หากการปีนผาเป็นเพียงแค่กิจกรรม หรืองานอดิเรก ผู้เขียนคงไม่สนใจอะไรมาก
แต่เมื่อกลายเป็น กิจวัตรประจำวัน มันกลับชวนให้ทบทวนว่าตัวเองชื่นชอบอะไรในสิ่งนั้น
จนถึงกับทำให้มันกลายเป็น ‘ส่วนหนึ่งของชีวิต’
กล่าวโดยย่อสำหรับการปีนหน้าผาจำลองนั้น คือการปีนพลาสติกที่จำลองมาจากหินจริงๆ ซึ่งมีทั้งรูปแบบปีนขึ้นไปให้สูงโดยมีเชือก (Top Rope และ Lead) หรือแบบรูทขนาดสั้นคล้ายการปีนก้อนหิน (Bouldering) ซึ่งทั้งหมดจะตั้งอยู่ในยิม เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางและปลอดภัยกว่า โดบปัจจุบันถือว่ากำลังได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับผู้ที่มองหากิจกรรมในการออกกำลังกาย
‘การได้ใช้พละกำลังทุกส่วนของร่างกาย การวิเคราะห์เพื่อหาวิธีในการปีน กระทั่งความสนุกที่ได้ลองเล่น ลองกระโดด หรือลองตกมาจากหน้าผา’ เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เพียงแค่ก้าวไปในยิมปีนผาครั้งแรก ก็แทบจะสัมผัสได้ทันทีถึงความหลากหลายในการเคลื่อนไหว ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเอ็นจอย (Enjoy) ไปกับมันได้
แต่ทว่า ก็มีบ่อยครั้งที่กิจกรรมนี้ก็ทำให้รู้สึกน้อตจอยฟูล (Not joyful) เรื่องชักจะไม่มีความสุขเมื่อผู้เขียนเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับนักปีนผาคนอื่น
คนนั้นปีนผาเก่งจัง คงไม่มีวันที่ปีนได้แบบนั้น
คนนี้เพิ่งเริ่มปีนไม่กี่สัปดาห์ ทำไมวันนี้ปีนระดับความยากเดียวกันแล้ว
กระทั่งเพื่อนเราเอง ก็เริ่มปีนพร้อมกัน ทำไมวันนี้เขานำเราไปไกลแล้ว
แม้การปีนผาจะเป็นการออกกำลังกายประเภทเดี่ยว กล่าวคือเราก้าวเท้าขึ้นหินก้อนแรกเพียงคนเดียว ไต่ขึ้นไปบนกำแพงตลอดทาง เพื่อไปจับก้อนหินจำลองตัวที่อยู่ข้างบนสุดเพียงลำพัง
แต่ในเมื่อมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม มันจึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบว่า ฉันหรือเธอนั้นปีนเก่งกว่ากัน
เอาเข้าจริงเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในวงการปีนหน้าผาจำลองหรอก ในการเล่นกีฬาอื่นๆ จะวิ่ง ตีแบตมินตัน หรือยกน้ำหนัก กระทั่งในหน้าที่การทำงานและความก้าวหน้าในชีวิต บางช่วงจังหวะก็อดไม่ได้ ที่จะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่เห็นคนรอบตัวได้ดีกว่าฉัน หรือบ้างก็คิดเตลิดไปถึงขั้น อยากให้ไอ้พวกคนที่ล้ำหน้าไปนั้น สะดุดหกล้ม ผิดพลาดเสียบ้าง เราจะได้เขยิบไล่ตามขึ้นไปให้ทัน
ซึ่งหากไม่โกหกความรู้สึกตัวเอง เชื่อว่าหลายคน รวมถึงผู้เขียนเอง ก็มีความรู้สึกเช่นนี้โผล่ขึ้นมาในช่วงเมื่อมีสถานการณ์ที่ตัวเองตามหลังใครบางคนขึ้นมา
แต่เชื่อเถอะว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด และนี่เป็นเหตุผลที่เขียนบทความขึ้นมาเพื่อบอกว่า มันมีวิธีที่จะเข้าใจ ยอมรับ และอยู่กับมันได้นะ
เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม มันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่เปรียบเทียบ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เรื่องนี้มีงานวิจัยระบุเอาไว้เลยว่า สมองของมนุษย์เรานั้นใช้กว่า 10% ของการทำงานไปกับการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ รอบตัว อีกทั้ง ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาสังคม เคยอธิบายเอาไ้ว้ว่า เมื่อมนุษย์รู้สึกสับสัน กังวน และไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เผชิญ มักจะเกิดปฏิกิริยาทางจิตที่ต้องการข้อมูลข่าวสารอื่นๆ เพิ่มเติม จึงมักนำตนไปเปรียบเทียบว่า หากเป็นคนอื่นเขาคิด เขาทำ กับเรื่องนี้อย่างไร
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากคุณจะรู้สึกอิจฉา หมั่นไส้ ริษยาใครก็ตามที่ได้ดิบได้ดี ก้าวหน้าไปกว่า แต่สิ่งที่ควรจะเข้าใจและเรียนรู้ต่อมาคือ แล้วเราจะจัดการ ควบคุมกับความรู้สึกนี้อย่างไร
