เริ่มต้นจากความสงสัยถึงความหมาย, บทบาท, อิทธิพล, อายุขัย ไปจนถึงสถานะว่ามีอยู่จริงหรือไม่ (ในประเทศนี้) ของสิ่งที่เรียกว่า ‘สถาบันศิลปะ’ คิวเรเตอร์รุ่นใหม่ พอใจ อัครธนกุล คัดสรรและรวบรวมผลงานที่ตั้งคำถาม ใคร่ครวญ รวมไปถึงการรำลึกถึงสถาบันศิลปะทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมในบ้านเมืองเรา ออกมาเป็น Footnotes on Institution นิทรรศการศิลปะที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ Gallery VER ซึ่งจะจัดแสดงไปถึงวันที่ 7 กรกฎาคมนี้

ซากชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม, แท่นสีขาวบนแท่นสีขาวกับกรอบรูป 8 อันที่บรรจุร่องรอยของผิวขรุขระของผนังจากที่อื่น, ภาพจิตรกรรมของผู้คนที่กำลังรับชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำในต่างแดน, แคร่ไม้ไผ่กับเบาะ Barcelona Chair, รูบนประตู (ตาแมว) ที่ส่องเข้าไปแล้วเห็นห้องเก็บของในพิพิธภัณฑ์ และวิดีโอที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ลี้ลับในหอศิลป์

พอใจเล่าว่าแม้งานเหล่านี้จะไม่สามารถพูดภาพรวมของสถานะสถาบันทางศิลปะที่ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนานได้ หากงานที่ถูกสร้างขึ้นต่างกรรมต่างวาระโดยศิลปินทั้งหมด 5 ท่าน เมื่อมาถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่เดียวกัน (โดยผลงานบางชิ้นก็ถูกจัดวางให้ดูเหมือนทำหน้าที่สอดรับซึ่งกันและกัน) ทั้งหมดก็ต่างให้ความหมายประหนึ่ง ‘เชิงอรรถ’ (footnote) ของสถาบันศิลปะที่แตกต่างกันไปได้อย่างชวนใคร่ครวญ

‘Passage’ ของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ดูจะเป็นเชิงอรรถ ที่ชวนให้เราทั้งหวนรำลึกถึงวันชื่นคืนสุขของอดีตพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เคยมีอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เท่าๆ กับประหนึ่งเป็นการยั่วล้อความไม่จีรังของสถาบันในเชิงกายภาพ

Passage คืองาน installation ประกอบขึ้นจากโครงเหล็กที่เคยเป็นหน้ากากรางไฟกรุกระจกใส ทำหน้าที่บรรทุกเศษวัสดุอย่างขั้วหลอดไฟ, สตาร์ทเตอร์, เศษกระจก และภาพพิมพ์จากจีวรขนาดโปสการ์ด วางซ้อนภาพวาดสีฝุ่นรูปท้องฟ้า ซึ่งทั้งหมด (ยกเว้นภาพวาด) นิพันธ์ได้เก็บมาจากภายในอาคารหอศิลป พีระศรี (Bhirasri Institute of Modern Art) ภายหลังที่สถานที่แห่งนี้ปิดตัวไปแล้ว 14 ปี (เปิดทำการระหว่างปี 2517-2531) ชิ้นส่วนที่ไม่ต่างอะไรจากเศษขยะในอาคารร้างถูกจัดวางและนำมาจัดแสดงครั้งแรกในนิทรรศการ Present Perfect เมื่อปี 2545 ที่หอศิลป พีระศรี (เปิดใช้งานเฉพาะกิจเป็นการชั่วคราว) และอีก 17 ปีต่อมา ณ ปัจจุบันที่ซึ่งพอใจนำมาจัดแสดงอีกครั้งในฐานะประหนึ่งเชิงอรรถหวนรำลึก (nostalgia)

