ห้าปีก่อน สมัยยังเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ผมมีโอกาสเดินทางไปยังหมู่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
วันนั้น เราออกจากกรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เวลาราวสามชั่วโมงก็ถึงอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นอนพักที่อุทยานหนึ่งคืน รุ่งเช้าก็เปลี่ยนมาขึ้นรถกระบะโฟร์วีล บรรทุกสัมภาระเต็มท้ายรถ ทั้งเป้ เต็นท์ ถุงนอน ข้าวเปลือกหลายสิบกระสอบ ขนมนมเนย ยารักษาโรค เพื่อไปมอบให้ชาวบ้าน
ขณะผ่านด่านตรวจเขามะเร็วที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน พวกเราต้องโกหกว่าเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยมาตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนให้เด็กๆ ถึงจะได้รับอนุญาตให้ผ่าน ท่ามกลางสายตาไม่ไว้วางใจของเจ้าหน้าที่อุทยาน เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอุทยานกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยังยืดเยื้อคาราคาซังอยู่ และดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ จากข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปี
แดดร้อนแรง วิวสองข้างทางเขียวขจีด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ฉากหลังเป็นภูเขาตั้งทะมึนอยู่ไกลลิบ รถโฟร์วีลห้อตะบึงไปบนเส้นทางคดเคี้ยว มุ่งหน้าสู่ใจกลางป่าลึก ถนนดินแดงแห้งแล้งเต็มไปด้วยฝุ่น คนนั่งท้ายกระบะต้องเอาผ้ามาคลุมหัว ปิดหน้าปิดจมูก แต่ยังไม่วายคลุกฝุ่นเนื้อตัวขะมุกขะมอม
หลายชั่วโมงต่อมา มองเห็นสะพานแขวนห้อยต่องแต่งอยู่เหนือแม่น้ำสายเล็กๆ เป็นสัญลักษณ์บอกว่าเรามาถึงหมู่บ้านบางกลอยแล้ว
ทันทีที่รถจอดสนิท เด็กๆ วิ่งกรูเข้ามาล้อมรถ โดยมีผู้ใหญ่ชายหญิงเดินตามหลังมาติดๆ ทุกคนมีสีหน้าดีใจ บางคนยิ้มกว้างจนเห็นฟันแดงเปื้อนคราบน้ำหมาก หลังจากช่วยกันลำเลียงข้าวเปลือกจำนวนกว่า 16 กระสอบที่ได้รับบริจาคมาจากเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ ขนมนมเนยสำหรับเด็กๆ ข้าวของเครื่องใช้ หยูกยาจำเป็น มาไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน
นั่งพักเหนื่อยกินน้ำกินท่าเสร็จ ผมจึงได้รับรู้เหตุผลของการเดินทางมาครั้งนี้
……
ปีนั้นชาวบ้านบางกลอยประสบกับภัยแล้ง ที่ดินทำกินที่รัฐจัดสรรให้ไม่เพียงพอ แถมยังเป็นดินลูกรังที่แข็งจนปลูกอะไรไม่ขึ้น หนำซ้ำยังเจอปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรม บ่อกักเก็บน้ำประจำชุมชนแห้งเหือดเหลือเพียงก้นบ่อเพราะฝนไม่ตกร่วมสองเดือนแล้ว จะสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นมายังหมู่บ้านก็ติดอุปสรรค ไหนจะระยะห่าง สายยางและเครื่องสูบน้ำก็ไม่มี
เมื่อดินไม่ดี น้ำไม่มี ก็ปลูกข้าวไม่ได้ ต้องซื้อข้าวสารกิน เมื่อดินไม่ดี น้ำไม่มี พืชผักก็ไม่งอกงาม ต้นกล้วยเหลืองซีดใบรุ่งริ่ง ลูกมะนาวแคระแกร็นแทบไม่มีน้ำ พริกพรานไม่อวบอูมอย่างที่ควรจะเป็น ทุ่งข้าวก็แห้งโกร๋น วังเวงใจ
“สมัยอยู่บางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน พื้นที่เป็นป่าดิบ น้ำดี ดินดี อุดมสมบูรณ์มาก เราทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าว พริก เผือก มัน หมาก ขนุน มะม่วง ทุเรียน หิวก็จับปลาในแม่น้ำ แทบไม่ต้องใช้เงิน เพราะมีกินตลอดทั้งปี ปลูกกระท่อมเล็กๆ อยู่อย่างอิสระ”