อันที่จริงเรื่องนี้มีทางแก้ไขบอกไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว เช่นการเปลี่ยนมุมมองหันมาสนใจการพัฒนาและเปรียบเทียบตัวเองเป็นที่ตั้ง การฝึกยินดีกับความสำเร็จเล็กๆ ของตน หรือการจัดการกับตัวเองพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นเพียงอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น
แน่นอนว่าหากได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้ว ปัญหาคาใจที่เกิดขึ้นก็จะหายไป แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเหมือนหุ่นยนต์ ที่เพียงกดสวิตช์แล้วมุมมองต่อเรื่องนี้จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ ตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนในประเภทที่คิดกับเรื่องนี้ไม่ตกเหมือนกัน
ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้รอดพ้นจากบ่วงของความริษยาที่เกิดขึ้นมาได้ คงเป็นการเข้าไปอยู่ในแวดวงที่ช่วยผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งคำตอบของผู้เขียนคือ ‘สังคมของนักปีนผา’
จากประสบการณ์การเล่นกีฬามาหลายชนิด ผู้เขียนคิดว่า ‘การปีนผา’ คงเป็นกีฬาไม่กี่ชนิดบนโลกที่แม้คุณไม่รู้จักกัน แต่เมื่อเห็นใครก็ตามที่กำลังทุ่มสุดกำลังในการตะเกียก ตะกาย ปีนขึ้นไปข้างบน เราจะตะโกนเชียร์สุดกำลัง เป็นแรงใจให้พวกเขาสู้ยิบตา ทุ่มจนหมดตัวกับการปีนครั้งนั้น แม้ว่าจะไม่รู้จักหรือพูดคุยกันก็ตาม
ในวงการปีนผาจะมีคำแสลงอยู่ 2 คำ คือ กัมบะ (Gamba) ที่แปลว่า พยายามเข้า (มาจากภาษาญี่ปุ่น) และ อาเลซ (Allez) ที่แปลอย่างให้เข้าใจง่ายคือ สู้เขาโว้ย (มาจากภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือเป็น วัฒนธรรมของวงการปีนผาโลกที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศอะไร หากเข้ามาในคอมมูนิตี้นี้แล้ว คุณจะได้พูดคำเหล่านี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
คิดดูแล้วกัน ว่ากีฬาไหนมันจะมีศัพท์เทคนิคที่เป็นสากลโลกที่มีความหมายว่า ‘พยายามเข้า’ และ ‘สู้เขานะ’ แบบนี้บ้าง
ในวันนี้เองผู้เขียนก็เป็นอีกหนึ่งคนที่พูดคำว่ากัมบะและอาเลซอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งพฤติกรรมและการอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ตะโกนคำเหล่านี้ มันทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าการได้ยินดีกับความสำเร็จของใครสักคน มันก็ทำให้เรามีความสุขอยู่ไม่น้อย เป็นความสุขที่ได้เห็นและเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นและได้มันก็มาจากความมุมานะ พยายาม ที่หากเขามีพัฒนาไปกว่าเรา ก็ไม่เห็นเป็นไร
‘ก็เพราะเขาสมควรได้รับแล้ว และเราเองก็มีความสุขที่ได้ร่วมยินดีกับเรื่องนี้’
ในวันนี้การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น สำหรับผู้เขียนแล้ว จึงรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเอาไปคิดเล็กคิดน้อยอีกต่อไป เราก็คือเรา เขาก็คือเขา ในวันนี้เราเชียร์อัพคนอื่นให้พัฒนาขึ้นไปอีกก้าว ในวันข้างหน้า คนที่กำลังทุ่มแรงสุดกำลังบนหน้าผา ท่ามกลางเสียเชียร์อัพจากผู้คนทั่วสารทิศมันก็อาจเป็นเราได้เช่นกัน
สุดท้ายไม่ได้บอกว่าพวกคุณต้องไปปีนหน้าผาจำลองถึงจะได้พบประสบการณ์แบบนี้ และได้นำมาพัฒนาวิธีคิดตัวเอง แต่คุณอาจจะต้องเปิดใจ ลองไปเจอสังคมแปลกใหม่ ลองพาตัวเองไปอยู่ในที่ต่างๆ ลองไปเจอผู้คนใหม่ ลองทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน
และเมื่อวันนั้นมาถึง จะมีเพียงแค่ตัวคุณที่เป็นคู่เปรียบเทียบกับตัวคุณเองที่กำลังจะพัฒนาในอนาคตข้างหน้า เพียงแต่ว่าในการต่อสู้ครั้งนี้จะมีคนอื่นๆ อีกมากห้อมล้อมและตะโกนว่า กัมบะ อยู่ด้วยเสมอ
หาให้เจอนะ กลุ่มคนที่เป็นคอมฟอร์ตโซน (Comfort Zone) ในชีวิตของคุณ
Tags: From The Desk, ปีนหน้าผา, หน้าผาจำลอง, สังคมปีนผา