การแข่งขัน ชัยชนะ และการเฉลิมฉลอง
เหล่านี้ถือเป็นธีมของกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) การแข่งขันกีฬาระดับประชาชาติ ที่แม้ในสนามจะห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกประเทศต่างเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จของการร่วมมือร่วมใจ เข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างด้วยกัน ถือเป็นการสร้างสัมพันธ์กับนานาประเทศทั่วทุกมุมโลก
แต่สำหรับนักกีฬาโอลิมปิกกลับไม่ใช่แบบนั้น
บางคน มหกรรมกีฬาอาจหมายถึงสื่อเพื่อความบันเทิง หรือกิจกรรมแฝงนัยทางการเมือง แต่สำหรับ ‘ผู้เล่น’ ของโอลิมปิกนั้น เหมือนกับการสอบปลายภาคของอาชีพและความฝันที่ตนยึดถือ บางคนใช้เวลา 4 ปีก่อนหน้าในการฝึกฝน เพื่อมาตัดสินกันในสนามโอลิมปิกเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือในบางชนิดกีฬาก็เพียงแค่หลักเสี้ยววินาทีเท่านั้น
อุตะ อาเบะ (Uta Abe) ก็เช่นกัน แม้เธอจะเป็นสุดยอดนักยูโดหญิงจากประเททศญี่ปุ่น ที่เคยคว้า เหรียญทองโอลิมปิกโตเกียว 2020 (Olympic Tokyo 2020) แต่การมาคว้าเหรียญทองสมัยที่ 2 ในปารีสครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งความฝันที่เธอหมายมั่นมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ด้วยดีกรีเต็งหนึ่งและสถิติไร้พ่ายตั้งแต่ปี 2019 เธอพกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม ตั้งเป้าว่าต้องได้สักเหรียญรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านไปแน่นอน ทว่าในการแข่งขันรอบคัดเลือกเกิดเหตุการณ์พลิกผัน เธอถูก ดิโรยา เคลดิโยโรวา (Dylora Keldyorova) ยูโดสาวจากอุซเบกิสถาน เตะตัดขาก่อนจับทุ่มหลังแตะพื้น กลายเป็นท่าอิปป้ง (Ippon) ซึ่งเป็นเหมือนไม้ตายของกีฬายูโด ที่เมื่อใครถูกจับใส่ท่านี้ ก็จะถูกปรับแพ้โดยทันที ไม่ต่างกับการถูกหมัดน็อกของกีฬามวยที่หลายคนคุ้นตา
เพียงเสี้ยววินาทีเดียว สีหน้าอันมั่นใจของอุตะแปรเปลี่ยนเป็นความตกใจ ช็อก คาดไม่ถึง ก่อนที่น้ำตาจะค่อยๆ พรั่งพรูออกมา กลายเป็นฉากร่ำไห้ และฉากจบการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ของเธอ
“ทำไมต้องร้องไห้บนเวทีด้วย ทำไมไม่ร่วมยินดีกับคู่แข่ง แบบนี้ดูไม่เป็นมืออาชีพเลย ดูไม่ให้เกียรติคู่แข่ง” เหล่านี้คือเสียงอีกมุมต่อปฏิกิริยาของอุตะครั้งนี้ ประหนึ่งว่าเธอจะต้องเข้มแข้ง ห้ามเสียใจ เป็นหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์แบบ 100% เพียงเท่านั้น
คอลัมน์ From The Desk สัปดาห์นี้ขอชวนผู้อ่านทำความเข้าใจถึงภาวะอารมณ์แห่งการสูญเสียของผู้คน ทำไมเมื่อความพยายามที่ตั้งใจมาหลักปีถูกทำลายลง จึงกลายเป็นอารมณ์ที่พรั่งพรูและรุนแรงได้ขนาดนั้น รวมถึงจะมีวิธีการรับมือและมูฟออนจากสิ่งนี้ได้อย่างไรบ้าง
หากพูดถึงความเสียใจจากการสูญเสีย อลิสเบท คับเลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kübler Ross) จิตแพทย์หญิงชาวสวิส-อเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ On Death and Dying ระบุว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น 5 ช่วงเวลา ซึ่งเธอเรียกว่า ‘5 Stages of Grief’ หรือ 5 ระยะที่ต้องเผชิญเพื่อก้าวผ่านความเจ็บปวด ได้แก่
ระยะที่ 1 ปฏิเสธความจริง (Shock and Denial)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่สูญเสียบางสิ่งไป มนุษย์จะเกิดสภาวะช็อก รับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ และจะทำการต่อต้าน ปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า โดยยังคงเชื่อว่า อาจเป็นเรื่องบังเอิญหรือเกิดความผิดพลาดบางอย่างเพียงเท่านั้น
ระยะที่ 2 ความโกรธ (Anger)
หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อค้นพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง และไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป อารมณ์โกรธจะเข้ามาในจิตใจ เกิดการแสดงออกผ่านความคิด พฤติกรรม หรือคำพูด ว่าทำไมจึงมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา และจะพาลโมโหทุกสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นมา
ระยะที่ 3 การเจรจาต่อรอง (Bargaining)
หลังจากพายุของอารมณ์โทสะสงบลง มนุษย์จะเริ่มหาวิธีแก้ไข เริ่มต่อรอง เริ่มหาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหวังให้มีอะไรบางอย่างได้ใช้ยึดเหนี่ยว ท่ามกลางสภาวะที่หัวใจแตกสลาย
ระยะที่ 4 โศกเศร้าเสียใจ (Depression)
เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่ เข้าทาง ความรู้สึกเสียใจจะเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน ทุกครั้งที่ย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องราว และเหตุการณ์สูญเสียที่เกิดขึ้น จะเต็มไปด้วยความผิดหวัง เศร้าโศก เสียใจอยู่เต็มอก ซึ่งในบางรายความเศร้าในระยะนี้อาจรุนแรงจนสามารถพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าได้
ระยะที่ 5 การยอมรับ (Acceptance)
สุดท้ายแล้วเมื่อการจมปลักอยู่ในความเศร้านานวันเข้า มนุษย์จะเริ่มเรียนรู้ว่าการคงอยู่ในสภาพนี้ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น และเริ่มตระหนักว่าเหล่านี้คือสัจธรรมของชีวิต ที่มีเกิดแก่เจ็บตาย มีสมหวัง มีผิดหวัง จนในท้ายที่สุดก็จะเริ่มยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และก้าวต่อไปได้
ทว่าสำหรับในวงการกีฬานั้น การสูญเสียนั้น อาจหมายถึงชีวิต อาชีพ และอนาคตของเขา คริสติน เฟลเกเนาเออร์ (Kristin Felgenauer) นักบำบัดสุขภาพพฤติกรรมและนักสังคมสงเคราะห์คลินิกของ Henry Ford Health อธิบายไว้ว่า คู่ต่อสู้ที่ยากที่สุดที่นักกีฬาต้องเผชิญคือสุขภาพจิตของตนเอง
“นักกีฬามักคาดหวังกับตัวเองไว้สูง และมักรู้สึกว่ามีแรงกดดันมากกว่าที่จะต้องประสบความสำเร็จ เพื่อไม่ให้คนอื่นผิดหวัง พวกเขาไม่ได้พยายามประสบความสำเร็จเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อพ่อแม่ โคช เพื่อนร่วมทีม”
จึงทำให้ภาวะทางสุขภาพจิตนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในขั้นการยอมรับ ที่สุดท้ายจะทำอย่างไรให้เข้าใจ และก้าวต่อไปในฐานะนักกีฬาได้ โดยไม่มีปมในอดีตเป็นชะนักติดอยู่ข้างหลัง
อันดับแรกคือ การยอมรับโดยไม่กล่าวโทษตัวเอง ทุกอย่างคือเรื่องของเกมกีฬา จอร์จ มัมฟอร์ด (George Mumford) นักจิตวิทยาในกีฬาบาสเกตบอล เคยอธิบายวิธิคิดของ โคบี ไบรอันต์ (Kobe Bryant) เอาไว้ว่า สุดยอดนักกีฬาบาสเกตบอลรายนี้มีวิธีการเล่นด้วยการมองว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนสนามคือสถานการณ์เกมกีฬา โดยระหว่างเล่นเขาจะไม่พยายามคิดว่า ตัวเองจะต้องทำคะแนนได้อย่างแน่นอน แต่จะประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ด้วยสถานการณ์แบบนี้เขาจะมีโอกาสทำอะไรได้บ้าง
หากมองแบบนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราจะเริ่มยอมรับมันได้มากขึ้น เพราะสุดท้าย เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย เช่นเดียวกับการถูกจับอิปป้งของอุตะ ที่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งหากนักกีฬาเริ่มปรับวิธีคิดให้เป็นเช่นนี้ได้ ก็จะรับมือกับเหตุการณ์ช็อก ชวนให้เสียใจได้มากยิ่งขึ้น
ถ้าเป็นไปได้ลอง มองหาข้อดีจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ความเสียใจที่เกิดขึ้นจะรุนแรงปานฟ้าถล่มทลาย แต่สุดท้ายเส้นทางหลังจากนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด มีภารกิจต่างๆ ที่ต้องดำเนินต่อ เช่นเดียวกับอุตะที่ก็มีรายการแข่งขันตามมาหลังจากนี้
ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการประเมินข้อผิดพลาดของตัวเองและนำไปปรับปรุง ที่สำคัญคือ การไม่หมกมุ่น และจมอยู่กับอดีตนานจนเกินไป โดย จอห์น แซลลีย์ (John Salley) อดีตผู้เล่นบาสเกตบอล NBA เคยแนะนำวิธีการก้าวผ่านอดีตที่ไม่อยากลืม ด้วยการมองข้ามความเห็นจากผู้อื่นให้เป็น
“ผมไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับกีฬาเลย ถ้าคุณเป็นนักกีฬาอาชีพ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องอ่านข่าวพวกนี้ พวกเขากำลังเขียนถึงสิ่งที่คุณเคยทำ ดังนั้นคุณจึงไม่มีเหตุผลที่จะพูดซ้ำอีก คุณกำลังนำข้อผิดพลาดของคุณมาพูดซ้ำในสมองของคุณ”
ท้ายที่สุดคือ การช่วยเหลือและกำลังใจจากผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ฝึกสอน เพื่อนนักกีฬา หรือคนสนิทรอบตัว สุดท้ายพวกเขาเหล่านี้คือยาชั้นดี ในการสร้างความมั่นใจและทัศนคติเชิงบวกกลับมา ด้วยการเลิกคิดถึงเรื่องร้ายที่เพิ่งผ่านพ้นไปเพียงชั่วครู่ ใช้เวลาร่วมกับพวกเขา พูดคุยในหัวข้อและประเด็นอื่นๆ แทน
ดังนั้นในฐานะผู้ชมที่ร่วมเชียร์กีฬานั้น สิ่งที่ทำได้เมื่อนักกีฬาในโอลิมปิกรู้สึกเสียใจและผิดหวัง คือการส่งแรงใจ เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญ ก็จะทำให้นักกีฬาที่เรารักนั้น ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
Tags: ความผิดหวัง, โอลิมปิก 2024, นักกีฬา, กีฬา, โอลิมปิก, From The Desk