ผู้พิพากษาฝรั่งเศสสั่งยุติการสอบสวนการสังหารอดีตประธานาธิบดีรวันดา ยูเวนัล ฮับยาริมานา (Juvenal Habyarimana) ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง กลายเป็นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีเมื่อปี 1994
เพราะศาลฝรั่งเศสเห็นว่า หลักฐานไม่เพียงพอ ไม่รู้ว่าอาวุธลอบสังหารมาจากฝ่ายใด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1994 เครื่องบินของประธานาธิบดีรวันดายูเวนัล ฮับยาริมานา ชาวฮูตู ผู้ซึ่งลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฎทุตซี ถูกยิงมิสไซล์ใส่ จนตกระหว่างลงจอดที่สนามบินเมืองคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา จากนั้น วันรุ่งขึ้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กินเวลายาวนานราว 100 วันที่กลุ่มหัวรุนแรงฮูตูฆ่าประชาชนชาวทุตซีกว่า 800,000 คน ก่อนที่ฝ่ายทุตซี ซึ่งตอนนี้เป็นฝ่ายปกครองประเทศโดยการนำของประธานาธิบดีคากาเม จะเอาชนะกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงได้
ในครั้งนั้น ฝรั่งเศสร่วมส่งทหารไปยังรวันดา อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการขององค์การสหประชาชาติด้วย ซึ่งทำให้ต่อมา รัฐบาลรวันดากล่าวหาว่าฝรั่งเศสว่า มีส่วนปกป้องผู้ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
และด้วยเหตุที่บนเครื่องบินนั้นมีลูกเรือชาวฝรั่งเศสอยู่บนเครื่องด้วย ทำให้ญาติของลูกเรือที่เสียชีวิตร้องขอให้มีการพิจารณาเมื่อปี 1998 คดีพุ่งเป้าไปที่อดีตรัฐมนตรีกลาโหม เจมส์ คาบาเรเบ (James Kabarebe) และถือเป็นคดีที่ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างรวันดากับฝรั่งเศสมาเป็นเวลาหลายปี เพราะรัฐบาลรวันดาไม่พอใจ และกล่าวหาว่ารัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
คำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องล้วนซับซ้อนและสับสน เช่น ในปี 2006 ผู้พิพากษาฝรั่งเศสระบุว่า ชาวทุตซี 9 คน รวมทั้งประธานาธิบดีพอล คากาเม เป็นผู้สังหารอดีตประธานาธิบดี ยูเวนัล ฮับยาริมานา คราวนั้น ทำให้รวันดาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสทันที และบอกว่าฝรั่งเศสมีส่วนสนับสนุนระบอบฮูตูและฝึกทหารให้โจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ทุตซี แต่ต่อมาใน ปี 2009 ศาลรวันดาก็มีคำวินิจฉัยออกมาว่า กลุ่มฮูตูหัวรุนแรงมีความผิดฐานสังหารฮับยาริมานา
ผ่านไปหลายปี ในปี 2016 ศาลปารีสมีคำตัดสินจำคุกนายกเทศมนตรีรวันดาสองคน ข้อหาสังหารหมู่ในหมู่บ้านเมื่อปี 1994 ซึ่งทำให้ชาวทุตซี 2,000 คนเสียชีวิต ระหว่างหลบอยู่ในโบสถ์
กระทั่งปีนี้เอง เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ผู้พิพากษาฝรั่งเศสขอให้ยกเลิกการพิจารณา เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ เพราะเจ้าหน้าที่สอบสวนในรวันดาและที่อื่นๆ ไม่สามารถระบุได้ว่าจรวดที่ยิงขึ้นมานั้น มาจากฝ่ายใด
หลังรู้ว่าศาลตัดสินใจยุติการสอบสวน ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของภรรยาของประธานาธิบดีฮับยาริมานา และญาติของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า เขาจะยื่นอุทธรณ์การตัดสินใจพักการพิจารณาการสอบสวน เขากล่าวว่าคดีนี้มีหลักฐานเพียงพอที่จะไต่สวนในคดีอาญา ส่วนทนายความของญาติของลูกเรือที่เสียชีวิตบนเครื่องบินก็บอกว่า เขากำลังพิจารณาว่ายื่นอุทธรณ์หรือไม่
ด้านภรรยาของฮับยาริมานามองว่า ความเคลื่อนไหวของผู้พิพากษาในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเชื่อว่า คงมีแรงผลักดันทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงด้วย
ที่มา:
- https://www.france24.com/en/20181226-france-drops-probe-attack-death-president-habyarimana-sparked-rwandan-genocide
- https://www.dw.com/en/france-drops-probe-into-attack-that-triggered-rwanda-genocide/a-46867511
- https://www.bbc.com/news/world-africa-46687492