ในขณะที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ และยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ซึ่งในขณะนี้ทั่วโลกมีการนำเอาวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดิมแบบต่างๆ กว่า 115 แบบมาใช้ค้นคว้าทดลองเพื่อสร้างวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้ 

สถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศสก็กำลังดำเนินการการค้นคว้าทดลองเพื่อหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันแห่งนี้นำเอาวัคซีนโรคหัดมาดัดแปลงเพื่อหลอกให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีต่อต้านเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019

สถาบันปาสเตอร์ตั้งขึ้นในปี 1888 โดยตั้งชื่อตามนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อดัง หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้คิดค้นวิธีการฆ่าเชื้อ (พาสเจอร์ไรซ์) และวัคซีนโรคแอนแทรค ปัจจุบันเกือบ 133 วิทยาเขตในปารีสของสถาบันล้วนกำลังศึกษาวิจัยเพื่อสร้างวัคซีนป้องกันโรคควิด-19 

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันปาสเตอร์สามารถหาลำดับจีโนมเต็มรูปแบบของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในยุโรปได้ เพียงไม่กี่วันหลังจากมีรายงานผู้ป่วยโรคโควิด-19  รายแรกในฝรั่งเศส การค้นพบนี้มีความสำคัญในการทำความเข้าใจว่าไวรัสได้กลายพันธุ์หรือไม่หลังจากการค้นพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน

ล่าสุดทีมนักวิจัยกำลังทำการทดลอง ปรับเปลี่ยนวัคซีนโรคหัดแบบมาตรฐาน (วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน หรือ MMR) โดยรวมโปรตีน SARS-CoV-2 ของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 นี้ลงไปด้วย โดยหวังว่ามันจะสามารถกระตุ้นร่างกายให้ตอบสนองสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ 

หากวิธีการนี้สำเร็จ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วัคซีนนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งและติดทนนานหลังจากการฉีดเพียงครั้งเดียว ที่สำคัญคือมีราคาไม่แพงในการผลิต อีกทั้งวัคซีนโรคหัดนี้ก็เป็นวัคซีนที่ได้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึงกระบวนการทดสอบและการจดสิทธิบัตรจะเร็วขึ้น

โรงงานทุกแห่งในโลกสามารถผลิตวัคซีนสำหรับโรคหัดได้เฟเดอริก แทงกี นักไวรัสวิทยาหนึ่งในทีมนักวิจัยของสถาบันปาสเตอร์ กล่าว

วิธีการนี้ เป็นวิธีการทำแล้วได้ผลมาแล้วกับการทำวัคซีนต้นแบบโรคชิคุนกุนยา (โรคไข้ปวดข้อที่เกิดจากยุงลาย) ซึ่งระบาดในเอเชียใต้และแอฟริกาทุกปี หลังจากการทดลองทางคลินิกเป็นเวลาเจ็ดปี ในที่สุดวัคซีนชิคุนกุนยาก็อยู่ในขั้นตอนที่ 3 ในการทดสอบประสิทธิภาพกับคนหลายพันคน

“ฟังดูนานใช่ไหม 7 ปี แต่นั่นเร็วที่สุดแล้ว” เฟเดอริก แทงกี กล่าว 

ตอนนี้การวิจัยวัคซีนโควิด-19 ที่ก้าวหน้าที่สุด น่าจะอยู่ที่ศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ซึ่งเริ่มทำการทดสอบในสัตว์ได้แล้ว โดยอาจจะใช้เวลา 2-3 เดือน จากนั้นขั้นตอนต่อไปก็คือ Themis บริษัท เทคโนโลยีชีวภาพของออสเตรีย ก็จะเตรียมผลิตวัคซีนที่ศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กทดลอง ในจำนวนหลายร้อยขวดเพื่อนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกต่อไป 

แทงกีกล่าวว่า วัคซีนต่างๆ ที่หลายสถาบันกำลังทดลองอยู่นี้ น่าจะเริ่มทดสอบกับคนได้โดยต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี เขาเตือนว่านักวิจัยไม่ควรรีบเร่ง เพราะต้องทดสอบให้แน่ใจว่าวัคซีนจะมีผลข้างเคียงใดๆ หรือไม่

ปัญหาที่ละเอียดอ่อนมากสำหรับคิดค้นวัคซีนสำหรับไวรัส ก็คือการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายมากกว่าตัวเชื้อไวรัสเองเสียอีก” 

อ้างอิง

https://www.sciencealert.com/scientists-use-the-measles-vaccine-to-develop-trojan-horse-against-covid-19

https://www.businessinsider.com/french-scientists-using-measles-vaccine-against-covid-19-2020 

https://www.who.int/immunization/diseases/measles/statement_missing_measles_vaccines_covid-19/en/

ภาพ : Institut Pasteur

Tags: , ,