1.

อันที่จริง ผมมีลางสังหรณ์ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้วว่าการจัดการเรื่องวัคซีนโควิด-19 จะย่ำแย่ มากกว่าที่คิด.. เพราะในช่วงที่นานาชาติขะมักเขม้นกับการสั่งจองวัคซีนคือช่วง กลางปี – ปลายปี 2563 นั้น ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ ‘นิ่งสงบ’ ผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในหลักหน่วย บางวัน ไม่มีใครติดเลย นั่นทำให้ไทยชะล่าใจเป็นอย่างมากว่าวัคซีน อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็น และเราจะปิดเส้นทางการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มิดชิดทั้งหมด ไม่ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะเกิดการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม

ขณะเดียวกัน ในห้วงเวลานิ่งสงบเหล่านั้น ก็ดันมีข้อเสนอที่โผล่มาจาก เอสซีจี พอดิบพอดีว่า สยามไบโอไซเอนซ์ บริษัทที่นักข่าวกระทรวงสาธารณสุขได้ยินชื่อมานานว่ามีฝีมือดีมาก จากทั้งผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม จากทั้งคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช หรือรามาธิบดี ว่าพร้อมเป็นศูนย์กลางผลิตวัคซีนให้กับ แอสตราเซเนกา – มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่เป็นในระดับภูมิภาค ก็ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากกระโดดคว้าดีลนั้นไว้

แต่ทุกอย่าง ก็ ‘พลาด’ ตั้งแต่ต้นอยู่ดี ดีลแรกกับแอสตราเซเนกานั้น จำนวนวัคซีนตามที่เซ็นสัญญากันไว้ และพร้อมส่งมอบภายในปีนี้ อยู่ที่ 26 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรเพียง 13 ล้านคน และเป้าแรกของการฉีดวัคซีนในไทยในปี 2564 นั้น อยู่เพียง 63 ล้านโดส ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 100 ล้านโดส ในปี 2564 และเป็น 150 ล้านโดส ในปี 2565 ก่อนที่จะสั่งจองวัคซีนแอสตราเซเนกา เพิ่มอีก 25 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

กระนั้นเอง ประเทศไทยก็ยังต้องพึ่งพาแอสตราเซเนกาหนักมาก ราวกับว่าทั่วโลกมีวัคซีนตัวนี้อยู่ตัวเดียว และเมื่อถึงเวลาที่จะพยายาม จัดซื้อวัคซีนตัวอื่นก็มี ‘ข้อจำกัด’ เต็มไปหมด เป็นต้นว่า สัญญาจัดซื้อมีลักษณะเสียเปรียบ ต้องวางเงินก่อน ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะได้ของหรือไม่ การห้ามกำหนดค่าปรับ หากไม่สามารถส่งของได้ หรือหากของไม่มาตามกำหนด

มีคนบอกผมหลายรอบว่า ปัจจัยสำคัญ เป็นเพราะ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามไม่ทัน และรัฐบาลที่มีข้าราชการเป็นใหญ่ชุดนี้ ก็กลัวว่าจะมีปัญหาในทางกฎหมาย ต้องถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบ หากวางเงินล่วงหน้า หรือจองล่วงหน้า แล้วถึงเวลาจริง บริษัทยายักษ์ใหญ่เกิด ‘เบี้ยว’ ไม่ส่งวัคซีนมาให้ หรือวัคซีนที่กำลังทดลองอยู่เฟส 3 ไม่ประสบความสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ แม้บริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง ‘ไฟเซอร์’ จะเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ ถึงทำเนียบรัฐบาล หรือ โมเดอร์นา จะมีความพยายามติดต่อรัฐบาลตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่รัฐบาลก็เชิดใส่ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาในทางกฎหมาย

เรื่องตลกร้ายก็คือ แอสตราเซเนกา ที่จ้างโรงงานในบ้านเราผลิต ก็เขียนสัญญาคล้ายๆ กัน กลับไม่มีฝ่ายกฎหมายคนไหนทักท้วง เลยสักคน

“ตลาดตอนนี้เป็นของผู้ขาย รอถึงสิ้นปีให้ได้ ตลาดจะเป็นของผู้ซื้อ” คือสิ่งที่ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พูดจนผมจำขึ้นใจในช่วงเวลานั้น

2.

เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มการระบาดระลอก 2 ที่สมุทรสาคร ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 ช่วงที่ประเทศมหาอำนาจเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว รัฐบาลเลยต้องเร่งกุลีกุจอหาวัคซีนเข้ามาฉีดประชาชนเพิ่ม เดือนมกราคม 2564 จนได้วัคซีนชนิดเชื้อตายจากจีน ที่ประเทศนี้รักมากอย่าง ‘ซิโนแวค’ เข้ามา

ในตอนแรก หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นซิโนแวค ที่หลายคน ยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพ เพราะในเวลานั้น ต้องไม่ลืมว่ามีการทดลองใช้เป็นวงกว้างแล้วที่บราซิล พร้อมกับมีผลการทดลองออกมาว่าอยู่ที่ 50.5%

สิ่งที่เฉลยออกมาภายหลังก็คือ เป็น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยกหูคุยกับรัฐบาลจีน โดยอาศัยคอนเนคชันส่วนตัว ให้จีนจัดหาวัคซีนมาลงในไทยให้ได้เร็วที่สุด จนได้ซิโนแวคมาลงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับระดมฉีดต่อเนื่องตังแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนถึงวันนี้

ความเชื่อของทีมแพทย์ – ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข อยู่ภายใต้ 3 สมมติฐานสำคัญ

1.วัคซีนเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง

2.จีนฉีดไปแล้วหลายล้านโดส ไม่มีผลข้างเคียง

และ 3.จนแล้วจนรอด ซิโนแวค แม้จะกันติดเชื้อได้ไม่ดีมาก แต่ก็กันป่วยหนัก และป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาลได้

ไม่มีใครเถียงว่า 3 สมมติฐานนั้นเป็นเรื่องโกหกในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน วัคซีนอะไรก็เอามาก่อน แต่คำถามสำคัญก็คือในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจาก ‘ค็อกเทลเลานจ์’ ที่ทองหล่อ ช่วงต้นเดือนเมษายน เวลาเดียวกับที่ประเทศเพื่อนบ้าน ติดต่อสั่งซื้อทั้งไฟเซอร์ ทั้งโมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน หรือสปุตนิก วี ทำไมไม่มีใครคิดจะสั่งวัคซีนอะไรเพิ่มเลย หรือมีขั้นตอนอะไรติดขัดที่ทำให้ไม่สามารถหาวัคซีนได้..

เรื่องพวกนี้ คำตอบอยู่ในสายลมจริงๆ

3.

อันที่จริง มีคนเล่าให้ผมฟังว่า ข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจัดซื้อวัคซีน เสนอไปยัง ‘เบื้องบน’ ให้จัดซื้อวัคซีนที่หลากหลายที่สุด หลายชนิดที่สุด ไม่ควรจำกัดแค่วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือไวรัลเวกเตอร์ สองเจ้าแบบที่ไทยมี และไม่ควรแทงม้าตัวเดียว ในสถานการณ์ที่มีม้าหลายตัวกำลังวิ่งแข่งกัน จนเป็นสาเหตุให้พลเอกประยุทธ์ ต้องไปอ่านชื่อวัคซีนแบบนั้นระหว่างแถลงข่าวออกทีวี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อพยายามบอกว่าไทยพยายามแล้วนะ..

