คุณคิดว่าจะจำกัดความปีที่ผ่านไปอย่างไรดี” แหล่งข่าวคนหนึ่งถามผมในห้วงเวลาสุดท้ายของสิ้นปีนี้ ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและช่วงเวลาของการทบทวนตัวเอง
ระหว่างที่นั่งประมวลเหตุการณ์ ผมนั่งอ่านดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) เล่มล่าสุด ที่ประเมินสถานการณ์ทั่วโลก ก็เห็นว่าสถานการณ์ไม่ได้ต่างจากเมืองไทยเท่าไรนัก
2024 เป็น ‘ปีที่วุ่นวาย’ และทำให้ความจริงบางอย่างปรากฏให้เห็น คือคำนิยามของปีนี้ที่ดิอีโคโนมิสต์ให้คำจำกัดความ
แน่นอนว่าเรื่องใหญ่ของโลกปีนี้ คือการชนะเลือกตั้ง (อีกรอบ) ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ของสหรัฐอเมริกา และการสู้รบกันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ รวมถึงการล้มระบอบเก่าในซีเรีย
กลับมาที่ประเทศไทย ความยุ่งเหยิงและวุ่นวายเกิดขึ้นไม่แพ้กัน เอาเข้าจริงปีนี้เป็นปีที่หลายคนเห็นตรงกันว่า เป็นช่วงเวลาอันยากลำบากที่สุด เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ยังโงหัวไม่ขึ้น หากมองไปในระยะยาว เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีแต่ปัญหา อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยเป็นตัวชูโรงกลายเป็นปัญหาใหม่ หนี้ครัวเรือนที่สูงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจภาพรวมชะงักงัน ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้กับยานยนต์ ยอดขายรถกระบะต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่บ้านและอสังหาริมทรัพย์ก็เผชิญกับความยากลำบากเช่นเดียวกัน ปีนี้กำลังซื้อชะลอตัว ทำให้ซัพพลายล้นเกินดีมานด์ บ้านสร้างใหม่เหลือมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์
โลกกำลังพูดถึงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ไม่ว่าจะเป็นการผลิตวัสดุเชิงก้าวหน้า (Advanced Materials) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) แต่กลายเป็นว่าเรื่องเหล่านี้ ไทยตามหลังประเทศชั้นนำนานเป็นสิบปี กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศก็ไปเร็วกว่า โดยเป็นผลพวงโดยตรงจากปัญหาการเมืองที่เรื้อรัง จนไม่สามารถตามโลกได้ทัน
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จะเปลี่ยนโลกนี้ให้หลายเรื่องยากขึ้นและท้าทายขึ้น การที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี และคงนโยบาย ‘America First’ ย่อมส่งผลกระทบกับไทย ในฐานะประเทศที่ส่งออก ‘เกินดุล’ กับสหรัฐฯ มากที่สุด กระทั่งกับจีน สิ่งที่เราเจอแล้วและจะเจอหนักหน่วงขึ้นก็คือ สินค้าจีนจะเข้ามาทำตลาดอย่างหยุดไม่อยู่ หากเราตั้งหลักไม่ดี การไหลทะลักของสินค้าจีนจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยปัจจัยทั้งหมด หากคนรุ่นผมที่เป็น ‘รุ่นกึ่งกลาง’ ว่าน่าสงสารแล้ว เด็กรุ่นใหม่ยิ่งน่าสงสารกว่า ผมพบว่า เด็กเจน Z ที่หลายคนบอกว่าเป็น ‘ตัวปัญหา’ นั้น อันที่จริงลำบากไม่น้อย การเข้าสู่ตลาดแรงงานของพวกเขาอยู่ท่ามกลางความเหนื่อยล้า มีตำแหน่งงานรองรับเพียงน้อยนิด วงการสื่อที่ผมอยู่ คือช่วงเวลาที่หดหู่ที่สุดในประวัติการณ์ เราเคยเจอช่วงที่หนังสือพิมพ์ปิดตัวเมื่อหลายปีก่อน แต่ในเวลานี้วงการทีวีที่เคยมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล-อู้ฟู่ กำลังเจอวิกฤตแบบเดียวกัน ขณะที่เวลาที่ผมเขียนอยู่นี้ ยังเจออีกหลายๆ คนที่ออกจากอาชีพนี้ไปเสี่ยงดวงกับสายงานอื่น
