พลันที่ศิลปินหญิงแรปเปอร์รุ่นใหม่ของไทยอย่าง มิลลิ (MILLI) ขึ้นไปเฉิดฉายบนเวทีดนตรีระดับโลกอย่าง Coachella 2022 พร้อมกับกลุ่มศิลปินจากโปรเจกต์ ‘88rising HEAD IN THE CLOUD FESTIVAL’ ของ 88rising ค่ายเพลงเลือดเอเชีย และประกาศศักดาการเป็นศิลปินเดี่ยวของไทยคนแรกบนเวทีนี้ (ก่อนหน้านี้ ลิซ่า วง Blackpink เคยขึ้นแสดงในงานนี้มาแล้ว แต่ในฐานะศิลปินกลุ่ม) ก็ทำให้แฟนเพลงชาวไทยทั้งตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะพลังบนเวทีของเธอ ไม่ได้แพ้ศิลปินระดับอินเตอร์คนอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย
นอกจากการแรปที่แสบสันตามสไตล์ ในการพูดถึงประเทศไทยทั้งจากมุมมองตาคนต่างชาติ (ที่เข้าใจผิด) และสิ่งที่คนไทยรู้สึก อย่างเช่น ‘I don’t ride an elephant (ฉันไม่ได้ขี่ช้าง), รถไฟไทยสมัย ร.5 ใช้มาแล้ว 120 ปี, เสาไฟกินรีต้นละแสน, Country is good. People is good. Our food is good, but government is bood. (ประเทศดีนะ ประชาชนดีนะ อาหารเราก็ดีนะ แต่รัฐบาลบูด)
ไฮไลต์มันอยู่ตรงนี้ ในช่วงท้ายๆ ของการแสดง มิลลิในชุดแดงโฉบเฉี่ยวเดินมาบริเวณด้านหน้าเวที แล้วก้มลงหยิบถ้วยที่ใส่ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ของหวานขึ้นชื่อจากไทยแลนด์ ก่อนตักเข้าปาก พร้อมร้องเชิญชวนคนดูว่า ‘Who want mango and rice that sticky?’ และนั่นเอง ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ยึดครองพื้นที่สื่อของไทยในวันนั้นแทบทั้งวัน จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #MILLILiveatCoachella ที่ขึ้นอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์
ยังไม่นับกระแส ‘สั่งข้าวเหนียวมะม่วง’ ที่ทำให้หลายร้านขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รับออเดอร์แทบไม่ทัน มีบางภาพที่แชร์ในโซเชียล ร้านข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าดังๆ ถึงกับมีบรรดาไรเดอร์ไปต่อแถวรอคิวรับของยาวเฟื้อย
ในอีกมุมหนึ่ง ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมหนีไม่พ้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที’ ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบ โดยในทวิตเตอร์มีผู้ใช้บางรายโพสต์ทำนองว่า ‘การนำข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินบนเวทีไม่เหมาะสม’ หรือ ‘ข้าวเหนียวมะม่วงดังในต่างชาติมาตั้งนานแล้ว’
แน่นอนว่าการขึ้นเวทีระดับโลกพร้อมข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิยังทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่ใช่หรือไม่ คือพลังของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) หรืออำนาจอ่อน ที่แท้จริง ซึ่งเป็นประเด็นที่มักตามมาทุกครั้ง หากมีคนไทยหรือสินค้าไทย โผล่ไปแสดงความสามารถอวดสายตาแก่ชาวโลก ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่ผู้คนต่างรอดูว่า รัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องจะออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีนี้อย่างไร ทั้งมุมของการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ และรีแอ็กชันต่อโชว์บนเวทีของมิลลิ – โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่เคยมีประเด็นถูกทนายที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลผ่านบัญชีทวิตเตอร์มาแล้ว
น่าสนใจว่า การขึ้นคอนเสิร์ตเวทีระดับโลกของหญิงสาวตัวเล็กๆ วัย 19 อย่างมิลลิ สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในประเทศไทยได้ถึงเพียงนี้
18 เมษายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาให้สัมภาษณ์ “เรามีของดีๆ ของเราอยู่เยอะแล้วละนะ ผมก็เน้นย้ำอยู่เสมอ คำว่าซอฟต์แวร์ของเราไง เรื่องอาหาร เรื่องธรรมชาติ เรื่องอะไรต่างๆ ที่เรามีอยู่ เรื่องสุขภาพ นี่คือซอฟต์แวร์ที่เรา… (นักข่าวทักว่า ซอฟต์พาวเวอร์) เอ้ย ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ โทษที มีซอฟต์พาวเวอร์นะ ขอโทษ ผมก็ได้เป็นคนกำหนดเอง ว่าประเทศไทยจำเป็นที่ต้องสนับสนุนและเร่งรัดในการพัฒนาในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ของเราให้ได้นะครับ”
