ฟุตบอลโลก 2018 ปิดฉากลงไป แน่นอนว่าการแข่งขันนำมาซึ่งทั้งผู้สำเร็จและผู้ล้มเหลว เรื่องในสนามจบลงไปตั้งแต่สิ้นเสียงนกหวีดนัดชิงชนะเลิศ แต่เรื่องราวนอกสนามยังไม่จบ
ฝ่ายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดน่าจะเป็นฝรั่งเศส การคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 ของพวกเขาไม่เพียงถูกชื่นชมในแง่ของฝีเท้า อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง คือส่วนผสมของผู้เล่นในทีมชาติที่แสดงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติในสังคมฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี มันยิ่งตอกย้ำภาพจำของที่คนมีต่อทีมชาติฝรั่งเศส เพราะเมื่อตอนที่พวกเขาคว้าแชมป์โลกครั้งแรกเมื่อปี 1998 ความหลากหลายในทีมชาตินี้ก็เป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาเช่นกัน ฝรั่งเศสชนะทั้งในแง่ของกีฬาและการแสดงออกในฐานะตัวแทนของชาติ
ส่วนแชมป์เก่าอย่างเยอรมนีน่าจะต้องยอมรับสภาพผู้ล้มเหลวที่สุดอย่างโต้แย้งได้ยาก เพราะไม่เพียงแต่จะตกรอบแรกอย่างพลิกความคาดหมายแล้ว กรณีภาพถ่ายและจดหมายของ เมซุต โอซิล ที่ดราม่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังจบทัวร์นาเมนต์ ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า พวกเขาล้มเหลวอย่างโดดเด่นทั้งในและนอกสนาม
ความสำเร็จของทีมชาติฝรั่งเศส 1998/2018
ภาพลักษณ์ของทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลก 2018 แทบจะทาบทับกันได้พอดีกับชุดแชมป์โลก 1998 ทั้งความสำเร็จ องค์ประกอบในทีม ยังไม่รวม ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ โค้ชชุด 2018 ที่เมื่อปี 1998 เขาก็เป็นกัปตันทีม
ความหลากหลายทางเชื้อชาติของทีมชาติฝรั่งเศสทั้งสองยุค ถูกอธิบายด้วยชุดคำเดียวกัน (ซึ่งล้อไปกับสามสีบนธงชาติ) ที่ว่า ‘black-blanc-beur’ ซึ่งหมายถึง คนดำ คนขาว และคนอาหรับ โดยเฉพาะที่มีรกรากจากแอฟริกาเหนือ นั่นคือทีมชาติฝรั่งเศสเต็มไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติที่สอดประสานกันได้อย่างลงตัว เสียงชื่นชมที่ตามมาจึงเกิดขึ้นในแง่ที่ว่า มันเป็นภาพตัวแทนที่แสดงถึงความเปิดกว้างของสังคมฝรั่งเศส เชื้อชาติไหนไม่สำคัญ ทุกคนล้วนแต่ทำงานร่วมกันเพื่อเกียรติภูมิของชาติ… โอ้ว ฟุตบอลมันช่างสวยงามเหลือเกิน
กล่องแพนโดราของทีมชาติเยอรมนี
ในทางกลับกัน สำหรับเยอรมนีแล้ว เรื่องเชื้อชาติดูจะกลายเป็นแกนกลางของปัญหาที่นำมาสู่ความล้มเหลวของพวกเขา เรื่องเริ่มมาตั้งแต่ก่อนถึงฟุตบอลโลกที่มีภาพของโอซิลและอิลคาย กุนโดกัน สองนักเตะทีมชาติเยอรมนีถ่ายภาพคู่กับ เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีของตุรกี
การที่นักฟุตบอลชาติเยอรมนีที่มีเชื้อสายตุรกีอย่างทั้งสองคนไปถ่ายภาพคู่กับแอร์โดอันทำให้ชาวเยอรมันขุ่นเคืองมาก เพราะทั้งสองชาติมีปัญหากันอยู่ กระแสของความไม่พอใจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเริ่มฟุตบอลโลกแล้ว โดยแฟนบอลโห่ใส่ทั้งคู่ในการแข่งขันอุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก สมาคมฟุตบอลเยอรมนีออกมาเตือนทั้งคู่ ส่วนอดีตทีมชาติอย่าง สเตฟาน เอฟเฟ่นแบร์ก เสนอให้ตัดทั้งสองคนออกจากทีมชาติด้วยซ้ำ
ระหว่างฟุตบอลโลก ก็มีข่าวออกมาว่า ในแคมป์ทีมชาติเยอรมนีนั้นบรรยากาศมาคุมาก นักฟุตบอลไม่พอใจกัน มีการแบ่งเป็นก๊กเป็นพวก โดยมีที่มาจากเรื่องของโอซิล (และกุนโดกัน) นั่นแหละ พวกเขาเริ่มฟุตบอลโลกอย่างกระท่อนกระแท่น และยิ่งเมื่อมาจบเห่เอาในนัดที่สามที่ตกรอบหลังจากแพ้เกาหลีใต้อย่างน่าผิดหวัง (โดยเฉพาะถ้าคิดว่า เมื่อสี่ปีที่แล้วพวกเขาเพิ่งจะคว้าแชมป์มาอย่างเรียกได้ว่าไร้เทียมทาน) เสียงวิจารณ์ก็กระหึ่ม และที่โดนหนักที่สุดก็คือโอซิล
ถ้าเรื่องจบลงแค่นั้น อาจจะบอกว่านี่เป็นแค่ความล้มเหลวในสนามที่ได้รับผลกระทบมาจากเรื่องภายนอก แต่ไม่ใช่ มันดูยิ่งเลวร้ายกว่า เพราะความล้มเหลวในสนามได้ไปเปิดกล่องแพนโดราเผยเรื่องที่หมักหมมขึ้นมา
หลังจบฟุตบอลโลกประมาณหนึ่งสัปดาห์ โอซิลเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกยาวเหยียดสามฉบับสี่หน้าทางโซเชียลมีเดียของเขาทุกช่องทาง เนื้อหาส่วนแรกอยู่ที่การปฏิเสธว่า การไปพบแอร์โดอันไม่ได้มีนัยทางการเมือง (ซึ่งเอาจริงๆ การปฏิเสธแบบนี้ก็ดูจะไร้เดียงสาไปหน่อย) และที่สำคัญคือ สองส่วนหลังที่แสดงความอัดอั้นตันใจที่เขารู้สึกว่า สื่อและสมาคมฟุตบอลเยอรมนีปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เป็นธรรม (โดยเฉพาะไรน์ฮาร์ด กรินเดิล ประธานสมาคมฯ) ทั้งที่สื่อโจมตีเขาโดยอ้างถึงภูมิหลังที่เขามีเชื้อสายตุรกี และที่สมาคมฯ ทำเหมือนโยนความผิดทั้งหมดให้เขา รวมถึงหลายกรณีที่โอซิลเห็นว่า มันเป็นเหตุจากที่เขามีเชื้อสายตุรกี พร้อมทั้งประโยคที่ว่า “ในสายตาของกรินเดิลและผู้ที่สนับสนุนเขา ผมเป็นชาวเยอรมันเมื่อเราชนะ แต่ผมเป็นผู้อพยพเมื่อเราแพ้” และประกาศเลิกเล่นทีมชาติ
หลังจากจดหมายของโอซิลเผยแพร่ ก็ทำให้เกิดการถกเถียงเป็นการใหญ่ บ้างก็เห็นใจโอซิลและมุ่งเป้าไปที่ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ บ้างก็ว่ามองไปอีกทางว่า เป็นเพราะโอซิลที่ไปยุ่งกับการเมืองโดยไม่ตระหนักในสถานะของตนเอง
แต่ไม่ว่าจะมองอย่างไร ปฏิเสธได้ยากว่า แกนกลางของปัญหาไม่เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ
อันที่จริงทีมชาติเยอรมนีก็ไม่ต่างกับฝรั่งเศสมากนัก แม้จะไม่มากเท่าแต่พวกเขาเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติเหมือนกัน นักเตะทีมชาติเยอรมนีจำนวนมากก็สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นผู้อพยพ แต่ทำไมสองกรณีนี้ถึงแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
