ถึง ฟรีดา คาห์โล
วันนี้คุณทำให้ฉันแปลกใจหลายอย่าง ทั้งที่คุณได้ตายไปแล้วกว่าหกสิบปี แต่คุณก็ยังคงมีอำนาจนั้น เรื่องราวของคุณยังคงสั่นสะเทือนจิตใจของหลายต่อหลายคน รวมทั้งฉันด้วย
หลายคนรวมทั้งฉันต่างรู้ คุณมีชีวิตที่แสนเศร้า เกิดมาได้เพียงสองเดือนก็มีน้องสาวคลานตามมา ทำให้แม่ให้นมคุณต่อไม่ได้ คุณเป็นโปลิโอแต่เด็กทำให้ขายาวไม่เท่ากัน เมื่อโตเป็นวัยรุ่นก็ประสบอุบัติเหตุขณะนั่งรถโดยสารจนกระดูกส่วนสำคัญหัก คุณกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่แรมปี การวาดรูปจึงเป็นการบำบัดที่ทรงพลังที่สุดสำหรับคุณ
หากแต่นั่นยังไม่พอ คุณเจ็บมากกว่าที่ฉันคิด และเจ็บมากกว่าที่ฉันเจ็บ คุณเลิกรากับ ‘อเล็กซ์’ คนรักคนแรกหลังจากประสบอุบัติเหตุด้วยกันในครั้งนั้น ต่อมาคุณแต่งงานกับคู่ชีวิตของคุณ ดิเอโก ริเวรา ศิลปินเม็กซิกันชื่อก้องที่อายุมากกว่าคุณ 20 ปี แต่ก็มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น คุณแท้งลูกถึงสามครั้ง ฝั่งดิเอโกก็นอกใจคุณไปคบชู้กับคริสตินา น้องสาวแท้ๆ ที่แม่หยุดให้นมคุณไปอุ้มท้องเธอ
แต่ในขณะเดียวกัน คุณเองก็มีคนรักลับๆ ที่สานสัมพันธ์กันมาเกือบสิบปี แปลกดีเสียอีกที่เขาเป็นคนฮังกาเรียน ผู้มาจากดินแดนที่ฉันมาเยี่ยมเยือนในวันนี้ ดินแดนที่มอบอีกโอกาสหนึ่งให้คุณได้แกะสะเก็ดแผล เพื่อให้แผลลึกของคุณเป็นที่ปรากฏ ถึงบาดแผลนั้นจะถูกตีความอย่างหนักหน่วงไปบ้าง แต่ฉันหวังว่าคุณคงไม่ถือโทษโกรธพวกเขามากเท่าชะตากรรมของคุณ
ในฐานะคนที่รู้จัก ฟรีดา คาห์โล ผ่านประวัติส่วนตัวฉบับย่อของเธอที่มีคนนับไม่ถ้วนเขียนถึง แต่ไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของเธอ นิทรรศการ Frida Kahlo ที่จัดขึ้นในปีนี้ที่ Hungarian National Gallery เมืองบูดาเปสต์ จึงเป็นดั่งเครื่องมือทบทวนความจำ และหนังสือเล่มใหม่ที่เชื้อชวนให้เราลองอ่าน ซึ่งถึงแม้ว่ากลวิธีในการเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้จะน่าเบื่อไปเสียหน่อย แต่ด้วยความสั้นของมัน และแก่นแกนเรื่องราวชีวิตที่ซับซ้อนของตัวละคร เราจึงอ่านจนจบได้ไม่ยาก
นิทรรศการนี้แบ่งออกเป็น 6 ห้อง 6 สีที่เชื่อมติดกันเป็นทางเดินเส้นเดียว เหมาะกับปริมาณของผู้ชมที่ล้นหลามจนต้องเดินไหลไปตามกันไปแบบย้อนกลับแทบไม่ได้ งานที่นำมาจัดแสดงบนผนังหลากสีคืองานชิ้นเด่นๆ ที่ยกมาจาก Museo Dolores Olmedo ที่เม็กซิโก เช่น The Broken Column (1944) ที่เธอวาดจากการบาดเจ็บทางร่างกาย และ Henry Ford Hospital (1932) ที่เธอวาดจากการแท้งลูกที่อเมริกา
ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ทำให้เราแปลกใจคือความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไม่ลับระหว่างฟรีดากับหลายสิ่ง หลายอย่าง และหลายคน ที่ในนิทรรศการเองก็ไม่ได้เน้นหนักนัก (เพราะมันก็เป็นนิทรรศการที่ไม่ได้เจาะลึก แต่เน้นให้ผู้ชมรู้จักฟรีดาแบบกว้างๆ มากกว่า) แต่เราเองกลับรู้สึกว่ามีเสน่ห์น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าความสัมพันธ์ของฟรีดากับดิเอโกที่ถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลาทั้งในและนอกนิทรรศการนี้
