หากลำดับความการเกิดขึ้นของ ลุงพล-ไชย์พล วิภา ลุงคนดังของบ้านกกกอก ผู้ต้องหาคดี ‘น้องชมพู่’ จะพบความผิดปกติตั้งแต่ต้นทาง…
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ลุงพล’ นั้นเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยตั้งแต่แรก ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน ลุงพลอยู่กับน้องชมพู่เป็นคนสุดท้าย วงล้อมทุกอย่างกระชับมายังลุงพลตั้งแต่แรก สิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ ลุงพลถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาอย่างเข้มข้น
แต่ความเป็นจริงก็คือ ‘คดีลุงพล’ เกิดขึ้นในช่วงเวลารัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่สอง ทุกอย่างเกิดขึ้นในช่วง‘ล็อกดาวน์โควิด’ ทุกอย่างเงียบเชียบ บ้านเมืองไม่ได้มีข่าวใหญ่ แต่สิ่งสำคัญก็คือรายการทีวี รายการข่าวนั้นไม่สามารถอยู่ได้หากปราศจาก ‘ข่าวใหญ่’
คดีน้องชมพู่นั้นองค์ประกอบครบถ้วน เต็มไปด้วยความลึกลับ เหตุฆาตกรรมในหมู่บ้านห่างไกลในภาคอีสาน ผูกโยงกับคนทรง ความเชื่อ หมู่บ้านอันสงบสุข อยู่ดีๆ ก็พบศพเด็กย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ ยิ่งใครก็แล้วแต่อาจเป็นผู้ต้องสงสัยก็ได้ ยิ่งทำให้เรื่องนี้คุ้มค่า หากช่องทีวีจะทุ่มสรรพกำลังลงไปยังบ้านกกกอก เพื่อทำข่าวนี้ให้กลายเป็นสถานการณ์พิเศษ
สถานการณ์แบบนี้ฝรั่งเรียกว่าเป็น Media Circus ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งเวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ และสามารถเลี้ยงกระแสได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่เกิดมาแล้วจบไป จบด้วยการสร้างคดีฆาตกรรมธรรมดาให้มี ‘ฟังก์ชัน’ ให้เปรียบเสมือน ‘ละคร’
ถามว่าสิ่งนี้แปลกไหม… ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก ในสหรัฐอเมริกา ช่องข่าวใหญ่ๆ ก็นิยมปั้นคดีฆาตกรรมให้มีลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
ในปี 1994 คดีโอเจ ซิมป์สัน (OJ Simpson) ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมแฟนสาว นิโคล ซิมป์สัน และรอน โกลด์แมน กลายเป็นข่าวที่เรตติ้งสูงที่สุด นับตั้งแต่วันที่โอเจเป็นผู้ต้องสงสัย วันที่ขึ้นศาลไต่สวน ไปจนถึงวันที่หลุดคดี
ปี 2021 ที่ผ่านมา คดีอเล็กซ์ เมอร์ดอห์ (Alex Murdaugh) ฆาตกรรมลูก-ภรรยา ด้วยปืนลูกซองในมลรัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ สื่อระดมกำลังลงไป ความน่าสนใจอยู่ที่ตระกูลเมอร์ดอห์คือตระกูลทนายความที่มีอิทธิพลในแถบนั้นหลายชั่วอายุคน หน้าที่ของสื่อคือการป้องกันไม่ให้อิทธิพลของตระกูลนี้ ‘เป่าคดี’ จนอเล็กซ์รอด
แต่เรื่องของ ‘ลุงพล’ นั้นอาจต่างออกไป เพราะสื่อไทยไม่ได้ทำหน้าที่เพียงตามหาคนทำผิด หรือตรวจสอบเรื่องลึกลับเรื่องนี้ หากแต่ยังประกอบสร้างลุงพลให้กลายเป็น ‘คนพิเศษ’
