อันที่จริง ความสนใจในเรื่องการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องอะไรใหม่ ย้อนกลับไปหลายปีก่อน มีคนถามผมเสมอว่า จะมี ‘ขั้นตอน’ อย่างไรบ้าง หากต้องย้ายประเทศไปทำมาหากินที่อื่น ประเทศอื่น เพราะเบื่อหน่ายในชีวิตการทำงานและสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างของประเทศนี้
เรื่องเล็กๆ บางเรื่อง เมื่อสะสมก็กลายเป็น pain point ร่วมกันของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวงที่คร่ำครึ ส่วนในต่างจังหวัดนั้นไม่มีเลย… ทางเท้าที่ย่ำแย่ ฝุ่นมลพิษ PM2.5 กายภาพของเมืองที่ไม่เอื้อต่อการพักผ่อนหย่อนใจ ไปจนถึงรายได้ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ก็ไม่ได้สูงทันกับค่าครองชีพที่ทะลุเพดานมากขึ้นไปทุกที ตามไม่ทันกระทั่งราคากาแฟเย็นสักแก้วที่สูงเกินพิกัด
เอาเข้าจริง สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Middle Income Trap หรือกับดักรายได้ปานกลาง เป็น ‘มลพิษ’ ที่กัดกินประเทศนี้เป็นเวลาหลายปี ประเทศเราไม่จน แต่ก็ไม่รวย เด็กจบมหาวิทยาลัยมีรายได้พอตัว ดีกว่าประเทศรอบๆ บ้าน แต่ก็หาอนาคตไม่เจอว่าจะวิ่งไปทางไหน ขณะที่เด็กที่ไม่จบมหาวิทยาลัยนั้นแทบจะถูกสังคม ‘ทิ้งขว้าง’ ไปเลย
ถ้าหากคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจแย่แล้ว เรื่องการเมืองยิ่งกว่านั้นอีก เรามีม็อบใหญ่ทุก 3 ปี 5 ปี เรามีรัฐประหารในห้วงเวลาที่ ‘ถี่’ ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้แก้ปัญหาไร นอกจากหยุดเวลา หยุดสถานการณ์บางอย่างไว้ได้ แต่ก็หยุดความเปลี่ยนแปลงอะไรมากกว่านั้นไม่ได้
หากสงสัยว่าการเมืองส่งผลกระทบกับชีวิตอย่างไร ลองคิดดูง่ายๆ ก็ได้ครับว่า คนวัย 30 นั้น เกิดปีเดียวกับการรัฐประหาร 2534 เข้าเรียนชั้นประถม-มัธยมในรัฐบาลทักษิณ แล้วก็เจอการรัฐประหาร เจอการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง การ ‘ชัตดาวน์’ ของ กปปส. แล้วก็เจอการรัฐประหารอีกรอบ ก่อนที่ชีวิตการทำงานของเขา จะต้องอยู่กับรัฐบาล คสช. รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มาตลอดชีวิตการทำงาน 7 ปีของเขา แล้วก็เจอการชุมนุมของคณะราษฎร ไล่พลเอกประยุทธ์อีกรอบ
ส่วนคนวัย 22 ปี ที่เริ่มทำงานครั้งแรกปีนี้ ปีที่โควิด-19 ระบาดนั้นหนักกว่า พวกเขาเกิดในปี 2542 พออายุได้ 7 ขวบ ก็เกิดการรัฐประหาร 2549 ไล่รัฐบาลทักษิณ ช่วงประถมและมัธยมอยู่กับการชุมนุมเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และมีการรัฐประหารอีกรอบตอนพวกเขาอายุ 15 ตลอดช่วงมัธยมปลายถึงเรียนจบ และออกมาทำงาน อยู่กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มาโดยตลอด และถ้าเด็กกว่านั้น ยิ่งแย่กว่านั้น เพราะหมายความว่า ครึ่งชีวิตวัยรุ่นของเขาหรือทั้งชีวิตวัยรุ่นของเขา อยู่กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
ที่น่าเศร้าก็คือเงินเดือนขั้นต่ำของเด็กรุ่นใหม่ ยังอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นบาท ไม่ต่างอะไรกับคนวัย 30 ที่เริ่มทำงานเมื่อ 10 ปีก่อนเลย…
พอเห็นภาพไหมครับว่าทำไมคนรุ่นใหม่ ถึงได้ ‘อิน’ กับการเมืองนัก แล้วทำไมถึงรู้สึกเบื่อหน่ายกับสถานการณ์การเมืองในประเทศนี้เป็นอย่างมาก พอมีใครสักคนพูดขึ้นมาว่า ‘อนาคตเป็นของเรา’ หรือ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ถึงได้มีความหมายมากเป็นพิเศษ
เรื่องพวกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในบ้านเราที่เดียวนะครับ ในญี่ปุ่น มนุษย์เงินเดือนก็รู้สึกว่าพวกเขาทำงานเพื่อ ‘แบก’ อนาคตประเทศที่ไม่เห็นทางไปต่อ ไม่นานมานี้ รัฐบาลถึงกับต้องให้คนชราที่อายุเกิน 74 ปี จ่ายสมทบในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น เพราะบรรดามนุษย์เงินเดือนรู้สึกไม่ชอบใจที่ต้องจ่ายภาษีเพื่อเลี้ยงคนแก่
ในฮ่องกงก็คล้ายกัน คนรุ่นใหม่จำนวนมาก รู้สึกไม่พอใจกับระบบการเมืองใหม่ ที่ไม่ได้สะท้อนอัตลักษณ์ ‘ความเป็นอิสระ’ ที่มีมาแต่เดิมของเกาะแห่งนี้ เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่แผ่อิทธิพลข้ามมามากขึ้น เจเนอเรชันใหม่ในฮ่องกงก็เปลี่ยนท่าทีเป็น Generation P หรือ Generation Protest ที่ไม่ต้องการทำงาน จ่ายภาษี เพื่อรับใช้ฮ่องกงที่เป็นหนึ่งในมณฑล หนึ่งในจังหวัดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกต่อไป
กลับมาที่บ้านเรา มันมีคำพูดหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ชีวิตก็เหมือนเดิม นักการเมืองไม่ได้ให้เงินเราใช้ แต่ลองคิดดูครับว่า ถ้าเรามีระบบการเมืองที่นิ่ง ที่มีเสถียรภาพ เราจะได้อะไรมากกว่า ‘รถไฟฟ้า’ หลายสายในกรุงเทพฯ มากกว่าการถมดินรถไฟความเร็วสูง 3.5 กิโลเมตร นาน 2 ปีแน่นอน ความเจริญอาจไม่ได้กระจุกตัวที่กรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ๆ อาจเจริญด้วยการลงทุนภาครัฐ ที่ทำให้คนต่างจังหวัดมีความหมายมากกว่าระบบอุปถัมภ์ของทุนภูธร
ความรู้สึกร่วมของคนรุ่นใหม่ถึงรู้สึกว่าควรจะจบวงจรการเมืองแบบนี้เสียที แล้วในโลกที่หมุนไว โลกที่พวกเขาเห็นอะไรต่างๆ มากมายก็ควรจะมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เดินไปพร้อมๆ กับโลก หรืออ้อมไปดักหน้าได้ มากกว่าจะเป็นผู้นำแบบนักเลงโบราณ หรือแบบเจ้าขุนมูลนาย
ถ้าสามารถวางอนาคตระยะยาวได้ว่าเราจะไปทางไหน เราจะเป็นฮับอุตสาหกรรมไฮเทค เราจะเป็นศูนย์รวมฟินเทค เราจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคเก่าของเราให้เป็นแหล่งผลิตรถ EV แล้วคนรุ่นนี้จะต้องพัฒนาทักษะอะไรเพื่อรองรับกับจุดนั้น หรือเราจะชูจุดขายเรื่องการบริการ การท่องเที่ยว เราจะทำให้คนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อๆ ไป พอจะมองเห็นอนาคตในแบบเดียวกัน แล้วเราจะมี ‘ปลายทาง’ ร่วมกันบางอย่าง มากกว่าที่จะสร้างระบบแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา และระบบที่ทุกคนล้วนหาทางเข้าใกล้ ‘อำนาจรัฐ’ แบบนี้