ภาพแรกที่ดึงความสนใจของเราคือภาพสเก็ตช์ฟรีดาใส่หมวกสีแดง ถึงจะดูเหมือนหมวกเบเรต์ แต่ที่จริงคือหมวก Cachucha ของเม็กซิกันที่ฟรีดาและเพื่อนในกลุ่มอีก 8 คนมักสวมใส่ในขณะที่เรียนที่โรงเรียนเตรียมเพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ตอนนั้นฟรีดาตั้งใจจะเรียนแพทย์ แต่เพราะประสบอุบัติเหตุแผนการจึงต้องพับไป นั่นเองทำให้เธอสนใจกายวิภาคมนุษย์ และนำมาใช้ในงานของเธอเสมอ)
พวกเขาเอาชื่อหมวกมาใช้เป็นชื่อกลุ่มการเมือง ‘Los Cachuchas’ เคลื่อนไหวและจิกกัดสังคมจนฟรีดาเคยเกือบโดนไล่ออกจากโรงเรียน หัวหน้ากลุ่มคือ ‘อเล็กซ์’ หรือ อาเลฮานโดร โกเมซ อาริอาส (Alejandro Gómez Arias) ซึ่งเป็นรุ่นน้องเธอหนึ่งปี และต่อมาได้กลายมาเป็นคนรักของเธอ ฟรีดาและอเล็กซ์แลกเปลี่ยนกันเรื่องสังคม การเมือง ปรัชญา ศิลปะ และแสดงออกซึ่งความรู้สึกต่อกันอย่างซื่อตรง เห็นได้จากจดหมายที่ฟรีดาเขียนถึงอเล็กซ์ ทั้งคู่ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเป็นเวลายาวนานหลังเลิกรา และนี่คือภาพพอร์ตเทรตของเขาที่ฟรีดาวาดไว้
และถึงจะไม่อยากพูดถึงเท่าไหร่ แต่ก็คงไม่สามารถละเลยได้ นั่นคือหลังจากเลิกรากับอเล็กซ์ คนรักคนใหม่ของฟรีดาก็คือดิเอโก ริเวรา ศิลปินชื่อดังที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและทำงานเคียงข้างเธอไปจนช่วงสุดท้ายของชีวิต พวกเขามีสตูดิโอใหญ่อยู่ในย่านคนรวยของเม็กซิโกซิตี้ โดยตอนนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ Museo Casa Estudio Diego Rivera y Frida Kahlo ไปเป็นที่เรียบร้อย
นิทรรศการนี้ที่บูดาเปสต์เน้นย้ำบทบาท ความสำคัญ และอิทธิพลที่ดิเอโกมีต่อฟรีดาอย่างมาก จนเราคิดว่ามากเกินไป หลายคนเข้าใจว่าฟรีดาเริ่มวาดรูปเพราะดิเอโก แต่ไม่ใช่ หลายคิดว่าเธอเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ตามดิเอโก แต่ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน ซึ่งหากคนเข้ามาดูนิทรรศการและไม่ได้อ่านคำอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนพอ อาจกลับออกไปด้วยความเข้าใจแบบเดิมก็เป็นได้
โดยเฉพาะในห้องสีเทาซึ่งเป็นห้องรองสุดท้ายที่โหมกระหน่ำความสำคัญของดิเอโกผ่านชิ้นงานวิดีโอสองตัว ตัวแรกบอกเล่าความรู้สึกอบอุ่นระหว่างฟรีดากับดิเอโกผ่านสัมผัสทางกายที่นุ่มนวล ที่เสมือนจะมีไว้เพื่อปรับจูนอารมณ์โรแมนติกให้กับผู้ชม ส่วนตัวที่สองคือวีดีโอสไลด์ภาพถ่ายของทั้งสอง พร้อมเสียงอ่านข้อความขนาดยาวในจดหมายที่ฟรีดาเขียนถึงดิเอโก
ท่ามกลางบรรยากาศที่จัดวางให้รู้สึกถึงความโศกแต่ซึ้งในชีวิตรักของฟรีดา เรากลับไม่รู้สึกโรแมนติกตามไปด้วย อาจเพราะในขณะที่ผู้ชมส่วนใหญ่กำลังตั้งใจดูวีดีโอตัวที่สองนั้น ภาพวาดของเธอในอีกฟากหนึ่งของห้องกลับเตะตาเราอย่างจัง ทั้งเพราะเราไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อน และเพราะมันช่างขับเคลื่อนด้วยความรุนแรง
ภาพวาดที่ว่านี้มีชื่อว่า A Few Small Nips (1935) ซึ่งเธอวาดจากข่าวสามีแทงภรรยาบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อล้อกับดิเอโกที่ทำร้ายเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการนอกใจ สีแดงที่ถูกปาดลงเป็นรอยเลือดนั้นนูนเด่นขึ้นมาบนพื้นผิวของชิ้นงานเมื่อมองในระยะใกล้กว่าคืบ แถมกรอบไม้ที่ใช้ยังถูกทำให้เปรอะรอยเลือด ราวกับเหตุฆาตกรรมได้เกิดขึ้นในบ้านที่แขวนภาพนี้อยู่อีกที ผนังห้องนอนในภาพก็ดูเหมือนที่พักอาศัยทั่วไปที่เราคุ้นตา หันมาอีกครั้ง นั่นอาจเป็นห้องของเรา และหญิงในภาพก็อาจกลายเป็นเราเองก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยืนมองภาพนี้อยู่นานและคิดว่า หากฟรีดาตั้งใจให้ผู้ชายสวมหมวกในภาพเป็นตัวแทนดิเอโกจริงอย่างที่ผู้จัดได้เขียนบรรยายไว้ การนำภาพนี้มาไว้ในห้องเดียวกับวิดีโอสองชิ้นที่เชิดชูความรักของคนสองคนที่ทำลายล้างซึ่งกันและกันอยู่ในที อาจไม่ใช่วิธีการที่น่าชมเชยนัก
