Cheers!

เสียงยกแก้วร่วมดื่มฉลองให้เสรีภาพ (Toast to Freedom) ผ่านโลกออนไลน์ในเย็นวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2564 ในวาระครบรอบ 60 ปี ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)

ใครจะรู้ว่าการดื่มฉลองให้เสรีภาพเช่นนี้ คือฉากเดิมกับจุดเริ่มต้นที่ทำให้แอมเนสตี้ถือกำเนิดขึ้นแต่แรกเมื่อหกสิบปีก่อน เมื่อ ปีเตอร์ เบเนนสัน (Peter Benenson) ทนายความชาวอังกฤษได้ทราบถึงเรื่องของสองนักศึกษาชาวโปรตุเกสที่ถูกรัฐบาลเผด็จการจับกุมขัง เพียงเพราะพวกเขาดื่มสรรเสริญ สดุดีเสรีภาพ 

เบเนนสันรู้ดีว่า เป็นการยากที่ผู้คนชาวโปรตุกีสจะออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นักศึกษาทั้งสอง ในช่วงที่โปรตุเกสถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ความเดือดเนื้อร้อนใจในการถูกพรากเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์ ทำให้เบเนนสันลุกขึ้นมาเขียนบทความที่ชื่อว่า “นักโทษที่ถูกลืม” (The Forgotten Prisoners) ถึงหนังสือพิมพ์ The Observer เพื่อบันทึก บอกเล่าถึงความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นกับสองนักศึกษาให้ผู้คนรับรู้ต่อไป เพื่อไม่ให้ความผิดปกติสิ้นดีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาสองคนนี้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม และที่สำคัญที่สุดคือการไม่นิ่งเฉยในวันที่เห็นการกดขี่ข่มเหงเกิดขึ้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัมพันธ์กับเขาโดยตรงหรือไม่ก็ตาม 

ไม่ว่าจะเป็นวันไหน หากคุณเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะพบว่ามีคนที่กำลังถูกคุมขัง ทรมาน หรือประหารชีวิตในสักแห่งของโลก เพียงเพราะเขาแสดงความเห็นหรือนับถือศาสนาที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล คุณอาจรู้สึกไร้อำนาจที่จะช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น แต่หากความรู้สึกเกลียดชังต่อเหตุการณ์ดังกล่าวทั่วโลกถูกแปรผันมาเป็นการปฏิบัติการร่วมกัน เราอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้” 

บทความ “นักโทษที่ถูกลืม” ของเบเนนสันในวันนั้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีผู้อ่านนับพันเขียนจดหมายสนับสนุนข้อความของปีเตอร์ เบเนนสัน นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 1961 ที่บทความนั้นถูกตีพิมพ์ แอมเนสตี้นับว่าได้ถือกำเนิดขึ้น และยังคงเป็นพื้นที่การรวมตัวกันของผู้คนธรรมดา หลากหลายสาขาอาชีพทั่วโลก ที่แม้หลังจากนั้นจะมีเหตุการณ์มากมายที่แอมเนสตี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมรณรงค์ แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญยังคงเดิม นั่นคือสำนึกเดียวกันกับครั้งที่เบเนนสันลงมือเขียนบทความเรียกร้องให้ปล่อยตัวสองนักศึกษาชาวโปรตุกีสที่ไม่ได้มีสัมพันธ์เกี่ยวข้องใดกับเขา นอกจากความรู้สึกรู้สาต่อความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และความรู้สึกว่าเมื่อเห็นการกดขี่อยู่ตรงหน้า เขาต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะความอยุติธรรมไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใด ย่อมเป็นความอยุติธรรมของทุกที่อยู่เรื่อยไป (Injustic anywhere is injustice everywhere). 

