เป็นเรื่องธรรมดาของการนำ ‘เรื่องเล่า’ ชั้นดีจากบทประพันธ์มาแปรเป็นภาพยนตร์ หลายคนที่เป็นแฟนหนังสือมักอดลุ้นไม่ได้ที่จะได้เห็นตัวละครอันเป็นที่รัก เรื่องราวประทับใจ หรือตอนจบแสนสะเทือนความรู้สึก กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่บางครั้งอาจจะแตกต่างหรือตรงใจกับภาพในจินตนาการยามพลิกอ่านหนังสือ
The List สัปดาห์นี้ ขอแนะนำภาพยนตร์เรื่องเด่นในยุค ’90 ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชั้นนำที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
Lord of the Flies (1990)
บทประพันธ์ของ วิลเลียม โกลดิ้ง แปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย ซาราห์ ชิฟฟ์ นามแฝงของมือเขียนบท—เจย์ เพรสสัน อัลเลน เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเธอก่อนเสียชีวิต และมีรายงานว่าเธอไม่พอใจนักกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงหลังๆ จึงเป็นเหตุให้ชื่ของเธอถูกลบออกไป
หากนำไปเปรียบเทียบกับหนังสือก็ต้องบอกว่า ภาพยนตร์มีความด้อยกว่า แต่ไม่ถึงขนาดเบือนหน้าหนี เพราะใจความหลักของเนื้อหายังคงครบถ้วน นักวิจารณ์หลายคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ทิวทัศน์ที่น่าจดจำในเรื่องทำให้ภาพยนตร์น่าสนใจยิ่งขึ้น
โศกนาฏกรรมครั้งนี้เริ่มต้นจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก กลุ่มนักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนทหารต้องติดอยู่บนเกาะร้าง พร้อมกับนักบินที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและมีอาการเพ้อ นักเรียนทั้งหมดไม่มีผู้ใหญ่ให้พึ่งพา และหากต้องการรอดชีวิตพวกเขาต้องร่วมด้วยช่วยกัน ในที่สุดก็มีการแบ่งการปกครองและหน้าที่รับผิดชอบ
ภายในกลุ่มมีเด็กโตอยู่สองคน ได้แก่ ราล์ฟและแจ็ค ราล์ฟรับบทผู้นำกลุ่ม และวางแผนการต่างๆ อย่างเป็นระบบ เช่น พยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจัดเวรยามอย่างเป็นระเบียบ ส่วนแจ็คอยู่ในกลุ่มนักล่า ที่คอยเสาะหาอาหารการกิน ต้องการพักผ่อน และทำตามอำเภอใจ แจ็คจึงแยกตัวออกไปพร้อมกับพาเด็กๆ ส่วนหนึ่งไปด้วย แต่แล้วความตึงเครียดระหว่างราล์ฟกับแจ็คก็ค่อยๆ สะสมจนมาถึงจุดแตกหัก พวกเขาไม่ลงรอยกัน ขัดแย้งกัน ลอบทำร้ายกัน ความดำมืดในจิตใจค่อยๆ กลืนกินความบริสุทธิ์ของแต่ละคนไปทีละน้อย ยิ่งนานวันยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาต่างก็ทำในสิ่งที่พวกผู้ใหญ่กระทำต่อกัน…อันเป็นการสิ้นสูญของวัยเยาว์
Of Mice and Men (1992)
นวนิยายขนาดสั้นที่นับเป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของ จอห์น สไตน์เบ็ค นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1962 ภาพยนตร์กำกับฯ โดยแกรี่ ซินิส ผู้เป็นทั้งผู้กำกับฯ นักแสดง นักดนตรี และโปรดิวเซอร์ บทบาทของเขาที่หลายคนน่าจะจำได้คือ แดน เทย์เลอร์ ใน Forrest Gump (1994)
เนื้อหาของเรื่องนี้มี ‘มิตรภาพ’ เป็นแกนกลาง แต่นอกเหนือไปจากนั้นสิ่งที่สไตน์เบ็คชี้ให้เราเห็นคือความฝันของชนชั้นแรงงานที่อยากลืมตาอ้าปาก แต่กลับถูกตัดแขนตัดขาจากนายทุน ที่ทำให้ความหวังกลายเป็นเพียงความฝันบนโลกอันแล้งไร้ความยุติธรรม
เรื่องราวของจอร์จและเลนนี่ ชายสองคนที่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก เลนนี่มีร่างกายแข็งแรง แต่บกพร่องทางสติปัญญา จึงไม่ค่อยเข้าใจโลกนัก ส่วนจอร์ เป็นชายร่างเล็กที่ต้องคอยดูแลเลนนี่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงเด็กอยู่ตลอดเวลา
