“ถ้าไม่อยากเติบโตเป็นหัวหน้าผิดไหม”

“อยากลดตำแหน่งลงไม่อยากเป็นหัวหน้าแล้ว”

ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจผ่านหูผ่านตากับบทสนทนาข้างต้นมาบ้าง หรือรู้จักเทรนด์มาแรงอย่าง Quiet Ambition ที่พนักงานบริษัทไม่อยากถูกโปรโมตขึ้นเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมาพร้อมกับงานที่เครียดและถูกกดดันมากขึ้น ซึ่งแลกมากับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เวลาส่วนตัวกลับลดน้อยถอยลง

ฉันจากคนที่เริ่มงานด้วยตำแหน่งจูเนียร์เหมือนคนทั่วไป เป็นน้องเล็ก อายุน้อยที่สุดของทีม ที่แม้จะทำงานผิดพลาด พี่ๆ ก็จะคอยช่วยแก้ปัญหา แนะนำ ตบบ่าให้กำลังใจ พร้อมลุยงานต่อ แต่อยู่ไปอยู่มาจากน้องเล็กก็กลายเป็นพี่ จากที่ต้องเรียนรู้งานจากคนอื่นก็มีโอกาสได้ถ่ายทอดอะไรให้คนอื่นบ้าง งานที่เมื่อก่อนเคยเบาใจว่า เรายังมีพี่ๆ อยู่ข้างหลัง สู่การต้องพึ่งพาตัวเองและต้องเติบโตพอให้คนอื่นพึ่งพิงได้

การเป็นหัวหน้าไม่ใช่เพียงเรื่องภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่ในแง่การจัดการคน เพื่อนร่วมงาน ต้องให้คนยอมรับในความสามารถ และรับมือกับความคาดหวังจากองค์กรก็เป็นสิ่งที่หนักหนาไม่แพ้กัน ส่วนตัวมองว่าการที่ต้องจัดการกับความรู้สึกที่ผ่านพ้นเข้ามาในแต่ละวันต่างหาก ที่เป็นงานหนักยิ่งกว่าภาระงานใดๆ เสียอีก

ออกตัวก่อนว่า แม้จะเป็นคนขี้บ่นกระปอดกระแปด แต่เรื่องงานเป็นคนที่ค่อนข้างเอาจริงเอาจัง และทนมือทนเท้าพอตัว ทนในแง่ที่ว่าให้ไปลงพื้นที่ทำงานที่ไหนก็ทำได้ และจะพยายามทำงานที่ได้รับมอบให้บรรลุเป้าในทุกทาง ฟังดูแล้วก็เป็นมาตรฐานของพนักงานทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจัดการได้ผ่านการจัดสรรเวลาในชีวิต แต่การเป็นหัวหน้ามันไม่ใช่เพียงแค่นั้น

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ยินเรื่องราวของหัวหน้าอายุน้อยคนหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความสามารถและต้องรับแรงกดดันจากทีมค่อนข้างมาก จากทั้งที่ฟังและที่เคยเผชิญผ่านชีวิตตัวเองมา ก็ต้องยอมรับเลยว่า การเป็นหัวหน้าไม่ใช่เรื่องง่ายและหัวหน้าไม่ใช่ใครก็ได้จริงๆ

องค์ประกอบของการเป็นหัวหน้าอาจมีมากมาย หรือหลายคนไปถึงขั้นเขียนสูตรสำเร็จ การจะเป็นหัวหน้าที่ดีต้องปฏิบัติตามนี้ 1 2 3 และ 4 แต่ลืมกันไปหรือเปล่าว่ามนุษย์แต่ละคนมีลักษณะนิสัยบุคลิกที่ต่างกัน ดังนั้นมันไม่มีสูตรสำเร็จหรือมาตรฐานกลางอะไรทั้งนั้น อาจต้องอยู่ที่การเรียนรู้ ปรับตัว และปรับใช้ไปตลอด (มั้ง)