ในวงการสื่อ เราไม่ได้เจอปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจากเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เจอเรื่องผีซ้ำด้ำพลอยจากพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยน แพลตฟอร์มที่ปรับอัลกอริทึมตลอดเวลา วงการอื่นๆ เป็นต้นว่า ยานยนต์ อาจเจอ Disruptive ทุก 5-10 ปี แต่วงการสื่อเจอเรื่อง Disrupt ทุกๆ ปี หรืออาจจะทุกครึ่งปีเสียด้วยซ้ำ
ข้อสำคัญคือเราจะ ‘ยืดหยุ่น’ อย่างไร ในโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เราจะประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างไรในแวดวง ในวงการที่เรากำลังยืมจมูก ‘แพลตฟอร์ม’ เพื่อหายใจ หรือเราจะหา Business Model อย่างไร เพื่อให้วงการนี้อยู่รอดไปด้วยกัน
เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบง่ายๆ
ขณะที่ปัญหาการเมือง เรายังอยู่ในระบอบที่ไม่สามารถตั้งชื่อได้ต่อไป ไม่ว่าอย่างไร ระบอบการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วไม่ได้เดินไปด้วยเสียงของประชาชน หากแต่เดินไปด้วยเสียงของชนชั้นนำ ด้วยเหตุนี้ระบอบการเมืองแบบกระท่อนกระแท่นจึงเกิดแรงปะทุได้เสมอ
แรงปะทุอย่างหนึ่งก็คือ การหลุดจากตำแหน่งของ เศรษฐา ทวีสิน และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตร รวมไปถึงการยุบพรรคก้าวไกลด้วยฝีมือของกลไกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างศาลรัฐธรรมนูญ แรงปะทุที่จะตามมาคือสารพัดเรื่องราวที่คาอยู่ยังองค์กรอิสระและศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับความเปราะบางของรัฐบาลข้ามขั้ว ที่แม้ว่าโอกาสยากที่รัฐบาลจะล้ม จะยุบสภาฯ แต่หน้าตารัฐบาลที่เปราะบางแบบนี้ ก็ยากที่จะขับเคลื่อนเรื่องอะไรได้
ในฐานะนักข่าวการเมือง ผมคิดว่าสภาพรัฐบาลเช่นนี้ง่อนแง่นไม่ต่างกับช่วงทศวรรษ 2530 ที่เต็มไปด้วยการต่อรอง-แบ่งสันปันส่วนของรัฐบาลผสมต่างพรรค ที่ใช้ตัวเลขเพื่อแบ่งกระทรวงเกรดเอกันสร้างประโยชน์เฉพาะหน้าให้ตัวเองเท่านั้น แต่เรื่องยิ่งซับซ้อนมากกว่าเดิม เพราะยังมี ‘กลุ่มทุน’ ที่เลี้ยง ส.ส.ของตัวเองไว้เป็นตัวแปร และยังมีอำนาจนอกระบบที่มองไม่เห็นคอยกำหนดความเป็นไปของการเมือง
ด้วยเหตุนี้การแก้รัฐธรรมนูญจึงยังเป็นวาระใหญ่ ที่แม้ทุกพรรคจะ (เคย) เห็นพ้องต้องกันตอนห้วงเวลาก่อนเลือกตั้ง แต่เมื่อเจอระบบการเมืองพิกลพิการแบบนี้ ซ้ำบางพรรคการเมืองยังมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นจากการ ‘แฮ็ก’ ระบบเลือกสมาชิกวุฒิสภาสำเร็จ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงยังเป็นเรื่องห่างไกล และอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยซ้ำ เมื่อผ่านเวลาไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า ด้วยต้องใช้เสียงวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
เรื่องน่าเศร้าก็คือ ในขณะที่เราเห็น ‘ความหวัง’ จากการชุมนุมในปี 2563-2564 ที่ตั้งใจให้การเมืองดีขึ้น และคำว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ เป็นหนึ่งในคำขับเคลื่อนสำคัญ รวมถึงเป็นจุดที่ทำให้ผมกลับมาเป็น ‘นักข่าว’ อีกครั้ง แต่ดูเหมือนแสงสว่างจากเมื่อ 4 ปีก่อนจะมลายหายไปโดยสิ้นเชิง เราอยู่ในระบอบการเมืองที่ยังตอบไม่ได้ว่าดีกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนหรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดก็คือคนที่เคลื่อนไหวด้วยความหวังเมื่อหลายปีก่อน ส่วนหนึ่งยังอยู่ในเรือนจำ ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ โดยที่กระบวนการ ‘นิรโทษกรรม’ ที่หลายคนคิดว่าจะเชื่อถือได้ หลัง ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ชนะการเลือกตั้ง ถึงวันนี้ก็ยังคงลอยอยู่ในอากาศ