ผมเคยถามกับเพื่อนฝูงว่า ทำไม ‘ลุงพล’ ถึงดัง สิ่งที่วิเคราะห์กันได้คือ ความเป็น ‘คนธรรมดา’ ‘พูดจาฉะฉาน’ และพร้อมพูดทุกเรื่อง ประกอบกับเป็นคนหน้าตาดีในวัยเดียวกัน
ในห้วงเวลาหนึ่ง ไชย์พลอาจเป็น ‘คนร้าย’ อาจเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’ ในคดีฆาตกรรม หากแต่ในอีกช่วงเวลา ไชย์พลก็อาจเป็นเพียงคนธรรมดาที่อยู่ผิดที่ผิดเวลา คำตอบของไชย์พลที่เรียบง่ายว่า ‘ไม่ได้ฆ่า’ จึงทำกระแสสังคม ทำให้สื่อมวลชนรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ทั้งกระแสสังคม สื่อกระแสหลัก สื่อพลเมือง อินฟลูเอนเซอร์ จึงได้ร่วมกันประกอบสร้างลุงพล ให้กลายเป็น ‘ที่รัก’ แม้ในวันนั้นยังมีสถานะเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’ อยู่ด้วยก็ตาม
เรื่องนี้ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ ‘วิน’ สื่อมวลชนกระแสหลักได้เรตติ้งของข่าวค่ำในระดับที่ใกล้เคียง หรือ ‘มากกว่า’ ละครหลังข่าว ขณะที่ไชย์พลก็ ‘วิน’ ในทางคดี วินาทีที่ไชย์พลเต้นเพลง เต่างอย ลงเอ็มวี วินาทีนั้น สภาพความน่าสงสัยของไชย์พลก็ลดฮวบฮาบ สาธารณชนย่อมมั่นใจในระดับหนึ่งว่าคนอย่างไชย์พล ที่มีลักษณะท่าทางเช่นนั้น ย่อมไม่ใช่ ‘ผู้ต้องสงสัย’ อีกต่อไป หากแต่เขาเป็นคนดังในระดับที่จะทำอะไรก็ได้ สำทับด้วยยังมีอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงข่าวค่ำอีกหลายช่องคอยสนับสนุน และต่อยอดกลายเป็นหนึ่งในศิลปินในวงการบันเทิง
กระทั่งในเวลาอีกไม่นานจากนั้น ก็มีเพลง อยากเป็นป้าแต๋น ซึ่งมีนักร้องชื่อดัง ‘ยิ่งยง ยอดบัวงาม’ เป็นผู้ประพันธ์ ดังจนติดหูบรรดามิตรรักแฟนเพลงไชย์พลทั่วประเทศ เท่านั้นยังไม่พอ ไชย์พลกลายเป็นยูทูเบอร์ เปิดช่อง ‘ลุงพล ป้าแต๋นแฟมิลี’ ที่ก่อนถูกปิด มีผู้ติดตามมากกว่า 4.82 แสนคน มียอดวิวรวมตลอด 3 ปี กว่า 200 ล้านวิว โดยมีทั้งคลิปลุงพลจับปลา ลุงพลคุยกับหลาน ลุงพลทำบุญ ฯลฯ ทั้งยังเปิดรับบริจาค รับงานโฆษณา พร้อมกับเตรียมต่อยอดไปจนถึงการที่ลุงพลเตรียมสร้าง ‘วังพญานาค’ ภายในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
กระทั่งวันที่ศาลตัดสินคดีลุงพล ทีมยูทูเบอร์ของลุงพลยังมีทั้งคลิปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และภายหลังจากศาลให้ประกันตัว ลุงพล ป้าแต๋นแฟมิลี ก็พร้อมไปรอรับหน้าศาล และมีคอนเทนต์ ‘เปิดใจ’ในทันที
แม้ล่าสุด ‘ลุงพล ป้าแต๋นแฟมิลี่’ จะถูกยูทูบปิดไปแล้ว (โดยไม่ทราบสาเหตุ) คำถามก็คือ การที่ไชย์พลกลายเป็นเซเลบริตีชั่วข้ามคืนนั้น กำลังจะบอกอะไรกับสังคมอันบิดเบี้ยวสังคมนี้ แล้วการที่สื่อเกิดนำเสนอข่าว โดยกำหนดเนื้อหาให้บูชาไชย์พลขึ้นมา เป็นความผิดของสื่อ หรือความผิดของคนไทยที่บังเอิญชอบเรื่องอะไรแบบนี้
เรื่องอันยุ่งเหยิงอาจสังเคราะห์ออกมาได้ 3-4 ประเด็น
1. กระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ใช่สิ่งที่ ‘พึ่งหวัง’ และเอาหลังพิงได้
ข้อเท็จจริงก็คือ กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจ ไล่ไปจนถึงอัยการ ศาล หลายครั้งเป็นกระบวนการที่โอนอ่อนไปตามกระแสสังคม ผันเปลี่ยนไปตามผู้มีอำนาจ แม้ระบบศาลจะถูกสร้างให้ศักดิ์สิทธิ์เพียงใด สูงส่งมากแค่ไหน แต่คำติดปากของชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็คือ พวกเขายังคงเชื่อและนับถือ ‘ศาลพระภูมิ’ มากกว่าศาลยุติธรรม
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะวันที่ตำรวจสั่งฟ้องไชย์พลในฐานะผู้ต้องหา วันที่อัยการสั่งฟ้อง กระทั่งวันที่ศาลตัดสิน ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงไม่ได้เชื่อถือใดๆ ต่อกระบวนการเหล่านี้ และอีกจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้เชื่อตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะกระบวนการประกอบสร้างไชย์พลขึ้นมาโดยสื่อมวลชนนั้น เข้มแข็งเสียจนกลบ ‘เสียง’ จากฟากฝั่งกฎหมาย
2. สื่อมวลชน ‘กระจก’ หรือ ‘ตะเกียง’
ข้อถกเถียงดั้งเดิมในแวดวงสื่อมวลชนก็คือ ในสถานการณ์ต่างๆ สื่อมวลชนควรทำหน้าที่เป็น ‘กระจกเงา’ เพื่อสะท้อนสังคม หรือเป็น ‘ตะเกี่ยง’ ที่ส่องทางสังคม ในสถานการณ์ของไชย์พล สื่อจำนวนไม่น้อยใช้ทฤษฎีกระจกเงา เพื่ออธิบายสังคมว่าตราบเมื่อมีคนดู ตราบเมื่อชาวบ้าน เมื่อสังคมยังคงเป็นเช่นนี้ พวกเขาก็มีหน้าที่ ‘สะท้อน’ ว่าสังคมอันบิดเบี้ยวนี้เกิดอะไรขึ้น
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยยึดหลัก ‘ตะเกียง’ อธิบายความว่า สุดท้าย สื่อมวลชนควรเป็นไฟส่องทาง พาสังคมไปให้ถูกทิศทาง ในห้วงเวลาที่สังคมไร้หลักแหล่ง โอนเอนไร้จุดยืน สื่อควรเป็นตะเกียงที่ไม่พาให้ทุกอย่างหลงทิศทาง
แต่บางครั้ง ‘ถูก’ ก็เป็นอัตวิสัย ถูกของคนหนึ่งคน อาจจะไม่ใช่ถูกของสังคม ทฤษฎีการเป็น ‘กระจก’ สะท้อนสังคม หรือเป็น ‘ตะเกียง’ ส่องทางสังคม ยังเป็นที่ถกเถียง แต่เรื่องนี้หลักง่ายๆ มีเพียงการกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่า การ ‘ปั้น’ ไชย์พลเป็นไอดอล เป็นเซเลบริตี โดยทิ้งกระบวนการยุติธรรมไว้เบื้องหลังนั้น สังคมได้อะไรบ้าง
3. เมื่อสื่อมีหน้าที่ ‘เลี้ยงไข้’ และ ‘เลี้ยงประเด็น’
ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่พยายามดึงให้ ‘ข่าว’ กลายเป็นเรียลลิตีโชว์ หรือเป็น ‘ความบันเทิงราคาถูก’ ย่อมมีส่วนต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ทั้งหมด…
