หลังจากหลายเดือนที่ต้องย้ายไปบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพราะโควิด-19 วันศุกร์ที่ 25 กันยายน นักเรียนจากหลายประเทศทั่วโลกกลับมาจัดกิจกรรม ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ (Friday For Future) แบบลงถนนอีกครั้งกว่า 3,000 กิจกรรม ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน

ที่สวีเดน นำโดยเกรตา ธันเบิร์ก นักกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 17 ปี ผู้ริเริ่มกิจกรรมหยุดเรียนทุกวันศุกร์ พร้อมด้วยป้ายคำขวัญ “หยุดเรียนเพื่อยุติโลกร้อน” รวมตัวกันที่หน้าอาคารรัฐสภา กรุงสต็อกโฮล์ม เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เป้าหมายหลักเหมือนเช่นเคยก็คือ พยายามทำให้ผู้คนตระหนักถึงความเร่งด่วนและความสำคัญของปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 70 คน แม้ตอนนี้สวีเดน ห้ามประชาชนรวมตัวกันเกิน 50 คน แต่ผู้ชุมนุมก็ปรับเปลี่ยนวิธีการรวมตัวกันเล็กน้อย

ส่วนที่เยอรมนี นอกจากอีกราว 450 เมืองทั่วประเทศแล้ว ในกรุงเบอร์ลิน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากที่ประตูบรันเดินบวร์ค ผู้จัดขอร้องให้ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่าง มีผู้ลงทะเบียนว่าจะร่วมงานประมาณ 10,000 คน เรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน เนื้อหาหลักของกลุ่มเยาวชนในเยอรมนีคือ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต้องไม่เพิ่มขึ้นอีก 1 องศา เพราะแต่ละองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อโลกมหาศาล โดยเฉพาะระดับน้ำทะเลและภัยแล้ง 

รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเยอรมันกล่าวว่า เธอ ‘รู้สึกขอบคุณ’ ขบวนการ Fridays for Future เนื่องจากช่วยให้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมก้าวหน้ามากขึ้น และเน้นว่าการปกป้องภูมิอากาศของโลกเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ และย้ำว่า “เรื่องนี้เป็นใจกลางสำคัญของนโยบายการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19

ความเคลื่อนไหวของกิจกรรมรณรงค์ ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ ทั่วโลกสัปดาห์นี้มีตั้งแต่การออกมารวมตัวกันไปจนถึงการแลกเปลี่ยนบนโลกออนไลน์ ในเกาหลีใต้ นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมถือป้ายที่เขียนว่า วิกฤตภูมิอากาศเป็นเรื่องเร่งด่วน 

ที่ออสเตรเลียก็มีเยาวชนหลายพันคนออกมาจัดกิจกรรมเช่นกัน มีประมาณ 500 กิจกรรมทั่วประเทศ พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม แอมโบรส เฮย์ส นักกิจกรรมวัย 15 ปี ซึ่งแล่นเรือรอบอ่าวซิดนีย์เพื่อคัดค้านการลงทุนในพลังงานก๊าซธรรมชาติกล่าวว่า เขามาอยู่ที่นี่เพราะเบื่อการเพิกเฉยต่อวิกฤตภูมิอากาศของรัฐบาลออสเตรเลีย “เราต้องลงมือเดี๋ยวนี้ก่อนที่จะสายไป” ส่วนฟิลิปปินส์ กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมแขวนป้ายผ้าที่เขียนว่า ‘ไม่มีโลกใบที่ 2’ (THERE IS NO PLANET B)

การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยการหยุดเรียนทุกวันศุกร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อสิงหาคมปี 2018 โดยเกรตา ธันเบิร์ก เยาวชนสวีเดน ก่อนที่แนวคิดนี้จะแพร่กระจายในหมู่เยาวชนทั่วโลก

ที่มา:

https://www.dw.com/en/fridays-for-future-greta-thunberg-joins-sweden-protests-live-updates/a-55048343

https://berlinspectator.com/2020/09/24/germany-fridays-for-future-to-stage-first-big-climate-strike-protests-in-months/

https://www.reuters.com/article/idUSL3N2GM18D

https://www.abc.net.au/news/2020-09-25/global-student-strike-for-climate-action/12702434

ภาพ janerik Henriksson via REUTERS 

Tags: ,