“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ม.112 ระบุไว้

บทบัญญัติข้างต้น กลายเป็นประเด็นหลักและเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยไปเสียอย่างนั้น หากไม่ได้อ่านญัตติการเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็คงจะคิดว่าการโหวตเลือกนายกฯ ในวันดังกล่าวเป็นการอภิปรายในประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เป็นแน่แท้ แน่นอนว่าผลลัพธ์ลงเอยแบบไม่เกินคาด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกฯ 

ยังไม่รวมท่าที 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้อยู่ใน MOU นอกจากนี้การเคลื่อนไหวหลังพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องหาเสียงสนับสนุนจำนวน 376 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมสองสภายิ่งฉายชัดว่าจุดยืนเรื่องมาตรา 112 คือปัญหาสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

เช่น การแสดงจุดยืนของหลายพรรคที่ไม่ขอจัดตั้งรัฐบาล หรือร่วมงานกับพรรคที่ต้องการแก้กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็น ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่อภิปรายในวันโหวตนายกฯ ครั้งแรกว่าจะขอคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลทุกวินาที หรือการแสดงจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ที่แจ้งเงื่อนไขต่อพรรคเพื่อไทยว่า ไม่สามารถร่วมงานกับพรรคก้าวไกลได้ ยังไม่รวมท่าทีของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งก่อน งดออกเสียงมากถึง 200 คน 

แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะถอยและให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่แคล้วต้องกังวลเรื่องผลโหวตและการสนับสนุนจาก ส.ว.เช่นกัน เพราะเศรษฐาเคยกล่าวว่าจะเดินหน้าแก้ไข ม.112

“ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะโหวตเลือกนายเศรษฐาหรือไม่ แม้ใน MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ระบุเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนไม่แก้มาตรา 112 แต่ติดอยู่ที่เศรษฐาเคยพูดตอนหาเสียงว่าจะแก้มาตรา 112 จึงอยากได้ยินคำตอบที่ชัดเจนจากปากนายเศรษฐาว่ามีความคิดจะแก้มาตรา 112 จริงหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจโหวตนายกฯ” เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้แถลงข่าวเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่โดยเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประกาศฉีก MOU 2 ฉบับ พร้อมเน้นย้ำว่าพรรคเพื่อไทยและเศรษฐาจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 เพราะ “คือแนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ ไว้”

ทำไมมาตรา 112 จึงกลายเป็นปัญหาหลักในการจัดตั้งรัฐบาล และการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านมาร่วม 2 เดือนแล้วก็ตาม ขณะที่ตัวแทนประชาชนในรัฐสภายังคงเล่นละครปาหี่ผลัดกันสู้ผลัดกันถอย ฉากหน้าคือการอภิปรายในรัฐสภา ที่มีฉากหลังเป็นเลือดเนื้อ ความทุกข์ของประชาชนผู้รับผลกระทบที่ยังต้องเผชิญกับโทษภัยของญัตติกฎหมายนี้อยู่ทุกวัน 

ขอถามอีกที มาตรา 112 ไม่มีปัญหาจริงหรือ?

บทความนี้จะไม่ลงลึกรายละเอียดในเชิงตัวบทกฎหมายมากนัก แต่หากให้สรุปสั้นๆ กฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาที่เกิดจากตัวบทกฎหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป ศาลไม่สามารถใช้ดุลพินิจกำหนดบทลงโทษน้อยกว่านี้ได้ องค์ประกอบความผิดไม่ชัดเจน เช่น คำว่า ‘ดูหมิ่น’ สามารถตีความได้หลายแบบ นอกจากนี้ยังเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พร้อมกันนั้น ม.112 ยังถูกนำมาตีความและใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถกล่าวโทษได้ ยังไม่รวมการตีวงเงินประตัวที่สูงมาก

จากสถิติ iLaw ระบุว่า หลังการรัฐประหารของ คสช. พบว่าหลักทรัพย์ขั้นต่ำในการใช้ยื่นประกันตัวอยู่ที่หนึ่งแสนบาท สูงสุดถึงห้าแสนบาท 

ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 – 16 กรกฎาคม 2566 ว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 253 คน ใน 273 คดี แยกเป็นคดีที่มีประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 131 คดี, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี, กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

หาก ม.112 ไม่ใช่ปัญหาทำไมหลายคนจึงถูกคุมขัง ลี้ภัย กลับบ้านไม่ได้ ไปต่อไม่เป็น?

