1
FtM หมายถึง Female to Male
และดังนั้น FtMtF (หรือกลับกัน – คือ MtFtM) จึงคือคนที่เคยหรือเคยพยายามเปลี่ยนเพศไปเป็นอีกเพศหนึ่ง แล้วหวนกลับมาสู่เพศเดิมอีกครั้ง
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และเรื่องนี้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่เบื้องหลังบ้าง
ไปติดตามกัน
2
ในเว็บ 1843magazine.com โดย The Economist เคยมีบทความหนึ่งเล่าถึงชีวิตของ แมกซ์ โรบินสัน (Max Robinson) ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองทางใต้ของรัฐออริกอน
แมกซ์วัย 21 ปี อยู่กับคู่ชีวิตชื่อคิตตี้ แต่แม้อายุแค่ 21 ปี แมกซ์ก็ผ่านอะไรๆ ในชีวิตมาเยอะมาก แมกซ์เกิดที่เมืองคลาแมธฟอลส์ ในแคลิฟอร์เนีย เป็นเมืองเล็กจิ๋วที่แทบไม่มีอะไรในนั้นเลย
แมกซ์เกิดมาพร้อมความคาดหวังว่า เธอจะต้องเป็นผู้หญิง เพราะเธอมีอวัยวะแห่งความเป็นหญิงครบถ้วนทุกประการ แต่ถามว่าเธออยากเป็นผู้หญิงไหม คำตอบที่เธอให้ตั้งแต่ประถมหนึ่งก็คือไม่ เธอกลับมาบ้านพร้อมกับการบ่นว่าครูให้เธอเข้าห้องน้ำหญิง โดยนักเรียนหญิงจะได้รับแจกบัตรเข้าห้องน้ำที่เป็นรูปโบว์ แต่เด็กชายจะได้บัตรที่เป็นรูปลูกฟุตบอล และเธออยากได้บัตรรูปลูกฟุตบอลมากกว่า เธอรบเร้ากับแม่ จนกระทั่งเมื่อขึ้นประถมสาม แม่ก็ซื้อรองเท้าแบบผู้ชายให้เธอ เธอใส่จนขาดและบาดเท้าจนเลือดไหล แต่เธอก็ไม่ยอมบอกแม่ เพราะกลัวว่าแม่จะซื้อรองเท้าใหม่ให้เธอ เป็นรองเท้าแบบผู้หญิง
แมกซ์ไม่อยากมีหน้าอก เธออดอาหารเยอะมากเพื่อให้ร่างกายผอมลง จะได้ไม่ต้องมีหน้าอกปูดโปนขึ้นมา และเมื่อถึงอายุ 12 ขวบ เธอก็รู้ตัวว่าเธอไม่ได้สนใจผู้ชายเลย เธอสนใจผู้หญิงเท่านั้น และเริ่มออกเดตกับผู้หญิง แต่แน่นอน ประสบการณ์ของเธอเจ็บปวด เพราะสาวที่เธอออกเดตด้วยทิ้งเธอไปหาเด็กผู้ชายคนอื่น นั่นทำให้แมกซ์ตัดสินใจว่าจะลองเป็นคนที่ ‘ตรงกับเพศกำเนิด’ ของตัวเอง (Straight) ดูบ้าง เธอเริ่มใส่ส้นสุงในบางโอกาส แต่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเอง ‘ใช่’ สำหรับการแต่งตัวแบบนั้นเลย เธออยากตัดผมสั้นและใส่เสื้อผ้าของเด็กผู้ชายตลอด
พอถึงอายุ 14 ปี เธอก็เริ่มคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่เธอเล่นอินเทอร์เน็ต แล้วได้พบกับคำที่เธอไม่เคยพบมาก่อน (เพราะไม่เคยมีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน และพ่อแม่ก็ไม่เคยบอกเธอ) เธอพบกับคำว่า Transgender หรือการเปลี่ยนเพศไปเป็นอีกเพศหนึ่ง
แมกซ์เริ่มอ่านเรื่องราวของผู้หญิงที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ชาย แต่ถูกขังอยู่ในร่างของผู้หญิง ก่อนหน้านี้ เธออาจคิดว่าตัวเองมีปัญหาบางอย่าง แต่เธอไม่เคยคิดถึงตัวเองแบบนี้มาก่อนเลย แต่เมื่อเริ่มคิด เธอก็เริ่มรู้สึกว่า นี่คือเหตุผลที่เธอเกลียดตัวเองจนอยากฆ่าตัวตาย
ดังนั้น เมื่ออายุ 15 ปี แมกซ์เลยประกาศกับพ่อแม่ว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิง และจะไม่ยอมเป็นผู้หญิงด้วย
3
