“วิถีการผลิตของชีวิตทางวัตถุกำหนดกระบวนการทั่วไปของชีวิตทางสังคม การเมือง และภูมิปัญญา จิตสำนึกของมนุษย์จึงไม่ใช่สิ่งกำหนดการดำรงอยู่ของตัวเขา หากแต่การดำรงอยู่ทางสังคมของเขาต่างหากที่กำหนดจิตสำนึกของเขา”

— Karl Marx, A Contribution to the Critique of Political Economy ถอดความโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากบทนำของ การก่อรูปของระบบเศรษฐกิจก่อนทุนนิยม (คาร์ล มาร์กซ, สำนักพิมพ์สมมติ, 2561)

หากจะสรุปอย่างง่ายๆ —มาร์กซ์มองว่า จิตสำนึกของมนุษย์ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างไร แต่สังคมและวัตถุที่แวดล้อมเราอยู่ต่างหาก ที่เป็นตัวกำหนดจิตสำนึกของเรา

ในปี 1995 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้ว บทความวิชาการน้ำเสียงดุดันของนักประวัติศาสตร์นามแพทริก จอยซ์ (Patrick Joyce) ในชื่อว่า ‘The end of social history?’ [1] ได้ถูกตีพิมพ์ลงใน Journal of Social History ก่อนที่ในปีเดียวกันนี้ อีกสองนักประวัติศาสตร์ จอฟฟ์ เอลี่ย์ (Geoff Eley) และคีธ นีลด์ (Keith Nield) จะออกมาโต้กลับด้วยอีกบทความที่มีน้ำเสียงดุดันไม่แพ้กันในวารสารฉบับเดียวกัน โดยบทความนั้นมีชื่อว่า ‘Starting over: the present, the post-modern and the moment of social history’ [2]

จอยซ์ได้เสนอว่า Social History หรือ ‘ประวัติศาสตร์ของสังคม’ ในแบบที่ social historians ยังคงศึกษากันอยู่ในยุคนั้น หรือกล่าวให้เจาะจงลงไปเลยก็คือ การที่ชนชั้น ทฤษฎีมาร์กซิสม์ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism—ปรัชญาที่ว่าด้วยอำนาจของ ‘วัตถุ’ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคหรือเทคโนโลยีต่างๆ ในการเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้ชีวิตของมนุษย์และความสัมพันธ์ของคนในสังคม จนกำหนดเส้นทางเดินให้กับ ‘ประวัติศาสตร์’ ได้ในท้ายที่สุด) ได้ถูกใช้เป็นปัจจัยหลักในการวิเคราะห์และวิพากษ์ความเป็นไปของสังคม และเป็นลูกหลานของ ‘ความเป็นสมัยใหม่’ (Modernity) ซึ่งจอยซ์มองว่า ‘แคบ’ และ ‘หมดยุค’ ไปแล้ว

นอกจากนั้นเขายังกล่าวต่อไปอีกว่า ในฐานะผู้สนับสนุนโพสต์โมเดิร์นนิสม์ เขาคิดว่า นักประวัติศาสตร์ไม่ควรมองแค่ ‘ประวัติศาสตร์’ แค่ในตัวของมันเองอีกต่อไป แต่ควรให้ความสำคัญกับ ‘ภาพแทนของประวัติศาสตร์’ อีกชั้นหนึ่งด้วย

ส่วนเอลี่และนีลด์นั้นโต้กลับอย่างที่เราคิดว่าเฉียบขาดอยู่เหมือนกัน ด้วยการวิจารณ์จอยซ์ว่า มองไม่ลึก มองไม่ขาด และมองด้านเดียว เพราะนอกจากจอยซ์จะไม่ได้เสนอแนวทางใหม่หรือแนวทางแบบโพสต์โมเดิร์นที่เป็นรูปธรรม และไม่ได้ให้คำอธิบายที่กระจ่างแจ้งเกี่ยวกับ ‘ภาพแทนของประวัติศาสตร์’ ที่เขากล่าวถึง ความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดของเขาในบทความนี้คือการมองว่าทฤษฎีมาร์กซิสม์นั้นมีความหมายเพียงหนึ่งเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมาร์กซิสม์เป็น ‘plural discourse’ ที่อาจจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่มองได้แปดมุม หรืออาจจะเป็นวงกลมที่มีความหมายนับล้านก็ได้

