1

ระหว่างที่เขียนอยู่นี้ ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 จากการปกครอง ‘ล้มลุกคลุกคลาน’ อันยาวนาน 88 ปี ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ ประเทศนี้เคยผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง ซึ่งการรัฐประหารทุกครั้งก็สัมพันธ์กับตัวเลขรัฐธรรมนูญที่เพิ่มขึ้นเสมอ 

แม้โดยความหมายสากล รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือการผูกร้อยสถาบันทางการเมือง อำนาจทางการเมืองเข้าด้วยกัน ทั้งยังมีฟังก์ชันสำคัญคือการ ‘คุ้มครองสิทธิ’ และ ‘รับรองสิทธิ’ ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญไทยดูจะมีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป…

เอาเป็นว่า เพียงแค่กำหนดให้วันรัฐธรรมนูญ คือวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ก็เป็นลักษณะที่พิเศษยิ่งยวดแล้ว เพราะเป็นที่รู้กันว่ารัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกที่แท้จริงนั้น มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เกิดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร 3 วัน หากแต่เกิดการต่อรองระหว่างผู้ก่อการกับในหลวง รัชกาลที่ 7 รัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ประชาชนสถาปนา แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ ‘พระราชทาน’ 

ด้วยเหตุนี้ วันรัฐธรรมนูญจึงเป็นวันที่ 10 ธันวาคม ไม่ใช่วันที่ 27 มิถุนายน และสะท้อนชัดได้ดีว่าประเทศนี้ให้ความสำคัญกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ มากกว่าวันที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกถือกำเนิดขึ้น… ซึ่งก็เป็นเหตุแห่งความวุ่นวายหลายปัจจัย ที่ยังดำรงอยู่จนถึงบัดนี้

เพราะฉะนั้น หากใครเคยไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เตรียมจะพระราชทานให้อยู่แล้ว และถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัย ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย 

เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เขียนขึ้น หลังความพ่ายแพ้ของคณะราษฎร และเป็นสิ่งที่อธิบายได้ดีว่าคำว่า ‘ผู้ชนะ’ เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ นั้นเป็นอย่างไร

2

ในเวลาเดียวกัน หากพินิจพิเคราะห์ถึง ‘ที่มา’ ของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังพบว่ารัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่ที่ถูกร่างขึ้นมา โดยมีนัย 2 เหตุผล แม้จะมีคำกล่าวอ้างสวยหรูว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ตาม แต่ในความเป็นจริง กลับถูกร่างขึ้นมาโดยมีนัย 2 เหตุผล คือทำให้คณะรัฐประหารไม่ต้องรับผิดจากการยึดอำนาจ และทำให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไปได้ ด้วยกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะด้วย ส.ว. ลากตั้ง ไม่ว่าจะด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมือง สืบเนื่องจากรัฐประหาร หรือการสรรหาองค์กรอิสระแบบพิสดาร แบบเดียวกับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญมีหมวด ‘คุ้มครองสิทธิ’ ให้กับประชาชน ไม่ว่าจะสาธยายว่ามีองค์กรตรวจสอบนักการเมือง และสถาบันการเมืองอันเข้มข้นเพียงใด แต่หากยังมีความพิสดาร พยายามสอดไส้การสืบทอดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่ารัฐธรรมนูญนั้นๆ ยังคงเป็นเพียงเครื่องมือของคณะรัฐประหาร ในการสร้างความชอบธรรมของตัวเอง ว่าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญ และประเทศนี้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง ‘มีม’ อันหนึ่งที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพยืนเคียงข้างกันระหว่าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชายพลเอกประยุทธ์ พร้อมกับตัวหนังสือโยงเป็นลูกศรว่า “กูเลือกมึง มึงเลือกกู”​ 

นั่นคือพลเอกประยุทธ์สามารถเลือกพลเอกปรีชา น้องชายตัวเอง เป็น ส.ว. และพลเอกปรีชา ที่เป็น ส.ว. ก็เลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อีกรอบ ด้วยกลไกของบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกับการที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งในเวลานั้นเป็นหนึ่งใน คสช. ทำหน้าที่เป็นประธานในการเลือกสรร ส.ว. ทั้งหมด 250 คน มาทำหน้าที่เลือกนายกฯ ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญ​ 2560 จะเขียนไว้ชัดว่าคนทำหน้าที่เลือก ส.ว. ต้อง ‘เป็นกลาง’ ทางการเมือง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ตะขิดตะขวงใจในเรื่องดังกล่าว 

แล้วในเวลาต่อมา หลังจากเลือก ส.ว. แล้ว พลเอกประวิตรก็ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหลักของรัฐบาล ‘เป็นกลาง’ ไหมล่ะครับ…

3

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญสามารถ ‘ซื้อเวลา’ และ ‘ยืดเวลา’ การปกครองไปได้เรื่อยๆ ภายหลังการรัฐประหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทย ว่างเว้นจากการมีรัฐธรรมนูญ มานานกว่า 16 ปี คณะรัฐประหารใช้ช่วงเวลาคาบเกี่ยวดังกล่าว สัญญาไปเรื่อยๆ ร่างรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ และหากไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เราก็ไม่น่าจะได้มีรัฐธรรมนูญใช้ไปอีกสักระยะ 

เหตุการณ์แบบดียวกันเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลา คสช. การร่างรัฐธรรมนูญแบบ ‘ไม่รู้จบ’ ทำให้สามารถยืดเวลารัฐบาลรัฐประหาร จากปี 2558 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ควรจะเสร็จสิ้น และมีการเลือกตั้งภายใน 5-6 เดือน ให้ยืดยาวไปจนถึงปี 2562 ด้วยเหตุผลที่บวรศักดิ์ก็ยอมรับเองว่าเพราะเขา ‘อยากอยู่ยาว’