แต่เมื่อข้อเสนอดังกล่าวถูกเสนอขึ้นไปยัง ศบค. ตามลำดับขั้น ไม่ว่าจะเสนอไปกี่ตัว ในที่สุดก็ยังจำกัดวงแค่ ‘ซิโนแวค’ และไม่ว่าจะดีลวัคซีนตัวไหนก็ล้มเหลวทั้งหมด ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ ทยอยรับวัคซีน mRNA กันเป็นแถว

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีเรื่องไม่ชอบมาพากลอีกมาก เป็นต้นว่า ทำไม กระทรวงสาธารณสุข ถึงยอมปล่อยให้วัคซีนของโมเดอร์นา เป็นวัคซีนทางเลือก ให้โรงพยาบาลเอกชนจองก่อน และนำมาขายก่อน ทั้งที่ประเทศอื่น โมเดอร์นา เป็นวัคซีนที่รัฐจัดให้ประชาชนฟรี

เป็นต้นว่า เพราะเหตุใด วัคซีนของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นรายแรกๆ ถึงได้ไม่ยอมติดต่อกลับมายังรัฐบาล

และเพราะอะไร ซิโนฟาร์ม ถึงได้ใช้ ‘ช่องทางพิเศษ’ ผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นวัคซีนทางเลือกได้ แทนที่จะเข้ามาในช่องทางปกติของรัฐ

เป็นเรื่องประหลาดที่ยังหาคำตอบไม่ได้ และไม่น่าจะมีความพยายามจากรัฐในการหาคำตอบ คงเป็นอีกหนึ่งเรื่องลึกลับของประเทศนี้ต่อไป..

4.

หากการจัดซื้อว่าประหลาดแล้ว การ ‘จัดคิว’ ยิ่งประหลาดกว่า ณ เดือนพฤษภาคม เราต่างก็รู้กันว่าทั่วโลกจัดลำดับความสำคัญให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนต้องเริ่มจากผู้สูงอายุ และ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวก่อน เพราะรู้กันว่ากลุ่มนี้เปราะบาง มีโอกาสเสียชีวิตสูง นั่นเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุข เริ่มต้นจากการลงทะเบียนคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก

แต่เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ศบค. เกิดรู้สึกว่ากรุงเทพฯ นั้นเป็นพื้นที่ระบาด มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนก่อน และในเวลาเดียวกัน โรงเรียนก็กำลังจะเปิด วัยแรงงานก็เริ่มเรียกร้อง พร้อมๆ กับที่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ในต่างจังหวัดเริ่มนิ่ง ศบค.จึงจัดการยกเลิกคิวผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ทั้งหมดทั่วประเทศ พร้อมกับปูพรมลงกรุงเทพฯ ก่อนเป็นอันดับแรก

ประกอบกับยังคงเชื่อว่าจำนวนวัคซีนที่ผลิตโดยแอสตราเซเนกานั้นจะเข้ามาอย่างแน่นอน เพราะต้นเดือนพฤษภาคม กองเชียร์รัฐบาลก็เริ่มเชียร์กันอย่างคึกคักแล้วว่า 6 ล้านโดส ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์นั้นจะมา ‘ก่อนกำหนด’ ตั้งแต่ปลายเดือนนั้น และถ้าเดือนมิถุนายนได้ 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคมได้ 10 ล้านโดส เริ่มฉีดจากกรุงเทพฯ ก่อน ก็จะครอบคลุมประชากรทุกคนในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ได้สบายๆ

ปัญหาก็คือเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา นั้นรุนแรงกว่าที่คิด ปัญหาก็คือวัคซีนซิโนแวคที่กลายเป็นวัคซีนหลักของประเทศตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถจัดการกับสายพันธุ์เดลตา ปัญหาก็คือการฉีดซิโนแวคในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการระบาดรุนแรงในกรุงเทพฯ นั้นไม่ช่วยอะไร และปัญหาสำคัญก็คือ ‘ตรวจน้อย’ จึงเจอน้อย และเจอไม่ตรงจุด รู้ตัวอีกที ประเทศไทยก็มีผู้ป่วยถึงวันละเหยียบหมื่นรายแล้ว

มิหนำซ้ำ วัคซีนที่เชื่อกันว่าจะเป็นวัคซีนหลัก และจัดการกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ได้ดีที่สุดยังถูก ‘เท’ แบบไม่มีกำหนด แม้จะมีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศ และเป็นวัคซีนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเชื่อมั่นที่สุดว่าจะฉีดกันเต็มแขนคนไทยในเดือนกรกฎาคมก็ตาม