จากวันนั้นจวบจนวันนี้ แอมเนสตี้ยังมุ่งมั่นในการปกป้อง เรียกร้อง ช่วยเหลือผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป ไม่ว่าจะผ่านการเขียนเช่นที่เบเนนสันได้ริเริ่มเป็นตัวอย่าง การรณรงค์แสดงเอกภาพในระดับสากล หรือการอบรมด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ 

สำนึกของการไม่จำยอมต่อการถูกกดขี่ การแปรเปลี่ยนความเกลียดชังต่อความยุติธรรมให้เป็นการลงมือทำ ยังดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาหกสิบปี ต่างไปเพียงแค่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แรงกระเพื่อมของแอมเนสตี้เพิ่มทวี มีสมาชิกกว่า 3 ล้านคน ใน 150 ประเทศ ช่วยเหลือคดีด้านสิทธิมนุษยชนไปทั่วโลก และยังคงส่งข้อความสำคัญที่เบเนนสันได้ฝากไว้ต่อไปว่า ในวันที่มีแต่ความมืดมิด จงเป็นดั่งแสงเทียน ส่องแสง เปลี่ยนความมืดให้สว่างไสว ด้วยการลงมือทำอะไรสักอย่างร่วมกัน

ในระดับประเทศ แอมเนสตี้เริ่มมีส่วนร่วมในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างชัดเจนนับจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านการรณรงค์ให้ปล่อย ‘นักโทษทางความคิด’ หรือนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในช่วงเวลานั้นมีจดหมายนับแสนฉบับจากผู้คนทั่วโลกส่งมาถึงรัฐบาลไทยและสำนักราชเลขาธิการ จนเรียกได้ว่าการรณรงค์ครั้งนั้นมีส่วนช่วยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นที่รับรู้ ให้ความจริงถูกบันทึกไว้ ให้ความรุนแรงไม่เงียบหาย เช่น ในอีกหลายกรณีที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ร่วมเคลื่อนไหวทั้งในเชิงป้องกันการละเมิด และอยู่เคียงข้างผู้ถูกละเมิด ให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง ดังเช่นตัวอย่าง กรณีของ สมชาย หอมลออ อดีตแกนนำนักศึกษาเดือนตุลาฯ หนึ่งในผู้ถูกล้อมปราบจนบาดเจ็บสาหัส ที่แอมเนสตี้ (หรือ ‘องค์การนิรโทษกรรมสากล’ ในขณะนั้น) ได้รวบรวมจดหมายจากสมาชิกทั่วโลกให้เขียนส่งมายังรัฐบาลไทย เพื่อกดดันให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง จนสมชาย หอมลออ ได้กลายมาเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้ง สมาชิก และที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนทำงานร่วมกับแอมเนสตี้จนถึงวันนี้

‘การเขียนจดหมาย’ เป็นอีกหนึ่งกระบวนการสันติวิธีที่แอมเนสตี้ใช้เสมอมา ทั้งในการกดดันผู้มีอำนาจและให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิในขณะเดียวกัน ตามชื่อแคมเปญระดับสากลของแอมเนสตี้ที่ชื่อว่า ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียนเปลี่ยนโลก’ ที่นอกจากการติดตามคดีการถูกละเมิดในประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการจับตาในระดับนานาชาติแล้ว แอมเนสตี้ยังทำหน้าที่รวบรวมจดหมายจากผู้คนทั่วโลก เพื่อส่งให้กับนักโทษทางการเมืองที่กำลังถูกดำเนินคดีอย่างไม่ชอบธรรมโดยตรง รวมทั้งเปิดให้มีการเขียนจดหมายเรียกร้อง ส่งตรงถึงเจ้าหน้าที่รัฐหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในคดีนั้นๆ โดยในแต่ละปี แอมเนสตี้แต่ละประเทศจะเลือกคดีจากต่างประเทศที่มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในประเทศของตน เพื่อเป็นการสื่อว่าการกดขี่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ใด ย่อมเป็นหน้าที่ของพลเมืองโลกในการออกมาปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการช่วยกันเคลื่อนไหว ในหลายครั้งที่ผู้คนในประเทศนั้นๆ มีข้อจำกัด ไม่สามารถต่อสู้กับคดีการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศของตนเองได้อย่างเสรี

