการวิ่งร่วมกับนักกีฬาคนอื่น เพื่อช่วยกันประคองความเร็ว ซึ่งการวิ่งแบบนี้มีงานวิจัยระบุว่า จะช่วยให้การวิ่งนั้นมีประสิทธิภาพกว่าการวิ่งคนเดียวในความเร็วเท่ากัน คือ 2-7.8% เลยทีเดียว
และหากพูดถึงระยะที่สั้นกว่า 400 เมตร อย่างการวิ่ง 100 และ 200 เมตรนั้น ในระยะเวลาไม่เกิน 20 วินาทีของกลุ่มนักกีฬาโดยเฉลี่ย ร่างกายก็ยังไม่ทันที่จะได้เค้นพลังงานออกมาใช้จนหมด ทำให้นักกีฬาไม่สัมผัสถึงอาการอ่อนล้าแทบขาดใจ
ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจต่อมา คือการวิ่งในระยะ 400 เมตรนั้น ส่งผลต่อร่างกายเราอย่างไรบ้าง
การออกตัว
ในการแข่งขันระยะ 400 เมตร นักกีฬาต้องออกตัวจากบล็อก (Block Start) โดยนักกีฬาต้องนั่งในลักษณะโน้มตัวพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ส่วนนี้เรื่องพละกำลังอาจจะยังไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการออกตัวคือความกดดันและปฏิกิริยาการตอบรับเสียงปล่อยตัว เพราะการออกตัวที่ช้าหรือเร็วไปเพียงเสี้ยววินาที อาจส่งผลถึงการแข่งขันที่ตามมาหลังจากนี้ได้ทันที ยังไม่รวมถึงวิธีการออกตัวที่ต้องใช้พลังงานในการระเบิดอย่างมหาศาล รวมไปถึงความแข็งแรงของแกนกลางลำตัว (Core Body) ในการลุกขึ้นและตั้งตัวให้ตรง เพื่อให้อยู่ในท่าวิ่งต่อไป
0-80 เมตร
ในช่วงเริ่มของการวิ่งระยะ 100 เมตร ณ จุดที่ร่างกายยังสด มีแรงครบถ้วน นักกีฬาจึงมักสปรินต์สุดกำลัง ช่วงนี้ร่างกายจะเข้าถึงพลังงานจากระบบ ‘ATP PC System’ เป็นระบบพลังงานที่ไม่ใช้ออกซิเจน แต่เรียกพลังงานได้อย่างรวดเร็วจากการสลายสารฟอสโฟครีเอติน (Phosphocreatine) ในกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเพิ่มพลังงานราวกับจุดระเบิด ว่าง่ายๆ คือ พุ่งไวแต่ก็ลดฮวบอย่างรวดเร็ว โดย พลังงานในส่วนนี้นักกีฬาสามารถดึงออกมาใช้ได้แค่ 10 วินาทีเท่านั้น
100-200 เมตร
หลังจากนั้นร่างกายจะเข้าสู่ภาวะ ‘แอโรบิก’ (Aerobic) ที่ร่างกายจะดึงออกซิเจนมาใช้เป็นพลังงานเพื่อสร้างความอึด (Endurance) ให้กับร่างกาย ควบคู่กับระบบ ‘แอนนาโรบิก’ (Anaerobic) ที่จะดึงพลังงานแบบไม่ใช่ออกซิเจนมาใช้ แต่ก็จะส่งผลเสียตามมา
200-300 เมตร
หลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มถึงขีดสุด ขณะเดียวกันระบบแอโรบิกของร่างกายจะเริ่มดึงออกซิเจนมาใช้งานได้ไม่ทันท่วงที รวมถึงการใช้ระบบแอนนาโรบิก ของร่างกายนำไปสู่การเกิดกรดแลคติกในกล้ามเนื้อ (Lactic Acid) ที่จะทำให้รู้สึกอ่อนล้าอย่างมาก และในบางรายหากกรดแลคติกพุ่งไปถึงขีดจำกัดที่ร่างกายจะรับปริมาณแลคติกไหว (Lactate threshold) ก็อาจทำให้นักวิ่งคนนั้นวิ่งต่อไม่ไหว ซ้ำร้ายอาจได้รับบาดเจ็บเลยทีเดียว
ในจุดนี้จะถือเป็นจุดที่ยากลำบากและใช้พลังใจในการกัดฟันวิ่งต่อไปอย่างมาก เพื่อนำไปสู่จุดสุดท้ายของการวิ่งคือ 100 เมตรก่อนถึงเส้นชัย
300 เมตรจนถึงเส้นชัย
ในจุดนี้เรียกได้ว่าทั้งระบบแอโรบิก และแอนนาโรบิกจะเหลือเพียงน้อยนิดให้ใช้งาน (จึงเป็นเหตุให้นักวิ่งระยะสั้นมักถูกฝึกให้วิ่งทนต่อการมีกรดแลคติกในร่างกาย รวมถึงฝึกให้ร่างกายดึงออกซิเจนมาใช้ในกล้ามเนื้อเร็วที่สุด เพื่อเป็นไพ่ตายสุดท้ายของการแข่งขัน) ในจุดนี้จึงไม่ใช่การวิ่งแข่งกับใคร แต่เป็นการแข่งตัวเองว่า จะสามารถรักษาความเร็ว หรือกัดฟันวิ่งให้เร็วกว่าเดิมได้ไหม
ไมเคิล จอห์นสัน (Michael Johnson) นักวิ่งชาวอเมริกันเจ้าของสถิติวิ่ง 400 เมตรของประเทศด้วยระยะเวลา 43.18 วินาที เคยอธิบายว่า ในการแข่งขัน 400 เมตร มีสิ่งเดียวที่ทำได้คือการสวนมนต์ (Pray) โดยหวังว่าร่างกายจะไม่เป็นอะไรไปเสียก่อนที่ตัวเขาจะเข้าเส้นชัย
ถึงตรงนี้หากใครอยากลองพิสูจน์ความหฤโหดของร่างกาย ก็สามารถลองไปวิ่ง 400 เมตร บริเวณลู่ใกล้บ้านของคุณได้ แต่อย่าลืมวอร์มอัปให้ถึงและยืดเหยียดร่างกายให้เพียงพอเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ
และที่สำคัญควรจำไว้ว่า เราไม่ใช่นักกีฬาลงแข่งชิงชัยกับใคร ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องวิ่งเกิดขีดความสามารถตัวเอง เพื่อให้การวิ่ง 400 เมตรนั้น ยังคงคอนเซปต์โหด มัน ฮา และสนุกอยู่เสมอ
Tags: วิ่ง, Running, Game On, 400m Run, วิ่ง 400 เมตร