เมื่อถึงคราวหายนะ แผลแต่ละอย่างก็ถูกเปิดขึ้นมาอีกว่า สัญญาที่เขียนไว้กับแอสตราเซเนกานั้น นอกจากไม่กำหนดระยะเวลาและจำนวนการส่งมอบแล้ว ยังกำหนดให้สามารถส่งออกได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

นั่นจึงเป็นที่มาของสูตรการ ‘สลับวัคซีน’ ซึ่งนัยระหว่างบรรทัด นอกจากภูมิต้านทานของโรคที่สูงกว่าซิโนแวคสองเข็ม และแอสตราเซเนกา 1 เข็มแล้ว ก็คือการประหยัดวัคซีน เพราะถ้าฉีดกันแพร่หลาย และผลลัพธ์ไม่ได้แย่มาก เราจะประหยัดวัคซีนของแอสตราเซเนกาไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง

ต้องไม่ลืมว่า ในขณะที่สัญญาถูกเปิดเผยออกมาว่าไม่กำหนดระยะเวลา และวัคซีนต่างๆ ถูกเทไม่มีกำหนด มีผู้เสียชีวิตเกินวันละ 50 คนทุกวัน มีผู้ป่วย ICU อยู่กว่า 3367 คน และมีอีก 847 คน ที่ยังใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งคนกลุ่มนี้ อาจไม่ป่วยเลยก็ได้ หากได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพตั้งแต่ 1-2 เดือนก่อน

เป็นช่วงเวลาที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่สุดแล้วสำหรับคนไทย

5.

หากให้ประเมินความผิดพลาดของ ‘ฝ่ายนโยบาย’ คงเขียนได้ไม่รู้จบ จริงอยู่ โควิด-19 ระบาดทั่วโลก แต่ก็มีหลายประเทศ เป็นตัวอย่างที่สามารถพาวิกฤตนี้ออกได้รวดเร็ว ด้วยการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ มาเลเซีย ประเทศข้างๆ กำลังจะเลิกใช้ ‘ซิโนแวค’ ลาว ยังคงมีวัคซีนคุณภาพเข้ามาเรื่อยๆ ผ่านทั้งที่ลาวจัดซื้อเอง ผ่านทั้งโครงการ COVAX

ขณะที่ทั่วโลก ประชากร 26% ได้รับวัคซีนไปแล้วอย่างน้อยคนละ 1 เข็ม ไทยยังต้องดาหน้ากันไปจองวัคซีนกับโรงพยาบาลเอกชน และต้องลุ้นทุกครั้งว่าโรงพยาบาลเอกชนจะจองวัคซีนได้หรือไม่

ในเวลาเดียวกันนี้ คนไทยหลายล้านคน ถูกเทคิวฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ถ้าอยากฉีดวัคซีน ก็ต้องวิ่งหา ‘เส้น’ เผื่อจะมีโควตาของข้าราชการบางหน่วยงานหลุดมาบ้าง หรือถ้าใครมีญาติได้โควตาวัคซีนทางเลือกเข้ามา แล้วพอจะจับชื่อใส่เข้าไปได้ก็พากันรีบทำ เพราะทุกคนล้วนหาโอกาส ‘รอดตาย’ และยังไม่มีอนาคตว่าจะต้องคอยวัคซีนอีกนานเท่าไร

“ตลาดตอนนี้เป็นของผู้ขาย รอถึงสิ้นปีให้ได้ ตลาดจะเป็นของผู้ซื้อ” เสียงของคนพูดคำนี้ดังก้องขึ้นมาอีกครั้ง ในเวลาที่เราแทบไม่มีวัคซีนใดๆ เลยในมือ

หากอยากรู้ว่าความสิ้นหวังหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าเงยหน้าขึ้นมามองตอนนี้ ก็คงจะเห็นความสิ้นหวังนั้นปรากฎขึ้นตัวใหญ่ๆ ชัดเจนขึ้นแล้ว..

Tags: , ,