(1)

“อาชญากรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ไม่ได้เป็นผลมาจากความเกลียดชังหรือละโมบโลภมาก หากเป็นผลมาจากความเฉยชา และความไม่ใส่ใจ” 

ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่าสิ่งใดเป็นสัจธรรม สิ่งนั้นไร้ความเป็นตะวันออก-ตะวันตก ไร้บริบทเฉพาะถิ่นของสังคม และเป็นจริงชั่วกาล

หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเมื่อพบว่าประโยคข้างต้นดังกล่าวจากหนังสือ 21 Lessons for the 21st Century ของ ยูวาล โนอาห์ ฮารารี จะคล้ายคลึง หรือเหมือนอย่างไร้ความต่างจากประโยคอมตะของ เอลี วีเซล เจ้าของงานเขียนคลาสสิกอย่าง Night (คืนดับ) อดีตเหยื่อผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซีเอาช์วิตซ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้เปล่งวลีที่ยังก้องจนถึงวันนี้ว่า “ขั้วตรงข้ามของความรัก ไม่ใช่ความเกลียด หากคือความไม่แยแส” (The opposite of love is not hate, but indifference) 

หลังรอดพ้นเดนตายอย่างค่ายกักกันมาได้ วีเซลใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการเขียนหนังสือเกือบหกสิบเล่ม เคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งหมดล้วนเพียงเพื่อจะย้ำมนุษย์ว่า จงอย่าลืมความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นในศตวรรษก่อน จนอย่าโอนอ่อนต่อความอยุติธรรม อย่าเพิกเฉยต่อความโหดร้ายในยามที่มันเกิดขึ้นตรงหน้า และลงมือกระทำอะไรสักอย่างในยามยังมีชีวิต

ยูวาลเกิดหลังวีเซลครึ่งศตวรรษ

หากทั้งสองดูจะเอ่ยถึงสัจธรรมเดียวกัน สัจธรรมที่วีเซลผู้ผ่านประวัติศาสตร์ และยูวาลผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เอ่ยตรงกันว่า 

“อาชญากรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ไม่ได้เกิดจากความเกลียดชัง แต่มาจากความไม่ใส่ใจ มันเกิดจากคนที่สามารถทำอะไรได้ แต่ไม่แม้แต่จะกระดิกนิ้วทำ”

(2)

‘ทรยศต่อชาติ’

คำพิพากษาที่ทำให้ โซฟี โชล, ฮันส์ โชล และคริสตอฟ พรอบสต์ แกนนำ ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ กลุ่มผู้ต่อต้านระบอบนาซีและลัทธิฟาสซิสม์ ถูกประหารชีวิตจากความพยายาม ‘ยุยงปลุกปั่น’ ไม่เชื่อมั่นในระบอบนาซี ไม่ศรัทธาใน ‘ท่านผู้นำ’ ซึ่งอาจทำให้ผู้คนในสังคมคล้อยตามแนวคิด ‘ขบถ’ นี้ได้

ด้วยความที่พี่น้องตระกูลโชลเติบโตในเมืองขนาดเล็กของเยอรมนี มีชีวิตวัยเด็กวิ่งเล่นท่ามกลางธรรมชาติ ประกอบกับการปลูกฝังของ โรเบิร์ต โชล ผู้เป็นบิดาถึงความศรัทธาใน ‘พระเจ้า’ พระเจ้าในความหมายถึงผู้สรรสร้าง พระเจ้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง พระเจ้าที่ดำรงอยู่ในความหยั่งรู้ของมนุษย์ทุกคนเอง 

สภาพแวดล้อมเช่นนั้น ความเชื่อมั่นในมโนธรรมเสรีของมนุษย์ ทำให้เสรีภาพทางความคิดไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องอุดมการณ์ หากคือความหมาย คือคุณค่า คือเกียรติของการมีชีวิตอยู่ พวกเขาจึงรับไม่ได้อย่างยิ่งในการต้องนิ่งทนดูดาย เห็นชีวิตหนุ่มสาวต้องล้มตายไร้ค่าไปกับสงคราม เห็นความพยายามของระบอบนาซีในการควบคุมความคิดคน ทั้งผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้ามวลอารมณ์ให้ ‘จงรักภักดี’ เกิดความซาบซึ้งรวมหมู่ หรือแม้กระทั่งขู่เข็ญให้หวาดกลัว บังคับทรมาน ไปจนถึงพรากชีวิต หากใครสักคนไม่เชื่อ ไม่รัก ไม่ศรัทธา 

‘การไม่รัก’ ในระบอบฟาสซิสต์จึงไม่ใช่ทางเลือก หากถูกบิดเบือนตีความว่าขบถ ทรยศ ชังชาติ

