วลี ‘ถ่านหินสะอาด (Clean Coal)’ เริ่มต้นจากแคมเปญโฆษณาของ PeaBody หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านถ่านหินในสหรัฐอเมริกาเมื่อราว 10 ปีก่อน แคมเปญดังกล่าวทำให้วลีถ่านหินสะอาดกลายเป็นคำฮิตติดปากของเหล่านักปั้นอุตสาหกรรมถ่านหินโดยพยายามฉายภาพว่าภาพถ่านหินสกปรกนั้นเป็นเพียงอดีต แต่ปัจจุบันเราได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถทำให้ถ่านหินสะอาดหมดจด จนสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าถ่านหินสะอาด

กระทั่งโฆษณาดังกล่าวได้เผยแพร่ในสหภาพยุโรป องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ที่เราคุ้นเคยกันดีจากสัญลักษณ์หมีแพนด้าก็ฟ้องร้องโดยระบุว่าโฆษณาถ่านหินสะอาดนั้น “ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด” และขัดต่อข้อกำหนดของหน่วยงานมาตรฐานการโฆษณา (Advertising Standards Authority) ของประเทศอังกฤษ ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่เกินคาด WWF ชนะคดีไปอย่างใสสะอาด โดย PeaBody ถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้คำที่ชวนเข้าใจผิดอย่าง ‘ถ่านหินสะอาด’ หรือคำในเชิง ‘สะอาด’ หรือ ‘ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่’ ในการโฆษณาถ่านหิน

แต่ในอีกฟากหนึ่งของโลก ประธานาธิบดีทรัมป์ดูท่าจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ได้ยินเสียงคำตัดสินดังกล่าวสักเท่าไร และพยายามเชิดชูแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่เหลือเฟือในสหรัฐอเมริกา โดยยักไหล่ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น

แม้แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็พลอยเอาไปกับเขาด้วย ในโฆษณาชุด ‘พลังงานที่สมดุล’ เผยแพร่ทางออนไลน์ โทรทัศน์ และวิทยุ ประเด็นที่ชูเด่นหรานอกจากความไม่สม่ำเสมอของพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ สิ่งที่ กฟผ. ต้องการขีดเส้นใต้คือ ‘ถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด’ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเพียง 1.67 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

แล้วบริบทโลกว่า ‘เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด’ ที่พูดถึงกันนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ แล้วสะอาดที่ว่าหมายถึงสะอาดจริงหรือไม่ แล้วโมเลกุลแห่งอิสรภาพที่จั่วหัวด้านบนคืออะไร หาคำตอบได้ในบทความนี้ครับ

เทคโนโลยีทำให้ถ่านหิน ‘สะอาดขึ้น’

ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลภาวะมากที่สุด เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนกรด และก่อมลภาวะทั้งทางอากาศและน้ำ นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษยชาติได้รับบทเรียนราคาแพงจากการเผาถ่านหิน และมุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

เริ่มตั้งแต่การล้างทำความสะอาดถ่านหิน โดยผสมถ่านหินกับของเหลวเพื่อแยกแร่ธาตุที่ไม่ต้องการออกจากถ่านหิน ต่อด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ เช่น เทคโนโลยีหม้อแรงดันไอน้ำที่สูงกว่าค่าวิกฤติ (Super-Critical Boiler) และสุดท้ายคือสารพัดระบบควบคุมเพื่อการปล่อยมลภาวะอย่างแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมักจะเป็นการจัดการแก๊สร้อน (Flue Gas) ก่อนปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าเป็นควันพวยพุ่งจากปล่องนั่นเอง

แน่นอนครับว่านวัตกรรมเหล่านี้ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ‘สะอาดขึ้น’ โดยสามารถควบคุมปริมาณการปล่อยมลภาวะอยู่ในระดับต่ำตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าก็ช่วยให้ปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำลงหากเปรียบเทียบกับโรงงานไฟฟ้าถ่านหินรุ่นเก่าๆ


การทำเหมืองถ่านหินแบบเปิดสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมรุนแรง ต่อให้สามารถลดผลกระทบจากปลายปล่องได้ แต่ที่มาของถ่านหินก็ยังทิ้งรอยเท้าทางสิ่งแวดล้อมไว้อยู่ดี (ภาพ Nitin Kirloskar, CC BY 2.0, wikimedia)

แต่มลภาวะที่ปลายปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังนับว่าสูงที่สุดหากเปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่นๆ ยังไม่รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองถ่านหินที่นับว่าเป็นการทำลายล้างระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าว และการทำงานในเหมืองถ่านหินยังนับว่าเป็นอาชีพความเสี่ยงสูงอีกด้วย การลดมลภาวะจากปลายปล่องก็เป็นการเปลี่ยนรูปมลภาวะจากแก๊สเป็นการสะสมในสสาร เช่น ขี้เถ้าจากการเผาถ่านหิน ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำจัดทำลายอย่างรัดกุม มิฉะนั้นอาจไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำหรือหลุดเข้าสู่ธรรมชาติได้