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทั้งจอร์จและเลนนี่มีเพียงความฝันเรียบง่าย คือการมีบ้านเล็กๆ สักหลังบนที่ดินไว้ปลูกผักเลี้ยงสัตว์ทำกิน พวกเขาจึงมุ่งมั่นหางานรับจ้างเพื่อเก็บสะสมเงินในการทำฝันให้เป็นจริง แต่เลนนี่มักก่อเรื่องเดือดร้อนโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่เสมอ บางครั้งพวกเขาจึงต้องหลบหนีจากความเข้าใจผิด ที่สุดก็มาลงเอยที่ฟาร์มแห่งหนึ่งด้วยการทำงานใช้แรงงานเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แม้จะโดนกดขี่ข่มเหงบ้าง แต่ทั้งคู่ก็ได้แต่อดทน และแล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ซึ่งครั้งนี้มันรุนแรงกว่าครั้งไหนๆ เลนนี่ไม่สู้จะเข้าใจถึงสถานกาณ์ทั้งหมด มีแต่จอร์จเท่านั้นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้และเจ็บปวด จนนำพาไปสู่การตัดสินใจที่แสนสะเทือนใจในท้ายที่สุด
The Secret Garden (1993)
จากวรรณกรรมเยาวชนสุดโด่งดังของ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนทท์ ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1911 แต่ยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน มีการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วสี่ครั้ง ได้แก่ ภาพยนตร์เงียบปี 1919, ภาพยนตร์ดราม่าปี 1949 และปี 1993 และเวอร์ชั่นล่าสุดที่เพิ่งเข้าฉายในปีนี้ แต่ขอหยิบยกฉบับที่สร้างในปี 1993 มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเป็นเวอร์ชั่นที่ได้รับการจดจำมากที่สุด ซึ่งอำนวยการสร้างโดย ฟรานซิส ฟอร์ด คอพโพลา
ภาพยตร์ฉบับนี้เป็นหนึ่งในรายชื่อภาพยนตร์ 50 เรื่องที่คุณควรดูเมื่ออายุ 14 ปี ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นอายุ 15 ปีในปีนี้) ในหนังสือต้นฉบับและภาพยนตร์เวอร์ชั่นก่อนหน้า พ่อแม่ของแมรีเสียชีวิตในขณะที่อหิวาตกโรคแพร่ระบาด ซึ่งเป็นข้อมูลตรงกับอดีตที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของโรคอหิวาต์ระหว่างปี 1817-1820 ช่วงที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมในอินเดีย
ในปี 1901 แมรี เลนนอกซ์ วัยสิบขวบต้องสูญเสียพ่อแม่ไป เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศอินเดีย นั่นทำให้เธอต้องถูกส่งตัวกลับมาอยู่กับลุงยังคฤหาสน์หลังใหญ่ในประเทศอังกฤษ ที่มีหัวหน้าแม่บ้านผู้เข้มงวดคอยดูแลอยู่ แมรีไม่มีความสุขแม้แต่น้อยกับสภาพแวดล้อมใหม่ ทุกอย่างดูไม่เป็นมิตร ในระยะแรกหัวหน้าแม่บ้านยังไม่ยอมให้เธอออกไปไหนไกลจากห้องพัก แต่ด้วยความเป็นเด็กดื้อรั้นและซุกซน แมรีจึงได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกบ้าง
เมื่อสำรวจรอบคฤหาสน์หลังนี้ แมรีก็พบกับสวนขนาดใหญ่ที่ถูกละเลยและไม่ได้รับการดูแล มันรกชัฎจนแทบจะหาทางเข้าไม่เจอ แต่ที่สุดเธอก็หาประตูทางเข้าสู่สวนจนพบ สวนแห่งนี้มีสภาพแห้งเฉาไม่ต่างอะไรจากอดีตอันเจ็บปวดของลุงของเธอเลย จากนั้นแมรีเริ่มมีเพื่อนบ้างแล้ว นั่นคือ ดิกคอน น้องชายของสาวรับใช้อีกคนในคฤหาสน์ เธอจึงขอให้เขาช่วยทำให้สวนลับกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หัวใจที่แห้งผากของเด็กน้อยจึงค่อยๆ กลับมาสดใส และอาจทำให้แมรีมีโอกาสได้เยียวยาหัวใจใครบางคนไปพร้อมๆ กัน
Little Women (1994)
วรรณกรรมคลาสสิกขึ้นหิ้งของ หลุยส์ เมย์ อัลค็อทท์ ที่มีการนำมาดัดแปลงหลายต่อหลายครั้งทั้งในรูปแบบซีรีส์ การ์ตูน ละครเวที และภาพยนตร์ ซึ่งฉบับภาพยนตร์ปี 1994 นี้ กำกับฯ โดย จิลเลียน อาร์มสตรอง ผู้กำกับฯ ชาวออสเตรเลียที่เข้าสู่เส้นทางอาชีพนี้ตั้งแต่อายุ 27 ปี ซึ่งภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเธอ My Brilliant Career (1979) ก็ดัดแปลงมาจากหนังสือเช่นกัน
ในเครดิตตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้อุทิศให้กับคนสองคน หนึ่งในนั้นคือ Polly Klaas เด็กหญิงวัย 12 ปีที่ถูกลักพาตัวไปจากบ้านเมื่อปี 1993 ซึ่งต่อมาพบว่าเธอถูกฆาตกรรม วิโนนา ไรเดอร์ นักแสดงนำในเรื่องนี้ เป็นคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าวเพื่อให้หนูน้อยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย แต่ความหวังนั้นก็ไม่เป็นจริง
เรื่องราวของ Little Women หมุนอยู่รอบๆ ตัวสี่สาวพี่น้อง พวกเธอเติบโตขึ้นมาในช่วงสงครามกลางเมือง นั่นทำให้พ่อของเธอต้องออกจากบ้านเพื่อไปร่วมรบ และส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างอัตคัด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากเสื้อผ้าที่พวกเธอสวมใส่ เครื่องแต่งกายของสี่ดรุณีนั้นจะถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ ตามวัย ดังที่เราจะเห็นในภาพยนตร์
ทั้งสี่สาวได้รับการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่นจากแม่ที่แสนใจดี แม้แต่ละคนจะมีนิสัยใจคอแตกต่างกัน แต่พวกเธอก็รักใคร่กลมเกลียวกันมาก เม็ก—พี่สาวหัวโบราณที่ปรารถนาจะพบรักและความมั่นคง โจ—อิสระและห้าวหาญ ผู้มีความฝันจะเป็นนักเขียน เบธ—น้องสาวที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง แต่คอยอาทรต่อคนอื่นๆ อยู่เสมอ ส่วนเอมี่—น้องสาวคนเล็กที่แก่นแก้วแต่ก็น่ารัก
แม้พ่อจะไม่ได้อยู่กับพวกเธอในบางเวลา แต่ทั้งสี่สาวจดจำคำสอนของผู้เป็นพ่อได้เสมอ ทั้งไม่เคยพร่องจากความรักที่เต็มเปี่ยมจากผู้เป็นแม่ ทำให้ทั้งเม็ก โจ เบธ และเอมี่ ไม่เคยหวาดกลัวที่จะไปตามความฝัน แม้จะต้องเจ็บปวดบ้างในโลกของความจริงก็ตามที
Sense and Sensibility (1995)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน ของ เจน ออสเตน นักเขียนชาวอังกฤษที่นำเสนอมุมมองความคิดและภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับตัวละครหญิงของเธอ ผ่านภาพสังคมอังกฤษในอดีตที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียม และค่านิยมชายเป็นใหญ่
ลินเซย์ โดรัน โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ชื่นชอบและใฝ่ฝันตลอดมาที่จะหยิบผลงานประพันธ์ของออสเตนมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เธอมอบหมายให้นักแสดงชั้นนำอย่าง เอมม่า ธอมป์สัน เป็นผู้เขียนบท ธอมป์สันใช้เวลาห้าปีในการเขียนและพัฒนาบทภาพยตร์ โดยพยายามทำให้บทสนทนาง่ายขึ้น แต่ยังคงสไตล์ที่สง่างามและเฉลียวฉลาดของต้นฉบับไว้
การจากไปของคนในครอบครัวย่อมนำพาความเศร้าโศกมาให้อยู่แล้ว แต่การเสียพ่อไปในครอบครัวที่มีแต่ลูกสาวกลับมีความสูญเสียซ้ำซ้อนอีกทอดหนึ่ง เพราะในยุคนั้น กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่ามรดกจะต้องตกเป็นของลูกชายเท่านั้น ซึ่งลูกสาวทั้งสามคนและภรรยาของมิสเตอร์แดชวูดจึงจำต้องออกจากบ้านที่อาศัยมาทั้งชีวิต โดยที่มรดกกลับตกไปเป็นของลูกชายที่เกิดกับภรรยาคนก่อนของผู้เป็นพ่อ
ทั้งแมรีแอนน์ เอลินอร์ น้องสาว และแม่ จึงย้ายไปอยู่กระท่อมของญาติ ในระหว่างนั้นก็พอจะมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นบ้าง นั่นคือความรักของแมรีแอนน์และเอลินอร์ ทั้งคู่นั้นมีมุมมองต่อความรักแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนหนึ่งใช้ความรู้สึกขับเคลื่อน แต่อีกคนใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง ทั้งรักของสองสาวยังต้องพานพบอุปสรรคจากเรื่องสถานะทางสังคม—เป็นอีกปัจจัยที่จะชี้วัดว่าความรักของเธอทั้งสองจะสมหวังดั่งใจหรือไม่