ในบทความเดียวกันนี้ เขาอ้างตัวเลขนะครับ บอกว่าปกติคนที่มีโครโมโซม XY จะเป็นชาย และโครโมโซม XX จะเป็นหญิง แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นเหมือนที่โครโมโซมกำหนด โดยตัวเลขของคนที่ไม่เป็นไปตามโครโมโซมนั้น ในแต่ละที่จะแตกต่างกันไป เช่น มีการสำรวจพบว่า คนที่มีรังไข่แต่คิดว่าตัวเองเป็นชาย หรือคนที่มีอวัยวะเพศชายแต่คิดว่าตัวเองเป็นหญิงนั้น ในเบลเยียมมี 0.05% แต่ในนิวซีแลนด์มี 1.2% เป็นต้น
กลุ่มคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นเพศตรงข้ามนั้น มีการสำรวจของ Gender Identity Development Service (GIDS) ของอังกฤษ พบว่าในเจ็ดปีที่ผ่านมา ตัวเลขเพิ่มขึ้นมากถึงเกือบสองร้อยเท่า (คือจาก 94 คน ในการสำรวจปีแรก ซึ่งอาจไม่ได้สำรวจกว้างขวางมากนัก มาเป็น 1,986 คน ในปีที่เจ็ด) ในอเมริกาก็คล้ายกัน คลินิกให้บริการปรึกษาเรื่องตัวตนทางเพศ (Gender-Identity) ในอเมริกา เปิดครั้งแรกในบอสตันในปี 2007 พอถึงปี 2015 พบว่ามีคลินิกแบบนี้มากถึงกว่า 50 แห่ง ทั่วประเทศ
เรื่องตัวตนทางเพศนี้ยังเป็นเรื่องใหม่นะครับ โดยเฉพาะการเปลี่ยนเพศ (Transitioning) ในเด็กที่อายุน้อยๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่หากเปลี่ยนไปแล้วไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาได้ และความคิดของผู้คนก็สวิงกลับไปกลับมา บางส่วนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เริ่มทำตั้งแต่เนิ่นๆ (เช่น การให้กินยาเพื่อ ‘กด’ การทำงานของฮอร์โมนเพศ เพื่อเตรียมพร้อมรับการกินฮอร์โมนเพศตรงข้าม) ทำให้ร่างกายไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของเจ้าตัวมากพอ ซึ่งก็อาจส่งผลร้ายในอนาคตได้ ดังนั้นจึงต้องรีบทำ ส่วนแพทย์กลุ่มที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงร่างกายในวัยเด็ก แม้มักจะยกเหตุผลต่างๆ มาประกอบ แต่ก็มักถูกกล่าวหาว่าเป็น Transphobia หรือกลัวและรังเกียจการเปลี่ยนเพศ
เราไม่มีทางรู้ได้หรอก ว่าเราจะชอบอัตลักษณ์ทางเพศแบบที่เราเปลี่ยนไปหรือเปล่า และการเปลี่ยนกลับก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถูกมองว่าเป็นปัญหาไม่ใช่หรือ
แมกซ์ก็เช่นกัน หลังบอกพ่อแม่แล้ว เธอยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่ผู้หญิงแน่ๆ จึงต้องเข้าไปรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าเธอมีอาการ Gender Dysphoria หรือเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในเพศสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้หลายแบบ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (เช่น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนรูปลักษณ์ ฯลฯ) ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยผ่าน Hormone Therapy