แต่มนุษย์ทั้งหลายผู้เคยผ่านการรักย่อมรู้ดีว่า

หากไม่รัก จะบังคับให้รักได้อย่างไร

และหากดีจริงแล้วไซร้

ไม่ต้องบังคับ ก็รักเองได้

อดประหลาดใจไม่ได้ว่าชนชาติเยอรมันที่เป็นสังคมของผู้ชื่นชมศิลปะ ปรัชญามาตั้งแต่ครานั้น จะตัดสินผู้คนด้วยข้อหาวิกลจริตอย่าง ทรยศต่อชาติ จนถึงขั้นพิพากษาตัดสินถึงชีวิตได้อย่างไร 

ความฉงนสงสัยในข้อกล่าวหาทางประวัติศาสตร์ ไม่ต่างอะไรจากความคับข้องใจทุกครั้งที่ได้ยินข้อกล่าวหา ‘หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’ ร่วมร้อยปีให้หลัง ในฟากฝั่งโลกตะวันออกทุกวันนี้

ความฉงนสงสัยเวลาเห็นความพยายามสถาปนา ‘ท่านผู้นำ’ ให้สูงส่ง อยู่บนแท่นสูง มีฝูงบังคับบัญชาเดินตามเป็นขบวนใหญ่ ไม่ต่างจากความสนเท่ห์ แคลงใจเมื่อเห็นความพยายามปกป้องสถาบันใดสถาบันหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่งให้อยู่ในสถานะน่า ‘เคารพสักการะ’ และ ‘ล่วงละเมิดมิได้’ 

ความสงสัยที่กลายเป็นความจาบจ้วง การท้วงติง วิพากษ์ที่ถูกตีความว่าเป็นการกระทำ ‘ขบถ’ ‘ทรยศ’ ต่อชาติ 

หากวีเซลยังมีชีวิตอยู่ หากจิตวิญญาณของขบวนการกุหลาบขาวรับรู้ คงค้านสุดกู่ว่าการกระทำดังกล่าวหาใช่การทรยศ จงเกลียดจงชังชาติไม่ แต่หากคือความเป็นห่วงเป็นใยต่อชาติบ้านเมืองอย่างถึงที่สุด จนต้องออกมาตะโกนปาวๆ ตีฆ้องร้องป่าวว่าวิถีปฏิบัติเผด็จการนั้นเป็นหนทางสู่ความเสื่อม ทั้งต่อชาติ สังคม และสำนึกมโนธรรมเสรีของทั้งผู้กดขี่ และผู้ถูกกดขี่เอง 

ในแง่นี้นั้น การแสดงออกซึ่งความชัง รังเกียจ ต่อต้านเผด็จการอย่างถึงที่สุดจึงหาใช่ขั้วตรงข้ามของความรักไม่

การนิ่งเฉย แยแส ปล่อยให้ความอยุติธรรมผ่านตาไปต่างหากคือความไร้รัก หมดซึ่งความยินดียินร้ายอย่างแท้จริง 

(3)

“บางเวลาฉันขยะแขยงสงคราม ฉันรู้สึกอยากเลิกล้มทุกสิ่งอย่าง ฉันไม่อยากคิดถึงมัน แต่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ต้องเผชิญกับการเมืองที่เกี่ยวพันกับทุกเรื่อง และตราบเท่าที่การเมืองเป็นความสับสนและร้ายกาจ จึงเป็นความขาดเขลาอย่างมาก หากจะต้องหันหลังให้มัน”

ถ้อยความในสมุดบันทึกของโซฟีที่เขียนขึ้น หลังฮิตเลอร์นำขบวนรถถังบุกถล่มเดนมาร์กและนอร์เวย์อย่างฉับพลัน จนสองประเทศขนาดเล็กแพ้ราบคาบทันตา ทำให้ฮิตเลอร์เหิมเกริมว่ากองทัพช่างยิ่งใหญ่ และยิ่งกองทัพยิ่งใหญ่เท่าไร ยิ่งง่ายต่อการปราชัยเท่านั้น

ความรู้สึกไร้สิ้นหนทาง หากอย่างไรเสียก็ต้องไปต่อ ไม่ได้เกิดขึ้นกับโซฟีคนเดียว หากความรู้สึกดังกล่าวถูกแสดงออกในงานแล้วงานเล่าของเหล่าผู้เคลื่อนไหวทางสังคม รวมทั้ง อิกนาซิโอ ซิโลเน นักเขียนนวนิยายชาวอิตาเลียน ที่งานเขียนส่วนตัวชิ้นหนึ่งของเขาในทศวรรษ  1950s ได้เผยว่า ทำไมคนที่เคยผ่านสงคราม ผ่านการปฏิวัติ ผ่านการตกหลุมพราง ผ่านการตาสว่างอย่างเขายังข้องเกี่ยวกับการเมืองอยู่ ทั้งที่รู้ว่ามันช่างแปรปรวน และอาจไม่จบสิ้นในรุ่นของเขา 

