รูปร่างหน้าตากลายเป็นปัญหาคาราคาซังของโลกมานานหลายยุคหลายสมัย บางยุคชื่นชอบผู้หญิงรูปร่างท้วม หลายช่วงเวลาคนมักชื่นชอบผู้หญิงตัวผอมบางรูปร่างเล็ก บางยุคชอบผู้ชายที่เนื้อตัวเต็มไปด้วยมัดกล้าม หรือชื่นชอบผู้ชายที่มีหนวดเครามากเป็นพิเศษ ค่านิยมความงามในแต่ละสังคมหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ ช่วงหนึ่งหน้าตาแบบหนึ่งจะได้รับความนิยมมากกว่าอีกแบบ หรือรูปร่างแบบหนึ่งจะเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าอีกแบบ
แต่ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนค่านิยมความงามไปกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง คนบางกลุ่มก็ไม่เคยถูกเหลียวแลหรือเล็งเห็นคุณค่าในตัวของพวกเขาเลยสักครั้ง เพียงเพราะไม่ตรงตามค่านิยมความงามของสังคม
From The Desk สัปดาห์นี้ พูดถึงเรื่องราวของการล้อเลียน เสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ถึงคนอื่นๆ ในโซเชียลมีเดีย กับการตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีรูปร่างหน้าตาที่งดงามตามสังคมกำหนด ก็จะต้องเหนื่อยตลอดไปจริงหรือ ไปจนถึงเรื่องการวิจารณ์ความไม่เหมาะสมของคู่รักหลายคู่ ที่ต้องถามกันอีกครั้งว่า ต้องมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน พวกเขาถึงจะเหมาะสมกัน หรือคนเราจะยินดีกับความรักของคนอื่น โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์หรือความเหมาะสมของพวกเขาได้ไหม
หากไม่งดงามก็ต้องเหนื่อยตลอดไป?
“หน้าเหมือนคางคก ตัวก็เตี้ยป้อมเหมือนคางคก”
“อ้วนจัง ถ้าผอมจะสวยกว่านี้มาก”
“ก้นลายขนาดนี้ทำไมถึงกล้าใส่ชุดว่ายน้ำที่เห็นก้น”
“ต้นคอดำปี๋ เห็นแล้วเหม็นเขียวขมคอ”
เมื่อเรือนร่างของหลายคนมีข้อตำหนิมากมายที่ไม่ถูกต้องตรงกับค่านิยมความงามของสังคมไทย ท่ามกลางการตัดสินที่มักจะเติมคำว่า ‘เกินไป’ ต่อท้ายคำคุณศัพท์ที่บอกลักษณะของบุคคล เช่น ผอม ก็จะเป็น ‘ผอมเกินไป’ หรือ สูงเกินไป เตี้ยเกินไป ตัวใหญ่เกินไป หน้าอกใหญ่เกินไป หน้าอกเล็กเกินไป สิวเยอะเกินไป ฟันเกเกินไป และอีกมากมายที่พอจะนึกออก เวลาที่วิจารณ์รูปร่างหน้าตาของคนอื่นว่าเป็นไปตามที่เราชอบหรือไม่
เมื่อยกตัวอย่างไล่เรียงลักษณะที่ ‘เกินไป’ ก็จะต้องมีเสียงจำนวนมากคัดค้านตามหลังว่า ไม่ถูกต้องทั้งหมด เป็นการเหมารวม หรือ มองโลกแบบแคบๆ เป็นแน่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในสังคมนี้ยังมีคนอีกมากที่ถูกมองข้าม ถูกวิจารณ์ ถูกทำให้เสียใจ เพียงเพราะพวกเขาไม่ตรงตามกรอบความงาม และการมองข้ามอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าหดหู่น้อยใจมากเท่ากับการดึงลักษณะต่างๆ ที่สังคมบอกว่าเป็น ‘จุดด้อย’ มาล้อเลียนเพื่อความสนุกสนานที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสนุกไปด้วย จนคนที่ถูกบอกว่าตัวเองมีจุดด้อย กลายเป็นคนที่มี ‘ปมด้อย’ เพียงเพราะสังคมบอกว่าเขาด้อย และนำสิ่งเหล่านั้นมาล้อเลียนเสียดสี
เราจะเห็นว่าพอแซวแล้วมีคนไม่สนุกด้วย ก็จะต้องตบท้ายทำนองว่า “ที่พูดว่าน่าเกลียดคือล้อเล่นสนุกๆ นะ อย่าคิดมาก” เป็นแพตเทิร์นที่พบบ่อยมากในหลายวงสนทนา