เพราะไม่ว่าจะเรื่อง ‘เปรี้ยวหั่นศพ’ ไม่ว่าจะเรื่อง ‘แตงโม’ หรือเรื่อง ‘แป้งนาโหนด’ ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ล้วนมีแพตเทิร์นแบบเดียวกัน ว่าด้วยการพยายามเลี้ยงประเด็นให้ยาวนานที่สุด มีวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกประหลาด เมื่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นตีบตัน ประเด็นของสื่ออาจลากไปถึงความทรงจำของญาติข้างบ้านที่มีต่อใครคนใดคนหนึ่ง อาจสร้างเรื่องราวเคียงข้างเป็นต้นว่า ‘กินไก่ดิบ’ อย่างไรในป่า หรืออาจโยงไปถึงไสยศาสตร์ คนทรงเจ้า ว่าคิดเห็นอย่างไรเรื่องนี้
ย้อนกลับไปที่เรื่องไชย์พล หากจำกันได้ เมื่อเดือนกันยายน 2563 อดีตหัวหน้าช่างภาพข่าวของช่องทีวีช่องหนึ่งที่เกาะติดข่าวไชย์พลถึงกับ ‘ลาออก’ จากตำแหน่ง พร้อมกับโพสต์เฟซบุ๊กระบายความในใจว่า “ผมเป็นหนึ่งคนที่รับรู้เรื่องราว ที่ถูกสร้าง ปั้นแต่งและถูกนำเสนอผ่านหน้าจอมาโดยตลอด และตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า พวกเราทำอะไรกันอยู่ มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ ไม่ใช่ความแปลกใหม่…”
หากสื่อมวลชนสามารถตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ทบทวนซ้ำๆ ในความผิดปกติ ในความบิดเบี้ยวเหล่านี้ แล้วคอยตอบตัวเองอยู่เสมอว่าทุกครั้งที่รายงานข่าว สังคมได้อะไรนอกจากเรตติ้ง ทุกอย่างจะดีกว่านี้มาก…
4. แล้วคนไทยทำอะไรได้บ้าง นอกจาก ‘ด่าสื่อ’
เรื่องยากของสังคมไทยก็คือ ทุกครั้งที่สื่อทำหน้าที่แล้วมีปัญหา ทุกคนในสังคมจะพร้อมใจกันชี้นิ้วไปที่สื่อนั้นๆ แล้วบอกว่า ‘พวกคุณมันสื่อเลว’ ผ่านไปอีกสัก 1 สัปดาห์ ก็จะมีคนกลับมาดูสื่อนั้นๆ ใหม่อีกครั้ง เพราะพวกเขาตอบสิ่งที่สังคมนี้หิวกระหาย ไม่ว่าจะความเป็นดราม่า ความเป็นเรียลลิตีโชว์ สอดแทรกความลึกลับ ใส่ความเชื่อ ผสมความเห็นลงไปเยอะๆ
สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การสร้างสื่อที่มีคุณค่า มีคุณภาพ และเลือกสนับสนุนสื่อสารมวลชนที่มีคุณสมบัติแบบ ‘ละคร’ ไว้ข้างหลัง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สื่อแบบนี้ย่อมไม่มีใครยอมรับ สปอนเซอร์ย่อมไม่เข้า และหากใช้คำว่า หากสื่อกระแสหลักไม่ทำ สื่อ ‘บุคคล’ พวกยูทูเบอร์ก็ทำอยู่ดี ก็ปล่อยให้พวกเขาทำกันไป ไม่ใช่หน้าที่อะไรที่สื่อกระแสหลักต้องไปเดินตาม
แน่นอนว่าหลังจากเรื่อง ‘ไชย์พล’ และป้าแต๋นผ่านไป เรื่องนี้จะกลายเป็นกรณีศึกษาสุดคลาสสิกเช่นเดียวกับอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา
แต่ถามว่าเรื่องอย่างการปั้นผู้ต้องหาให้กลายเป็นฮีโร่ เรื่องการดึงดราม่าเลี้ยงกระแสข่าว หรือการลากยาว ทอดประเด็น เพื่อให้ผู้คนติดตามโดยทิ้งสาระไว้เบื้องหลัง จะเกิดขึ้นอีกไหม
ใช่ – พวกเขาจะทำเหมือนเดิมต่อไป เพราะรู้ว่าวิธีนี้พวกเขาทำได้ ทำแล้วไม่ผิด ทำแล้วยังได้รับการสนับสนุน ทำแล้วยังมีคนดู
กระบวนการประกอบสร้าง ‘ไชย์พล’ จึงต้องอาศัยการ ‘เรียนรู้’ ของสังคมไปด้วย มากกว่าการที่จะหาว่าใครผิดเพียงอย่างเดียว
Tags: สื่อมวลชน, From The Desk, ลุงพล, Media Circus, ไชย์พล วิภา