รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า อาหารเหลือทิ้งในห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงโต๊ะอาหารเป็นตัวการสำคัญหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.4 กิกาตันต่อปี ถือเป็นลำดับที่ 3 รองจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ละปีต้นทุนทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของอาหารเหลือทิ้งอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นจากอาหารเหลือทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัป มีธุรกิจสตาร์ทอัปจำนวนหนึ่งที่สร้างอาหารใหม่จากส่วนผสมที่เป็นของเหลือจากฟาร์มและอาหารจากกระบวนการผลิตพืช บางส่วนอยู่ในระยะเริ่มต้น ขายเฉพาะในโลกออนไลน์ ส่วนบริษัทอาหารขนาดใหญ่ ก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีส่วนผสมที่ทำมาจากของเหลือ

แทนที่จะผลิตสินค้าใหม่สำหรับบริษัทของตนเอง หลายบริษัทก็นำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของตนเองไปขายให้กับผู้ผลิตรายอื่นแทน เช่น บริษัทรีนิววอล มิลล์ มีรายได้ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี 2019 จากการทำแป้งที่ได้มาจากการทำเต้าหู้และนมถั่วเหลือง  ซีอีโอของบริษัทบอกว่าเห็นโอกาสทางธุรกิจในการนำเอาของเหลือจากกระบวนการผลิตหนึ่งมาขายให้อีกผู้ผลิตหนึ่ง

อีกช่องทางหนึ่งคือ สร้างเครือข่ายส่งต่ออาหารเหลือ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีองค์กรฟู้ดแบงก์สิงคโปร์ (The Food Bank Singapore) รวบรวมอาหารเหลือจากซัพพลายเออร์ แล้วแจกจ่ายต่อไปยังเนิร์สซิ่งโฮมหรือองค์กรการกุศลต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีเครือข่ายการบริจาคทั้งรายบุคคล 200,000 คนและองค์กรการกุศล 310 องค์กร

อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งองค์กรบอกว่างานที่ยากคือ การทำให้บริษัทต่างๆ จำกัดอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง แต่ยังมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบันช่วยได้  เช่น การทำงานของบริษัทกู๊ดฟอร์ฟู้ด (Good For Food) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่นำเสนอเทคโนโลยีที่ติดตามอาหารเหลือจากโรงแรม หรือครัวของภัตตาคารต่างๆ เพื่อลดต้นทุนจากอาหารเหลือทิ้ง ซีอีโอของบริษัทบอกว่าสามารถลดอาหารเหลือทิ้งของลูกค้าได้ 30-50% ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้ถึง 3-8%

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้ครัวรู้ว่าสามารถนำส่วนประกอบของอาหารบางอย่างมาใช้ในเมนูอื่นๆ ได้ เช่น เปลือกมันฝรั่งจากการทำมันฝรั่งทอดสามารถนำมาใช้ประดับจานได้ แทนที่จะทิ้ง

ในปี 2017 มีงานศึกษาที่ระบุว่า ผู้บริโภคอาจจะยอมจ่ายเงินเพิ่มขี้นสำหรับอาหารที่มีส่วนประกอบของอาหารที่อาจจะถูกทิ้ง แต่ถูกนำมาใส่ในอาหารชนิดใหม่ (upcycle) การตลาดเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้งยังทำให้ผู้บริโภคคิดถึงปัญหาขยะมากขึ้น บริษัทบาร์นานาที่ก่อตั้งเมื่อปี 2012 ขายกล้วยอบแห้งที่ทำมาจากกล้วยที่มีรอยแผลหรือสุกเกินไป ซึ่งมักจะถูกทิ้งในสวน ตอนนี้มีรายได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายตามที่ต่างๆ สามารถช่วยชีวิตกล้วยที่จะถูกทิ้งไปประมาณ 20 ล้านผลแล้ว

อีกธุรกิจหนึ่งคือการป้องกันอาหารเน่าเสีย เช่น บริษัทเฮเซล เทคโนโลยี ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2015 ใช้เทคโนโลยีเก็บรักษาอาหารให้ยังสดใหม่ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้ค้าปลีก ตอนนี้มีเงินทุนสนับสนุนในการพัฒนาหาวิธีต่างๆ ในการป้องกันอาหารเน่าเสียให้กับบริษัทต่างๆ เช่น ผสมน้ำมันด้วยสมุนไพรบางชนิดที่สามารถยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้ ซึ่งมาจากโครงการของนักศึกษาปริญญาโท โดยหาทุนได้แล้ว 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกทางหนึ่งคือนำมาทำเป็นพลังงาน เช่น บริษัทในอิสราเอลที่ชื่อ โฮมไบโอแก๊ส (Homebiogas) วิธีการก็คือ นำแบคทีเรียมาย่อยอาหาร ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อ ผลิตภัณฑ์นม เปลี่ยนให้เป็นไบโอแก๊ส ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ แทนที่จะทิ้งเป็นขยะ

ที่มา:

https://www.cnbc.com/2019/08/12/preventing-food-wastage-can-be-a-2point5-trillion-business-opportunity.html

https://www.fastcompany.com/90337075/inside-the-booming-business-of-fighting-food-waste

https://www.chicagobusiness.com/john-pletz-technology/investors-betting-13-million-small-packet-can-reduce-food-waste

https://www.chicagobusiness.com/john-pletz-technology/investors-betting-13-million-small-packet-can-reduce-food-waste

ภาพ : wikipediacommons

Tags: , ,