แต่ประเด็นหลักที่ถ่านหินถูกโจมตีมากที่สุดคือการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หลายประเทศที่จับปากกาลงนามในข้อตกลงปารีส (The Paris Agreement) เมื่อ พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าหมายร่วมคือ “จำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะพยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส” จึงมุ่งหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศของตัวเอง โดยมีเป้าหมายหลักคือปรับจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน

ซึ่งผู้ร้ายในที่นี้ก็หนีไม่พ้นถ่านหินนั่นแหละครับ เพราะต่อให้ใช้เทคโนโลยีหม้อแรงดันไอน้ำที่สูงกว่าค่าวิกฤติ ก็ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 863 กรัมต่อการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง แพ้เพื่อนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแก๊สธรรมชาติ (469 กรัม/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) อย่างขาดลอย โดยไม่ต้องพูดถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (48 กรัม/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ลม (12 กรัม/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) หรือชีวมวล (18 กรัม/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

กราฟแสดงปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เปรียบเทียบระหว่างทางเลือกการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ จะเห็นว่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินไม่ว่าใช้เทคโนโลยีใดก็ยังสูงกว่าทางเลือกอื่นๆ (ภาพจาก Coal Fact Sheet # 4)

แม้ว่าเหล่าวิศวกรผู้มั่นคงในถ่านหินจะเสนอนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังอยู่ในขั้นทดลองและยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์เนื่องจากไม่แตะจุดคุ้มทุน

ที่สำคัญ เทคโนโลยีก็คล้ายกับการจัดการมลภาวะที่ปากปล่อง คือแปลงสภาพมลภาวะเหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบอื่น และเราต้องหาทางจัดการกับมลภาวะเหล่านั้นอยู่ดี ซึ่งมีการเสนอหลากหลายวิธี เช่น การนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ในรูปของเหลว ขนถ่ายไปยังเหมืองถ่านหิน หรือบ่อแก๊สธรรมชาติที่ถูกสูบจนหมด แล้วต่อท่อฉีดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้นกลับเข้าไป

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ‘สะอาดขึ้น’ แต่คำว่าก็ยังเป็นคนละเรื่องกับคำว่า ‘สะอาด’ นะครับ เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีขึ้นมาก แต่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังมากกว่าทางเลือกอื่นอยู่ดี

จากถ่านหินสะอาดถึงแก๊สแห่งอิสรภาพ

หลังจาก ‘ถ่านหินสะอาด’ ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงและสาธารณชนเริ่ม ‘ไม่ซื้อ’ คำกล่าวอ้างดังกล่าว ล่าสุด กระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมา ‘รีแบรนด์’ แก๊สธรรมชาติ หนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นับว่า ‘เขียวกว่า’ ถ่านหิน แต่ก็ยังปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่สูงกว่าพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลม โดยตั้งชื่อใหม่อย่างเก๋ไก๋ว่า ‘แก๊สแห่งอิสรภาพ (Freedom Gas)’ และ ‘โมเลกุลแห่งอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (Molecules of US Freedom)’

ข้อความดังกล่าวพาดหัวบนเว็บไซต์หลายสำนักข่าวดัง จนเจย์ อินสลีย์ (Jay Inslee) ผู้ว่าการรัฐวอชิงตันทวีตข้อความล้อเลียนว่า ‘นี่ต้องเป็นเรื่องตลกแน่ๆ’ แต่คำดังกล่าวถูกใช้ในเอกสารเผยแพร่จากกระทรวงพลังงานจริงๆ

ครั้งนี้นับว่าเป็นการฉาบทาความรักชาติบนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรัฐบาล แต่ในข่าวประชาสัมพันธ์ข้างต้นก็เน้นย้ำว่าการส่งออกแก๊สธรรมชาติจากสหรัฐอเมริกาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนให้ปวงชนทั่วโลกเข้าถึง ‘แหล่งพลังงานสะอาดที่หลากหลาย’ คือสุดท้ายก็ไม่พ้นวาทกรรมเดิมๆ นั่นเอง

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นโยบายส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ก็แทบไม่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ลดความเข้มงวดด้านกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงดันอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเต็มกำลัง การโฆษณาชวนเชื่อถึงแก๊สแห่งอิสรภาพจึงไม่เกินเลยนัก (แต่ก็ยังตลกอยู่ดี)

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าทางเลือกที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสมบูรณ์นั้นยังไม่มี และปัจจุบันทางเลือกที่ดีที่สุดคือแก๊สธรรมชาติที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ แต่สิ่งสำคัญในการพูดคุยถกเถียงคือการนำ ‘ความจริง’ ทุกอย่างมาวางอยู่บนโต๊ะ แทนที่จะพยายามแปะป้ายว่า ‘สะอาด’ หรือ ‘อิสรภาพ’ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลไร้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

 

เอกสารประกอบการเขียน

Coal Fact Sheet # 4

A ‘Propaganda War’ Over ‘Clean Coal’

What is clean coal technology?

Trump Administration Rebrands Fossil Fuels As ‘Molecules of U.S. Freedom’

 

Tags: , , , , ,