ในระยะแรก แมกซ์ต้องกินยากดฮอร์โมนเพศหญิงก่อน เมื่อเธออายุถึง 17 ปีแล้ว จึงได้กินฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งมีผลทำให้ประจำเดือนหยุด ชั้นไขมันบางส่วนหายไป มีกล้ามเนื้อมากขึ้น และมีหนวดเครากับขนตามร่างกายเหมือนผู้ชาย คลิตอริสของเธอก็ขยายใหญ่ขึ้น อารมณ์เพศก็มากขึ้นด้วย ขณะที่เสียงของเธอก็แหบห้าวเหมือนผู้ชายมากขึ้น
การที่แพทย์แนะนำให้กินฮอร์โมนแต่เนิ่นๆ นั้น เป็นเพราะถ้าเธอเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว การเปลี่ยนแปลงบางอย่างจะถาวร เช่น ถ้าหน้าอกโตแล้วมันก็จะโตไปเลย ฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเทอโรนไม่อาจเปลี่ยนให้หน้าอกเล็กลงได้ ต้องใช้การผ่าตัด ซึ่งในกรณีของแมกซ์ก็เป็นแบบนั้น เธอต้องผ่าตัดเอาหน้าอกออก เพราะว่าไม่ได้กินฮอร์โมนตั้งแต่อายุยังน้อย หลังจากนั้น แมกซ์มีความสุขกับชีวิตมาก เขาได้พบกับคิตตี้ที่เป็นคู่ชีวิตในตอนนี้ รวมทั้งย้ายที่อยู่ไปอยู่ที่ออริกอนด้วย
ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี…ราวๆ สามปี
แต่หลังจากนั้น แมกซ์ก็ตระหนักว่าตัวเองอาจจะคิดผิด
4
หลังผ่าตัดเอาหน้าอกออกได้ราวหกเดือน แมกซ์เริ่มถามตัวเองว่า ลึกๆ แล้วเขาต้องการสิ่งนี้หรือเปล่า ในตอนแรก แมกซ์ยอมรับว่าเขารู้สึก ‘แปลกๆ’ กับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็เริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าแท้จริงแล้วตัวเองรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง
สี่ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเธอเป็นผู้ชาย และเกือบสองปีหลังรูปลักษณ์ภายนอกของเธอดูเหมือนผู้ชาย แมกซ์ก็เปลี่ยนตัวเองกลับไปสู่ตัวตนทางเพศแบบเดิมอีกครั้ง เธอเลิกฉีดเทสโทสเทอโรน รวมทั้งขอให้คิตตี้ที่กำลังจะเปลี่ยนจากหญิงเป็นชายคล้ายๆ ตัวเธอ ให้ลองพิจารณาอีกครั้งหนึ่งด้วย
มีการศึกษาพบว่า เด็กๆ ที่มีอาการ Gender Dysphoria นั้น ราว 73-88% ไม่ได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีการเปลี่ยนเพศ (แต่ตัวเลขนี้มีการโต้แย้งกันอยู่นะครับ) ทั้งนี้ก็เพราะการเปลี่ยนเพศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แพทย์อย่าง โธมัส สตีนสมา (Thomas Steensma ซึ่งเป็นแพทย์ชาวดัตช์ที่ทำงานในด้านนี้ บอกว่าการแยกระหว่างคนที่จะโตไปเป็นทรานส์วัยผู้ใหญ่ กับคนที่แม้รู้สึกว่าตัวเองไม่ตรงกับเพศกำเนิด แต่จะไม่แปลงเพศนั้น – เป็นเรื่องที่ยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ หลายคนที่แปลงเพศตั้งแต่วัยเด็ก มีความสุขมากกับตัวเอง เพราะว่าได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เมื่อเปลี่ยนไปแล้วต้องเปลี่ยนกลับคืน มีงานวิจัยในสวีเดน พบว่าคนที่แปลงเพศแล้วรู้สึก ‘เสียใจ’ (Regret) มีเพียง 2.2% (เทียบกับ 16% ของคนที่ผ่าตัดทำศัลยกรรมใบหน้าอื่นๆ) ซึ่งแม้จะฟังดูน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอยู่ และที่สำคัญก็คือ คนจำนวนมากที่ตัดสินใจจะ Detransition (คือเปลี่ยนกลับ) มักจะไม่แจ้งแพทย์ด้วย เพราะหลายคนก็แค่ไม่กินฮอร์โมนต่อเท่านั้น