การเป็นหัวหน้าถือเป็นสิ่งใหม่ ในความหมายที่ว่าใหม่ตลอดเวลา เพราะไม่ช้าไม่เร็วมักจะเกิดปัญหาใหม่ๆ ที่เข้ามาทักทายรอจ่อคิวให้คุณได้ท้าทายตัวเองเสมอ ดังนั้นความหนักอึ้งของตำแหน่ง มันอาจไม่ใช่กองเอกสารภาระงานที่ทับถม แต่มาจากน้ำหนักของการแบกตำแหน่งที่อยู่บนบ่าต่างหาก ที่มันหนัก หนักในชนิดที่ว่าไม่สามารถวาง หรือปาทิ้งมันได้

ในอดีตตอนที่ยังเป็นน้องเล็ก ยอมรับว่ามีความดื้อ หัวแข็งอยู่มาก (หัวหน้าที่ผ่านมาน่าจะทราบ ขอโทษค่าาา) พอเติบโตมีโอกาสได้มาช่วยงานบริหารจากพี่ๆ ได้มาดูแลในหลายส่วน ความเข้าใจ หรือมุมมองก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น ในฐานะที่ยังอยู่ในตำแหน่งระดับกลาง ยังมีพี่ใหญ่ หัวหน้าใหญ่ ให้เราคอยปรึกษา พึ่งพิง ช่วยแก้ปัญหา หรือบางทีก็บ่นให้เขาฟัง และขณะเดียวกันก็กลายเป็นพี่ใหญ่ของคนบางกลุ่ม เรารู้สึกทึ่งในทักษะของการเป็นหัวหน้าที่ต้องบริหารทั้งงานทั้งคนอยู่มาก 

หลายครั้งที่หัวหน้าต้องเผชิญแรงกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายบริหาร เจ้าของกิจการ และอีกฝ่ายที่เป็นพนักงานหรือเพื่อนพี่น้องร่วมทีม ต้องเจอแรงปะทะจากทั้ง 2 ฝ่าย จนมีคำพูดแบบตลกร้ายและเป็นความจริงว่า ไม่ว่าหัวหน้าจะทำอย่างไรก็จะต้องเป็นคนที่โดนด่า ถูกนินทา หรือกลายเป็นสนามอารมณ์ของคนใดคนหนึ่งอยู่วันยังค่ำ เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ นี่ต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ว่าหัวหน้าจะต้องแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างคำติฉินนินทา ขณะที่ก็ต้องรับฟัง และปรับปรุงตัวอย่างไร 

“ถ้าไม่อยากเติบโตเป็นหัวหน้าผิดไหม”

“อยากลดตำแหน่งลงไม่อยากเป็นหัวหน้าแล้ว”

มาคิดๆ ดูแล้ว หากมีโอกาสย้อนเวลากลับไปได้ ถ้าให้เลือกอีกครั้งว่าจะเติบโตในหน้าที่หรือยังอยู่ที่ตำแหน่งเดิม ก็คิดว่าก็ยังคงจะเลือกคำตอบเดิม แม้มันไม่ง่ายแต่การเป็นหัวหน้าก็ทำให้เราได้เรียนรู้ในอีกหลายด้านหลายอย่าง ที่หากไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้ก็ไม่อาจเข้าใจได้จริงๆ 

ส่วนใครที่ไม่อยากเติบโตในตำแหน่งหน้าที่งาน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหากเป็นสิ่งที่เราพึงพอใจ หรือหลายคนอาจจะสบายใจกว่าที่ไม่ต้องทำงานด้วยการดูแลคนหลายชีวิต ส่วนตัวเราเองเป็นทั้งลูกน้องและเป็นพี่ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย (อาจจะหนักไปทางเสีย) ก็จะพยายามเรียนรู้ พูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น และทำงานให้ดีกว่าเดิม

Tags: , , , , , , , ,