หอศิลป พีระศรี เปิดทำการครั้งแรกเมื่อปี 2517 ซึ่งไม่เพียงเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกๆ ของประเทศ หากยังเป็นรูปธรรมในการเกิดขึ้นของศิลปะร่วมสมัยในยุคต้น และสถานที่อันเกิดจากการต่อยอดของ ‘สถาบัน’ ที่วางรากฐานทางศิลปะให้กับบ้านเมืองต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร

ซากปรักที่ถูกนำมาจัดวางใหม่จนเป็นงาน installation art พร่าเลือนพรมแดนระหว่าง ‘งานศิลปะ’ กับ ‘โบราณวัตถุ’ ที่เคยสัมผัสอากาศในยุคสมัยที่หอศิลป์ฯ ยังคงรุ่งเรือง กระนั้นการถูกนำมาจัดแสดงใหม่ภายในแกลเลอรี่ยุคปัจจุบัน ก็หาได้ทำให้โบราณวัตถุเหล่านี้มีความหมายแบบเดียวกับโบราณวัตถุจริงๆ ที่จัดแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทั่วไปไม่

Passage จึงหาได้เป็นเพียงเชิงอรรถที่สะท้อน ความเคยมี แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ของสถาบัน แต่ยังสะท้อนพลวัตรเชิงกายภาพ ซึ่งปัจจุบันมันได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบออกไปอย่างหลากหลาย หอศิลป พีระศรี ไม่มีแล้ว แต่สถานที่ที่มีสถานะเช่นเดียวกับสถานที่แห่งนี้ยังคงมีอยู่ แต่อาจมีขนาดเล็กลงมา ไม่ได้คึกคักเท่า (หรืออาจจะอึกทึกกว่า) และมีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ฯลฯ แต่นั่นล่ะ การที่มันติดตั้งในแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ก็บอกเราได้ว่าความเป็นสถาบันทางศิลปะยังคงอยู่  

ผลงานอีกชิ้นที่เป็นการนำวัตถุหรือร่องรอยของวัตถุจากสถาบันศิลปะที่มีอยู่หรือเคยมีอยู่มาจัดแสดงคือ Rest และ Present Perfect ของ ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล

Rest คือแท่นที่เคยถูกใช้จัดวางผลงานศิลปะอันหลากหลายภายในหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลัทธพลขัดถูแท่นสีขาวดังกล่าวจนเอี่ยมอ่องและเป็นมันเงา สถาปนาให้แท่นที่เคยจัดแสดงศิลปะให้กลายเป็นผลงานศิลปะเสียเอง ด้วยการวางมันลงบนแท่นสีขาวอีกอันในลักษณะวางนอน ตั้งชื่อว่า Rest ในความหมายของการพักผ่อน ภายหลังที่มันทำหน้าที่รองรับและจัดแสดงผลงานศิลปะท่านอื่นมาเนิ่นนาน

ทั้งนี้อารมณ์ขันของศิลปินหาใช่แค่นิยามวัตถุที่จัดแสดง หากยังรวมไปถึงการล้อเลียนการแบ่งชนชั้นระหว่างวัตถุและพื้นที่จัดแสดงด้วยสีหน้าและท่าทีอันเรียบเฉย (เช่น แท่นสีขาวอันเรียบนิ่ง) ซึ่งชนชั้นเหล่านี้เป็นผลิตผลอันเกิดจากกระบวนการที่สั่งสมมาเนิ่นนานของสิ่งที่เราเรียกว่าสถาบันทางศิลปะ