ตอนที่ทีมชาติเยอรมนีประสบความสำเร็จในสนาม พวกเขาก็ได้รับคำชื่นชมเรื่องความหลากหลายภายในทีมอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อพวกเขาล้มเหลวในฟุตบอลโลกหนนี้ เหตุการณ์กลับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ บางทีเราอาจจะต้องตั้งคำถามกับคำอธิบายในแนว “ฟุตบอลสวยงาม” เสียบ้าง
เริ่มกันที่ความสวยงามอันเป็นตำนานอย่างฝรั่งเศสชุดแชมป์โลก 1998 การร่วมทีมกันได้อย่างลงตัวของ black-blanc-beur ทำให้โลกชื่นชมความเปิดกว้างของสังคมฝรั่งเศส ซ้ำยังฝันจะให้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างการยอมรับความหลากหลาย แต่เอาเข้าจริงแล้วโลกมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ผลการสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับการเหยียดผิวโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน (National Consultative Committee on Human Rights) ของฝรั่งเศสเมื่อปี 1999 และ 2000 พบว่า การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 ไม่ได้ช่วยให้ทัศนคติต่อปัญหาการเหยียดผิวดีขึ้นเลย ซ้ำยังแย่ลงด้วยซ้ำ แม้กระทั่งเรื่องที่เกี่ยวกับฟุตบอล เช่นข้อคำถามหนึ่งในการสำรวจเมื่อปี 2000 ที่ว่า “มีนักฟุตบอลเชื้อสายต่างชาติในทีมชาติฝรั่งเศสมากเกินไป” ก็มีคนเห็นด้วยอย่างมากหรือมากที่สุดกับข้อความนี้ถึง 36%
สนาม Stade de France ที่สร้างขึ้นมาเพื่อฟุตบอลโลก 1998 และเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำที่ทีมชาติฝรั่งเศสคว้าแชมป์โลกครั้งแรกได้ก็ไม่ช่วยอะไรมากนัก ชุมชนแออัดซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ “คนนอก” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ สนามยังยากจนและแปลกแยกจากสังคมฝรั่งเศส
การแข่งขันฟุตบอลที่ยืนยันว่าฝันนี้ไม่ได้เป็นจริงคือนัด “กระชับมิตร” ระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับแอลจีเรียเมื่อปี 2001 ที่สนามเดียวกัน ก่อนแข่งมีเสียงโห่เมื่อเพลงชาติฝรั่งเศสดังขึ้น และระหว่างเกมก็มีผู้ชมบุกลงไปในสนามจนต้องยกเลิกการแข่งขัน และดูเหมือนผู้ชมที่ก่อเรื่องนั้นจำนวนมากจะเป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟริกาเหนือ อย่าลืมว่าฮีโร่ฟุตบอลโลก 1998 อย่าง ซีเนอดีน ซีดาน มีบรรพบุรุษที่มาจากแอลจีเรีย
