ถ้าพูดถึงแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาโดยเฉพาะวงการวิ่ง คุณจะนึกถึงเจ้าไหน

หากย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้าคำตอบของข้อสงสัยนี้คงหนีไม่พ้น Nike หรือ Adidas ที่เป็นยักษ์ใหญ่ครองตลาดมาโดยตลอด หรือบ้างก็อาจจะมองไปถึง Hoka, Asic และ New Balance ที่เป็นมวยรองตามมาในช่วงหลัง

แต่หากถามในวันนี้เชื่อว่า หลายคนคงมีคำตอบที่หลากหลายกว่าข้างต้น ในฟากฝั่งต่างประเทศเราเริ่มได้ยินชื่อแบรนด์อย่าง Tracksmith Satisfy Saysky Bandi Ciele หรือ Soar หรือในฟากฝั่งไทยเอง เราก็เริ่มเห็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาวิ่งผุดขึ้นมาบ้างแล้วอย่าง Brooo หรือ CONCEPT SPEED ก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจของแบรนด์หน้าใหม่ ที่อาจจะยังไม่คุ้นหูหลายคนเท่าไรคือ เอกลักษณ์ของแบรนด์ที่ส่วนใหญ่มากจากตัวตนของผู้ทำแบรนด์ จนเกิดเป็นคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน แตกต่างจากแบรนด์เจ้าใหญ่ และที่สำคัญคือ แบรนด์เหล่านี้ให้ความสำคัญในเรื่องของแฟชั่นกีฬาอย่างชัดเจน 

จึงเป็นเหตุให้ในช่วงปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นนักวิ่งเลือกสวมใส่เสื้อผ้ากีฬาที่แปลกใหม่หลากหลาย และไม่คุ้นตาเท่าไรนัก เป็นเพราะพวกเขามีตัวเลือกในการหยิบจับเสื้อผ้ามาสะท้อนตัวตนได้ชัดเจนมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแสของวงการกีฬาถูกนิยามว่า The Nichification of Sports หรือยุคสมัยอันรุ่งเรืองของแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาทางเลือก

คอลัมน์ Game On ชวนสำรวจเทรนด์ที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาวิ่งว่า เหตุใดจากการครองตลาดของแบรนด์ยักษ์ระดับโลก จึงผันเปลี่ยนสู่ความนิยมของแบรนด์เล็กมากมาย ที่ทำให้วงการวิ่งดูสนุก มีสีสันมากยิ่งขึ้น

สำหรับคำถามแรกของเทรนด์นี้ คงต้องมาเริ่มกันก่อนว่า The Nichification of Sports เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน 

แน่นอนว่าเทรนด์ของเสื้อผ้าวิ่ง ต้องมาพร้อมกับเทรนด์การวิ่งที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากอ้างอิงจาก Outdoor Industry Association ได้มีการบันทึกว่า นับตั้งแต่ปี 2020 มีนักวิ่งเพิ่มขึ้นกว่า 14.5 ล้านคน อีกทั้งในงานวิจัยของ Run Repeat ก็พบว่า นักวิ่งในปัจจุบันกว่า 28.7 ก็เริ่มหันมาออกกำลังกายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

สิ่งที่น่าสนใจของนักวิ่งกลุ่มนี้คือ พวกเขาไม่ใช่นักวิ่งที่มีเป้าหมายเพื่อแข่งขันและทำความเร็ว แต่เป้าประสงค์หลักของพวกเขาคือ เพื่อความผ่อนคลาย สุขภาพ และผันเปลี่ยนไปสู่การเข้าสังคมหลังจากโรคระบาดได้ผ่านพ้นไป จนเกิดเป็นภาพเหล่านักวิ่ง Post Covid-19 มักรวมตัวจับกลุ่มวิ่งกัน ในทุกเช้าของวันหยุดสุดสัปดาห์ 

ปีเตอร์ อับราฮัม (Peter Abraham) ผู้เชี่ยวชาญการตลาดด้านกีฬา ระบุว่า นักวิ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ได้สนใจว่าเสื้อผ้าหรือรองเท้าจะต้องรีดความสามารถที่ดีที่สุดในการวิ่งออกมา เขาคาดหวังเพียงแค่ว่า มันต้องใส่แล้วดูดี สามารถสะท้อนตัวตน หรืออย่างน้อยที่สุดคือ สามารถใส่ออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ไม่ดูเป็น ชุดกีฬาที่ออกแบบสำหรับการวิ่งเพียงเท่านั้น 

จุดนั้นเองที่ทำให้เสื้อผ้ากีฬาที่ต้องสอดรับแฟชั่นหรือตัวตนของนักวิ่ง เริ่มเป็นที่ต้องการจนเกิดเป็นแบรนด์ใหม่ๆ Satisfy แบรนด์เสื้อผ้าที่ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป แต่ด้วยความเชื่อว่า ชุดออกกำลังกายมันต้องมีมากกว่าฟังก์ชัน (Function) Brice Partouche เจ้าของแบรนด์จึงใส่ความเป็นแฟชั่นเข้าไป ให้เสื้อผ้าวิ่งเป็นศิลปะ สามารถตอบรับความต้องการได้มากขึ้น 