แต่พอจอยซ์มองว่ามาร์กซิสม์คือ A เขาก็ปิดกั้นความเป็นไปได้อื่นๆ ตั้งแต่ B-Z ออกไปพร้อมกันในคราวเดียว และนั่นเองที่ทำให้เขามองไม่เห็นว่าในความ ‘เชย’ นั้นยังมีอะไรที่ใช้การได้ (และยังใช้การได้ดี) อยู่บ้าง โดยเอลี่และนีลด์กล่าวว่า แน่นอนว่าการใช้ชนชั้นและทฤษฎีมาร์กซิสม์ในการอ่านสังคมนั้นไม่ใช่ตัวเลือกเดียว และการที่นักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งใช้เลนส์แบบอื่นในการมองสังคมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นและทฤษฎีมาร์กซิสม์จะหลุดหายลงหลืบร่องของกาลเวลาไปเฉยๆ เหมือนกับว่าไม่เคยมีอยู่จริง หรือไม่ได้มีอยู่อีกต่อไป

ข้อถกเถียงระหว่างสองฟากฝั่งดังที่ว่าไปนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายการปะทะกันทางวิชาการ ระหว่างการศึกษา Social History ยุคเก่าและยุคใหม่ในช่วงสามทศวรรษให้หลังของศตวรรษที่ 20 โดยการปะทะในช่วงนี้ทำให้เกิดกระแสที่เรียกว่า Cultural turn แต่การจะทำความเข้าใจมัน เราอาจจะต้องย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ Social History และ Historical turn กันแบบคร่าวๆ ก่อนที่จะกลับมาหาคำตอบไปด้วยกันว่า Cultural turn หมายความถึงอะไร มันเปลี่ยนวิธีคิดของ social historians ในปัจจุบันไปมากน้อยแค่ไหน และมันสำคัญต่อวิธี ‘มอง’ หรือ ‘อ่าน’ สังคมปัจจุบันของเราหรือไม่และอย่างไร

Social History ต่างจากประวัติศาสตร์แขนงอื่นอย่างไร?

ประวัติศาสตร์ในความเข้าใจของนักเรียนมัธยมศึกษาในไทยคงไปได้ไม่พ้นประวัติศาสตร์ของสงคราม ผู้ถือครองอำนาจ และการเมือง (Political History) หรือหากไปได้ไกลอีกสักหน่อยก็อาจเข้าข่ายประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ (Economic History) ที่พูดได้ว่ามีอยู่ก่อนการมาถึงของประวัติศาสตร์ของสังคม (Social History) —หนึ่งในประวัติศาสตร์แขนงที่หาคำนิยามได้ยากและมีหลากหลายคำอธิบายที่สุด

Social History ไม่เคยมีพื้นที่ในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมฯ ของไทย และในมหาวิทยาลัยเองก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นองค์ความรู้ที่เป็นที่นิยมและมีอิทธิพลมากนักเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์การเมือง (Political History)

หากถามว่าเพราะอะไร คำตอบที่ ‘เดา’ ง่ายที่สุดอาจเป็นเพราะประเทศไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อย และมองไม่เห็นความสัมพันธ์ที่แนบสนิทชิดใกล้ระหว่าง ‘การกระทำ’ (action) และ ‘วิถีปฏิบัติ’ (practice) ของคนธรรมดาที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสังคมในแต่ละช่วงเวลา แต่นี่ไม่ใช่คำตอบเดียวและไม่ใช่คำตอบที่ดีพอ นอกจากนั้นแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มองข้าม Social History ไม่ว่าเราจะนิยามองค์ความรู้นี้อย่างไรก็ตาม

คำนิยามของ Social History ที่ได้ยินอย่างแพร่หลายที่สุดคือ “หาก Political History ยืนพื้นอยู่บนสงครามและระบบการปกครอง และ Economic History ยืนพื้นอยู่บนเงิน ทุน และระบบการผลิต Social History ก็จะยืนพื้นอยู่บน ‘วิถีชีวิต’ หรือ ‘ชีวิตประจำวัน’ ของคนธรรมดาที่ไม่ได้ถือครองอำนาจการปกครองในสังคม”

แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับคำนิยามแบบนี้คือ วิถีชีวิตและชีวิตประจำวันของคนธรรมดาครอบคลุมถึงกิจกรรมประเภทไหนบ้าง เช่น การกินดื่ม การเลี้ยงลูก การมีเซ็กซ์ การแต่งงาน หรือการทำงาน (นี่ยังไม่นับว่า ไม่ใช่ว่าการทำงานทุกอย่างจะนำมาซึ่งรายได้ และหากมันนำมาซึ่งรายได้จริง มันเป็นรายได้ชนิดไหน เป็นเงินหรือสิ่งแทน และหากงานที่กินเวลาคนไป แต่ไม่ได้สร้างรายได้อะไรอย่างงานบ้าน นั่นถือเป็นงานด้วยไหม ฯลฯ) เหล่านี้มีอะไรบ้างที่สมควรนับว่า มีความสำคัญพอที่จะถูกศึกษา และมีพลังมากพอที่จะอธิบายความเป็นไปของสังคมในยุคนั้น

อีกปัญหาที่เป็นปัญหาระดับรากฐานขององค์ความรู้นี้คือเราจะเอาวิถีปฏิบัติของคนธรรมดามาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม เราจะเอาปรากฏการณ์ทางสังคมมาอธิบายวิถีปฏิบัติ หรือเราจะทำอะไรกันแน่กับสถิติหรือข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือ

เราจะศึกษา Social History อย่างไรได้บ้าง?

จอห์น บรูยลี่ (John Breuilly) อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่ University of Manchester อธิบายความหมายของ Social History ได้ดีและชัดเจน รวมทั้งยังเสนอคำตอบให้กับคำถามที่เราสงสัยอยู่เมื่อครู่ด้วย [3] ซึ่งก็คือ วิธีนิยาม Social History ในแบบต่างๆ มีพลวัตในตัวมันเอง นั่นคือตั้งแต่องค์ความรู้นี้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาในยุค 1960s ความหมายของมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามการนำเสนอ ถกเถียง และตอบโต้กันของเหล่านักประวัติศาสตร์ เขาได้อธิบายว่า เราสามารถมอง Social History ได้สามแบบ โดยให้คำนิยามภาษาอังกฤษแบบเข้าใจง่ายไว้ด้วย ได้แก่

  1. Residual history of assorted social activities การศึกษาวิถีปฏิบัติและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาแบบเฉพาะเจาะจงที่ค่อนข้างแยกตัวและไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สงคราม หรืออุดมการณ์ จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘หยิบหย่อม’ ของประวัติศาสตร์ ตัวอย่างวัตถุหรือประเด็นของการศึกษา Social History ในรูปแบบนี้เท่าที่ผู้เขียนเคยเจอก็อย่างเช่น การศึกษาระบบการศึกษาของสวีเดนในยุคศตวรรษที่ 19, งานเย็บปักถักร้อยของผู้หญิงสตอกโฮล์มในยุคศตวรรษที่ 17, วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในอังกฤษยุคศตวรรษที่ 18 ฯลฯ ซึ่งก็แล้วแต่ผู้ศึกษาว่าสามารถหรือต้องการจะขยายประเด็นออกไปจนถึง Social History ในแบบที่สองหรือไม่
  2. Societal history หรือ History of society การศึกษาสังคมและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอดีต นั่นคือมองว่า ‘สังคม’ คือวัตถุหลักของการศึกษา โดยเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สงคราม และอุดมการณ์ต่างๆ เป็นเพียง ‘แง่มุม’ ที่นักประวัติศาสตร์มักจะนำมาใช้เพื่ออธิบายสังคม ปัญหาของคำนิยามนี้คือ “สังคมคืออะไร?” “Society กับ Social ต่างกันอย่างไร?” “สังคมมีอยู่จริงหรือไม่?”
    ส่วนหลุมพรางของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบนี้คือผู้ศึกษาอาจเผลอหยิบจับสังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม หรือสังคมเมือง (อันเป็นหมวดหมู่ที่ถูกขีดเขียนและตีกรอบมาก่อนแล้ว) มาเป็นวัตถุแห่งการศึกษา แต่ในท้ายที่สุดการศึกษาแบบนี้ก็ได้เคลื่อนไปสู่การใช้ทฤษฎีมาร์กซิสม์มาอธิบายสังคม เพราะมันครอบคลุมทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง ความขัดแย้ง และอุดมการณ์ ทำให้ความเป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ขององค์ความรู้นี้เด่นชัดขึ้นมา และทำให้ ‘สังคม’ ไม่ใช่วัตถุแห่งการศึกษาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็น mode of production (ตามที่บรูยลี่ยกตัวอย่าง) และอื่นๆ เสียมากกว่า เพราะว่ากันอย่างง่ายแล้ว การผลิตก็คือกิจกรรมและวิถีปฏิบัติหนึ่งเช่นกัน
  3. The history of social experience ไม่ใช่การศึกษา ‘สังคม as a whole’ อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นการศึกษาประสบการณ์ทางสังคมของปัจเจกบุคคลที่ในบางกรณีอาจประกอบกันขึ้นมาเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ (identity) เดียวกันหรือคล้ายคลึงกันในทางใดทางหนึ่ง โดยอัตลักษณ์ใดๆ นั้นก็มาจากว่า ปัจเจกบุคคลนั้นได้ประสบพบเจอกับอะไร ‘ภายใต้’ บทบาท หรือ ‘นอกเหนือ’ บทบาทนั้น