ถึงอย่างนั้น ห้องสีเทานี้ก็ยังมีความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่เราอยากนำมาเล่าสักเล็กน้อย ถึงจะเป็นเรื่องที่หลายคนอาจทราบดีอยู่แล้ว นั่นคือความสัมพันธ์รักระหว่างฟรีดากับนิกโคลาส มูไรย์ (Nickolas Muray) ช่างภาพพอร์ตเทรตชาวอเมริกันเชื้อสายฮังกาเรียนที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 1931 และจบลงในปี 1939 ภาพถ่ายพอร์ตเทรต iconic จำนวนมากของฟรีดาที่ออกสู่สาธารณะ รวมทั้งภาพพื้นหลังสีเขียวลายดอกต้นบทความ ก็ถ่ายโดยเขา นิทรรศการรวมภาพถ่ายฟรีดาโดยมูไรย์ ก็เพิ่งจัดขึ้นที่ Museum of Latin American Art ลองบีช แคลิฟอร์เนียเมื่อปีที่แล้วนี่เอง
นิทรรศการที่บูดาเปสต์นี้เสนอว่า อาจเป็นไปได้ที่เชื้อสายฮังกาเรียนของมูไรย์ซึ่งเป็นคนรักคนสำคัญมีส่วนทำให้เธอพยายามบอกกับคนอื่นในช่วงท้ายของชีวิตว่า เธอมีเชื้อสายฮังกาเรียนที่ได้มาจากฝ่ายพ่อ (พ่อของเธอมีเชื้อสายเยอรมัน ย้ายจากเยอรมันมาปักหลักที่เม็กซิโกซิตี้ และเปลี่ยนชื่อสกุล) แต่จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ว่าจริงหรือไม่
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างฟรีดากับมูไรย์ซึ่งมีเชื้อสายฮังกาเรียนนั้น ไม่ได้จับใจผู้เขียนมากเท่าความสัมพันธ์ระหว่างฟรีดาซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์กับประเทศฮังการีซึ่งปัจจุบันโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม
Reuters รายงานว่า เมื่อกลางเดือนกรกฏาคม หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาในฮังการีออกมาแสดงความไม่พอใจและต่อต้านการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ โดยกล่าวว่านี่คือวิธีการสนับสนุนคอมมิวนิสต์โดยใช้เงินของรัฐ ทำให้รัฐมีส่วนสนับสนุนคอมมิวนิสต์ ซึ่งดูจะเป็นลัทธิการเมืองที่ไม่เป็นที่ต้องการในประเทศนี้ขณะนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่พรรค Fidesz เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมัยที่ 3 ในเดือนเมษายน โดยเป็นรัฐบาลผสมที่มีแนวทางเอนเอียงไปทางฝ่ายขวา และมี วิคตอร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) เจ้าของนโยบายต่อต้านผู้อพยพอันแข็งกร้าว และแคมเปญ “Strong Hungary” เป็นนายกฯ ต่อ
อดคิดไม่ได้ว่า หากฟรีดาผู้ซึ่งติดภาพ คาร์ล มาร์กซ์ และ ฟรีดริช เองเกิลส์ ไว้ในห้องนอน และเคยมีสัมพันธ์รักกับ ลีออน ทรอตสกี ได้รู้ว่าประเทศที่มูไรย์จากมา และผู้คนที่อาจมีเชื้อสายเดียวกับเธอนั้น ได้ละทิ้งอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ปัญญาชนฮังกาเรียนเคยยึดถือไปเสียแล้ว เธอจะชอกช้ำใจสักแค่ไหน
Fact Box
นิทรรศการ Frida Kahlo จัดขึ้นที่ Hungarian National Gallery เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับนิทรรศการและการเข้าชมได้ที่ http://mng.hu/temporary_exhibitions/frida-kahlo-122938
หากเลือกวันที่เข้าชมได้แล้ว แนะนำให้ซื้อบัตรผ่านเว็บไซต์และพิมพ์ออกมาให้เรียบร้อย จะสามารถใช้เข้างานได้ทันที