ยกตัวอย่างแอมเนสตี้ประเทศไทยปีนี้ ที่ได้เลือกสามคดีของ

1. นัสซึมา อัลซาดา (Nassima al-Sadah) สตรีที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องมีฝ่ายชายเป็น ‘ผู้ปกครอง’ ในซาอุดิอาระเบีย

2. กลุ่มนักศึกษา METU ที่ชุมนุมอย่างสันติ จัดขบวนสื่อสารประเด็นความหลากหลายทางเพศในประเทศตุรกี แต่ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา และมีการจับกุมนักศึกษาจำนวนมาก

3. ฆาลิด ดราเรนี (Khaled Drareni) นักข่าวอิสระชาวแอลจีเรีย ที่ถูกจับกุมเพียงเพราะรายงานข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

จะเห็นได้ว่าทั้งสามกรณีนั้น แม้จะเกิดขึ้นในต่างประเทศ หากมีความละม้ายคล้ายคลึงกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิในประเทศไทยเช่นกัน การร่วมรณรงค์ ออกโรงปกป้องสิทธิให้กับกรณีทั้งสาม จึงเป็นการสื่อสารให้กับสถานการณ์ในประเทศไทยไปในตัว 

ในขณะที่แอมเนสตี้ประเทศไทยได้ช่วยเหลือเพื่อนต่างประเทศ นักโทษทางความคิดในไทยเองก็ได้รับการช่วยเหลือจากแอมเนสตี้ทั่วโลกทั้งจากแคมเปญ Write for Rights และการติดตามคดีของพวกเขาไม่ให้เงียบหายเช่นกัน ดังเช่นที่ครั้งหนึ่ง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หนึ่งในผู้ได้รับจดหมายจากแคมเปญ Write for Rights ได้กล่าวถึงความสำคัญของกำลังใจจากจดหมายว่า 

ทุกครั้งที่ได้รับจดหมายก็ดีใจทุกครั้ง เพราะเป็นความงดงามเดียวท่ามกลางความโหดร้าย” (5 เมษายน 2564) 

หรือสมยศ พฤกษเกษมสุข อีกหนึ่งอดีตนักโทษทางความคิดที่เล่าถึงการได้รับจดหมายในช่วงเวลาที่ถูกกุมขังเป็นเวลา 74 วันว่า 

จดหมายจากข้างนอกนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถอดทนกับความเลวร้ายทั้งมวล ไม่ว่าจะแรงกดดันเรื่องข้อจำกัดด้านอิสรภาพในคุก และความโดดเดี่ยวอันเนื่องมาจากมันไม่มีข่าวสารใดๆ ข้างในนั้นเขาไม่เปิดข่าวให้ เราก็เลยไม่รู้เรื่องราวจากภายนอกเลย มันจึงเป็นความรู้สึกที่อ้างว้าง ดังนั้น จดหมายนับเป็นกำลังใจให้เราพอจะทราบว่าเราไม่ถูกทอดทิ้ง เรายังมีคนร่วมสนับสนุน เป็นเพื่อน เป็นมิตรในการต่อสู้ร่วมกันกับเรา

ที่มา: Amnesty Thailand 

นอกจากกิจกรรมเขียนเปลี่ยนโลกแล้ว แอมเนสตี้ประเทศไทย ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังผลักดันงานด้านอื่นๆ เช่น ในช่วงสถานการณ์การละเมิดสิทธิในประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันงานด้านกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประกันตัว หรือการทำงานป้องกันการละเมิดเชิงรุก เช่น กิจกรรม Child in Mob (#ในม็อบมีเด็ก) เพื่อให้เยาวชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งยังคงร่วมรณรงค์ให้กับผู้ถูกละเมิดทางสิทธิ และครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น ในกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่หายตัวไปขณะลี้ภัยอยู่ในกัมพูชา จนการอุ้มหายกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ผู้คนจับตา และกดดันให้มีการค้นหาความจริง 

Cheers!