หลุมพรางของ Social History ประเภทนี้ก็คือเมื่อเราโฟกัสลงไปที่บทบาทของใครคนใดคนหนึ่ง และการที่บุคคลเหล่านั้นโต้ตอบกับ agency/institution หรือกลไกที่กำหนดภาระหน้าที่ของตัวเอง มันมีโอกาสสูงมาก ที่ประเด็นของการศึกษาจะเคลื่อนไปจากการศึกษาบทบาทของคนในสังคมมาเป็น ‘สภาวะทางจิตใจ’ และ ‘การนิยามตัวเอง’ ของพวกเขาแทน ซึ่งเหล่านั้นใกล้เคียงกับแง่มุมทางจิตวิทยามากกว่า อย่างเช่นงานของเออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) นักสังคมวิทยาในตำนาน ผู้เขียน The Presentation of Self in Everyday Life (1959) ที่ social historians หลายคนมีอยู่บนชั้นหนังสือเสมอ และงานชิ้นนี้เองที่เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของ Cultural turn, Performative turn และอีกหลาย turn ในโลกของการศึกษาประวัติศาสตร์

Cultural turn กระแสใหม่ที่มาท้าทาย Social History

ตั้งแต่ 1970s จนถึง 1990s คือยุครุ่งเรืองของ Cultural turn แต่มันก็ไม่ได้โผล่มาแบบไม่ให้สุ้มให้เสียง เพราะ social history แบบที่สุดท้ายนี่เอง ที่เป็นตัวจุดประกายและแผ้วทางให้เกิดกระแสที่มาหักล้างความเข้าใจเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกท้าทายมากที่สุดในการมาถึงของ Cultural turn ก็คือสิ่งที่อยู่มาก่อนหน้า อย่างทฤษฎีมาร์กซิสม์ การแบ่งชนชั้น และโครงสร้างทางสังคม

หากจะกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด Cultural turn ก็คือการเสนอมุมมองใหม่ เปลี่ยนการตีความที่ว่า “การกระทำหรือวิถีปฏิบัติของปัจเจกบุคคลเป็น ‘ผล’ มาจากการที่ปัจเจกบุคคลนั้นยืนอยู่ในที่ทางหรือโครงสร้างทางสังคมแบบหนึ่ง” มาเป็น “การแบ่งชนชั้นและโครงสร้างทางสังคมคือ ‘ผล’ จากกระทำ/วิถีปฏิบัติของปัจเจกบุคคล” นั่นเอง [4]