[1]

“ไอ้เหี้ย รอ 9 รอ 10 นาทีแล้วแม่ง แมวเหี้ยอะไรเดี๋ยวกูเตะแม่งไปโน่นเลย เฮ้ย เหมียวๆๆ โอ้ยต่อหน้ากล้อง ต้องเป็นคนดีหน่อย โอวเหมียวๆๆ ไปไหนแล้วล่ะ” อาร์ม (สงวนชื่อสกุลจริง) อายุ 20 ปี อาศัยอยู่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดยพุทธ พุทธัสสะ จังหวัดกำแพงเพชร ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีเผยแพร่คลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวตัวเอง และกล่าวประโยคข้างต้นในแอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TikTok) 

อาร์มไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมมาก่อน ไม่เคยเดินทางไปที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่หลังจากถูกดำเนินคดีทำให้เขาต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี เขาใช้เวลาในการเดินทางจากเกาะพะงันเป็นเวลาถึง 2 วัน ตั้งแต่นั่งเรือออกเกาะ ต่อรถจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มายังกรุงเทพฯ และนั่งรถต่อไปยังจังหวัดกำแพงเพชร มีค่าใช้จ่ายเดินทางไปกลับครั้งละประมาณ 4,000 บาท ยังไม่รวมค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่งผลให้ญาติหรือแฟนไม่สามารถเดินทางมาให้กำลังใจเขาได้ 

เหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของตัวบทกฎหมายหรอกหรือ? ที่เปิดโอกาสให้ประชาชน เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และสามารถไปแจ้งดำเนินคดีที่จังหวัดไหนก็ได้ แม้ว่าจังหวัดนั้นจะห่างจากบ้านผู้ถูกกล่าวหากี่พันกิโลเมตรก็ตาม 

[2]

“คือหนูก็อยากยื่นประกันในช่วงที่ดีกว่านี้ เปอร์เซ็นต์การได้ประกันคงจะสูงกว่า รัฐบาลใหม่ก็อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่ง แม้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่นำอีกที แต่…หนูต้องรออีก 10 เดือนเลยเหรอพี่ ตอนนั้นมันก็จะครบโทษที่หนูได้รับแล้วนะ” น้ำ-วารุณี ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 กล่าวหลังทนายความเข้าเยี่ยมเธอเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เรื่องทั้งหมดเริ่มจากวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 น้ำ-วารุณี โพสต์รูปลงเฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI พร้อมแคปชัน “แก้วมรกต X SIRIVANNAVARI Bangkok” 

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเธอ 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เธอมีโรคประจำตัวคือโรคอารมณ์สองขั้ว หรือไบโพลาร์ ซึ่งต้องกินยาและพบจิตแพทย์เดือนละครั้ง แม้ว่าตอนนี้น้ำ-วารุณีจะได้รับการจ่ายยาแล้ว แต่เธอต้องกินยาตั้งแต่บ่ายสามโมงครึ่งเพราะไม่สามารถถือยาขึ้นเรือนนอนได้ เนื่องจากโรคประจำตัวทำให้เธอมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

“ตอนนี้หนูอยู่ห้องกับผู้ต้องขังที่ติดคุกตลอดชีวิต ด้วยคดียาเสพติด 3 ล้าน 7 แสนเม็ด พอมองตัวเองแล้วก็คิดว่า ทำไมหนูต้องติดคุกเพราะแค่โพสต์รูปด้วยนะ เขาทำกับหนูเกินไป ปัญหาเรื่องมาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไขจริงๆ นะคะ” 

โทษของการโพสต์ 1 รูปภาพ ของน้ำ-วารุณี อยู่ที่การถูกจำกัดเสรีภาพเป็นเวลาประมาณ 548 วัน ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกกำหนดอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำไว้ที่ 3-15 ปี นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะกระทำผิดเล็กน้อยแค่ไหน แต่โทษอย่างต่ำที่สุดคือต้องติดคุก 3 ปี หากเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคลทั่วไป จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากเทียบกับประเทศที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร การหมิ่นกษัตริย์และบุคคลทั่วไปไม่มีโทษทางอาญา ด้วยอัตราโทษจำนวนมหาศาลขนาดนี้ คุณยังคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของตัวบทกฎหมายที่ต้องแก้ไขอีกหรอกหรือ?