 Present Perfect ก็เช่นกัน นี่คือกรอบกระดาษสีขาวที่ดูเผินๆ ไม่มีเนื้อหาอันใด แต่พอมองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นร่องรอยอันเกิดจากการฝนดินสอจากการทาบกระดาษลงบนผิวขรุขระของผนังของพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่ง อาทิ หอศิลป์กรุงเทพฯ, หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Gallery VER, Nova Gallery ฯลฯ ประหนึ่งการสร้างภาพพิมพ์จากพื้นผิวของหอศิลป์แห่งอื่นมาอีกที ศิลปินพลิกกระดาษเอาส่วนที่ถูกฝนหันเข้าหากรอบรูป จัดแสดงเพียงพื้นผิวสีขาวอันเป็นร่องรอย แถมยังไม่บอกด้วยว่าผลงานแต่ละชิ้นไปฝนมาจากที่ไหน

ร่องรอยสีขาวนิรนามทั้ง 8 ชิ้นนี้จึงมีเพียงศิลปิน หรือผู้ที่คุ้นเคยกับหอศิลป์ที่ศิลปินไปตระเวนฝนกระดาษแห่งนั้นๆ ทราบได้ถึงที่มาของงานแต่ละชิ้น (แต่ก็ใช่ว่าผู้ที่คุ้นเคยหอศิลป์ทุกคนจะจำได้) นี่เป็นผลงานที่ศิลปินสร้างสรรค์ต่อเนื่องจากนิทรรศการชุด After Care (พ.ศ. 2558) สมัยที่ทำงานเป็นผู้ประสานงานให้หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาฯ แม้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นคนละช่วงเวลากับ Rest (จัดแสดงครั้งแรกในนิทรรศการ Occasionally Utility พ.ศ. 2560 ที่ Gallery VER) หากผลงานทั้งคู่ของลัทธพลก็สื่อสารในเรื่องเดียวกัน ทั้งในแง่ของความใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม (แท่นจัดแสดง, ผนัง และสีขาวภายในโถงนิทรรศการ) และคำถามต่อสถานะ ลำดับชั้น และความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศิลปะผ่าน ‘วัตถุ’ ที่หลายคนมองข้ามได้อย่างน่าสนใจ

 

ขนบ และเรียบง่าย หากก็ตอบโจทย์นิทรรศการไม่น้อยไปกว่าใคร อภิชาติ ฐิติวงศ์วรสกุล นำเสนอภาพจิตรกรรมที่เขาวาดจากภาพถ่าย เมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำในยุโรป หาใช่ภาพจิตรกรรมที่จำลองผลงานศิลปะมาสเตอร์พีชในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นการจำลอง ‘บรรยากาศ’ ของการชมพิพิธภัณฑ์ ที่ซึ่งเราจะเห็นผู้ชมจากทั่วโลกกำลังจดจ้อง (รวมทั้งถ่ายรูปจากกล้องมือถือ) ผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี, คาราวัจโจ, แดน เฟลวิน ฯลฯ

แทนที่จะเป็นการถ่ายรูปโดยตรงที่สามารถสื่อสารได้เช่นกัน อภิชาติให้ความสำคัญกับทักษะดั้งเดิมของศิลปะ อย่างงานจิตรกรรม ถ่ายทอดบรรยากาศที่เขาไปสัมผัสมา ทัศนียภาพที่ทำให้เราได้เห็นปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับผลงานศิลปะในสถาบันชั้นนำระดับโลก ที่ถึงแม้ภาพจะเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา หากเมื่อพวกมันถูกนำเสนอภายใต้กรอบของเชิงอรรถของสถาบันศิลปะตามหัวข้อนิทรรศการ ความตรงไปตรงมาจึงถูกตีความได้หลากหลายและไกลออกไปกว่าตัวบทดั้งเดิมมากทีเดียว

ภาพจิตรกรรมของอภิชาติยังทำงานสอดรับไปกับ ผลงานของ พงศกรณ์ ญาณะณิสสร แคร่ไม้แบบที่เราคุ้นเคยกันดี หากประทับทรงด้วยเบาะแบบม้านั่ง Barcelona Bench หนึ่งในงานออกแบบที่เป็นสัญลักษณ์ของยุคโมเดิร์นโดย Mies Van de Rohe

