เรื่องเริ่มขึ้นเหมือนเรื่องเศร้าทั้งหลายในประวัติศาสตร์ความเศร้า
เมื่อบางคนออกเดินทาง
เพื่อตามหาสิ่งที่หายไปจากบ้าน

มันเกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
เหมือนล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าอันสดใส
มีเมฆก้อนเล็กๆ เหมือนเมฆของมากริตต์ลอยอยู่
คล้ายลูกแกน้อยนอนหลับอย่างสงบสันติในทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน
แต่แล้วฟ้าก็ผ่าลงมาดังเปรี้ยงท่ามกลางแดดจัดจ้า 

จากนั้น, พายุก็พัดมา 

ข้อความจากฉากเปิดหนังสือ หนีไปเสียจากบ้าน 

ยากที่จะไม่ทึกทักว่าชื่อหนังสือนั้นได้มาจากหลังรัฐประหาร 2557 ด้วยหนังสือตีพิมพ์หนึ่งปีหลังจากนั้น และมีบรรยากาศหม่นหมองบางอย่างอยู่ในการเดินทางอย่างปิดไม่มิด

และหากชื่อหนังสือนั้นได้มาจากหลังรัฐประหาร 2557 จริง ก็ทั้งน่าประหลาดใจ ไม่สิ น่าสลดใจยิ่งที่ประเทศนี้เก่งเหลือเกิน กับการทำให้ผู้คนอยาก ‘หนีไปเสียจากบ้าน’ วลีที่มีน้ำเสียงบางอย่างอยู่ในนั้น ทั้งแดกดัน ประชดประชัน มั่นใจ ไม่แยแส และที่ปิดไม่ได้ คือความหมดอาลัย สิ้นอาดูร

หมดอาลัยเสียจนต้องตะเกียกตะกายหาหนทางไปให้พ้นจากถิ่นกำเนิด เตลิดเปิดเปิงวิ่งตามหา ‘เสรีภาพ’ ที่หนังสือบอกว่า ไม่มีหรอก เราเพียงแต่ถูกหลอกเท่านั้นว่ามีเสรีภาพอยู่ที่น่านน้ำใดสักแห่ง 

ก็ใช่ เราอาจถูกหลอก หรือแม้กระทั่งหลอกตนเอง ว่าดินแดนเสรีภาพเต็มใบอาจตั้งอยู่ที่ใดสักแห่ง แต่ไม่ว่าจะมีดินแดนเช่นนั้นอยู่จริงหรือไม่ ใจความสำคัญอาจไม่ใช่การพบเจอ หากคือการได้ ‘เลือก’ ได้ตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไป จะตั้งตนอยู่แห่งหนไหน ทวงคืนอำนาจการลิขิตชะตาชีวิตให้กลับมาเป็นของเราเอง 

หาใช่จำยอมอยู่ต่อไป ในที่ที่เขาลวงหลอกว่าสงบปลอดภัย ตราบใดที่ไม่หือไม่อือ ไม่ริอาจตั้งคำถามต่อความประหลาดที่มีมาช้านานจนคร้านจะออกแรงขัดขืนใด 

ฉันหนีอะไรอยู่หรือเปล่า ฉันถามตัวเองอย่างนั้นทุกครั้งที่ออกเดินทาง ฉันเดินทางบ่อยหนขึ้นนับตั้งแต่ผู้คนหลับตาให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขายินดีอยู่ในฝูงของตัวเองอย่างมีความสุข โอบรับความมั่นคงปลอดภัย เหมือนเมล็ดพืชที่แลดดูแข็งแกร่งฝังตัวอยู่ในเนื้อผลไม้ที่บอบบาง เพียงแต่พวกเขาไม่รู้เลยว่าที่เมล็ดพืชนั้นแข็ง ไม่ใช่เพราะว่ามันแกร่งและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของเวลาหรอก ทว่ามันฝ่อ ตาย และได้กลายเป็นก้อนหินที่ไร้ชีวิต จิตใจไปเสียแล้ว…

ฉันหนีอะไรอยู่น่ะหรือ (หน้า 49, 50)