เหตุผลที่ทรานส์เจนเดอร์ Detranstion ตัวเองมีหลายเรื่อง บางคนอาจรู้สึกว่าพอเปลี่ยนอัตลักษณ์ไปแล้วไม่เหมาะกับตัวเองเหมือนอัตลักษณ์เดิม แต่บางคนก็อาจมีปัญหาอื่น เช่น ไม่มีรายได้มากพอที่จะรับฮอร์โมนต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้เงิน บางคนก็มีปัญหากับอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดจนต้องผ่าตัดกลับ หรือมีความกังวลถึงผลระยะยาวของการรับฮอร์โมน และบางครั้งก็เป็นเพราะการใช้ชีวิตแบบทรานส์เจนเดอร์ในสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่นั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงมีปัจจัยหลายอย่าง ที่คนอื่นจะไปตัดสินใจแทนให้ไม่ได้
สำหรับแมกซ์ เธอเปลี่ยนกลับด้วยหลายเหตุผล แต่เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ เธอรู้แล้วว่าเธอไม่ใช่ทรานส์เจนเดอร์ ตอนเด็กๆ เธอไม่มีความสุข ไม่ใช่เพราะเธอคือเด็กผู้ชายที่ถูกขังอยู่ในร่างของเด็กผู้หญิง แต่เพราะเธอไม่เคยรู้มาก่อนว่า เธอสามารถเป็นผู้หญิงที่เกลียดสิ่งที่เด็กผู้หญิงชอบทำกัน (เช่น เล่นตุ๊กตา ฯลฯ) แต่รักผู้หญิงคนอื่นได้ โดยไม่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นผู้ชาย ตามวิธีคิดแบบ Binarism หรือการมองเห็นว่าโลกมีแค่สองเพศ แล้วเหวี่ยงไปมาระหว่างสองเพศนั้น
เมื่อเลิกกินฮอร์โมนเพศชาย ร่างกายของเธอก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แต่เรื่องยากที่สุดก็คือการบอกพ่อแม่ของเธอ เพราะมันทำให้แมกซ์รู้สึกว่าตัวเองงี่เง่า (เธอบอกว่าเธอรู้สึก ‘Fucking Stupid’ เลยทีเดียว) แต่ก็นั่นแหละครับ เราไม่มีทางรู้ได้หรอก ว่าเราจะชอบอัตลักษณ์ทางเพศแบบที่เราเปลี่ยนไปหรือเปล่า และการเปลี่ยนกลับก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถูกมองว่าเป็นปัญหาไม่ใช่หรือ
ก่อนหน้านี้ เวลาที่คนจะแปลงเพศหรือไม่แปลงเพศ มักถูกมองว่าเป็นปัญหาเรื่องสุขภาวะหรือสุขภาพ (Health) ซึ่งต้องให้แพทย์หรือจิตแพทย์เป็นคนตัดสินใจ แต่ในระยะหลังเริ่มมีแนวคิดใหม่มากขึ้น ว่าต้องเป็นตัวคนคนนั้นเองต่างหาก ที่มีอำนาจเหนือร่างกายของตัวเอง ดังนั้น เรื่องของอัตลักษณ์หรือ Identity จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า Health แต่ก็ไม่ได้แปลว่าบทบาทของแพทย์จะต้องหมดสิ้นไปเลยทั้งหมด แต่ต้องใช้ทุกมิติประกอบกันเพื่อตัดสินใจ และการตัดสินใจที่จะ Detranstion ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรเลย
แน่นอนว่าการเปลี่ยนกลับไปกลับมานั้นมี ‘ต้นทุน’ ของมันหลายเรื่อง ทั้งต้นทุนจริงๆ คือค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าสามารถจ่ายต้นทุนเหล่านั้นได้ การเปลี่ยนกลับไปกลับมาก็อาจคุ้มค่าสำหรับคนคนนั้นในการเป็นอย่างที่เขาคิดว่าตัวเองเป็นก็ได้
แมกซ์ โรบินสัน เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น
Tags: Transgender, Gender-Identity, ตัวตนทางเพศ, การเปลี่ยนเพศ, Transitioning, Transphobia