“แม้พระเทวทัตแล ลุกจากเตียงแล้วนั่งวางเท้าทั้งสองบนพื้นดิน เท้าทั้งสองนั้นก็จมแผ่นดินลง เธอจมลงแล้วโดยลำดับเพียง ข้อเท้า เพียงเข่า เพียงเอว เพียงนม จนถึงคอ ในเวลาที่กระดูกคางจดถึงพื้นดิน” –พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย หน้าที่ 198

ในสมัยพุทธกาล บุคคลที่ถูก ‘ธรณีสูบ’ มักเป็นคนที่มีความร้ายกาจ เห็นแก่ตัว หยิ่งยโส และมุ่งร้ายก่อกรรมทำเข็ญต่อพระพุทธองค์และสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ดังเรื่องราวของพระเทวทัตที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ในปี 2566 (หรือจริงๆ ทั้งชีวิต) ผู้เขียนมักพบเจอข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ฝาท่อทรุดตัวจนทำให้เกิดหลุมบริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 ถนนทรุดตัวบริเวณถนสุขุมวิทเลยสี่แยกบางนา ถนนทรุดบริเวณซอยลาดพร้าว 67/2 ฝาบ่อท่อร้อยสายไฟลงดินทรุดตัวหลังฝนตกอย่างหนัก บริเวณหน้าเซ็นทรัลรามอินทรา และล่าสุดรถบรรทุกสิบล้อขนดินเกิดเหตุถนนทรุดตัวหน้าซอยสุขุมวิท 64/1 

นี่คือเหตุการณ์ ‘ธรณีสูบ’ ที่เกิดขึ้นใน ‘ชีวิตจริง’ ไม่อิงพุทธประวัติ หากเรื่องราวในพุทธประวัติเชื่อมร้อยบุคคลที่ถูกแผ่นดินสูบด้วยบาปกรรมที่ประพฤติผิดต่อพระพุทธเจ้า แล้วอะไรที่เชื่อมร้อยบาปกรรมของคนไทยทั้งประเทศ?

“ถึงพ่อกับแม่และป้อก ผมขอโทษที่ต้องทำแบบนี้ ผมเจอการทำงานที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพื่อนร่วมงาน ลูกจ้างที่ไซโคให้ผมต้องไปพูดเอาเงินค่าทดสอบวัสดุและค่าป้ายประชาสัมพันธ์โครงการมาให้มันทำ

“มันเป็นลูกจ้างเก่าแก่ของเทศบาล มันพูดเข้าขากันดีมากกับ ผอ. พอเอาตังค์เขามา แล้วงานมีปัญหาเส้นเพชรสุวรรณ 6 วันตรวจรับ ผู้ตรวจรับโทร.ให้ผมไปเอาตังค์มาเคลียร์กรรมการ แต่ผมไม่ได้ไป เพราะผมมองดูเนื้องานไม่เรียบร้อย ถนนร่อน แตกร้าว โครงการราคา 6 แสนกว่าบาท ฟันประมูลมาที่ 4 แสน ไหนต้องจ่ายให้นายก..ไปดูได้เลยครับงานเกือบจะทุกโครงการ ในเทศบาลตำบลนากลาง”

 เมื่อปลายปี 2565 พบร่างชายคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยสาเหตุรมควันในรถยนต์ของตัวเอง ข้างกายเขามีจดหมายระบุข้อความ “โทรหาแม่ผม” ภายหลังทราบว่าเป็นวิศกรกรคุมงานก่อสร้างถนน ทำงานที่ อบต.ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ในจดหมายเขียนต่อว่า เขารับไม่ได้กับการทุจริตการก่อสร้างที่ดูเหมือนจะกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเสียแล้ว

ผมมาบรรจุใหม่ กับให้ผู้ควบคุมงานตั้งแต่เดือนแรก ยังไม่รู้ระเบียบเท่าไร แถมยังมาเจอการทุจริต จนเป็นระบบวัฒนธรรมของเทศบาลตำบลระบบท้องถิ่นไม่รู้เป็นเฉพาะเทศบาลตำบลนากลาง หรือไม่ เป็นอะไรที่แย่มาก ช่างเหมือนเป็นเครื่องมือสำหรับทำเงินให้กับผู้บริหาร ไม่เฉพาะนักการเมือง ข้าราชการตัวใหญ่ เช่น ผอ.กองช่างก็ตัวดี คอยแต่จะหาเศษหาเลยจากโครงการ กรรมชั่วของพวกเขา เล่ายังไงก็ไม่หมด ขอให้พวกมันทุกคน ได้รับผลของการที่มันโกง ทุจริต หาเศษหาเลยจากหน้าที่ ร่างถ้ายังอยู่ดี บริจาคให้การวิภาคศาสตร์ มข.”

กรรมชั่วของพวกทุจริตเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะตกอยู่ที่ผู้ใดหากไม่ใช่ประชาชน จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา แม้ไม่อาจฟันธงได้ว่าเกิดขึ้นจากตัวแปรหรือสาเหตุอะไรกันแน่ อาจเป็นสภาพแวดล้อม การเสื่อมถอยของวัสดุก่อสร้าง การทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่ใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน โกงงบประมาณ หรือแม้แต่ผู้ที่ใช้งานบนท้องถนนที่บรรทุกน้ำหนักเกินขนาด (ส่วยสติ๊กเกอร์) ลามไปถึงพวกที่หลับหูหลับตาให้พวกพ้องและประโยชน์ส่วนตน ส่งผลให้บาปกรรมความชั่วเหล่านี้ตกมาสู่คนไทยทุกคนที่ร่วมประเทศ 

“โครงการสร้างถนนเป็นช่องทางการทุจริตที่ง่าย และเห็นเป็นรูปร่างที่สุด ซึ่งเกิดจากการที่ผู้แทนเข้ามาแล้วเสนอโครงการโดยไม่ผ่านการถามความเห็นจากประชาชน” ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวไทยพีบีเอส 

แล้วสิ่งเหล่านี้ควรเป็นความรับผิดชอบของผู้ใดกัน? หากไม่ใช่รัฐบาลที่ต้องมากำกับดูแล ออกมาตรการ ตรวจตราให้เข้มงวดขึ้น เพราะทุกสิ่งล้วนเดิมพันด้วยชีวิตประชาชนแต่จะทำอย่างไรได้ ถามจริงๆ เถอะยังมีใครเชื่อมั่นใน ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ บ้าง?  ฉันคนหนึ่งที่ไม่เชื่อ 

ในสมัยพุทธกาลมีผู้ถูกธรณีสูบจำนวน 5 คน ทุกคนล้วนเชื่อมร้อยกันด้วยบาปแห่งการกระทำผิด เมื่อมาดูความเสี่ยงหรือคุณภาพชีวิตแย่ๆ ท่ามกลางการทุจริตคดโกงในทุกระเบียดนิ้วของประเทศไทย ฉันจึงขอสรุปไว้ว่าบาปกรรมของคนไทยเพียงอย่างเดียวคือการเกิดมาในประเทศที่มีโครงสร้างและระบบ ‘เฮงซวย’  

Tags: , , , , , , ,