ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวไหนในสังคมไทยที่จะได้รับความสนใจมากไปกว่าการเสียชีวิตของ ‘หมอกระต่าย’ หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่โดนนายสิบตำรวจซิ่งมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์พุ่งชนขณะข้ามทางม้าลาย จนถึงแก่ความตายทันที โดยมีข้อสังเกตหลายข้อ อาทิ ผู้เป็นคู่กรณีคือตำรวจที่ควรรู้กฎหมาย จุดเกิดอุบัติเหตุคือทางข้ามม้าลาย รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นของกลางที่ผิดกฎหมาย แต่กลับถูกนำมาขับขี่โดยผู้รักษากฎหมาย

เป็นหนึ่งชีวิตที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวหลายโครงสร้างในสังคมไทย และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่คุณหมอเท่านั้น แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องจบชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนทางม้าลาย ด้วยความมักง่ายของผู้ขับขี่ยานยนต์ และการจัดการระเบียบบนท้องถนนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ งานพระราชทานเพลิงศพคุณหมอได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลังจากนี้คงต้องตามคดีกันต่อว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่หวังว่าจะยุติธรรมสมชื่อ

เท่าที่ตามข่าว ให้หลังเหตุการณ์ไม่กี่วัน มีหลายสื่อที่ไปติดตามถ่ายภาพทำสกู๊ปบริเวณทางม้าลายของบริเวณหน้าจุดเกิดเหตุหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ โดยมีเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครตีเส้นขาวนูนให้พื้นผิวเป็นคลื่นลูกระนาด ควบคู่กับการตีเส้นบีบช่องจราจรให้เล็กลงบนถนนพญาไท เพื่อต้องการให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วรถก่อนถึงทางม้าลาย อย่างไรก็ดี สิ่งที่พบคือการขับขี่รถบนถนนดังกล่าวยังคงมีความเร็ว และไม่ได้มีการหยุดให้คนเดินข้ามทางม้าลายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีหลายสื่อที่ไปรอถ่ายภาพบริเวณทางม้าลายตรงแยกไฟจราจรตามถนนจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ภาพที่ออกมาคือ หลายจุดมีรถจักรยานยนต์จำนวนมากที่จอดติดไฟแดงทับขวางทางเดินเหมือนเดิม ทำให้ประชาชนที่ใช้ทางม้าลายต้องเป็นผู้เดินเลี่ยงเอง มีแม้กระทั่งภาพจากเฟซบุ๊กนักข่าวชื่อดังท่านหนึ่ง ที่เผยให้เห็นทางม้าลายบริเวณหน้าโรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่มีการตั้งโต๊ะ เก้าอี้ ของร้านอาหารแผงลอยริมทาง ที่วางอยู่ริมทางบนเส้นทางม้าลายด้วยซ้ำ

มนุษย์ไร้จิตสำนึกมีทุกสังคม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่สิ่งที่รอคอยคือ ทางการจะออกมาจัดการอย่างไรกับเรื่อง ‘บนถนน’

หลังเหตุการณ์ มีการแชร์คลิปที่ทางรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ นำทีมทดลองเดินข้ามถนนบริเวณที่เกิดเหตุสลดใจแบบครบทีม ใส่ชุดเครื่องแบบกันเต็มยศ แถมในคลิปก่อนจะข้ามก็มีการให้นายตำรวจโบกรถให้หยุด ทำให้รถหลายคันต้องหยุดรอ และทำให้ทีมตำรวจเดินข้ามไปกลับอย่างปลอดภัย

ไม่แปลกใจที่โลกโซเชียลมีเดียจะตั้งคำถามว่าท่านไปเพื่ออะไร ในเมื่อการไปของทีมรอง ผบ.ตร. ไม่ได้เป็นไปอย่างปกติเหมือนอย่างประชาชนทั่วไป แล้วเมื่อลองเดินข้ามทางม้าลายเสร็จจะเป็นอย่างไรต่อ

ล่าสุด พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. โพสต์เฟซบุ๊กถึงวิธีแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุยานยนต์ชนคนข้ามถนน โดยระบุว่า ต้องขยายการ ‘จับ’ ‘ปรับ’ ถึงเปลี่ยนจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนให้ได้ จึงขออนุญาตยกมาเสริมในบทความนี้

 

จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนคนเดินข้ามถนน บริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้และกระทบต่อความรู้สึกของพวกเราทุกคน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเลย เพราะตรงนั้นเป็นทางม้าลาย จุดที่หลายคนคิดว่าปลอดภัยสำหรับการข้ามถนน แต่กลับเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุ และยังมีอีกหลายทางม้าลายที่เกิดเหตุเช่นนี้

ในพื้นที่ของ กทม. ที่ในถนนมีทางม้าลายเพื่อให้คนข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้แก้ไขปรับปรุงจุดที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย ด้วยการเพิ่มสัญลักษณ์เตือน เช่น ทาสีทางม้าลายให้เห็นเด่นขึ้น ตีเส้นชะลอความเร็วแบบสั่นสะเทือน หรือเส้นซิกแซกในช่องจราจรก่อนถึงทางม้าลายเพื่อให้คนขับรถเพิ่มความระมัดระวังขึ้น

แต่ก็ยังมีคนขับรถบางส่วนที่เมินเฉยสัญลักษณ์เตือนของทางม้าลาย จงใจที่จะฝ่าฝืนกฎจราจร

ความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนเดินถนนแบบนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าผู้ที่ฝ่าฝืน มีจิตสำนึกและตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนร่วมกัน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับรถที่ยังฝ่าฝืนกฎจราจรอยู่ อาจแก้ไม่ได้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว

ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ บริเวณแยกอโศกที่มีปัญหาการฝ่าฝืนกฎจราจรเป็นจำนวนมาก ซึ่ง กทม.พยายามจะใช้เป็นต้นแบบของความปลอดภัยทั้งคนข้ามถนน และผู้ใช้รถ โดยการปรับสภาพพื้นผิวทางเท้า ถนน และทางเชื่อมต่อให้สะดวกต่อคนข้ามถนนทุกกลุ่ม และปรับปรุงทางม้าลายให้ด้วยการทาสีแดงให้เด่นขึ้น ขยายช่องจอดของรถจักรยานยนต์เพื่อรอสัญญาณไฟแดง เพิ่มไฟส่องสว่าง ทำให้แยกอโศก เป็นแยกที่มีความพร้อมทางกายภาพที่จะสร้างความปลอดภัยเป็นอย่างมาก

แต่ก็ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนได้จริง มีผู้ฝ่าฝืน ตั้งแต่เริ่มโครงการจับปรับด้วยเทคโนโลยี AI วันที่ 1 ม.ค. 65 กว่า 25,000 ราย หรืออาจเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย ซึ่งแม้จะมีที่จอดติดไฟแดงเหลือว่างมากมาย แต่ก็ยังมีการจอดทับทางม้าลาย

ดังนั้น การแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ “การแก้จิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนน” โดยใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้นและใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้น้อยลง ก็คือ เมื่อมีคนจอดรถทับทางม้าลาย จะไม่มีตำรวจเรียกรถเพื่อจับปรับ  แต่จะใช้กล้องวงจรปิดเทคโนโลยี AI เป็นตัวช่วยจับรถยนต์รถจักรยานยนต์ที่ยังจอดทับเส้น โดยกล้องจะสแกนแผ่นป้ายทะเบียนอัตโนมัติ มีหลักฐานภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ส่งไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจจับปรับตามกฎหมาย ออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ส่งไปถึงหน้าบ้านเลย  เป็นการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยบังคับใช้กฎหมายได้ 100% 

วิธีการนี้จะทำให้ผู้ที่ชอบฝ่าฝืนเกิดความเกรงกลัว และหากเกิดขึ้นหลาย ๆ แยกของ กทม. จะทำให้สามารถปรับพฤติกรรมหมู่ใน กทม. หากใช้ได้ผล กทม.ก็จะผลักดันให้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาในทุกแยกและทุกทางม้าลายทั่วกรุงเทพมหานครอีกต่อไป

ในวันศุกร์นี้ กทม. จะนำเสนอโมเดลนี้ให้กับทางตำรวจให้นำมาใช้เพิ่มเติมอีก 10-20 แยก และอีกหลาย ๆ ทางข้าม รวมทั้งเตรียมขยายต่อให้เกิดขึ้นอีกหลาย ๆ แยกใน กทม. ในอนาคต เพื่อที่จะทำให้เกิดการ “จับ” “ปรับ” และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ที่ฝ่าฝืนวินัยการจราจรให้ได้ครับ”

 

จะเห็นว่ามีทั้งเรื่องการแก้จิตสำนึกและปรับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งไอ้เรื่องการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ทำให้นึกถึงประเทศเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศที่จริงจังมากกับเรื่อง ‘บนถนน’ ซึ่งประสบความสำเร็จมากกับการปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยในการใช้ถนน โดยเฉพาะในกรุงโซล ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘Smart City’ หรือ เมืองอัจฉริยะ

เนื่องจากช่วงทศวรรษ 1980-2000 สังคมเกาหลีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประชากรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้รถยนต์ที่สูงขึ้น จึงทำให้อุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นตาม เกาหลีจึงมีการปฏิรูปจริงจัง โดยเฉพาะการออกแบบสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการใช้ถนน ควบคู่กับการที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายจราจรที่จริงจังเเละเข้มงวด

ไม่นับการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยอย่างเป็นระบบ ทั้งระบบตรวจจับคนที่ขับรถผิดกฎจราจรตามสี่แยกไฟแดง โดยไม่ต้องพึ่งตำรวจให้มายืนทำหน้าเบื่อๆ สักนาย และระบบจะส่งหลักฐานมาถึงบ้านผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎ เพื่อแจ้งเรื่องความเร็ว เวลา ทะเบียนรถ และให้ไปเสียค่าปรับที่โรงพักด้วยตนเอง