บางทีประโยคเด็ดในจดหมายของโอซิลอาจจะจริง อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าเมื่อคุณชนะทุกอย่างดูดี แต่เมื่อแพ้แล้วอะไรก็แย่ไปหมด จุดที่ย่ำแย่ที่สุดของทีมชาติฝรั่งเศสคือฟุตบอลโลก 2010 เมื่อพวกเขาตกรอบแรกแบบเละเทะพร้อมกับข่าวเรื่องความขัดแย้งในทีมที่ดูเหมือนจะมีเรื่องสีผิวเป็นประเด็นสำคัญ สถานการณ์ของฝรั่งเศสตอนนั้นแทบไม่ต่างกันกับเยอรมนีตอนนี้ แล้วความล้มเหลวเปิดกล่องเอาสิ่งที่หมักหมมตามมา ปี 2011 มีสื่อในฝรั่งเศสเปิดเผยข่าวว่า มีการจำกัดโควต้าในโปรแกรมฝึกฟุตบอลระดับเยาวชนของฝรั่งเศส โดยกำหนดกันอย่างลับว่า จะให้มีผู้เข้าร่วมฝึกที่เป็นคนดำหรืออาหรับไม่เกิน 30% แม้ว่าต่อมาผู้บริหารสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสจะออกมาปฏิเสธ แต่นี่เป็นจุดที่ทำให้ไอเดียเรื่อง black-blanc-beur ยิ่งถูกตั้งคำถาม
หลังข่าวฉาวนี้ออกมา มีรายงานว่าหนังสือพิมพ์ Le Parisien ของฝรั่งเศสระบุว่านี่คือ “จุดสิ้นสุดของมายาคติ” ที่หมายความว่า ไอเดียเรื่อง black-blanc-beur นั้นเป็นเพียงมายาคติ
Patrick Mignon นักสังคมวิทยาจากสถาบันการกีฬาแห่งชาติฝรั่งเศส (France’s National Institute of Sport) ก็เห็นด้วยว่า ไอเดียเรื่อง black-blanc-beur เป็นเพียงมายาคติ และขยายความว่ามันพังทลายลงไปอย่างไม่มีชิ้นดีในฟุตบอลโลก 2010 อันที่จริง Mignon ก็เคยให้ความเห็นมาตั้งแต่ก่อนหน้าว่า “ความคิดเรื่องการผนวกรวมความแตกต่างด้วยฟุตบอลนั้นเป็นเพียงภาพลวง พวกผู้มีอำนาจแค่ฉวยใช้ฟุตบอลทำเหมือนว่ามันเป็นยาวิเศษ (miracle solution)”
ผ่านไปแค่ 7-8 ปี คนจำนวนมากก็กลับมาสรรเสริญความหลากหลายของทีมชาติฝรั่งเศสอีกครั้ง ราวกับว่าปี 2010-2011 ไม่เคยมีอยู่จริง
บางครั้งความหลากหลายเป็นสิ่งสวยงาม แต่บางครั้งมันกลับกลายเป็นปัญหา ซึ่งแทบทุกชาติต่างก็ได้สัมผัสแง่มุมทั้งสองด้านนี้ ปัญหาคือ พวกสายฟุตบอลสวยงามมักจะมองหาเฉพาะแง่งามของมัน แล้วมองข้ามอีกด้านไปเสียอย่างนั้น
ถ้าคิดต่อจากประเด็นนี้ไปอีก ในยุคปัจจุบันที่คนเดินทางย้ายถิ่น-ข้ามชาติผสมปนเปกันไปหมด แนวคิดเรื่องทีม ‘ชาติ’ อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะเอาเข้าจริง คนจำนวนมากก็ไม่ได้มีอัตลักษณ์ของชาติใดชาติเดียว แม้เกณฑ์อย่างเป็นทางการของการเป็นตัวแทนทีมชาติคือการมีสัญชาติตามกฎหมาย แต่กรณีของโอซิลก็ชี้ชัดให้เห็นว่า มันยังมีเกณฑ์อย่างไม่เป็นทางการอีก ทำนองว่าต้องรักเดียวใจเดียวและซื่อสัตย์ต่อชาติ อาการ ‘เจ้าชู้’ ดูเหมือนฝักใฝ่สองชาติของโอซิลจึงเป็นปัญหาขึ้นมา (ลองดูในบทความนี้ได้ว่าถ้าไม่มีนักเตะที่มีเชื้อสายจากผู้อพยพแล้ว ทีมชาติต่างๆ ในฟุตบอลโลกจะเหลือแค่ไม่กี่คน)
บทความนี้ขอจบลงด้วยการแข่งขันฟุตบอลรายการหนึ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับฟุตบอลโลกของฟีฟ่า แต่คงยังไม่มีใครรับรู้มากนัก
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมต่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (ก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มไม่กี่วัน) มีการแข่งขัน 2018 ConIFA World Football Cup ที่กรุงลอนดอน มันคือทัวร์นาเมนต์ (ที่จัดมาหลายครั้งแล้ว) สำหรับกลุ่มชนไร้รัฐ ชนกลุ่มน้อย รวมถึงพื้นที่ที่ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นรัฐหรือไม่ได้ถูกรับเข้าเป็นสมาชิกฟีฟ่า
