ผู้เล่นหน้าใหม่อาจต้องแปลกใจเมื่อค้นหาเกมส์สุดฮิตอย่าง Fortnite ในแอปสโตร์ของ Apple และ Google ไม่พบตั้งแต่วันที่ศุกร์ที่ผ่านมา สาเหตุก็เนื่องจากว่าเกมส์ดังกล่าวถูกถอดออกจากแอปสโตร์ทั้งสองแห่งเนื่องจากกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นำไปสู่การฟ้องร้องระหว่าง Epic Games บริษัทผู้ผลิตเกมส์ Fortnite และสองบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์ม

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งคือการที่ Epic Games ประกาศว่าผู้เล่นสามารถเติมเงินในเกมส์ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทโดยตรงซึ่งจะได้รับส่วนลด 20 เปอร์เซ็นต์เป็นการถาวร แต่ถ้าผู้เล่นเติมเงินผ่านทางแอปสโตร์ Apple หรือ Google จะไม่ได้รับส่วนลดดังกล่าว

โพสต์ของ Epic ระบุว่าทั้ง Apple และ Google คิดส่วนแบ่งจากยอดขายในแอปพลิเคชันในสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ Tim Sweeney ผู้บริหารบริษัท Epic ทวีตโจมตีวิธีปฏิบัติทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสมของ Apple และ Google โดยระบุว่าทั้งสองบริษัทไม่มีสิทธิเก็บส่วนแบ่งจากผู้ผลิตแอปพลิเคชันในสัดส่วนที่สูงเช่นนี้

ไม่นานเกินรอ Fortnite ก็ถูกถอดออกจากแอปสโตร์ ตามมาด้วยการยื่นคำฟ้องของ Epic Games ต่อทั้งสองบริษัทในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ในคำร้องมีการระบุว่า Epic ต้องการวิธีปฏิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้นของแอปสโตร์เพื่อผลประโยชน์ของวงการผู้ผลิตแอปพลิเคชัน พร้อมทั้งระบุชัดเจนว่าไม่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือข้อตกลงทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท

การตอบโต้ของ Fortnite ค่อนข้างชัดเจนว่าการตัดสินใจ ‘กระตุกหนวดเสือ’ ครั้งนี้มีการวางแผนอย่างรอบคอบไว้ล่วงหน้า ทั้งเอกสารคำฟ้องที่มีความยาวกว่า 60 หน้ากระดาษโดยมี Christine Varney อดีตหัวหน้าแผนกต่อต้านการผูกขาด กระทรวงยุติธรรมในสมัยรัฐบาลโอบามาเป็นหนึ่งในทีมทนาย อีกทั้งปล่อยวีดีโอล้อเลียนโฆษณาชิ้นดังของ Apple ในธีม 1984 แต่เปลี่ยนให้ตัวร้ายคือบริษัท Apple พร้อมกับแคมเปญ #FREEFORTNITE 

Apple ออกแถลงการณ์ตอบโต้กรณีดังกล่าวโดยระบุว่า “Epic Games จำหน่ายแอปพลิเคชันบนแอปสโตร์มากว่าทศวรรษ และได้รับประโยชน์มากมายจากระบบนิเวศของแอปสโตร์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ ระบบทดสอบ และระบบจัดจำหน่ายที่ Apple มีให้แก่นักพัฒนาแอปฯ ทุกคน” อีกทั้งยังระบุว่า Apple จะพยายามพูดคุยกับ Epic เพื่อยุติการละเมิดข้อกำหนดของบริษัทและเปิดให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดเกมส์ Fortnite จากแอปสโตร์อีกครั้ง

Epic ไม่ใช่บริษัทแรกที่มางัดข้อกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในประเด็นเรื่องส่วนแบ่งยอดขายจากการซื้อผ่านแอปสโตร์ เมื่อปีที่ผ่านมา Netflix ก็ปิดการสมัครสมาชิกในแอปพลิเคชันโดยเปิดให้สมัครสมาชิกผ่านทางเว็บไซต์เท่านั้น เช่นเดียวกับ Spotify ที่ตัดสินใจแบบเดียวกันเมื่อ พ.ศ 2559

ที่มา: https://edition.cnn.com/2020/08/13/tech/fortnite-apple-store-removed/index.html

https://www.theverge.com/2020/8/13/21368363/epic-google-fortnite-lawsuit-antitrust-app-play-store-apple-removal

https://www.cnet.com/news/fortnite-banned-from-apple-and-google-app-stores-and-developer-epic-sues/

https://www.bbc.com/news/technology-53777379

Tags: , , ,