ครับ โอเค มันอาจไม่ได้เลวร้าย ใครๆ ก็พูดเผียดกันได้ แต่เอาเข้าจริง หากลองนึกดู ลึกๆ แล้วการพูดผิดมันก็สะท้อนอะไรบางอย่างได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า คนพูดอาจไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ ต่อคำที่พูดเลยใช่หรือไม่ โดยเฉพาะจากปากของคนเป็นผู้นำประเทศ
19 เมษายน 2565 ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายต่อเนื่องในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก พร้อมแนะนำหน่วยงานรัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ศิลปิน บุคลากรเบื้องหลัง เพื่อผลักดันให้ซอฟต์พาวเวอร์ เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ ยังชื่นชมความสำเร็จของศิลปินและเยาวชนไทยทุกแขนง รวมถึงทีมงานและบุคลากรในอุตสากรรมบันเทิงไทย ที่ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมไทยสู่สากล สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5F (Food, Film, Fashion, Fighting, Festival) ของไทยให้เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม
21 เมษายน 2565 นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า นายกฯ กล่าวชื่นชมมิลลิที่ช่วยโปรโมตประเทศ ส่วนกรณีก่อนหน้านี้ที่มิลลิเคยออกมาคอลเอาต์นายกฯ นายกฯระบุว่า เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามิลลิสนใจงานด้านการเมือง และติดตามการทำงานของนายกฯ ทั้งนี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมานายกฯ ทำงานเยอะ จึงมีข้อผิดพลาด ดังนั้นจากนี้ไปจะทบทวนตนเอง พร้อมขอบคุณมิลลิที่หวังดีและให้คำแนะนำ
ว่ากันตามจริง อุตสาหกรรมบันเทิงไทย อาจยังไม่ได้มีพลังถึงขั้นที่เป็นหัวหอกขนาดนั้น แม้เราจะมีศิลปินชาวไทยที่ไปโด่งดังในต่างประเทศหลายคน โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ ทั้ง ลิซ่า, แบมแบม,นิชคุณ หรือเรามีหนังไปคว้ารางวัลต่างประเทศมาแล้ว อย่างเช่น หนังของ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ แต่หากเทียบกับประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ โดยเฉพาะรายหลังที่วันนี้ทั่วโลกต่างรู้จัก ฮันรยู (Hallyu) หรือกระแสเกาหลีใต้ฟีเวอร์ ทั้งองคาพยพ จากซีรีส์และเคป็อป เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก
แน่นอนว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ได้มีแค่ในมิติของอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด เพราะมันมักมาในรูปแบบของสื่อบันเทิง โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) นักทฤษฎีชาวอเมริกัน ผู้ค้นคิดทฤษฎีซอฟต์พาวเวอร์ ได้กล่าวว่า แหล่งทรัพยากรสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบไปด้วย 3 ประการ คือ วัฒนธรรม (culture) ค่านิยมทางการเมือง (political values) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policies) ซึ่งความสำเร็จของอำนาจอ่อนขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของตัวแสดงในชุมชนระหว่างประเทศ ตลอดจนการไหลของสารนิเทศระหว่างตัวแสดง
นอกจากนี้ วิธีวัดดัชนีซอฟต์พาวเวอร์ยังมีรายละเอียดที่ลงลึกไปถึงมิติด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การบริหารงานของรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นหัวข้อที่เพิ่มมาใหม่ในยุคโรคระบาดด้วย
ประเทศไทยเรา แม้เรื่องอาหารและการท่องเที่ยวจะโดดเด่นและเป็นซอฟต์พาวเวอร์หลักของเรามาแต่ไหนแต่ไร แต่อย่าลืมว่าโลกทุกวันนี้ ผู้คนให้ความสนใจกับวัฒนธรรม ‘ความบันเทิง’ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกและอิสระทางความคิด ที่แสดงผ่านอัตลักษณ์ของตนเอง หรือสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งหนัง ศิลปะ ซีรีส์ เพลง ตัวศิลปิน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ในมิติของอุตสาหกรรมศิลปะและบันเทิงจึงสำคัญไม่ต่าง