[3]

ภายหลังรัฐประหาร 2557 มีผู้ลี้ภัยชาวไทยสูญหาย หรือเสียชีวิตระหว่างลี้ภัยจำนวนหลายคนไม่ว่าจะเป็น

1.วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋)

ถูกอุ้มหายเมื่อ 29 กรกฎาคม 2560

สถานะปัจจุบัน: ไม่ทราบ

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 จอม เพชรประดับ นักข่าวและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้รับคำยืนยันจากคนใกล้ชิดโกตี๋ว่า โกตี๋ถูกชายชุดดำประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรม พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวเวลาประมาณ 9.45 น. ตามเวลาประเทศลาว”

เหตุการณ์อุ้มหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่โกตี๋และเพื่อนอีก 2 คน กำลังลงจากรถและเดินเข้าบ้าน ปรากฎว่ากลุ่มชายชุดดำได้แอบซุ่มอยู่ข้างหลังบ้าน ก่อนเดินเข้ามาล้อมโกตี๋ และนำผ้ามาคลุมหน้าทั้ง 3 คน พร้อมกับนำผ้ายัดปาก มัดมือไพล่หลัง ก่อนนำตัวโกตี๋ขึ้นรถที่จอดเตรียมไว้ ส่วนเพื่อนทั้งสองคนได้ถูกช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในภายหลัง

สิ่งที่น่าสนใจในคดีนี้คือ เพื่อนของโกตี๋ทั้งสองคนเล่าว่า กลุ่มชายชุดดำที่เข้ามาจับตัวพูดภาษาไทย และใช้อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าเข้าที่ต้นคอ พร้อมกับขู่ไม่ให้ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสองคนเข้าแจ้งความกับตำรวจในท้องที่ และได้รับคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิดว่า โกตี๋น่าจะมีชีวิตอยู่ และถูกส่งตัวกลับมาประเทศไทย ด้านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น กล่าวต่อเหตุการณ์สูญหายของโกตี๋ว่า เรื่องนี้พิสูจน์ยาก และอาจเป็นข่าวลือในการหลบหนีของโกตี๋ก็เป็นได้

2. สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (สุรชัย แซ่ด่าน), ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) และสุรชัย ภูชนะ (สหายภูชนะ)

ถูกอุ้มหายเมื่อ 12 ธันวาคม 2561

สถานะปัจจุบัน: พบศพของสหายกาสะลองและสหายภูชนะริมแม่น้ำโขง ส่วนสุรชัย แซ่ด่าน ยังไม่ทราบสถานะ

ภายหลังจากที่สุรชัย แซ่ด่าน, สหายกาสะลอง และสหายภูชนะ ลี้ภัยทางการเมืองมายังประเทศลาว พอดแคสต์และวิทยุใต้ดินรายการ ‘ปฏิวัติประเทศไทย’ ได้กลายเป็นช่องทางหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ

แต่หลังจากพอดแคสต์ตอนสุดท้ายถูกอัดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ก็ไม่มีใครสามารถติดต่อสุรชัยและคณะได้อีกเลย ต่อมา วันที่ 12 ธันวาคม 2561 สหายกาสะลอง และสหายภูชนะก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 มีผู้พบศพลอยติดตลิ่งตลาดนัดไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม ก็พบศพที่สองตามมาที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และวันที่ 29 ธันวาคม ก็พบศพที่ 3 บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

โดยลักษณะศพที่พบถูกมัดมือมัดเท้า ใบหน้าถูกตีจนเละ ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ นอกจากนั้น ศพยังถูกคว้านท้องและเทปูนเข้าใส่แทน ภายหลังการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ พบว่าตรงกับสหายกาสะลองและสหายภูชนะ แต่ในคดีนี้มีข้อถกเถียงว่า สรุปแล้วมี 2 ศพ หรือ 3 ศพ กันแน่ เพราะระหว่างที่รอตรวจสอบศพที่ 2 ศพได้หลุดลอยตามน้ำ ตำรวจจึงเชื่อว่ามีเพียง 2 ศพเท่านั้น เพราะเชื่อว่าศพที่พบบริเวณท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และศพที่พบตำบลอาจสามารถเป็นศพเดียวกัน ขณะที่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย เชื่อว่ามี 3 ศพ แต่ศพของสุรชัยถูกทำลายไปแล้ว

