ฝรั่งเศสเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวในอัตราที่สูงถึง 13.8 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่สอง ซึ่งนับเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 อันดับต้นๆ ของสหภาพยุโรป

เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศ “France Relance” แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านยูโร หรือเทียบเท่ากับมูลค่า 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดย ฌ็อง กัสแต็กซ์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสระบุว่าตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นราวสี่เท่าตัวของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ใช้หลังจากฝรั่งเศสเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤติซับไพรม์เมื่อ พ.ศ. 2551

เป้าหมายของแผนดังกล่าวคือเปลี่ยนจากการให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สู่การลงทุนในระยะยาวทั้งการจ้างงาน การฝึกอบรม รวมถึงการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจในภาพรวมสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะนำเงินไปลงทุนเพื่อ “การเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศ (ecological transition)” มูลค่ารวมทั้งสิ้นสามหมื่นล้านยูโร อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจนและเทคโนโลยีสีเขียว 9 พันล้านยูโร สร้างรถไฟระหว่างรัฐ 4.7 พันล้านยูโร เพิ่มประสิทธิภาพฉนวนของบ้านและอาคารสาธารณะเพื่อช่วยประหยัดพลังงานอีก 6.7 พันล้านยูโร สร้างเลนจักรยานพร้อมทั้งอุดหนุนค่าซ่อมบำรุงจักรยาน 1 พันล้านยูโร และอีก 2 พันล้านยูโรเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ยานยนต์เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ส่วนเงินอีกก้อนหนึ่งมูลค่าสามหมื่นห้าพันล้านยูโรจะถูกนำไปใช้เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและการพัฒนานวัตกรรม โดยลดภาระภาษีการผลิตเป็นเวลาสองปีมูลค่ารวมสองหมื่นล้านยูโร ลงทุน 1 พันล้านยูโรเพื่อดึงภาคธุรกิจสำคัญกลับเข้ามาในประเทศ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับเงินก้อนสุดท้ายอีกสามหมื่นห้าพันล้านยูโรจะถูกนำไปใช้สำหรับโครงการจ้างงานและเสริมสร้างทักษะให้แก่แรงงานรุ่นใหม่ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างตำแหน่งงานอย่างน้อยอีก 160,000 ตำแหน่ง

รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ตั้งเป้าว่าแผนการดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสฟื้นตัวโดยใช้ระยะเวลาสองปี อย่างไรก็ดี งบประมาณที่ถูกโยกย้ายมาใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในครั้งนี้ ทำให้การปฏิรูปครั้งใหญ่ที่มาครงหาเสียงไว้เมื่อสามปีก่อน เช่น ระบบบำนาญถ้วนหน้า ต้องล่าช้าออกไป 

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ยังคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะของฝรั่งเศสให้ทะยานถึง 120 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีจากเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีก่อนการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตว่าสัดส่วนงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นนั้นยังเป็นการเพิ่มบทบาทของภาครัฐและลดบทบาทของกลไกตลาดทำให้เกิดความเสี่ยงในการจัดสรรงบประมาณที่ผิดพลาด เช่นการเลือก ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ โดยภาครัฐซึ่งอาจเป็นการคาดเดาที่ไม่ถูกต้อง

ที่มา:

https://www.ft.com/content/0921c871-17b5-4e2e-bdea-aab78c2d0090

https://www.bbc.com/news/business-54009642

https://www.theguardian.com/world/2020/sep/03/france-launches-big-green-recovery-plan-part-100bn-stimulus-covid

https://www.reuters.com/article/us-france-economy/france-unleashes-100-billion-euro-stimulus-to-revive-economy-idUSKBN25U0IA

ภาพ: Ludovic Marin/Pool via REUTERS

Tags: