ในวันนี้สิ่งที่ถือว่าเป็นกระแสของผู้คนในปัจจุบัน คือการมีกิจกรรมและงานอดิเรกอย่างจริงจัง สวนทางกับวิถีชีวิตในช่วงก่อนหน้า ที่มีสุดสัปดาห์ไว้สำหรับพักผ่อน ตามวลีเด็ดอย่าง ‘ศุกร์เมา เสาร์นอน อาทิตย์ถอน’
ความน่าสนใจคือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้คนต่างมีความหลากหลาย และบางอย่างก็ดูจะเอาจริง เอาจัง ดูลงแรง ลงกาย จนเหมือนกับว่าจะไม่ใช่การผ่อนคลายในช่วงวันหยุดอีกต่อไป
ใช้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์เพื่อไปเดินป่าที่หุบเขาตีนไก่ หรือบ้างก็ถึงกับบินไปปีนหน้าผาจริงที่ไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ รวมถึงการตื่นตี 5 ในเช้าวันเสาร์มาวิ่งรอบเมืองของกลุ่มนักวิ่ง จนมักถูกถามแกมแซวอยู่เสมอว่า ทำไมมีแรงเหลือ ได้พักผ่อนบ้างหรือเปล่า หรือเอาเวลาไหนไปซักผ้า
แม้บางกิจกรรมยังคงเกิดขึ้นในรูปแบบเฉพาะกลุ่ม แต่สำหรับการวิ่ง โดยเฉพาะในรูปแบบ City Run ความน่าสนใจคือในช่วงปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์การรวมตัวของคนเมืองเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็น Running Club ที่เกิดขึ้นมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ
มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมการวิ่งถึงได้รับความนิยม และเหตุใดจึงเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มาร่วมหาคำตอบผ่านบทความนี้กัน
ก่อนอื่นคงต้องอธิบายก่อนว่า เหตุใดปัจจุบันการวิ่งจึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยหากอ้างอิงจาก Outdoor Industry Association มีการบันทึกว่า นับตั้งแต่ปี 2020 มีนักวิ่งเพิ่มขึ้นกว่า 14.5 ล้านคน อีกทั้งในงานวิจัยของ RunRepeat ก็พบว่า นักวิ่งในปัจจุบันกว่า 28.7 ล้านคน ก็เริ่มหันมาออกกำลังกายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
จากสถิติก็พอจะอธิบายได้ว่า หลังจากพ้นช่วงเวลาของการหมกตัว ขลุกอยู่ในบ้าน ผู้คนเริ่มค้นหากิจกรรมแบบออฟไลน์ ที่สามารถพาตัวไปใช้ชีวิตข้างนอกอาคารและบ้านเรือน ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดก็คงเป็นการหยิบรองเท้าออกไปวิ่งหรือเดินตามพื้นที่สาธารณะในจุดต่างๆ
แบรดลีย์ โดโนฮู (Bradley Donohue) นักจิตวิทยาคลินิกด้านกีฬาและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเนวาดา (University of Nevada) อธิบายว่า การทำกิจกรรมกลางแจ้งเช่น การจ็อกกิง ปั่นจักรยาน หรือเดินเล่น เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการกระตุ้นร่างกายด้วยการสูดอากาศบริสุทธิ์ วิตามินดีจากแสงแดด ทำให้ผู้คนเสพติดการออกกำลังกายได้ดียิ่งกว่าการฝึกในร่ม เนื่องจากปัจจัยทั้งหมดนี้ช่วย ‘สร้างทัศนคติเชิงบวกและเป็นแรงบันดาลใจให้พยายามทำกิจกรรมทางกายที่มีความเข้มข้นปานกลาง’
รวมถึงการมีเพื่อนที่ร่วมทำกิจกรรมด้วย ย่อมจูงใจผู้คนให้ทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สังคมการวิ่งกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญ โดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้คนอยากมาพบเจอและรวมกลุ่มกันอีกครั้ง
แน่นอนว่า กลุ่มวิ่งหรือชมรมวิ่งมีประโยชน์ในเชิงสุขภาพ การออกกำลังกาย และสังคมมากมาย ทั้งช่วยส่งเสริมให้ผู้คนทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง มีเพื่อนร่วมทางในระหว่างที่กำลังพิชิตเป้าหมายด้านการวิ่ง
แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และสำคัญมากๆ จนทำให้ผู้เขียนหยิบมาเล่าถึงในวันนี้คือ มันทำให้มนุษย์ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบออฟไลน์มากยิ่งขึ้น
จากรายงานของ McCrindle เกี่ยวกับอนาคตของการศึกษาในออสเตรเลียพบว่า นักศึกษาชาวออสเตรเลียประมาณ 1,200 คน อายุระหว่าง 16-24 ปี พบว่า 82% ของพวกเขาประสบปัญหาในการใช้เวลากับเทคโนโลยีมากเกินไป
อีกทั้งนักเรียนเกือบ 3 ใน 5 (58%) มองว่า การรับมือกับความเหงาและความโดดเดี่ยวเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งหรือมากที่สุด
และเมื่อมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ผู้เขียนและคนรอบตัวก็ต่างประสบปัญหานี้ไม่แพ้กัน ในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้า ด้วยสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ตัวตนของผู้เขียนและอีกหลายคนปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์เสียส่วนใหญ่ จนนำความรู้สึกบางอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาให้กับผู้เขียนไม่น้อย ทั้งภาวะ FOMO (Fear Of Missing Out) ที่จะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือประเด็นต่างๆ หากไม่อัปเดตบนโลกออนไลน์อยู่ตลอด หรือความมั่นใจของตัวเองที่มักนำไปเปรียบเทียบกับผู้คนบนโลกออนไลน์อยู่ตลอด
และเมื่อจนถึงจุดหนึ่งที่การวิ่งเริ่มเข้ามาเป็นกิจกรรมที่แบ่งเวลาผู้เขียนไปจากโลกออนไลน์ ก็เริ่มทำให้ตระหนักได้ว่า ‘เราห่างจากโซเชียลมีเดียบ้างก็ดีเหมือนกัน’
แม้ทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังเป็นคนใช้โซเชียลฯ เช่นเดิม แต่การได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก มันทำให้ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองกำลังอยู่อย่าง ‘ถูกที่ถูกทาง’ ทั้งในรูปแบบกิจกรรมที่ทำ หรืออยู่ท่ามกลางคนที่มีความชอบ รสนิยมคล้ายกันๆ
หรืออย่างน้อยที่สุดมันทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ มันคือเสาร์-อาทิตย์ที่น่าจดจำ ไม่เหมือนกับวันคืนที่เพียงผ่านมาแล้วก็ผ่านไปแบบก่อนหน้า
คำว่า Belong คงเหมาะสมที่สุดในการบรรยายและสรุปเรื่องราวทั้งหมดตรงนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วในอนาคต ผู้เขียนอาจจะมีพื้นที่ที่รู้สึก Belong ต่างออกไป อาจจะไม่ใช่การวิ่ง อาจจะไม่ใช่การพบเจอแบบตัวเป็นๆ อาจจะเป็นการกลับไปอยู่ในโลกโซเชียลฯ อีกครั้ง แต่อย่างน้อยในตอนนี้ผู้เขียนก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า การพาตัวเองไปอยู่ให้ถูกที่ ถูกสังคม มันทำให้เรารู้สึกมีตัวตนและคุณค่าสักแค่ไหน
สุดท้ายแล้วที่บทความนี้เรียบเรียงขึ้นมา เพราะผู้เขียนอยากให้ทุกคนได้ลองค้นหาพื้นที่ กิจกรรม หรือกลุ่มผู้คนที่รู้สึก Belong ดูกันบ้าง มันอาจจะไม่ต้องเป็นกิจกรรมฮาร์ดคอร์ ต้องใช้แรงแบบไลฟ์สไตล์ผู้เขียนก็ได้ การได้ทำอะไรง่ายๆ สนุกๆ เช่น กลุ่มเล่นบอร์ดเกม ก๊วนดูหนัง หรือแก๊งไปหาร้านอร่อยกินตามวันหยุด ถ้ามันทำให้เรารู้สึกสบายใจ มันก็เป็นพื้นที่ Belong ของพวกคุณได้เช่นกัน
ที่มา:
Tags: From The Desk, Running Club 2024, พื้นที่ของเรา