แม้คอนเซปต์ความเป็นเลิศด้านกีฬาจะผูกมัดด้วยสมรรถภาพทางร่างกายและการหมั่นฝึกฝน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘จิตวิทยา’ และ ‘สภาพจิตใจ’ ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันที่ไม่สามารถมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการดวลจุดโทษในกีฬาฟุตบอล ที่โอกาสแพ้ชนะขึ้นอยู่กับการเตะเพียงครั้งเดียว จึงไม่แปลกที่นักฟุตบอลจะหลีกหนีจากอาการกดดันไม่พ้น
หากจะยกตัวอย่างสถานการณ์ข้างต้นให้เห็นภาพ คงต้องย้อนไปในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี 2020 (The UEFA European Football Championship 2020) นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมชาติอังกฤษกับทีมชาติอิตาลี ที่ในช่วงการดวลจุดโทษเพื่อหาผู้ชนะ บูกาโย ซากา (Bukayo Saka) ปีกดาวรุ่งจากสโมสรอาร์เซนอล ซึ่งรับหน้าที่สังหารจุดโทษเป็นคนที่ 5 เกิดแบกรับความกดดันไม่ไหว จนพลาดยิงไปติดเซฟผู้รักษาประตู จิอันลุยจิ ดอนนารุมมา (Gianluigi Donnarumma) อย่างง่ายดาย
หลังจบเกมการแข่งขัน ซากาออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงห่อเหี่ยวว่า คงหนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์จากแฟนฟุตบอลจำนวนมาก นับว่ากรณีนี้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของนักฟุตบอลคนหนึ่ง ที่ต้องยิงจุดโทษได้เป็นอย่างดี ว่าเต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาลเพียงใด
น่าสนใจไม่น้อยว่า เหตุใดการยิงลูกจุดโทษถึงกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับนักฟุตบอล ทั้งที่ในกีฬาลูกหนังเราต่างเคยเห็นลูกยิงปาฏิหาริย์จากครึ่งสนามหรือลูกปั้นโค้งๆ บริเวณริมเส้นมาแล้วนักต่อนัก
ใครที่เคยยิงลูกจุดโทษในการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญคงพอเข้าใจว่า ภายในสมองของเรามักมีความคิดต่างๆ นานา แทรกขึ้นมามากมายระหว่างก้าวไปยิงจุดโทษ ทั้งความคิดที่ว่าจะวางเท้ายิงแบบไหนถึงสมบูรณ์แบบที่สุด ต้องแสดงท่าทีมั่นใจเพื่อไม่ให้ผู้รักษาประตูรับรู้ถึงความกดดัน หรือกำหนดการหายใจเพื่อปล่อยวางความกังวลก็ตาม
มีงานวิจัยของนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส กิแอร์ จอร์เด็ต (Geir Jordet) ที่ชื่อว่า ‘Kicks from the penalty mark in soccer: The roles of stress,skill, and fatigue for kick outcomes’ ซึ่งจอร์เด็ตใช้ระยะเวลา 5 ปี เพื่อศึกษาบันทึกการดวลจุดโทษในการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลกตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงสัมภาษณ์ผู้เล่น 25 คน และทดสอบทฤษฎีผ่านการฝึกซ้อมกับทีมฟุตบอลกว่า 15 สโมสร โดยนักวิจัยชาวฝรั่งเศสอธิบายถึงสิ่งที่เขาทดลองว่า ปัจจัยที่เกิดขึ้นระหว่างร่างกายและจิตใจ ต่างเป็นปฏิกิริยาที่เกื้อหนุนกัน กล่าวคือเมื่อการยิงจุดโทษเริ่ม จะทำให้ร่างกายนักเตะเริ่มรู้สึกกดดัน พลันส่งผลกระทบต่อความคิด จิตใจ และทัศนคติ จากที่มีตัวเลือกมากมายในการยิงฟุตบอลให้เข้าประตู แต่เพราะความวิตกกังวลทำให้ผู้เล่นเริ่มเสียสมาธิ และสนใจอากัปกริยาของผู้รักษาประตู พลางจินตนาการว่าคู่แข่งจะพุ่งป้องกันประตูทางไหน