อย่างเช่น social historians สายมาร์กซิสม์อาจจะเชื่อว่า บุคคลที่กำหนดการกระทำ/วิถีปฏิบัติของปัจเจกบุคคลอาจจะเป็น ‘เจ้าของทุน’ อย่างผู้ว่าจ้าง เจ้าของโรงงาน หรือเจ้าของที่ดิน เหมือนอย่างโควตที่ผู้เขียนยกมาเปิดบทความ ส่วนปัจเจกบุคคลนั้นจำต้องสวมหมวกของแรงงานหรือกรรมกร โดยไม่มีทางเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ เพราะถูก agency/institution/mode of production ขีดเส้นตีกรอบไว้ว่า การทำงานทำให้พวกเขามีกิน ไม่ได้ทำงานเพราะเลือกจะทำโดยเสรี

แต่ social historians ที่สนับสนุน Cultural turn ก็อาจจะบอกว่า มันอยู่ที่ว่าเราจะให้ความหมายการการกระทำและพฤติกรรมเหล่านั้นว่าอะไร นั่นคือการกระทำใดก็ ‘ถูกให้ความหมาย’ ได้ทั้งนั้น เช่น การกระทำ/วิถีปฏิบัตินั้นๆ อาจเป็นการนิยามตัวเองของปัจเจกบุคคลที่อยากเป็นเจ้าของคุณค่าบางอย่าง เพื่อสร้างอัตลักษณ์แบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อปัจเจกบุคคลประกอบขึ้นเป็นกลุ่มบุคคลในภายหลัง ก็อาจจะเกิดอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มบุคคลที่อาจถูกเรียกว่าเป็น ‘ชนชั้น’ ขึ้นได้ แต่จะเป็นชนชั้นที่ active หรือ passive ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือนวนิยายฝรั่งเศสแนว Naturalism เรื่อง The Ladies’ Paradise (Au Bonheur des Dames, 1883) โดยเอมิล โซล่า (Émile Zola) ที่ผู้อ่านชาวไทยอาจจะรู้จักกันดีจากนวนิยายในซีรีส์เดียวกันที่มีแปลไทยแล้วอย่าง เมรัยพิฆาต (L’Assommoir, 1876) และ พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ (Germinal, 1885) เนื่องจากนวนิยายของโซล่าในซีรีส์ Les Rougon Macquarts หลายเล่มนั้นมีตัวเอกเป็นชนชั้นแรงงาน และมักจะโฟกัสที่ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างเจ้าของทุนและแรงงาน และ The Ladies’ Paradise ก็เป็นหนึ่งในนั้น (แต่จะแตกต่างจากเรื่องอื่นอย่าง Germinal ตรงที่กลุ่มตัวละครในเรื่องหลังมีความ active มากกว่า ส่วนตัวละครใน The Ladies’ Paradise นั้นจะออกไปในทาง passive แต่นั่นไม่ใช่ใจความสำคัญ)

The Ladies’ Pardise เป็นเรื่องของเดนีส หญิงสาวชนชั้นแรงงานอายุประมาณ 20 ปีที่เดินทางจากต่างจังหวัดมายังปารีสด้วยหวังจะได้อาศัยและทำงานในร้านขายผ้าของลุง แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าปารีสกำลังเดินทางเข้าสู่ยุคบริโภคนิยมที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กำลังขยายตัว และร้านรวงขนาดเล็กกำลังตายจาก เธอจึงสมัครงานเข้าไปเป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าตรงข้ามร้านผ้าของลุง ก่อนจะเผชิญความไม่แน่นอนทางการงาน และได้กลับมาเชิดหน้าชูตาในห้างเดิมนั้นในท้ายที่สุด ด้วยความขยัน นอบน้อม และตั้งใจเก็บหอมรอมริบ ในขณะที่โมเรต์ เจ้าของและผู้จัดการห้างหลงใหลเธออย่างหัวปักหัวปำ

หากมองพฤติกรรมและพิธีกรรมของตัวละครผ่านม่านของมาร์กซิสม์ การที่เดนีสตัดสินใจเข้าไปทำงานในห้างและแสดงความคิดเห็นต่อหน้าญาติและคนรู้จัก ในทางที่เรียกได้ว่าเธอมีใจเอนเอียงไปในแนวทางบริโภคนิยมอยู่บ่อยๆ อาจถูกตีความได้ว่าเธอไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะโครงสร้างทางสังคมทำให้เธอต้องทำแบบนั้นและคิดแบบนั้น

การที่เธอเป็นแรงงานรับจ้างทำให้เธอไม่มีพลังที่จะต่อรองอะไร และการที่ในนิยายเรื่องนี้ไม่มีการก่อร่างทางสังคมใหม่อย่างชนชั้นกรรมมาชีพ ก็เป็นเพราะตัวละครในเรื่องนี้นั้นมีความ passive และขึ้นต่อเจ้าของทุนอย่างโมเรต์ หากจะทำได้ก็เพียงการเรียกร้องสวัสดิการเล็กน้อยเท่านั้น อย่างที่พนักงานชายโวยวายเรื่องคุณภาพอาหารในโรงอาหารจนโมเรต์ยอมปรับปรุงให้ แต่ไม่ได้มีการจัดตั้งสมาพันธ์แรงงานแต่อย่างใด และการที่เดนีสจัดการเรื่องสวัสดิการให้พนักงานได้ในภายหลังก็เป็นเพราะเธอมีตำแหน่งที่สูงขึ้นและมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ถือว่าเธอได้ก้าวขึ้นไปเป็นตัวแทนของเจ้าของทุนอย่างโมเรต์ ผู้เลื่อนตำแหน่งให้เธอโดยเสน่หา และเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมแบบบริโภคนิยมหรือก่อนทุนนิยมไม่นาน การดำรงอยู่ในสังคมของเดนีสจะไม่มีความหมายอะไรเลยหากเธอไม่ได้เป็นผู้ขายสินค้า ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นสินค้าที่เธอไม่ได้จับจองเป็นเจ้าของ

เมื่อโยงใจความและเส้นเรื่องเหล่านี้เข้ากับ Cultural turn เราอาจตีความสถานการณ์ในนิยายเรื่องนี้ได้แบบคร่าวๆ ได้เช่นกันว่าการกระทำของเธอนั้น ‘ถูกกำหนด’ โดยวัฒนธรรมของโลกตะวันตกที่ทำให้เธอเชื่อว่าเธอจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ หรือวิถีปฏิบัติตามค่านิยมของคนในสังคมที่คาดหวังให้เธอเป็นแบบใดแบบหนึ่งเพื่อที่จะเป็นที่ยอมรับและไม่ถูกนินทา เช่น แต่งตัวสะอาดสะอ้าน ตั้งใจทำงาน เป็นกุลสตรี ไม่มีคู่ชู้ชื่นหรือคนรวยคอยเลี้ยงดู ฯลฯ ซึ่งนับเป็นการอธิบายด้วย causal relation

แต่ถ้าถามว่าการใช้ Cultural turn แบบคลาสสิกนี้ สามารถอธิบายการกระทำทั้งหมดของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมได้หรือไม่ ผู้เขียนมีความเห็นว่าอาจจะไม่ได้และไม่เพียงพอ

ฉะนั้นหากเราลองยืนอยู่ตรงกลางระหว่าง Social History แบบมาร์กซิสม์กับ Cultural turn แบบคลาสสิก และไม่เลือกใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง (เพราะไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างนั้น) เราอาจพบว่าการกระทำที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทุน’ และ ‘แรงงาน’ ของเดนีสนั้นถูก ‘กรอง’ โดยตะแกรงวัฒนธรรม แต่เป็นตะแกรงตาห่างที่ยังเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความเป็นไปได้ที่ใหม่กว่าเพื่ออธิบายพลวัตของสังคมอยู่เสมอ

แต่ความเป็นไปได้ที่ ‘ใหม่กว่า’ นั้นคืออะไร ยังมี turn ใหม่ๆ turn ไหนให้เราหยิบมาใช้ได้บ้าง คงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเปิดตาให้กว้างและค้นหากันต่อไป

 

 

อ้างอิง

[1] Joyce, Patrick. “The end of social history?” Journal of Social History 20, no. 1 (1995).

[2] Eley, Geoff, and Keith Nield. “Starting over: the present, the post-modern and the moment of social history.” Journal of Social History 20, no. 3 (1995).

[3] อ่านคำอธิบายภาษาอังกฤษฉบับเต็มได้ที่ historytoday.com

[4] อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ catalyst-journal.com

Tags: , , ,