ตัวอย่างทีมที่เข้าแข่ง (ทัวร์นาเมนต์นี้จะไม่เรียกผู้เข้าแข่งขันว่าประเทศหรือชาติ แต่จะเรียกว่าสมาชิก) เช่น Kárpátalja ทีมตัวแทนชนกลุ่มหนึ่งที่เป็นเจ้าของสถิติรัฐที่มีอายุน้อยที่สุด พวกเขาเคยประกาศเอกราชจากเชโกสโลวาเกียเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1939 แต่วันต่อมาก็ถูกฮังการีบุกเข้ายึดครอง ปัจจุบันดินแดนที่พวกเขาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของยูเครน
Barawa ทีมตัวแทนชาวโซมาเลียพลัดถิ่นในอังกฤษที่ส่วนใหญ่มาจากเมืองท่าเรือทางตอนใต้ของโซมาเลีย อันที่จริง พวกเขาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย แต่ฟุตบอลรายการนี้ไม่มีกฎว่าเจ้าภาพต้องจัดแข่งในดินแดนของตัวเอง (เพราะสมาชิกจำนวนมากไม่มี) พวกเขาเลยจัดแข่งที่ลอนดอน
United Koreans in Japan ทีมตัวแทนของคนเชื้อสายเกาหลีที่อยู่ในญี่ปุ่น ที่มีผู้เล่น-ผู้จัดการทีมคือ An Yong-hak อดีตนักเตะทีมชาติเกาหลีเหนือที่เคยไปเล่นฟุตบอลโลก 2010 มาแล้ว เขากล่าวว่า “ในฟุตบอลโลกของฟีฟ่า ผมเป็นตัวแทนเกาหลีเหนือ ส่วนที่นี่ มันคืออัตลักษณ์ของผมในฐานะ Zainichi Korean (คนเชื้อสายเกาหลีที่อยู่ในญี่ปุ่น)”
ชื่อทีมเข้าแข่งขันที่คุ้นหูกันบ้าง อย่างเช่น Tamil Eelam, Tibet, หรือ Panjab รวมทีมที่เข้าแข่งรอบสุดท้ายนี้มีทั้งหมด 16 ทีมจากสมาชิกของ CONIFA ที่มีทั้งหมด 47 สมาชิก (Rohingya people, Uyghur, และ Quebec ก็เป็นสมาชิกด้วย แต่ดูเหมือนครั้งนี้ พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือกเข้าแข่ง) รวมถึงยังมีมาร์ค แคลทเทนเบิร์ก ผู้ตัดสินชื่อดังมาตัดสินในนัดชิงชนะเลิศ
“ผมไม่เห็นด้วยอย่างมากที่ฟุตบอลจะเป็นได้แค่เครื่องมือในการแสดงออกถึงความรักชาติเพียงอย่างเดียว มันเป็นอะไรได้มากกว่านั้น มันเป็นกีฬาที่มีคุณค่าสำหรับโลก ในหลายๆ กรณี มันทำให้คนจำนวนมากสามารถนิยามตัวเองเข้ากับอะไรบางอย่าง มันเป็นได้ทั้งสโมสร ประเทศ หรืออะไรที่อยู่ระหว่างนั้น …เราถามผู้คนทั่วโลกว่า ‘คุณนิยามตัวเองว่าอะไร’ และหลายครั้งที่คำตอบคืออะไรที่อยู่นอกเหนือการเป็นหนึ่งใน 192 สมาชิกของสหประชาชาติหรือ 211 สมาชิกฟีฟ่า” Sascha Düerkop ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการ CONIFA ว่าไว้
ภายใต้ระบบการแข่งขันในนามของ ‘ทีมชาติ’ ฟุตบอลโลกของฟีฟ่าคงไม่สามารถเป็นฟุตบอลของคนทั้งโลกได้อย่างแท้จริง ไอเดียเรื่องชาติดูจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากที่ไม่ว่าพวกเขาจะเล่นฟุตบอลเก่งแค่ไหน แต่ก็ไม่มีทางได้ไปแข่งฟุตบอลโลกในนามอัตลักษณ์ของเขาเองได้
Tags: ฝรั่งเศส, ชาติ, ชาตินิยม, ฟุตบอลโลก, โอซิล, เชื้อชาติ