“การทำไร่ในป่าไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร แค่ทำมาหากินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้นเอง แต่ตอนหลังถูกบังคับให้ย้ายมาอยู่บางกลอยล่าง วิถีชีวิตพวกเราก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ แถมยังเป็นดินลูกรัง แข็งจนปลูกอะไรแทบไม่ขึ้น น้ำก็ขาดแคลน ทำให้ชาวบ้านปลูกข้าวไม่ได้ ไม่มีข้าวกิน ทุกวันนี้ต้องซื้อข้าวสารกินถังละ 240 บาท” ชาวบางกลอยคนหนึ่งระบายความอัดอั้นตันใจให้ฟัง
มันน่าเจ็บปวด อยู่ในป่า ท่ามกลางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แท้ๆ แต่กลับต้องอัตคัดขัดสน
มันน่าเจ็บปวด จากที่เคยปลูกข้าวไร่ มีกินตลอดทั้งปี วันนี้กลับต้องมาซื้อข้าวเขากิน
ข้าวเปลือกกองสูงที่ได้รับบริจาคถูกนำมารวมกันที่ลานกลางหมู่บ้าน ชายชราในชุดพื้นบ้านกะเหรี่ยงเดินร่ายรำรอบกองข้าว 3 รอบ ก่อนแบกข้าวเปลือกขึ้นไปเทบนยุ้งฉาง โดยมีเหล้าขาว ไข่ต้ม ข้าวหลาม ข้าวต้มมัด ไก่ต้ม เป็นเครื่องเซ่นไหว้ ท่ามกลางสายตาเพื่อนบ้านหลายสิบชีวิตที่มาให้กำลังใจ ทั้งหมดนี้คือพิธีเรียกขวัญข้าว ประเพณีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เพื่อขอบคุณพระแม่โพสพ ด้วยความหวังว่าวันหน้าคงจะปลูกข้าวได้บ้าง
จำได้ว่าตอนนั้น ปู่คออี้ มีมิ ผู้อาวุโสที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยให้ความนับถืออย่างสูงสุด ยังมีชีวิตอยู่ น่าจะอายุ 106 ปี แกนั่งเหม่อมองดูพิธีเรียกขวัญข้าว พลางบ่นพึมพำเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า
“อยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน”
…….
ห้าปีต่อมา วันนี้ผมย้ายมาทำงานเป็นบรรณาธิการบริหารของสื่อออนไลน์ และเพิ่งส่งน้องนักข่าวซึ่งเป็นบัณฑิตสาวรุ่นใหม่ไฟแรง เดินทางไปยังหมู่บ้านบางกลอยอีกครั้ง
ก่อนพบความจริงอันน่าเศร้าว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี ชาวบ้านยังคงอยู่ที่เดิม ณ บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่างอันแร้นแค้น ยังต้องเผชิญกับภาวะอดอยากขาดแคลน ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ดินก็ยังไม่ดี น้ำก็ยังไม่พอเช่นเคย ยังมีชีวิตอัตคัดขัดสน ยังต้องรับความช่วยเหลือจากภายนอก และคราวนี้ยังต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 เมื่อหนุ่มสาวหลายคนที่ออกจากป่าไปหางานทำในเมืองต่างตกงาน ต้องกลับมาอยู่บ้าน ทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้
เมื่อถึงจุดที่ชีวิตจนตรอก ไร้ที่พึ่ง พวกเขาตัดสินใจหนีไปตายดาบหน้า อพยพครอบครัวกลับขึ้นไปอยู่ใจแผ่นดิน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่อุทยานบุกจับกุมตัวชาวบ้านขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงออกจากพื้นที่ หลายคนต้องติดคุกติดตะราง แม้วันนี้จะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว แต่พวกเขาก็ยังกลับ ‘บ้านที่แท้จริง’ ของตัวเองไม่ได้ และไม่รู้เหมือนกันว่า วันนั้นจะมาถึงหรือเปล่า
ทั้งหมดคือชะตากรรมที่วนลูปของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ผู้ถูกผลักไสให้ออกจากแผ่นดินที่ตัวเองอยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกโกนหัว ถูกจับกุมคุมขัง ถูกกระทำย่ำยีจนแทบไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นคน
Tags: กะเหรี่ยง, Fromthedesk, บางกลอย, saveบางกลอย