หรือในฟากฝั่งของแบรนด์ Tracksmith ที่มีความหลงใหลในรูปแบบและแพตเทิร์น สวนทางกับเทรนด์ของแบรนด์ระดับโลกที่ต้องฉูดฉาด เห็นมาตั้งแต่ไกล พี่น้องชาวไอริชผู้เป็นเจ้าของแบรนด์จึงตัดสินใจเลือกคู่สี และลวดลายที่เรียบง่าย หวังตอบโจทย์นักวิ่งที่ต้องการเสื้อผ้ากีฬาที่ดูขี้เล่นน้อยลง คงไว้ซึ่ง ‘มาด’ บางอย่าง อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นี้ 

ส่วนในแบรนด์ไทยเอง ทั้ง Brooo หรือ CONCEPT SPEED ก็เริ่มต้นธุรกิจจากไอเดียที่ว่า แบรนด์เสื้อผ้าวิ่งในท้องตลาด ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและรสนิยมของเขาได้ พวกเขาจึงตัดสินใจเริ่มผลิตเสื้อผ้าที่มันสะท้อนตัวตนของพวกเขาได้มากขึ้น 

จะเห็นได้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าเจ้าต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ต่างมีเป้าหมายและกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้อัมบรามฮัม อธิบายว่า เป็นเพราะส่วนใหญ่ในสังคมนักวิ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ล้วนมีความต้องการนำเสนอเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพียงแต่ว่าที่ผ่านมายังสามารถมีแบรนด์ไหนที่มอบสิ่งนี้ให้กับเขาได้ จนในเมื่อมีแบรนด์ทางเลือกอื่นๆ เกิดขึ้นมา และมาตรงรสนิยมของพวกเขา 

กระแสในการมองหาแบรนด์ทางเลือกจึงเกิดขึ้น จนทำให้คนหันมาสนใจ แต่งตัววิ่ง กันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และเพื่อตอบรับกับกระแสนี้ ทางแบรนด์เสื้อผ้า ก็ตอบรับด้วยการเกิดขึ้นของแบรนด์เล็ก แบรนด์น้อยมากมาย จนกลายเป็น The Nichification of Sports ในท้ายที่สุด

สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่ทำให้เทรนด์นี้ ถูกส่งต่อไปในวงกว้างวิ่งอย่างแพร่หลาย คือการเกิดขึ้นของสังคมวิ่งหรือ Running Comunity โดย เคลลี่ เดวิส (Kelly Davis) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Outdoor Industry Association เล่าว่า การรวมตัวกันของนักวิ่งในปัจจุบันมีจุดประสงค์เพื่อหาคนที่มีตัวตน รสนิยม และความชอบในแบบเดียวกัน โดยมีกิจกรรมวิ่งเป็นจุดเชื่อมโยง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่หากแบรนด์ไหน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวิ่งกลุ่มนั้นได้ ก็จะมีแนวโน้มที่คนในกลุ่มที่เหลือจะให้ความสนใจและเลือกซื้อชุดแต่งกายและรองเท้าวิ่งในแบบเดียวกัน 

ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นการรวมตัวกลุ่มวิ่งในช่วงสุดสัปดาห์มากมาย ในไทยเองก็มี The Commons Saladaeng ที่เป็นจุดรวมตัวของกลุ่มวิ่งมากมายเช่น Fake Runners, Meep Meep Run Club, SarDine Run Club, และ CRUISE CONTROL RUN CLUB รวมถึงกลุ่มวิ่งอื่นๆ ที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยทั้งหมดก็ล้วนมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป ตามความชอบของสมาชิกภายในกลุ่ม

จะเห็นได้ว่า เทรนด์การวิ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เราไม่ได้ออกวิ่งกันเพื่อช่วงชิงความสำเร็จ โดยยกนักกีฬาจากประเทศเคนยา เป็นแบบอย่างอีกต่อไป แต่เรากลับออกวิ่งเพื่อความสุขของตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมที่ดำรงอาศัยอยู่ ผ่านกลุ่มเพื่อนรอบตัวที่นัดเจอวันเสาร์อาทิตย์ จึงเป็นเหตุให้นักวิ่งในทุกวันนี้ไม่ได้สนใจว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่จะเอาผลิตภัณฑ์มาแล้วมันดี กลับกันพวกเขากับสรรหาสินค้าที่สามารถระบุตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจนมากกว่า 

และจนถึงจุดนั้นเอง ทำให้การวิ่งในปี 2024 นี้ สนุกสนาน มีสีสัน และน่าสนใจกว่าช่วงปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

ที่มา:

https://run.outsideonline.com/gear/the-rise-of-indie-running-brands/

https://peterabraham.medium.com/the-nichification-of-sports-and-everything-28a5ccf50c70

Tags: