ต้นปีที่ผ่านมา วารสาร The Economist ได้ออกเล่มพิเศษชื่อ The World in 2021 เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ และสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ หนึ่งในสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือปีนี้จะเป็นปีแห่งเดจาวู อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว จะ ‘วนซ้ำ’ อีกรอบ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ล็อกดาวน์’ หรือการจัดอีเวนต์ใหญ่ๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะ ‘ล่ม’ อีกรอบ
เพราะจนแล้วจนรอด ต่อให้ผ่านพ้นข้ามปีไป ก็ไม่มีทางที่ปีนี้ทุกประเทศทั่วโลกจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครบ 60-70% จนเกิด Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ที่มากพอจนสามารถลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และลดอัตราตายได้ ประเทศที่ทำได้จะมีเพียงเฉพาะประเทศผู้ผลิตวัคซีน ประเทศร่ำรวย อย่างสหรัฐอเมริกา อย่างอังกฤษ หรือหลายประเทศในยุโรปเท่านั้น เพราะมีกำลังมากพอในการ ‘กว้าน’ ซื้อวัคซีนจากหลายยี่ห้อจนมากพอจำนวนประชากร และมากเกินจำนวนประชากร ซ้ำยังมีตัวเลือกให้เลือกด้วยว่าจะฉีดยี่ห้อไหน ซึ่งด้วยยุทธศาสตร์แบบนี้ จะพาให้ประเทศเหล่านี้หลุดพ้นจากภาวะเดจาวูได้
แต่นั่นไม่ใช่ประเทศไทย อันที่จริงปีที่แล้ว เราได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกในฐานะประเทศที่จัดการกับโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด ไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มากนักจากการตัดสินใจ ‘ทุบ’ กราฟทันที หลังจากมีผู้ติดเชื้อต่อวันขึ้นไปถึง 188 ราย ในช่วงต้นเดือนเมษายนปี 2563 ผสมกับการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้น ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือสถานีอนามัย แต่ก็แลกมาด้วยการปิดกิจการจำนวนมากโดยคำสั่งรัฐ ไม่ว่าจะร้านอาหาร ฟิตเนส สถานบันเทิง และภาคท่องเที่ยวที่ตายสนิท แม้การท่องเที่ยวในประเทศยังดำรงอยู่ต่อได้ แต่หลายธุรกิจก็ไปไม่รอดจากมาตรการรุนแรงเหล่านี้
มาตรการปีที่แล้วไม่มีไรมาก การปิดสารพัดปิดสามารถทุบตัวเลขได้จริง หมอในบ้านเราแฮปปี้กับการไม่ต้องเตรียมโรงพยาบาลสนาม แต่ก็แลกกับการใช้กฎหมายรุนแรง การใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ยังไม่สามารถเลิกได้จนถึงปีนี้ และการเยียวยาสารพัด ‘เรา’ อีกหลายเฟส ที่ต้องกู้เงินไปหลายแสนล้าน อันเป็นผลพวงจากความ ‘สุดโต่ง’
1 ปีผ่านไป สภาวะเดจาวูหวนกลับมาอีกครั้ง เดือนมีนาคมและเมษายนกลายเป็นจุดตายอีกรอบ แต่สถานการณ์นั้นเปลี่ยนไป คำว่า ‘การ์ดอย่าตกนะครับ’ หรือ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ไม่ได้ออกจากปากคนในรัฐบาลอีกแล้ว เพราะรู้ดีว่าผลลัพธ์ที่ตามมานั้นมากเกินกว่าที่จะเยียวยา แพงเกินกว่าที่จะจ่ายชดเชยได้
แต่ถามว่าแนวคิดเดิมหายไปไหม ก็ไม่ ยังมีความพยายาม ‘ต่อสู้’ กัน ระหว่างหมอ ‘สายเหยี่ยว’ ที่ขอให้ปิดผับ บาร์ ปิดร้านอาหารสามทุ่ม กับ ‘สายปล่อย’ ที่ขอให้ปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม หากจำกันได้ วันแรกกระทรวงสาธารณสุขเสนอด้วยซ้ำว่าให้ห้ามขายแอลกอฮอล์ทันที ขอให้ร้านอาหารปิดภายใน 3 ทุ่ม และพยายามเสนอ ขอให้ ‘ห้าม’ เดินทางข้ามจังหวัด
สำทับด้วย ‘คำขู่’ จากศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ ที่บอกว่ารอบนี้ ‘หนักแน่’ ทั้งเรื่องสายพันธุ์อังกฤษ ทั้งเรื่องมาตรการที่ลดน้อยถอยลง และการเปิดเสรีให้เดินทางช่วงสงกรานต์ ที่รวมๆ กันแล้ว สถานการณ์จะหนักกว่าปีที่แล้ว 170 เท่า ผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันอาจจะเป็นพันคน หลายพัน หรืออาจจะเป็นหมื่น