3.วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ถูกอุ้มหายเมื่อ 4 มิถุนายน 2563

สถานะปัจจุบัน :ไม่ทราบ

นักเคลื่อนไหว-นักกิจกรรมที่ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กและเยาวชน รณรงค์ป้องกันเอชไอวี ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เขาตัดสินใจลี้ภัยไปพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 17.54 น. วันเฉลิมยืนซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาขณะที่คุยโทรศัพท์กับพี่สาว เจนสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ระหว่างนั้น เขาถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้อาวุธบังคับนำตัวขึ้นรถเอสยูวีสีดำออกไปอย่างรวดเร็ว โดยคำพูดสุดท้ายที่พี่สาวได้ยินคือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก” หลังเกิดเหตุ ไม่สามารถติดต่อวันเฉลิมได้อีกเลย

[4]

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อุ๊งอิ๊ง- แพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศวันกลับบ้านของพ่อ หรือทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้หลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น การแสดงความยินดีรอต้อนรับ บ้างก็แสดงความเห็นว่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่นก็อยากกลับบ้านเช่นกัน และทุกคนควรมีสิทธิ์ได้กลับบ้าน เพียงแต่หลายคนไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ หรือชีวิตเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ได้หมายศาล เพราะคดี ม.112 หลายคนยังติดอยู่ในเรือนจำ หลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และหลายคนสูญหาย หรือเสียชีวิตขณะลี้ภัย 

[5]

ขณะที่ความหวังของผู้ที่ถูกดำเนินคดี ม.112 และผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว ถูกขัดด้วยเสียงของ ส.ว. และรัฐธรรมนูญที่ขีดเขียนมาเพื่อสืบทอดอำนาจอันไม่ชอบธรรม ที่ซ้ำร้ายยังถูกปฏิเสธและเลื่อนวาระออกไปอย่างไม่มีกำหนด

 ไม่ว่าการเมืองประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ไม่ว่าละครองก์นี้จะจบเช่นไร แต่ความเจ็บปวดของประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายอาญามาตรานี้ยังคงได้รับอยู่ทุกวินาที ที่ถูกเลื่อนผ่านและถูกปัดตก 

เราแก่ขึ้นทุกปี ขณะที่พละกำลังก็ถดถอย แต่ประเทศชาติบ้านเมืองนี้ ก็ยังไม่หลุดจากวังวนเดิมๆ ด้วยการใช้เหตุผลแสนตื้นเขินว่า ‘บ้านเราไม่ใช่การเมืองปกติ’ เหตุผลแค่นี้เพียงพอหรือ? กับการใช้อธิบายความผิดเพี้ยนในระบอบประชาธิปไตยในประเทศแห่งนี้ หรือบางคนยังคิดว่าการลากทหารมารัฐประหารยังคือคำตอบของประเทศนี้อยู่ เพราะนี่คือการเมืองแบบไทยๆ คิดแล้วก็นึกขำ อีกกี่ปีหนอ ที่บ้านเราจะเลิกใช้คำว่าการเมืองแบบไทยๆ หรือการเมืองไม่ปกติได้เสียที 

ถึงบรรดาคุณทั้งหลายที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนประชาชน หากการเป็นผู้แทนราษฎรไม่เพียงพอที่จะทำให้คิดบนพื้นฐานปัญหา คุณภาพชีวิต และความต้องการของประชาชนได้ แล้วมุมมองความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันละ? อาจจะพอให้นึกถึงผลกระทบและปัญหาจากกฎหมายนี้ได้บ้างหรือไม่? 

จากเศษเสี้ยวเรื่องราวของคนที่ได้รับผลกระทบ ม.112 ที่ยกมาข้างต้น คุณยังคิดว่ากฎหมายอาญามาตรานี้ปกติอยู่อีกหรือ? หากกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่มีปัญหาจริง ทำไมหลายคนถึงไม่ได้กลับบ้าน? ไม่ได้ใช้ชีวิตเฉกเช่นเคย ทวงคืนความปกติของสังคมผ่านการแก้ไขฎหมายมาตรา 112 

#ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา112

ที่มา

https://tlhr2014.com/archives/23983

https://freedom.ilaw.or.th/en/node/546

https://tlhr2014.com/archives/57799

https://tlhr2014.com/archives/40060

Tags: , , , , , , ,