ปีที่ผ่านมา (2021) รัฐบาลกรุงโซล (SMG) ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ก่อนหน้านี้ที่เป็นนโยบายการจราจรเพื่อยานพาหนะ ให้กลายเป็นนโยบายการจราจรบนทางเท้า อาทิ การขยายการติดตั้งทางม้าลายใหม่ทั่วเมือง รวม 28 จุด โดยมีแผนจะติดตั้งเพิ่มอีก 31 แห่งในปีนี้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางเท้าที่ปลอดภัยในบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง เช่น ที่สถานีอิแทวอน (Itaewon) หรือหน้าห้างสรรพสินค้าชินเซแก (Shinsegae) ที่ย่านมย็องดง (Myeongdong) และใกล้โรงเรียนประถม เพื่อลดความไม่สะดวกของคนเดินเท้าที่ต้องอ้อมไกล พร้อมปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางข้ามถนนที่ปลอดภัยสำหรับผู้พิการ และมีการติดตั้งทางม้าลายเพิ่มเติมในช่องเดินเท้าบริเวณจุดแคบของถนนเพื่ออำนวยความสะดวก

ไม่พอเท่านั้น รัฐบาลกรุงโซล (SMG) ยังได้ติดตั้ง ‘เสาอัจฉริยะ’ (Smart Pole) ใหม่ ที่ทำหน้าที่สารพัด คือเป็นทั้งไฟถนน ไฟจราจร เซนเซอร์ตรวจจับสภาพสิ่งแวดล้อม ทางม้าลายอัจฉริยะ ที่ชาร์จสมาร์ตโฟน จุดเชื่อมต่อ Wi-Fi กล้องวงจรปิด และอื่นๆ รัฐบาลกรุงโซลยังวางแผนที่จะพัฒนาเสาอัจฉริยะรุ่นต่อไป ซึ่งจะสามารถชาร์จโดรนและยานพาหนะไฟฟ้า และตรวจจับการฝ่าฝืนที่จอดรถได้

หรือย้อนไปในปี 2019 รัฐบาลเกาหลีใต้ก็มีการติดตั้งไฟ LED บริเวณขอบถนนทางข้ามม้าลายในกรุงโซล เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลก และมีอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากถนนสูงที่สุด ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หลายคนติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้มากกระทั่งตอนข้ามถนนก็ต้องก้มดู จนมีการตั้งชื่อกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ‘Smombies’ ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่าง ‘สมาร์ตโฟน’ กับ ‘ซอมบี้’ อันหมายถึงคนที่ติดสมาร์ทโฟนจนต้องก้มหน้าดูจอในมือตลอดเวลา คล้ายกับท่าทางการเดินของซอมบี้

โดยกล้องเรดาร์และกล้องตรวจจับความร้อน จะตรวจจับการเข้าใกล้ของผู้ข้ามถนนและแจ้งระบบควบคุมส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้แถบไฟ LED สว่างขึ้นเป็นสีเขียวหรือแดง เพื่อบ่งบอกว่าเมื่อใดจึงจะปลอดภัยที่จะข้ามถนน นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ยังใช้ระบบแจ้งเตือน ที่จะส่งเสียงและภาพการแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟน หากผู้เดินกำลังจะก้าวเข้าสู่การจราจรตรงหน้า ทำให้บุคคลทั่วไปหรือกระทั่งเหล่า ‘Smombies’ สามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมอง (ถึงแม้ความจริงแล้วจะควรมองก็ตาม)

แต่สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า เป็นเรื่องปกติที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีวินัยเท่ากันหรือเหมือนกัน ไม่ว่าสังคมไหนๆ แต่ประเทศที่เห็นคุณค่าของประชาชน จะมีวิธีแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้นภายใต้การควบคุมโดยรัฐ แทนที่จะมัวมานั่งปลูกฝังวินัย สร้างคลิปเชยๆ มาสอนศีลธรรมให้ประชาชนทุกคน หรือโทษว่าประชาชนหย่อนยาน ก็เน้นที่การพัฒนาระบบต่างๆ ที่คอยตรวจจับ เข้มงวดกับกฎหมาย โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเลย น่าจะเป็นเรื่องที่ได้ผลมากกว่า

เรื่องตลกร้ายคือ เวลาได้ฟังได้อ่านสิ่งที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยพูดถึงการแก้ไขหรือพัฒนาอะไรในสังคมไทย เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริงเลย

แต่เอาเป็นว่าขอเอาใจช่วยท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุยานยนต์ชนคนข้ามถนน และวิธีพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของคนใช้รถใช้ถนนหลังจากนี้นะครับ

หมายถึงผู้ว่าฯ คนใหม่หลังการเลือกตั้งน่ะครับ

Tags: , , , ,