เมื่อคนที่ไม่ตรงตามมายาคติความงามรู้สึกว่าทนฟังเสียงวิจารณ์เหล่านี้ไม่ไหวอีกต่อไป หลายคนเริ่มหันมาทำบางอย่างกับตัวเอง พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้าไปสู่ความงามกระแสหลักให้ได้มากที่สุด บางคนสีผิวไม่ตรงตามความชอบของสังคม ก็พยายามหาทางทำให้ผิวของตัวเองกลายเป็นแบบที่คนรอบข้างต้องการจะมองเห็น หรือคิดว่าตัวเองมีใบหน้าใหญ่เกินไป จึงจำเป็นต้องเก็บเงินเข้าคลินิกเสริมความงาม ทั้งหมดเพื่อทำให้ตรงกรอบความงามที่เป็นมติสังคม ทำให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจ หรือเพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้
บางคนมีน้ำหนักส่วนสูงที่เป็นปกติ แต่บริบทรอบตัวหล่อหลอมให้คิดว่าตัวเองอ้วนเกินไป ก็โหมลดน้ำหนัก อดอาหาร ทำทุกอย่างเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองผอมลง ใช่ – การออกกำลังกายเป็นเรื่องดี การคุมอาหาร กินแต่ของที่มีประโยชน์ตามโภชนาการ เป็นสิ่งที่ดีกับตัวเอง ซึ่งทุกคนต่างรับรู้ตรงกัน หรือการพยายามปรับภาพลักษณ์ เข้าคลินิกเพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้นเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะส่งผลบวกด้านความมั่นใจ
แต่ภายใต้ความกดดัน ล้อเลียน และเสียงค่อนแคะ ทำให้หลายคนที่ทนฟังมานานพยายามหาทางลัดหรือเร่งรัดตัวเองมากไป จนนำไปสู่ความสูญเสียที่เจ้าของร่างกายต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว มิหนำซ้ำ คนรอบตัวก็ยังวกกลับมาตำหนิติเตียนอีกว่า โง่เขลา อยากงดงามจนไม่ดูตาม้าตาเรือ กระหน่ำซ้ำเติมคนคนหนึ่งได้ทุกมิติของชีวิตเขา
จึงต้องหวนกลับมาคิดว่า การที่คนคนหนึ่งต้องการจะดูดีแม้จะต้องทำตัวตามกรอบความงามที่สังคมกำหนด ก็ควรให้เขาคิดและปรับตัวเองตามความพึงพอใจของพวกเขา ไม่ใช่จำเป็นต้องทำเพราะถูกล้อเลียน หรือเพราะเป็นพื้นที่ให้ใครก็ตามพูดจาแย่ๆ วิจารณ์หน้าตาและเรือนร่างหรือไม่
ต้องมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน เราถึงจะเหมาะสมกัน
“รูปร่างหน้าตาแบบนี้จะหาแฟนยังไงล่ะ”
“เพราะเป็นแบบนี้ไง ถึงไม่มีใครเอา”
ยอมรับเถอะว่าเราเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้ผ่านหูสักครั้งจริงๆ คำพูดที่วิจารณ์คนที่ไม่ตรงกรอบความงามและยังไม่มีคนรัก ยังไม่แต่งงาน หรือยังไม่มีครอบครัว
“คู่นี้ไม่เหมาะสมกันเลย เสียดายอีกฝ่ายจัง”
“อ้วนแล้วยังเรื่องมากอีก ได้ขนาดนี้ก็บุญแล้ว”
กลายเป็นว่าวันหนึ่ง คนที่ไม่ตรงกรอบความงามที่ว่ามีคนรัก แล้วดันเป็นคนรักที่งดงามตามค่านิยม เสียงวิจารณ์ก็ยังไม่หายไปอยู่ดี แต่อาจถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกแปลกใจหรือเสียดายกับอะไรก็ไม่รู้
ถ้อยคำเหล่านี้ผ่านมาให้เห็นหลายยุคหลายสมัย ใจความยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป จนโลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบันตระหนักถึงเรื่องสิทธิในเรือนร่าง และความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เวลาเดียวกันก็ทำให้หลายคนพิมพ์คำวิจารณ์แย่ๆ ได้ง่ายขึ้นมาก จนเริ่มเกิดการตั้งคำถามว่าคนเราจะถูกสงสัยไปอีกนานแค่ไหน
ตอนไม่มีแฟนก็ถูกถามอยู่นั่นว่าเมื่อไหร่จะมีแฟน ถูกสบประมาทว่าอาจจะหาได้ยากหน่อยเพราะหน้าตาแบบนี้ รูปร่างแบบนี้ พอคนที่เคยโดนวิจารณ์มีแฟน ก็มิวายได้รับคอมเมนต์อีกว่า “ดีแล้วที่ยังพอขายออก” หรือถ้ามีแฟนที่หน้าตาดีตรงตามมาตรฐานที่ใครก็ไม่รู้กำหนดขึ้นมา ก็จะได้รับความคิดเห็นทำนองเสียดายอีกฝ่าย แสดงความไม่เชื่อ แสดงความประหลาดใจ และเริ่มคุยกันถึงความเหมาะสมของคู่รักที่พวกเขาตัดสินว่าต่างกันราวฟ้ากับเหว
ตกลงโลกใบนี้ต้องการอะไรจากพวกเขากันแน่?