ครับ วิธีแก้ของผู้มีอำนาจวันนี้ก็คือผ่าน ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ที่วันนี้ ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว… และกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เป็นเรื่องตลกทันที ที่เจอกับโควิด-19 แล้วทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมด เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่วันนี้ต้องหยุดพูดถึงชั่วคราว เพราะกลายเป็นพื้นที่ ‘สีแดงเลือดหมู’ ทุกจังหวัด จากการกระจายตัวของบ่อนการพนันผิดกฎหมาย…
อีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือผู้มีอำนาจบ้านเรา ไม่มีใครสนใจอนาคตเท่าไหร่ ผมเพิ่งคุยกับนักการเมืองในรัฐบาลนี้คนหนึ่งไม่นานนี้ ถามเขาไปตรงๆ ว่าพรรคการเมืองจะต้อง ‘เจาะกลุ่ม’ ไปที่คนรุ่นใหม่ไหม คำตอบของเขาก็คือ ถ้ามอง ‘เขตเลือกตั้ง’ ให้ดี สิ่งที่จะเห็นก็คือประเทศนี้ยังมีผู้ที่อยู่ในวัย 50+ มากกว่าคนรุ่นใหม่ และอาชีพของประชากรเหล่านี้ก็ยังอยู่ในภาคการเกษตร อยู่ในภาคบริการ ซึ่งล้อมคนวัย 20-30 เอาไว้
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ผ่านมา เหตุที่คนเก่าๆ เหตุที่ ‘บ้านใหญ่’ ยังได้รับชัยชนะ เพราะแต่ละจังหวัด แต่ละเขตเลือกตั้ง ถึงอย่างไรเสีย คน 50+ ที่ยังต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ ยังไว้ใจผลประโยชน์เฉพาะหน้า มากกว่าจะเอาตัวเข้าไปเสี่ยงกับนโยบายที่สวยหรู แต่ต้องลุ้นกันอีกทีว่า ด้วยโครงสร้างระบบราชการที่แข็งขัน นโยบายพวกนั้นจะไปได้ไหม
ด้วยสภาพแบบนี้ สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ ‘ม็อบ’ ในปีนี้ จะแรงขึ้นเรื่อยๆ จากความสิ้นหวังของบรรดาคนรุ่นใหม่ (ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง) และความรู้สึกว่าเขาสามารถ ‘ท้าทาย’ โครงสร้างบางอย่างได้ เช่นเดียวกับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ จะสุมไฟให้เรื่องซับซ้อนมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม คนเจเนอเรชันก่อนหน้าจะ ‘เพิกเฉย’ หรือรู้สึก ‘ต่อต้าน’ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่าไปกระทบกับสิ่งที่เขาคิดว่ามี ‘เสถียรภาพ’ อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น คำว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ จึงเป็นวลีร่วมแห่งยุคสมัย และเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าต้องสร้างร่วมกันด้วยตัวเองจริงจัง มากกว่าจะอยู่ด้วยระบบการเมืองแบบนี้ แล้วปล่อยให้เป็นเป็นเรื่องของรัฐบาล ของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เมื่อบีบไปยังรัฐบาลไม่ได้ ทุกถนนจึงมุ่งกลับไปหาโครงสร้างเพื่อให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยแบบนี้
ไม่ว่าคุณจะอยู่เจเนอเรชันไหน และไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ที่ต้องยอมรับคือ เรากำลังอยู่ใน ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่สำคัญ ที่อาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานหลายปี หรืออาจจะนับสิบปี เพื่อที่จะหาจุดที่การเมือง ‘ลงตัว’ รองรับกับความต้องการของคนทุกคน ทุกวัย ได้มากกว่านี้นั่นเอง
Tags: การเมือง, การเมืองไทย, คณะราษฎร, คนรุ่นใหม่