ความพิสดารหลายประการเหล่านี้กลายเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่สังคมไทยชาชิน แปลว่าประเทศนี้จะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น พิธีการวันรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเริ่มด้วยการวางพวงมาลาหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 หน้าอาคารรัฐสภาทุกปี ไม่ว่าจะตรงข้ามเขาดิน หรือที่เกียกกาย จึงไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นการสักการะองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ 

ไม่เพียงเท่านั้น หากอยากรู้ว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไร ก็โปรดลองพิจารณาท่อนแรกๆ ของรัฐธรรมนูญ​ 2560

“ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2560 พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม กุกกุฏสมพัตสร จิตรมาสชุณหปักษ์ ทสมีดิถี สุริยคติกาล เมษายนมาส ฉัฏฐสุรทิน ครุวาร โดยกาลบริเฉท”

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า นายกรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดํารงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้ รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือ ราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หา ทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นําพาหรือไม่นับถือยําเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอํานาจ หรือขาดความตระหนักสํานึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทําให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล…”

ทั้งหมดนี้มีความนัยชัดว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเป็นอันดับต้นๆ

4

แล้วรัฐธรรมนูญจะสำคัญในเวลาใด? สิ่งที่บอกความสำคัญของรัฐธรรมนูญได้ ก็คือสยายอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นโมเดลที่ ‘ลอก’ มาจากอารยะประเทศ เพื่อให้เป็นกลไกวินิจฉัยข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากกลไก ‘ตุลาการภิวัฒน์’ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ดูจะหาที่ทางของตัวเองได้ชัดเจน ว่าจะปกป้อง ‘รัฐธรรมนูญ’ ในลักษณะใด

เรื่องนี้ผมไม่ต้องพูดเอง หากแต่อ้างอิงสิ่งที่องค์กร Freedom House องค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพระดับโลก ซึ่งได้อรรถาธิบายถึงตัว ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ไทย ระบุตอนหนึ่งไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมักได้รับการกล่าวหาว่า ‘เข้าข้างทหาร’ โดยมีอำนาจล้นฟ้า สามารถยุบพรรคการเมืองได้หลายพรรค ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซ้ำยังมีกฎหมายใหม่ที่ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่าง ‘หยาบคาย เสียดสี หรือใช้ถ้อยคำข่มขู่’ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการยุบพรรค ‘อนาคตใหม่’ เพราะพรรค ‘กู้เงิน’ หัวหน้าพรรค พร้อมกับตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนเห็นว่าเหตุผลที่ใช้ในการยุบพรรคนั้นมีความเป็น ‘การเมือง’ สูงมาก 

ทั้งหมดนี้ทำให้ Freedom House จัดอันดับสิทธิเสรีภาพไทย ด้วยคะแนน 30 เต็ม 100 เป็นประเทศที่ ‘ไม่มีสิทธิเสรีภาพ’ หรือ Not Free โดยคะแนนเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอยู่ที่ 5 เต็ม 40 และคะแนนด้านสิทธิพลเมืองอยู่ที่ 25 เต็ม 60 โดยปัจจัยสำคัญ หนีไม่พ้นหลัก ‘นิติรัฐ’ หรือ Rule of Law ที่มีอยู่ต่ำเตี้ย และมีเรื่องของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เป็นเหตุผลสำคัญ

5

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ขึงขังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีผู้ร้องว่าอาจมีผู้ ‘ล้มล้างการปกครอง’ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 1 เดือนก่อนหน้าวันรัฐธรรมนูญ ที่ระบุกว่าการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้าข่าย ‘ล้มล้างการปกครอง’ ตามมาตรา 49 วรรค 1 โดยมีคำสั่งให้ ‘ม็อบ’ เลิกกระทำการดังกล่าว โดยยกเหตุผลว่า การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ นำไปสู่ความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องของประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร จนเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ข้อถกเถียงสำคัญหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ ‘วรรคหลัง’ คือคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ มากกว่าคำว่าประชาธิปไตยซึ่งอยู่เบื้องหน้า หรือแม้แต่คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่เป็นบ่อเกิดของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสถานะของพระมหากษัตริย์นั้นคืออะไร คือเป็น ‘องค์กรตามรัฐธรรมนูญ’ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ‘อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ’ หรืออื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะยกสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สูงกว่านั้น ด้วยพระราชอำนาจตามหลักจารีต ย้อนกลับไปถึงสมัยสุโขทัย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็น ‘บทสรุป’ ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในห้วงระยะเวลา 88 ปี ที่ผ่านมาได้ดีว่า รัฐธรรมนูญ อาจไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับ ‘พระราชอำนาจ’ ในมิติทางประวัติศาสตร์ และอำนาจที่สำคัญที่สุดที่ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ปกป้องคือเรื่องอะไร

เรื่องน่าเศร้า ณ วันรัฐธรรมนูญ ก็คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศนี้จะสำคัญเฉพาะในบางช่วงเวลา จะสำคัญเฉพาะในห้วงเวลาที่มีการ ‘ร่างใหม่’ เพื่อเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจ และรักษาอำนาจ และในบางเวลาก็อาจไม่ได้มีค่าอะไรเลย

ด้วยเหตุนี้ ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้มีความเกี่ยวพันใดๆ กับรัฐธรรมนูญ และอาจไม่ได้มีความสำคัญอยู่จริง ณ เวลานี้ 88 ปี ให้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่นกัน…

 

อ้างอิง

รายงานของ Freedom House: https://freedomhouse.org/country/thailand/freedom-world/2021

รัฐธรรมนูญ 2560: https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=1038&filename=index

Tags: , , ,