ขณะที่อีกเรื่องใหญ่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือปัญหาสิ่งแวดล้อม เราอยู่ในโลกที่แปรปรวน ในปีนี้ อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไม่ใช่แค่รอบเดียว แต่เป็น 6-7 รอบ น้ำท่วมที่อำเภอเมืองเชียงรายแบบ ‘น้ำป่า’ พร้อม ‘ดินโคลน’ แบบกะทันหัน หรือน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่เกิดขึ้น 2 รอบ ในรอบ 2 สัปดาห์ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน ทั้งหมดยังไม่นับรวมปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความถี่มากขึ้น รุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลกระทบจากภาวะโลกรวน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง
ยังไม่นับรวมการปล่อยมลพิษ ที่สร้างผลกระทบไปยังฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เช้าวันนี้ กรุงเทพฯ มีสีแดงเถือกจากฝุ่นพิษ และอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้าจะเป็นคิวของภาคเหนือ ที่ต้อง ‘ดับไฟป่า’ กันทุกปี ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าเพียงไหน แต่ผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก็จะส่งผลกระทบกับทุกชีวิตต่อไป
ชัดเจนว่า การ ‘ตระหนักรู้’ เพื่อให้คนสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องการนโยบายที่ก้าวหน้ากว่านี้ ชัดเจนกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่ทั้งหมดกลับมาที่สภาพงูกินหาง รัฐบาลเช่นนี้แทบจะไม่สามารถผลักดันเรื่องใหญ่ๆ เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ และไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญเท่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่แย่กว่าก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยุคนี้ไม่ชัดเจนนักว่า มีนโยบายเรื่องเหล่านี้อย่างไร เรื่องที่คนพูดถึงรัฐมนตรี มีแต่บอกว่ามาจาก ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ อันเป็นพรรคเก่าแก่ และในรัฐบาลหน้า ก็ไม่รู้พรรคนี้จะยังมีอยู่หรือไม่ เท่านั้นเอง
หาก 2023 คือปีแห่งความเปลี่ยนแปลง 2024 คือปีแห่งความผันผวน และ ‘ยุ่งเหยิง’ ของจริง เราเจอวิกฤตที่รายล้อมตัวรอบด้าน เราเจอระบบหลายอย่างที่ตีบตัน ยังไม่มีทางออกให้แก้ไข ‘ความหวัง’ ยังคงเป็นเรื่องที่หาได้ยากตามเดิม สิ่งสำคัญก็คือเรา ‘ทำความเข้าใจ’ กับสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นได้เพียงไหน แล้วจะ ‘ทำใจ’ และ ‘ปรับตัว’ อยู่กับสภาพแบบนี้ได้อย่างไร
แต่ข้อสำคัญก็คือ เรายังมีชีวิตรอดต่อไป โลกเคยเจอห้วงเวลาที่แย่กว่านี้ สิ้นหวังกว่านี้ จะดีจะเลวแค่ไหน เราก็ยังไม่ได้รบกันยืดเยื้อเหมือนช่วงสงครามโลก วิกฤตเศรษฐกิจจะหนักหนาเพียงใด ก็ไม่สู้ที่เราเคยเจอเมื่อช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่สถาบันการเงินล้มระเนระนาดกันหลายแห่ง และต่อให้ ‘โลกรวน’ อย่างไร เราก็ยังไม่ได้เจอมหาอุทกภัยแบบปี 2554
ขณะเดียวกันในประเทศที่อยู่กับวงจรการรัฐประหารบ่อยๆ เรายังได้เจอ ‘ความหวัง’ แบบที่ประชาชนเกาหลีใต้ทำให้เห็น วันที่ประธานาธิบดีประกาศกฎอัยการศึก เราได้เห็นว่าในที่สุด ‘ประชาชน’ ก็เอาชนะได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ และสุดท้าย ประชาชนก็สู้กลับการรัฐประหารได้เช่นเดียวกัน
เป็นเรื่องปลอบใจเล็กๆ ก่อนจะหมดปี 2024 และเราหวังว่า ปีหน้าจะมีเรื่อง ‘ปลอบใจ’ และทำให้เรามองโลกในแง่ดีได้มากกว่านี้