ในงานเขียนส่วนตัว The Choice of Comrades ซิโลเนได้เผยความในใจว่าทำไมยังดิ้นรน อุทิศตนให้เหตุบ้านการเมืองต่อไปว่า ในฐานะผู้เคยต่อต้านทั้งคอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์มาก่อน เขาเห็นความสุดโต่งของทั้งสองฝ่าย เห็นว่าไม่มีอุดมการณ์ใดไร้ด่างพร้อย ไม่มีปลายทางสมบูรณ์สุดยอดของสังคมให้ไปถึง แต่หากทางเลือกมีเพียงสองทางระหว่างการกระทำและไม่กระทำ เขาขอเลือกทุ่มเทอย่างถึงที่สุด เพราะความไม่ยินดียินร้ายไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสังคม แต่ยังทำให้ใจของบุคคลนั้นบอดดับ จิตวิญญาณสิ้นมลาย

(4)

ยังจดจำภาพและเสียงวันนั้นได้ดี

วันที่ผู้คนรวมตัวกันแน่ท้องสนามหลวง ผู้คนโห่ร้อง ปรบมือกึกก้องให้ อานนท์ นำภา ที่ลุกขึ้นมาปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เสียงดังฟังชัด ฝ่าความเงียบงันถึงประเด็นที่พูดไม่ได้ของสังคมมาช้านาน จนเป็นจุดเริ่มต้นของการ ‘ผลักเพดาน’ ประเด็นดังกล่าว ให้เป็นเรื่องพูดได้ และต้องพูดจนถึงทุกวันนี้

ไม่มีใครรู้ว่าเสียงดังฟังชัดนั้นอาจสั่นข้างในเพียงใด ไม่มีใครรู้ว่าในคำพูดทีเล่นทีจริงว่า “ถ้าติดคุกแล้ว ช่วยส่งข้าวส่งน้ำให้ด้วย” เป็นอารมณ์ขันหรือการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนว่าอย่าทิ้งกัน ไม่มีใครรู้ว่าในนาทีนี้นั้น อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ส่วนหนึ่งของแกนนำกลุ่มราษฎร ผู้ต้องหาคดี ม.112 ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ (ยัง) มีเสรีภาพข้างนอกอย่างไร หวั่นเกรงต่อชะตาหรือไม่ 

ไม่มีใครล่วงรู้คำตอบของพวกเขา ไม่มีใครรู้ว่าคำพิพากษาอาจเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ไม่มีใครรู้ว่าความวิกลจริตของกติกาบ้านเมืองนี้จะจบที่รุ่นเราจริงหรือไม่ 

แต่หากทางเลือกมีเพียงสองทางคงเหมือนอย่างที่ โซฟี โชล และซิโลเนบอกไว้ว่า แม้จะเหนื่อยหน่าย ชิงชังกับการต่อสู้มากเพียงใด แม้จะสงสัยว่าการกระทำทั้งหมดนี้สร้างแรงกระเพื่อมบ้างไหม แต่หากทางเลือกมีเพียงสองทางระหว่างการกระทำและไม่กระทำ จงมุ่งกระทำอย่างถึงที่สุด 

เมื่อต้องออก ก็ออกไป

ออกไปเคาะหม้อไหกะละมังให้ยุบพัง ตะโกนเปล่งเสียงดังออกมา เมื่อความไม่ชอบมาพากลปรากฏขึ้นตรงหน้า ไม่ให้คนรุ่นต่อไปตราหน้าได้ว่า เราปล่อยให้อาชญากรรมครั้งใหญ่ เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นเล่า แล้วนิ่งเฉยดูดาย ไม่ยินดียินร้ายกับมันได้อย่างไร

อ้างอิง

Harari, Yuval. 21 Lessons for the 21st Century. Vintage, 2019.

Harari, Y. N. [@harari_yuval]. (2019, May 23). Twitter. https://twitter.com/harari_yuval/status/1131530788875513857?lang=en 

Silone, Ignazio. “The Choice of Comrades”. Dissent, Winter 1955, https://dissentmagazine.org/wp-content/files_mf/1438718063spring74silone.pdf.

ไพรัช แสนสวัสดิ์. โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี. WAY OF BOOK, 2563.

Tags: , ,