การรวมตัวกันผ่านหน้าจอของ สมชาย หอมลออ, สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม, รังสิมันต์ โรม, ชลธิชา แจ้งเร็ว, และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมที่เป็นทั้งผู้ปกป้อง ผู้ถูกละเมิด ผู้ได้รับความช่วยเหลือ และผู้ร่วมพันธกิจขจัดความไม่ยุติธรรม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ใด ร่วมกับแอมเนสตี้มาโดยตลอด การเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 60 ปี ที่แม้การกดขี่จะยังไม่หมดไป หากการรวมตัวกัน การอยู่ร่วมกัน แม้ทำได้เพียงผ่านจอ ก็นับเป็นการตอกย้ำความสำคัญของความร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศ และในระดับสากล การแปรเปลี่ยนอุดมการณ์เป็นการปฏิบัติการ และการร่วมกันเป็นดั่งแสงสว่าง ดังเช่นสัญลักษณ์เทียนไขที่ถูกล้อมด้วยลวดหนามของแอมเนสตี้ที่บอกกับเราว่า

หากอึดอัด หวาดกลัวในความมืด

จงยืนหยัด รวมตัวกัน

ส่องแสงสว่าง ท่ามกลางความอยุติธรรม

 

อ้างอิง

บทความ “The Forgotten Prisoners” (1961) เขียนโดย ปีเตอร์ เบเนนสัน ใน The Observer หาอ่านได้จาก https://www.amnesty.org/download/Documents/204000/act800011976en.pdf

มนุษย์กรุงเทพ. (6 ตุลาคม 2562). จาก https://web.facebook.com/bkkhumans/photos/a.1433077766976167/2489473671336566/ 

บทความ ‘จดหมายจากข้างนอก ทำให้วันในคุกมีความหมายขึ้นมา’ แกนนำและจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ (6 พฤษภาคม 2564) https://www.amnesty.or.th/latest/blog/869 

Fact Box

  • สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มาจากชื่อเต็มภาษาอังกฤษว่า Association of Amnesty International Thailand เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยดำเนินงานด้วยเงินบริจาคและค่าสมาชิกจากบุคคลทั่วไปเท่านั้น เพื่อยึดมั่นในความเป็นกลาง อิสระ โปร่งใสในการทำงาน ผู้สนใจร่วมสนับสนุนงานของแอมเนสตี้ สามารถสมัครเป็นสมาชิกทาง https://www.amnesty.or.th/become-member/
  • สัญลักษณ์ของแอมเนสตี้เป็นรูปเปลวเทียนลุกโชน ล้อมด้วยลวดหนาม มีความหมายว่าการเป็นดั่งแสงสว่างท่ามกลางความมืด จากการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการมีชีวิต ซึ่งสะท้อนหลักการทำงานของแอมเนสตี้ที่ทั้งสื่อสาร คัดค้าน รณรงค์ป้องกันการละเมิดสิทธิของบุคคลทุกคน ตลอดจนการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลไม่ว่าจะด้วยชาติกำเนิด เพศสภาพ หรืออุดมการณ์ทางความคิดใดๆ ผ่านการทำงานทั้งในระดับประเทศ และร่วมมือกันระดับสากล
  • Write for Rights คือหนึ่งในแคมเปญสากลหลักของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ชวนให้ผู้คนทั่วโลกเขียนจดหมายถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้พวกเขาหรือครอบครัวของพวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้อยู่เพียงลำพัง โดยนอกจากการเขียนเพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ถูกละเมิดแล้ว แอมเนสตี้ยังเปิดให้มีการเขียนถึงผู้มีอำนาจหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดนั้นโดยตรง เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งสารบอกไปยังผู้มีอำนาจว่ามีผู้จับตามองการกระทำของพวกเขาอยู่ และเป็นการสื่อสารแสดงออกอย่างเป็นเอกภาพในระดับสากลว่า พลเมืองโลกกำลังยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ใดก็ตาม ผู้สนใจมีส่วนร่วมในกิจกรรม Write for Rights สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง https://www.amnesty.or.th/get-involved/take-action/w4r20/
Tags: ,