และเช่นเดียวกันที่ต้องไม่ลืมว่า เรื่องของศิลปะล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ซึ่งเป็นอิสระทางความคิด ที่จะทำให้ศิลปินไทยในหลากหลายแขนง ไม่ใช่แค่ดนตรี สามารถหยิบจับ หรือกระทั่งตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นไทย’ ในหลายๆ ด้าน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดสรรค์สร้างงานร่วมสมัยใหม่ๆ ให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกได้
ที่ใดมีอิสระ ที่นั่นมีความคิดสร้างสรรค์
แต่ที่น่าคิดอีกข้อ คือรัฐบาลตีความซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไว้ว่าอย่างไร โดยเฉพาะในมิติของศิลปะบันเทิง ซึ่งมักถูกค่อนขอดว่านี่มันซอฟต์พาวเวอร์หรือพรอพากันดา (Propaganda) กันแน่ เพราะหลายครั้ง หากคนทำงานสร้างสรรค์ผลิตผลงานที่รัฐบาลมองว่าผิดศีลธรรมดีงาม ก็สันนิษฐานได้เลยว่าจะถูกแบน ถูกเซ็นเซอร์ ลามไปจนถึงไล่จับ จนซอฟต์พาวเวอร์ทางศิลปะของไทยจะเหลือแต่ ‘วัดวังดอกบัว’ อยู่แล้ว (เคยไปคุยกับคนทำงานศิลปะหลายคน เขาพูดแบบนั้นจริงๆ) ดังนั้น เห็นชัดเลยว่า วิสัยทัศน์ของคนเป็นผู้นำเป็นรัฐบาลมีความสำคัญขนาดไหน หากจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศ
แต่เอาเถิด ความจริงหากดูจากของดีของประเทศไทยในหลายๆ มิติแล้ว เชื่อว่าเราสู้ต่างประเทศได้ ทั้งยังมีเอกลักษณ์และดีพอที่จะขึ้นไปมีบทบาทในเวทีโลก แต่สิ่งเหล่านี้ รัฐบาลต้อง ‘เข้าใจ’ และพร้อม ‘สนับสนุนจริงๆ’ เพราะการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้เข้มแข็ง นั่นหมายถึงต้องยืนระยะได้ ต้องแข็งแกร่งพอ ซึ่งมันต้องมาจากการวางแผนระยะยาว ทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน และเปิดรับความคิดใหม่ๆ
และเมื่อมีปรากฏการณ์คนไทยบนเวทีโลกเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจะสนับสนุนอย่างไร เพราะอย่าลืมว่า เบื้องหลังของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์นั้น ไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีหรือ 2 ปี แต่เป็นหลายสิบปี
ส่วนในแวดวงดนตรี แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ศิลปินสายเลือดไทยมีโอกาสได้แสดงดนตรีบนเวทีระดับอินเตอร์ เพราะในอดีตเท่าที่จำได้ก็เคยมีทั้ง เสก โลโซ และวง ทีโบน บนเวที Glastonbury หรือศิลปินรุ่นใหม่ๆ อย่าง แสตมป์ – อภิวัฒน์ ที่บุกเวที Summer Sonic ของญี่ปุ่นร่วมกับศิลปินรุ่นน้องทั้ง ภูมิ วิภูริศ และ TELEx TELEXs รวมถึง ศิลปินสุดจี๊ดอย่าง PYRA ก็เคยขึ้นเวที Burning Man มาแล้ว แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือหลายครั้งหากไม่ใช่คนที่ติดตามแวดวงดนตรี ก็แทบไม่รู้เลยว่ามีศิลปินไทยเราเคยไปโชว์ความสามารถบนเวทีระดับโลกหลายคน
พูดได้เต็มปากว่าเหล่าศิลปินไทยที่โกอินเตอร์ทั้งหลาย ล้วนเดินตามความฝันด้วยตนเอง สนับสนุนกันเอง และเติบโตด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น แต่พอมีเหตุการณ์ที่สื่อให้ความสนใจครั้งหนึ่ง รัฐบาลก็ออกมาเคลม ออกมาพูดชื่นชมครั้งหนึ่ง และอ้างว่าเป็นไปตามนโยบาย นี่เป็นสิ่งซึ่งน่าเศร้าและน่าอับอาย
เปิดดูคลิปการแสดงโชว์ของมิลลิอีกครั้ง แล้วลองจินตนาการภาพกว้างๆ ดูว่า ขนาดศิลปินไทยตัวเล็กๆ คนเดียว ยังมีพลังทำให้คนสนใจขนาดนี้ ถ้าศิลปินไทยคุณภาพอีกหลายคนได้รับการสนับสนุนและมีโอกาสเช่นนี้บ้าง เราจะได้รับความสนใจจากต่างชาติขนาดไหน และจะเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้ขนาดไหน
ถ้ารัฐบาลตามทันยุคสมัย สนับสนุนและเข้าใจพลังของซอฟต์แวร์ เอ้ย ซอฟต์พาวเวอร์ ในทุกมิติจริงๆ รวมถึงดำเนินการวางแผนอย่างมีระบบ มีกลยุทธ์ เปิดกว้างให้กับความคิดใหม่ๆ อนาคตเราจะไม่ได้มีมิลลิบนเวทีระดับโลกแค่คนเดียวอย่างแน่นอน
Tags: Soft Power, Milli, From The Desk