แคร่ไม้ทำหน้าที่ทั้งเป็นหนึ่งในงานศิลปะและเฟอร์นิเจอร์สำหรับอำนวยความสะดวกผู้ชมไปในตัว เพราะมันวางอยู่มุมห้องที่แขวนงานของอภิชาต เชื้อชวนให้ทุกคนนั่งลงและรับชมจิตรกรรมอย่างผ่อนคลาย พงศกรณ์สร้างสรรค์ผลงานชุดคล้ายกันนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2559 ในชื่อว่า We have Never Been Modern จัดแสดงที่หอศิลป์ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยเวอร์ชั่นแรกเป็นม้านั่งทำจากไม้มะฮอกกานี เบาะสีดำแบบ Barcelona Bench และติดตั้งราวเหล็กไว้เหนือเบาะ เป็นที่เท้าแขน ซึ่งเป็นงานออกแบบที่เราอาจเคยเห็นตามม้านั่งสาธารณะ สำหรับกีดกันไม่ให้คนไร้บ้านมาใช้มานั่งเป็นที่ค้างอ้างแรม ซึ่งศิลปินสร้างสรรค์ม้านั่งที่นอนไม่สะดวกชิ้นนี้ เพื่อวิพากษ์การกีดกันของสถาบันศิลปะที่ไม่ให้มวลชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกดายนัก

อย่างไรก็ดีกับนิทรรศการที่จัดล่าสุดนี้ พงศกรณ์ได้สร้างสรรค์ม้านั่งลูกผสม Barcelona Bench ขึ้นใหม่ ด้วยการต่อยอดจากสิ่งที่ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เคยทำไว้ (ฤกษ์ฤทธิ์ ตั้งใจออกแบบแคร่ไม้ผสม Barcelona Bench เพื่อใช้เป็นม้านั่งพักผ่อนให้กับนิทรรศการ Retrospective ของศิลปิน อุดมศักดิ์ กฤษณมิตร แต่สุดท้ายไม่ได้นำมาใช้) โดยคราวนี้พงศกรณ์ได้เปลี่ยนจากไม้มะฮอกกานีฝรั่งและโครงเหล็กแบบเดิม เป็นไม้ยมหอม และทันทีที่ราวเหล็กที่เป็นเท้าแขนถูกถอดออก ความหมายของการกีดกันก็แปรเปลี่ยนเป็นการเปิดกว้าง – เปิดกว้างทั้งทางการใช้งาน และเปิดกว้างทางพรมแดนของศิลปะ

Double Take (2562) ผลงานอีกชิ้นของพงศกรณ์ เป็นงาน installation ตาแมวบนประตูห้องเก็บของในสำนักงานแกลเลอรี่ เนื่องจากห้องถูกปิดไว้ วิธีการรับชมงาน installation กึ่ง ready made ชิ้นนี้จึงทำได้เพียงมองผ่านเลนส์ตาแมวนั้น เพื่อจะพบสิ่งที่อยู่ภายในห้อง ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าห้องเก็บของในสำนักงานแกลเลอรี่ทั่วไป แต่นั่นล่ะ ภาพดังกล่าวก็หาใช่ภาพที่ผู้ชมจะได้เห็นทั่วไปในแกลเลอรี่เสียที่ไหน Double Take ของพงศกรณ์จึงพาเราไปสำรวจ ‘เบื้องหลัง’ ของแกลเลอรี่ศิลปะแห่งนี้

แม้สื่อที่ใช้จะต่างกัน หากวิดีโอจัดวางในชื่อ CCTV of the Security Guard (2562) ของ สะรุจ ศุภสุทธิเวช ก็ให้ความรู้สึกในการรับชมคล้ายกับการมองเบื้องหลังสถาบันศิลปะผ่านเลนส์ตาแมวของพงศกรณ์อยู่ไม่น้อย