หลายครั้งที่สังคมไทยจะได้ยินบทสนทนาเกี่ยวกับความเหมาะสมของคู่รัก บางคนวิพากษ์ถึงความเหมาะสมของคู่รักใกล้ตัว หลายคนกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของคู่รักของคนมีชื่อเสียง ซึ่งความไม่เหมาะสมที่ว่านั้นส่วนใหญ่วัดจาก ‘รูปร่างหน้าตา’ เป็นหลัก เพราะหน้าตาหรือบุคลิกคือสิ่งแรกๆ ที่คนนอกความสัมพันธ์ หรือคนที่ไม่รู้จักมักจี่กันจริงจังจะมองเห็นก่อนเป็นอย่างแรก
หากคิดว่าคนที่ไม่ตรงตามความงามกระแสหลักโดนหนักแล้ว ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่งดงามตามกรอบจารีตก็ได้รับผลกระทบแบบคูณสองเข้าไปอีก พวกเขาจะโดนโจมตีทั้งการที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศแต่กำเนิด และรูปร่างหน้าตาที่ไม่สวยไม่หล่ออย่างที่กำหนดไว้
“คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศหรอก เพราะส่วนใหญ่สนับสนุนแค่คนหน้าตาดีสองคน ที่เล่นเป็นคู่รัก”
“ประเทศไทยเปิดกว้างแต่ไม่เปิดรับอย่างแท้จริง เขายอมรับแค่คนที่ตรงตามบิวตี้สแตนดาร์ดเท่านั้น ถ้าไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาที่ตรงตาม บิวตี้สแตนดาร์ดก็โดนเหยียดอีก”
“ที่บอกคนไทยเปิดกว้างนี่โคตรตอแหล แค่รู้ว่าใครสักคนไม่ได้ตรงตามสแตนดาร์ดทางเพศของเขาก็จะเริ่มตั้งคำถาม ขนาดคนที่ตรงบิวตี้สแตนดาร์ดยังโดนเมนต์ว่าเสียดาย สรุปแล้วบ้านเราส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองว่า LGBTQ+ เป็นเรื่องปกติในสังคม หลอกตัวเองทั้งนั้น ปากบอกไม่เหยียดแต่…”
ความคิดเห็นเหล่านี้คือการวิพากษ์วิจารณ์สังคม และตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องราวทำนองนี้ถึงเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น
ไม่นานมานี้ เราจะเห็นข่าวคู่รัก LGBTQ+ ที่ถูกผู้คนพูดถึงอยู่หลายคู่ ทั้งคู่ที่เพิ่งเริ่มคบหา คู่ที่คบกันมาพักใหญ่ หรือคู่ที่กำลังจะแต่งงานกัน ท่ามกลางคอมเมนต์ดีๆ ที่แสดงความยินดีกับชีวิตรักที่เดินทางร่วมกันมาอย่างยาวนาน หรือแสดงความยินดีกับรักครั้งใหม่ของคู่รักใหม่ แต่ก็ยังคงมีหลายเสียงที่แสดงความประหลาดใจ บางคนตกใจจนต้องถามว่า “เขาเป็นเหรอ” หรือสงสัยในรายละเอียดลงลึกว่า “ใครเป็นรุก ใครเป็นรับ” ที่ทำให้เกิดการวิจารณ์ต่อเป็นทอดๆ ไม่รู้จบว่า คำถามแบบนี้ควรจะถามจริงหรือ
เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่คนจำนวนมากในสังคมไทยชื่นชอบที่จะดูซีรีส์วาย รู้สึกคันยุบยิบในหัวใจที่ผู้ชายรูปร่างสูงโปร่ง หน้าตาดีตามค่านิยมความงาม 2 คนมีความรักให้กัน แต่พอเป็นคู่รักเพศเดียวกันทั่วไปที่มีหน้าตาไม่ตรงกับที่คาดหวัง ความผิดหวังก็สาดเทไปที่พวกเขาโดยที่ยังไม่ทันได้ทำอะไรให้ใครผิดหวังด้วยซ้ำ