และที่สำคัญคือ เมื่อความเครียดบังเกิด ก็จะส่งผลกระทบต่อทักษะการยิงจุดโทษที่เคยซ้อมมา ราวกับว่าผู้เล่นคนที่กำลังจะยืนสังหารจุดโทษอยู่นั้น เป็นคนละคนกับที่เคยยิงจุดโทษได้ดีในตอนซ้อม
ถ้าถามว่า เราจะมีวิธีฝึกฝนเพื่อควบคุมสภาวะร่างกายและจิตใจที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปอย่างไร ก็มีหลากหลายงานวิจัยเคยอธิบายเอาไว้ว่า มีบางเทคนิคที่สามารถช่วยให้การยิงจุดโทษประสบความสำเร็จและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ชื่อว่า Psychological Pressure in Competitive Environments: Evidence from a Randomized Natural Experiment ของศาสตราจารย์ อิกาเซีย ปาลาซิออส-ฮิวเอร์ตา (a Ignacio Palacios-Huerta) จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน (London School of Economics) ที่วิเคราะห์การยิงจุดโทษจำนวน 1,343 ครั้ง จากเกมการดวลจุดโทษจำนวน 129 หน โดยรายละเอียดระบุว่า ทีมที่เริ่มเตะจุดโทษก่อนมักมีโอกาสชนะมากถึง 60.5%
เหตุผลอาจเป็นเพราะการได้ยิงจุดโทษและสามารถทำประตูได้ก่อน คือการโยนความกดดันให้กับทีมฝ่ายตรงข้ามว่า ต้องยิงให้เข้าสถานเดียวจึงจะเสมอและไม่เป็นผู้แพ้ในการแข่งขันนั้น โดยงานวิจัยดังกล่าวมีสถิติหนุนเช่นกันว่า ฝ่ายที่ต้องตามยิงจุดโทษเพื่อให้คะแนนออกมาเป็นผลเสมอ จะมีโอกาสยิงสำเร็จเพียงแค่ 60 % เท่านั้น
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ ห้วงเวลาการยิงจุดโทษ กล่าวคือหากการยิงจุดโทษเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำฟาล์วในระหว่างการแข่งขัน นักฟุตบอลจะมีโอกาสยิงจุดโทษสำเร็จถึง 85% กลับกัน หากเป็นการยิงจุดโทษในช่วงหลังต่อเวลาพิเศษ เพื่อตัดสินหาผู้ชนะจะมีอัตราความสำเร็จเหลือเพียง 76%
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นมีการนิยามโดยนักจิตวิทยารายหนึ่งนาม แดเนียล คาแนมาน (Daniel Kahneman) ว่าเป็น ‘สภาวะเกลียดขังความสูญเสีย’ (loss aversion) ซึ่งตอบสนองผ่านร่างกาย จิตใจ และสมองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับนักฟุตบอลที่อยากจะสังหารจุดโทษได้อย่างแม่นยำ จึงจำเป็นต้องเข้าใจและจัดการสภาวะดังกล่าวเสียก่อน แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็มีงานวิจัยที่รองรับตั้งแต่ช่วงก่อนยิงจุดโทษ ระหว่างยิงจุดโทษและหลังยิงจุดโทษ ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเพิ่มโอกาสการยิงจุดโทษให้สำเร็จได้มากยิ่งขึ้น
ในช่วงก่อนยิงประตู เกมจิตวิทยาระหว่างผู้ยิงและผู้รักษาประตูถือเป็นเรื่องสำคัญ ในงานวิจัยที่ชื่อ On winning the “lottery”: psychological preparation for football penalty shoot-outs. Journal of Sports Sciences อธิบายไว้ว่า การมีอคติหรือครุ่นคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของผู้รักษาประตูมากไป มักส่งผลต่อการตัดสินใจยิงจุดโทษโดยตรง และจะยิ่งส่งผลรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากเห็นผู้รักษาประตูเริ่มแสดงท่าทางยียวนเพื่อหวังทำลายสมาธิของผู้ยิงจุดโทษ ยกตัวอย่างที่เห็นกันเป็นประจำ เช่น ท่าทางโบกมือหรือขยับตัวสลับฝั่งไปมา