ต่อเนื่องมาจากผลงาน Security Guard ที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่ม Early Year Project # 2 สะรุจนำเสนอวิดีโอในมุมมองของกล้องวงจรปิด ฉายภาพของหอศิลป์กรุงเทพฯ ยามค่ำคืนขณะปิดให้บริการในมุมต่างๆ รวมไปถึงห้องเก็บของและพื้นที่ว่าง พร้อมกับมุมของภาพที่เคลื่อนไหล วิดีโอก็แทรกเสียงของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่เล่าเรื่องประสบการณ์ลี้ลับที่พบภายในหอศิลป์ยามดึกสงัด กล้องวงจรปิดและเรื่องผีในหอศิลป์ยังถูกเล่าสลับไปกับภาพ render วัตถุทรงกลมแปลกประหลาดที่แปลงค่ามาจากเสียงบรรยากาศยามค่ำคืนของอาคาร

วิดีโอความยาว 7 นาทีเศษ ฉายในห้องมืดปราศจากเก้าอี้ ด้วยมุมมองที่คล้ายผู้ชมกำลังลอบมองความเป็นไปนอกเวลาทำการของพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับการฟังเรื่องเล่าเชิงไสยศาสตร์ที่ดูแปลกแยกจากภาพลักษณ์อันทรงภูมิที่เราคุ้นเคยของพิพิธภัณฑ์ คล้ายศิลปินจงใจ เมื่อเรายืนดูวิดีโอไปได้สักพัก กลับพบว่าประสบการณ์ผีที่พนักงานรักษาความปลอดภัยได้พบเจอ หาใช่เป็นวิญญาณที่สถิตอยู่ในหอศิลป์ หากแต่ตัวหอศิลป์นั่นแหละที่เป็น ‘ผี’ ในตัวมันเอง

ไม่อาจทราบได้ว่าศิลปินคิดอะไร แต่ไม่มากก็น้อย ศิลปินคงตั้งใจสื่อสารว่าสิ่งที่คาดเดาไม่ได้มากที่สุด ลี้ลับ หรือกระทั่งน่ากลัวที่สุด อาจเป็นสถาบันศิลปะที่โอบอุ้มศิลปินอยู่ หรือถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ศิลปินอาจแค่อยากสื่อถึงสถานะ ‘ลูกผีลูกคน’ ของหอศิลป์กรุงเทพที่เป็นอยู่ จากการถูกแทรกแซงรวมไปถึงดูแคลนซึ่งคุณค่าของรัฐบาลที่กำลังปกครองประเทศนี้

แอบเสียดายอยู่นิดๆ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ เราจึงไม่ได้ดูผลงานมากไปกว่านี้ กระนั้นการคัดสรรผลงานภายใต้โจทย์ที่คิวเรเตอร์วางไว้ก็ทำได้อย่างกลมกล่อม แม้งานส่วนใหญ่ภายนอกจะดูเรียบนิ่งจนแทบไม่เล่าเรื่องอะไร หากเมื่อได้อ่านหรือฟัง (ทางแกลเลอรี่มีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายผลงาน) จึงได้ทราบอรรถรสเบื้องหลังของผลงานต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนชอบการวางระยะของมุมมองที่ศิลปินแต่ละท่านมีต่อสถาบันศิลปะของประเทศนี้ดี – ไม่ได้เชิดชูหรือชื่นชม หากก็ไม่ได้เกลียดชังหรือพยายามวิพากษ์แบบขุดรากถอนโคน รวมถึงความไม่ชัดเจน หากก็ไม่คลุมเครือจนไม่อาจเข้าใจได้

เป็นผลงานที่เรียบนิ่งจนเกือบเยียบเย็น หากก็ดูสนุก และชวนให้เราหันมองออกไปยังสถาบันอื่นๆ (นอกเหนือจากสถาบันศิลปะ) ที่ซึ่งโอบอุ้ม ค้ำจุน หรืออาจชักใยชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

ภาพ: Gallery VER

Tags: ,