รอบที่แล้ว ‘หมอ’ ชนะ แต่รอบนี้คำขู่จากหมอไม่สามารถใช้ได้ผลอีกต่อไปแล้ว เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐบาลใช้เป็นฐานในการตัดสินใจมากกว่า การแถลงจากศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขวันแรก ที่ให้ปิดร้านอาหาร 3 ทุ่ม หรืองดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่การขอความร่วมมืองดเดินทางสงกรานต์ก็ยังถูกปัดตกไปอย่างไม่ใยดี ทำได้แค่เพียงการขอให้ปิดผับ บาร์ สถานบันเทิง 2 อาทิตย์ และขอให้ Work from Home เท่านั้น
สิ่งที่เป็นคำถามใหญ่ก็คือ นอกจากการสั่งปิด และตาม ‘เยียวยา’ นั้น รัฐบาลชุดนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง เพื่อจัดการกับโรคนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อย่าลืมว่าโรคนี้ทั่วโลกเจอด้วยกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น ทั้งหมดจะสามารถวัด ‘กึ๋น’ ได้ดี ว่าใครจัดการประเทศอย่างไรในสภาวะโรคระบาด และใครที่เตรียมพร้อมไว้บ้าง หากเกิดการระบาดรอบต่อไป
ที่แน่ๆ คือ ประเทศที่ประสบความสำเร็จจะมีเงินเยียวยาในลักษณะทั่วถึง และมีแผนที่เพียงพอกับการรองรับระลอกต่อๆ ไป ที่แน่ๆ ประเทศเหล่านี้ จะมีแผนวัคซีนที่เพียงพอ ไม่รอให้วัคซีนราคาถูก รอให้ ‘ตลาดเป็นของผู้ซื้อ’ แล้วค่อยกว้านซื้อ เพราะต้องประเมินความเป็นไปได้ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง จะมีภาวะเดจาวูเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่
ต้องไม่ลืมว่าในขณะที่เรากำลัง ‘รอ’ บริษัทวัคซีนให้มาขอขึ้นทะเบียนนั้น สหรัฐอเมริกามีจำนวนวัคซีนเกือบจะครบจำนวนประชากรแล้ว ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า อังกฤษจะฉีดวัคซีนได้ครบจำนวนประชากร ในสิ้นเดือนกรกฎาคม คนออสเตรเลียสามารถข้ามไปกลับนิวซีแลนด์ได้ และคนทั่วโลก ไม่ว่าจากประเทศไหนก็ตามที่ฉีดจนครบโดสแล้ว สามารถบินข้ามไปเที่ยวในบางประเทศของยุโรปได้โดยไม่จำเป็นต้องกักตัว
แต่ในประเทศนี้ ระหว่างที่มีการระบาดรอบใหม่ และรอบใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์หลายคนยังไม่เคยได้เห็นวัคซีนจริงๆ และยังต้องเข้าคิวรอโดยไม่มีจุดหมาย ขณะที่ VIP และ VVIP หลายคน สามารถเลือกยี่ห้อได้ ว่าจะฉีดซิโนแวคหรือจะฉีดแอสตร้าเซเนก้า
มีเพื่อนหลายคนถามผมว่า แล้วประชากรวัย 20 ปลายๆ ถึง 30 กลางๆ จะมีโอกาสได้วัคซีนเมื่อไร เพราะสำหรับบางคน การได้ออกไปเที่ยวต่างประเทศ ไปท่องโลกกว้างเป็นสิ่งเล็กๆ ที่สามารถ ‘ชุบชูใจ’ ได้ในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ ผมตอบกลับไปว่า ‘ไม่รู้’ แต่ดูจากแผนการฉีดวัคซีนของไทยขณะนี้ที่บอกว่า สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 61 ล้านโดส (ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ากระบวนการผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์ หรือแอสตร้าเซเนก้าจะมีปัญหาอีกไหม) ก็น่าจะได้รับวัคซีนราวๆ ปีหน้า อาจจะยาวไปถึงกลางปี ซึ่งหมายความว่าคนวัยผมจะไม่ได้มีแค่ปีที่สูญเปล่า แต่เป็นสองปีที่สูญเปล่า
ตัวอย่างของการจัดการโควิด ตัวอย่างของการบริหารวัคซีน และการมองล่วงหน้าระยะยาว ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า รัฐที่ใช้ทหารเป็นตัวนำนั้น ‘มีปัญหา’ เพียงใด และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง แม้แต่จะ ‘ออกคำสั่ง’ เหมือนเดิม ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายดายเหมือนเดิมอีกแล้ว
รัฐทหารอาจมีประโยชน์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในระยะเวลาที่ทุกคนหวาดกลัว ในระยะเวลาที่ยังสามารถออกคำสั่งได้ แต่ในระยะยาวได้พิสูจน์แล้วว่า รัฐทหารไม่ได้มีวิสัยทัศน์มากพอในการบริหารวิกฤตให้ ‘รอดไปด้วยกัน’
น่าเสียดายที่เราเสียเวลามาแล้ว 7-8 ปี และเราน่าจะยังอยู่ในรัฐอย่างนี้ไปอีกหลายปี เพียงเพราะรัฐแบบนี้เป็นประโยชน์มากๆ กับคนกลุ่มหนึ่ง กลุ่มเดียว…
Tags: โควิด-19, วัคซีนโควิด-19, From The Desk, รัฐทหาร