ว่ากันว่าสิ่งมีชีวิตเมื่อเจอภัยอันตราย หากไม่หนี ก็จะสู้ หรือที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘Fight-or-Flight response’ การตอบสนองของ ‘สิ่งมีชีวิต’ เช่น หากเราเจอโจรผู้ร้ายซึ่งๆ หน้า บ้างอาจเลือกสู้กับหัวขโมย บ้างอาจวิ่งหนีไปให้ไกล ก็ใครจะรู้ว่าโจรนั่นมีอาวุธใดบ้าง วิ่งหาความปลอดภัยให้ชีวิตก่อนดีกว่า หรือแม้กระทั่งการตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง บางคนอาจเลือกที่จะ ‘สู้’ โต้เถียงให้สุดกู่ หากบางคนก็เลือกเพียงแค่จะผละออกจากบริเวณนั้นไป 

ไม่มีคำอธิบายว่าการ ‘สู้’ หรือ ‘หนี’ ดีกว่ากัน ผิดไปมาก หากคิดจะเทียบกันเช่นนั้น เพราะแม้ท่าทีจะต่าง หากทั้งสองหนทางล้วนส่งสัญญาณเดียวกันว่า ระบบประสาทยังทำงาน ยังตอบสนองต่อความเครียด เพื่อคงไว้ซึ่งความอยู่รอดได้ หรือพูดให้ถึงที่สุดคือ ยังมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ 

สภาวะที่อันตรายนั้นดูจะไม่ใช่การเลือกสู้หรือหนี หากคือสภาวะไม่สู้ ไม่หนี หรือที่เรียกว่า ‘Freeze’ ภาวะถูกแช่แข็งมากกว่า ซึ่งในทางจิตวิทยาระบุว่าเป็นภาวะที่เกิดจาก ‘บาดแผลทางใจ’ (Trauma) ที่ทำให้อารมณ์ชะงักงัน ไม่สามารถยินดียินร้าย ผู้มีภาวะนี้ไม่ใช่ผู้ที่ด้านชาทางความรู้สึก ตรงกันข้าม ภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้ที่เผชิญกับความเครียดมานาน หากไม่สามารถหาทางออกให้ความเครียดได้ กล่าวอีกทางคือพวกเขาสู้ไม่ได้ จะหนีก็ไม่ไหว สมองจึงสั่งให้เลิกรบรากับมัน ด้วยการเพิกเฉยต่อสถานการณ์ตรงหน้านั้น เข้าสู่ภาวะ freeze ไม่สู้ ไม่หนี กลายเป็นดั่ง ‘ก้อนหินที่ไร้ชีวิต’

เวลาล่วงมาเจ็ดปีหลังจากรัฐประหาร 2557 หกปีหลังจากหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์

‘หนีไปเสียจากบ้าน’ ไม่ใช่เพียงชื่อหนังสืออีกต่อไป หากคือปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาข้ามคืน เมื่อคนรุ่นใหม่ชักชวนให้ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’

‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ วลีที่มีน้ำเสียงบางอย่างอยู่ในนั้นเช่นกัน ทั้งแดกดัน ประชดประชัน มั่นใจ ไม่แยแส และที่ปิดไม่ได้ คือความหมดอาลัย ไม่อาวรณ์

ความต่างที่อาจมีอยู่บ้างระหว่างชื่อหนังสือ หนีไปเสียจากบ้าน และปรากฏการณ์ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ คือ ครั้งนี้พวกเขาไม่ได้มองการหนีเป็นเพียงการเดินทางชั่วครั้งชั่วคราว หากมองหาการหนีไปอย่างถาวร ความหมดอาลัยที่ไม่ใช่แค่น้ำเสียงของถ้อยคำ หากคือความรู้สึกที่แท้จริง ข้ามพ้นการประชดประชัน หาก ‘ตัดสินใจ’ แล้ว มุ่งหาทางออกแล้ว ไม่-อยู่-แล้ว 

น่าขันไม่น้อยที่ผู้ใหญ่ในบ้านบางคนมองว่านี่คือ ‘ความไร้เดียงสา’ คือการเรียกร้องความสนใจ ทว่าความไร้เดียงสาที่ว่าน่าจะเป็นพวกเขาเองเสียมากกว่า ที่มองปรากฏการณ์นี้ด้วยสายตาระยะสั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้สั่นสะเทือนแค่ในการส่งข้อความดังสนั่นว่า คนรุ่นใหม่ไม่เห็นอนาคตในประเทศนี้แล้ว หากมองในระยะยาว จะพบว่านี่คือปรากฏการณ์ที่อาจเปลี่ยนชะตาประเทศนี้ในวันข้างหน้า เมื่อสมาชิกในกลุ่มนี้มีอายุตั้งแต่ 13 ถึง 40 ปี 

13 ปี!