บางส่วนมองว่าปัญหาที่ว่าเกิดจากหลายอย่างหลอมรวมกัน และ soft power ก็มีส่วนสำคัญที่กล่อมเกลาสังคมให้มองแค่คนหน้าตาดี 2 คนมีความรักให้กัน ไม่ว่าจะคู่รักชาย-หญิง คู่รักชาย-ชาย คู่รักหญิง-หญิง หรือคู่รักอื่นๆ แต่ยิ่ง LGBTQ+ ไม่ตรงตามความคาดหวัง ก็จะถูกมองเลยผ่านไป ถูกมองข้าม หรือนำมาล้อเลียนอย่างสนุกสนาน
หลายครั้งการวิจารณ์ในทางลบเกิดขึ้นเพราะความผิดหวังที่หน้าตาไม่ดี ผิดหวังที่เป็น LGBTQ+ ผิดหวังที่ดูแล้วทั้งคู่ไม่เหมาะสมกัน มีแต่ความผิดหวังเผยออกมาให้เห็นอยู่ไปหมด
คิดในทางกลับกัน เราจะยินดีกับความรักของคนอื่น โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์หรือความเหมาะสมของพวกเขาได้ไหม
ไม่ใช่แค่ไทย แต่ที่ไหนก็มีเรื่องแบบนี้
ประเทศอื่นๆ ก็มีค่านิยมทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นในไทย เห็นได้จากบทความต่างประเทศชิ้นหนึ่งที่เล่าถึงภาพโปสเตอร์หนุ่มหล่อเปลือยท่อนบนโชว์มัดกล้าม หรือผู้หญิงรูปร่างสมส่วนหน้าตาโดดเด่น ถือเป็นตัวแทนของความภาคภูมิใจ เป็นความสมบูรณ์แบบที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งกับคนทั่วไปและกับชุมชนเพศทางเลือก
ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนจะตรงกับมาตรฐานความงามไปเสียหมด สิ่งสำคัญที่มีส่วนหล่อหลอมสังคมให้มีความคิดความเข้าใจถึงค่านิยมความงาม คือ ‘สื่อ’ ที่นำเสนอว่าแต่ละยุคสมัยควรให้ความนิยมกับความงามแบบใด ผู้คนที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดสิทธิในเรือนร่าง แม้แต่คนในขบวนที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เริ่มรู้สึกไม่เห็นด้วยที่สื่อมักพยายามนำเสนอคนหน้าตาดีอยู่ตลอดเวลา รวมถึงชี้นำว่าแบบไหนคือความงามที่งดงามที่สุด ส่วนคนที่ไม่ตรงตามนิยามก็จะถูกจัดไปอยู่ชายขอบ ถูกมองข้าม หรือบางทีก็จะถูกทำให้เด่นขึ้นด้วยการนำสิ่งที่คิดว่าเป็นจุดด้อยมาล้อเลียน ทำให้เป็นเรื่องตลกไปเลย
การหยิบคนรูปร่างแบบเดียวมานำเสนอ สร้างมายาคติว่าสังคมจะต้องมีรูปร่างหน้าตาได้ไม่กี่แบบ หรือบอกว่าแบบไหนคืออัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริงเอามากๆ ในสังคมที่เต็มไปด้วยมนุษย์ที่มีรูปร่าง หน้าตา และบุคลิกที่หลากหลาย
เมื่อลองมองเรื่องค่านิยมความงามกับ LGBTQ+ โดยเฉพาะ จะพบว่าในช่วงต้นของกระแส LGBTQ+ ที่มาแรงมากขึ้นทุกวัน อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะหยิบเอาตัวละครชายผิวขาวที่รูปร่างดี 2 คน มานำเสนอเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ การเห็นคนหน้าตาดี 2 คนที่เป็นเพศเดียวกันรักกันมากขึ้น บ่อยเข้าจะสร้างค่านิยมในหัวของทุกๆ คนว่าอะไรคือความเหมาะสม แบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าเป็นรักที่สวยงาม เพียบพร้อม และพอจะให้อภัยได้ (ในมุมมองของผู้ต่อต้านเกย์และผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมหน่อยๆ)