ดังนั้นการเพิกเฉยต่อตัวผู้รักษาประตู และจดจ่อสมาธิอยู่กับตนเอง ลูกฟุตบอล และมุมที่จะยิง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
มีสถิติระบุอีกว่า เมื่อผู้ตัดสินเป่านกหวีดให้ทำการยิงประตู นักเตะที่ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 200 มิลลิวินาที มีโอกาสยิงจุดโทษสำเร็จเพียงแค่ 57% เท่านั้น กลับกันนักเตะที่ใช้เวลานานกว่านั้นจะมีโอกาสยิงสำเร็จมาถึง 80%
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ แฮรี เคน (Harry Kane) กองหน้าจากสโมสรบาเยิร์น มิวนิก มีอัตราการยิงจุดโทษสำเร็จถึง 89.2% ที่ผลลัพธ์เป็นเช่นนั้น เพราะเคนเลือกให้เวลากับตนเองทั้งจัดวางลูกฟุตบอลให้อยู่ในมุมที่ถูกต้อง พลางดึงถุงเท้าให้เข้าที่ และเมื่อผู้ตัดสินเป่านกหวีดให้เริ่มยิง เขาก็เลือกที่จะสูดหายใจเข้าเต็มปอดและค่อยๆ ผ่อนหายใจออก ก่อนจะบรรจงวิ่งและเตรียมวางเท้าในตำแหน่งที่ใช่ ปิดท้ายด้วยการหวดลูกฟุตบอลเข้าสู่ก้นตาข่ายสมดังใจนึก
แต่สำหรับนักเตะหลายคนการใช้เวลากับความกดดันเช่นนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย สตีเว่น เจอร์ราด (Steven Gerrard) ตำนานนักเตะแห่งสโมสรลิเวอร์พูล เคยกล่าวในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า “ห้วงเวลาหลังสิ้นเสียงนกหวีดช่างยาวนานราวกับจะเป็นนิรันด์ ผมไม่สามารถทนอยู่ตรงนั้นได้นานเท่าไรหรอก ผมจำเป็นต้องรีบทำให้มันจบๆ ไป”
และรู้หรือไม่ว่าหลังยิงจุดโทษก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสิ่งสำคัญของการยิงจุดโทษสำเร็จคือต้องเฉลิมฉลอง จากการศึกษาการยิงจุดโทษในทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพและชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป จำนวน 151 ครั้ง จอร์เด็ตระบุว่า การเฉลิมฉลองหลังจากยิงประตูสำเร็จจะส่งผลให้การยิงครั้งต่อไปของฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสพลาดมากขึ้น โดยเขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ภาวะเชื่อมต่อทางอารมณ์’ (Emotional Contagion) ที่แสดงให้เห็นว่านักเตะคนอื่นสามารถลดความกดดันให้กับผู้เล่นทีมตนเอง และมอบความกดดันให้กับผู้เล่นทีมอื่นได้
สุดท้ายอาจกล่าวได้ว่า การยิงจุดโทษไม่ใช่แค่เรื่องของการวัดดวงเสียทีเดียว เพราะผู้ที่จะกุมชัยชนะล้วนผ่านการฝึกฝนและเตรียมสภาพร่างกายกับจิตใจให้พร้อม โดยเฉพาะการฝึกรับมือกับแรงกดดัน รวมถึงการอ่านสถานการณ์ของเกมจุดโทษในสนาม ที่บางครั้งนักเตะบางคนสามารถพลิกสถานการณ์จากการยิงจุดโทษภายในครั้งเดียว
อ้างอิง:
–https://blog.innerdrive.co.uk/sports/the-psychology-of-perfect-penalties
–http://palacios-huerta.com/docs/ApestePH-AER.pdf
–https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1469029222002370
–https://theconversation.com/why-taking-penalties-under-pressure-can-be-so-tough-173032
–https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/02640410600624020
–https://www.bps.org.uk/blog/pressure-taking-spot-kicks
–https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34847831/
Tags: Geir Jordet, Penalties Kick, ยิงจุดโทษ, จิตวิทยาการยิงจุดโทษ, ฟุตบอล, Game On