ช่วงวัยที่กำลังบ่มเพาะความคิด ความเชื่อ รสนิยม ช่วงวัยที่ควรจะได้เบิกบาน เติบโตอย่างไร้จำกัด หากกลับต้องมาขื่นขมกับสังคมในดินแดนที่พวกเขาเพียงบังเอิญเกิดมา

ลองคิดดูว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2585) ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 คนรุ่นใหม่ประกาศว่าไม่อยากมีลูกอีกต่อไป มิหนำซ้ำ คนจำนวนนั้นที่ไม่รู้ว่าอยู่ในกลุ่มนี้อีกเท่าไร เริ่มหาทางหนีทีไล่ที่จะ ‘หนีไปเสียจากบ้าน’ แล้วตั้งแต่วันนี้ ประกอบกับไม่ต้องรอนโยบายพหุภาคีก็รู้ว่าโลกในวันนั้นจะยิ่งเปิดเสรีมากขึ้น ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว จะมีประชากรสูงอายุมากขึ้น ต้องการประชากรวัยแรงงานมากขึ้น ในวันที่อุปสงค์พบอุปทานเหมาะเจาะเช่นนั้น หากพวกเขายังมองว่านี่เป็นเพียงปรากฏการณ์แตกตื่นชั่วคราว ก็ได้แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ระยะสั้นไป 

บางคนต้องการเสรีภาพ บางคนต้องการความสุขสงบ สองสิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน แต่มันก็ขัดแย้งกันอยู่เสมอ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเรา ที่บ้านเกิดของเรา เหมือนที่ทำให้เราเดินทางออกมาจากที่นั่น (หน้า 30) 

ในที่แห่งนี้ ที่แบ่งโลกเป็นสองตลอดเวลา ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่รักก็คือเกลียด ไม่สู้ก็หนีไป หากเสรีภาพและความสงบสุข ไม่ต้องขัดแย้งกันอย่างไร อย่างที่หนังสือว่าไว้ #ทีมย้าย หรือ #ทีมอยู่ ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันเช่นนั้น การเติบโตมาท่ามกลางชีวิตไร้ทางเลือก ดูจะสอนให้เราเคารพเสรีภาพในการเลือกของกันและกัน

และหากมองอย่างถ่องแท้นั้น จะพบว่าไม่ว่าจะเลือกหนทางไหน จะสู้ที่นี่หรือจะหนีไป ก็ล้วนสร้างความสั่นสะเทือนได้ไม่ต่างกัน คนที่เลือกจะสู้ที่นี่ อยู่ตรงนี้ (ทีม #คนต้องย้ายไม่ใช่ฉัน!) การที่คนๆ หนึ่งยืนหยัดจะปักหลักสู้ต่อ แม้เห็นแล้วว่ามันไม่ง่ายในกติกาสังคมเช่นนี้ แน่นอนว่าพวกเขาย่อมต้องมีเหตุผลสำคัญบางอย่างในการประกาศกล้ากับตัวเองได้ว่า ฉันจะอยู่ตรงนี้ต่อไป

ในขณะเดียวกัน คนที่เลือกจะหนีไป ก็ใช่ว่าการไม่อยู่ของเขาจะไม่ส่งผลกระทบอันใด ตรงกันข้ามอย่างถึงที่สุด การไม่อยู่ของเขาย่อมส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งต่อความเจริญก้าวหน้า ทั้งต่อการส่งสัญญาณว่าบ้านนี้ไม่น่าอยู่อีกต่อไป และที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเลือกหนทางไหน ทั้งสองทางเลือกคือการเปล่งเสียงดังลั่นว่า พวกเขาคิดเองได้ เลือกใช้ชีวิตเองเป็น เป็นการประกาศว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ทุกคนมีทางเลือก ไม่ว่าจะเลือกสู้หรือหนี ก็ยังดีกว่าเป็นดั่ง ‘ก้อนหินที่ไร้ชีวิต’ ไร้จิตใจ ไม่รู้สึกรู้สาต่อความประหลาดในถิ่นแคว้นแดนเกิดอีกต่อไป 

Fact Box

  • หนีไปเสียจากบ้าน (2558) เขียนโดย โตมร ศุขปรีชา สำนักพิมพ์แซลมอน 
  • ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ กลุ่มให้ข้อมูลในการย้ายถิ่นฐานไปอาศัยต่างประเทศที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มีจำนวนสมาชิกเกือบหนึ่งล้านคนในสัปดาห์เดียว
Tags: , , ,