บ่อยครั้งที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในหลายประเทศ เกิดขึ้นจากความต้องการส่งเสริมให้ LGBTQ+ ทุกคนมีความภาคภูมิใจในเพศของตน แต่หลายครั้งอาจลืมเรื่องที่ว่า การให้คนในคอมมูนิตี้ที่รูปร่างดี หน้าตาดี ดูเป็นปกติที่สุด ยืนถือธงสีรุ้งอยู่หัวแถวของขบวนก็ส่งผลเสียสาหัส เหมือนในกรณีที่ มาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) สตรีข้ามเพศและนักเคลื่อนไหวเพื่อ LGBTQ+ เคยถูกคนในคอมมูนิตี้เดียวกันร้องขอให้อยู่ท้ายขบวน เพราะรู้สึกไม่สบายใจที่จะนำเสนอเธอให้คนอื่นๆ มองเห็น และไม่อยากถูกสร้างภาพจำว่า LGBTQ+ จะต้องมีลักษณะแบบเธอ
ความพยายามนำเสนอตัวตนตามค่านิยมความงาม การตัดสินจากรูปร่างหน้าตาว่าใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ทำให้หลายคนรู้สึกไม่เข้าพวก จากเดิมที่ก็ไม่ได้เข้าพวกในสังคมใหญ่อยู่แล้ว พอมาอยู่ในสังคมชายขอบด้วยกันเองก็ยังคงรู้สึกแบบเดิม เพราะพวกเขาไม่สามารถภาคภูมิใจในรูปลักษณ์ของตัวเองได้
“เรายังคงเห็นการตีตรา เห็นความลำเอียงในกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยกันเอง และเรื่องพวกนี้มีอิทธิพลกับตัวฉันไม่น้อย ทำให้รู้สึกคิดมากว่าควรจะแสดงรสนิยมทางเพศออกมาไหม คิดว่าคนจะยอมรับได้ไหมที่เป็นแบบนี้แถมยังหน้าตาไม่ดีอีก” – ผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ประสงค์ออกนาม อธิบายถึงค่านิยมความงามที่ส่งผลต่อตัวของเขา
วันเวลาผ่านไป หลายคนตระหนักรู้เกี่ยวกับเรือนร่างและความหลากหลายมากขึ้น แต่ยังมีอีกมากที่เคยชินกับการล้อเลียนสิ่งที่ตัวเองเห็นและตัดสินแล้วว่าเป็นปมด้อย ส่วนหนึ่งก็มาจากค่านิยมเก่า ความไม่เข้าใจ แนวคิดของผู้คนที่คลุกคลีอยู่ด้วยกันบ่อยๆ และการถูกหล่อหลอมจาก Soft Power สะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีคนอีกมากในสังคมที่ให้คุณค่ากับคนที่หน้าตาตรงกับค่านิยมความงาม
ไม่ได้หมายความว่าชายหญิงหน้าดี หรือ LGBTQ+ ที่หน้าตาตรงตามความนิยมจะไม่ถูกล้อเลียนเสียดสี ทุกคนมีโอกาสที่จะถูกนินทาหรือล้อเลียน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในสังคมนี้ พวกเขาถูกกระทำน้อยกว่าคนที่หน้าตาไม่ตรงกับความงามที่สังคมกำหนดไว้จริงๆ
ปัญหาเหล่านี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกยุคทุกสมัย ที่อาจทำให้เราทุกคนจะต้องหวนกลับมาคิดอย่างจริงจังว่า ที่ผ่านมาเคยเมกฟันรูปร่างของใคร เคยแสดงความคิดเห็นทำนองนี้กับใครหรือไม่ แล้วในวันข้างหน้า เรื่องราวแบบนี้จะเกิดขึ้นตลอดไปหรือไม่ และเราสามารถหาทางออกกับปัญหาที่ทำให้มีคนเจ็บช้ำได้มากน้อยแค่ไหน
อ้างอิง
https://www.gq.com/story/why-body-image-issues-pervade-the-gay-community
Tags: ความหลากหลายทางเพศ, The Proud of Pride, ความเท่าเทียมทางเพศ, บูลลี่, From The Desk, ตรีนุช อิงคุทานนท์, ค่านิยมความงาม, มาตรฐานความงาม, LGBT, หน้าตาดี, ความงาม, Beauty Standard, LGBTQ, ล้อเลียนเสียดสี