จริงๆ เรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รัสเซียลำนี้ไม่ได้มีชื่อว่า ‘เชอร์โนบิล’ แต่ปฏิบัติการล่าสุดของทางการรัสเซียที่สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เคลื่อนที่ทำให้ฝันร้ายจากหายนะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อราว 30 ปีก่อนผุดขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อ 28 เม.ย. 2018 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ออกจากท่าเรือในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ค่อยๆ ล่องไปยังไซบีเรีย นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิจารณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เคลื่อนที่ลำนี้ด้วยความกังวลว่า หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น มันจะทำลายทะเลอาร์กติก

คาเดมิก โลโมโนซอฟ (Akademik Lomonosov) คือชื่อของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำลำแรกของรัสเซีย เพิ่งออกจากออกจากท่าเรือในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 เม.ย. 2018) จากนั้นจะล่องไปทั่วทะเลบอลติก ผ่านน่านน้ำเอสโตเนีย เดนมาร์ก สวีเดน และทางตอนเหนือสุดของนอร์เวย์ ก่อนที่จะหยุดในเมอร์มันสก์ (Murmansk) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย ซึ่งเป็นที่เติมน้ำมันเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จากนั้นเรือบรรทุกโรงไฟฟ้านี้จะเดินทางต่อไปยังทางตะวันออกไกลของรัสเซีย และเทียบท่าที่ชายฝั่งอาร์กติกเมืองชูกตกา (Chukotka) ซึ่งคาดว่าจะให้บริการในปี 2019

แนวคิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำเกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงานส่งให้เมืองท่า แท่นขุดเจาะน้ำมันและโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เรือลำนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 70 เมกะวัตต์ด้วยเตาปฏิกรณ์สองเครื่อง แต่ละเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ 35 เมกะวัตต์ มีอายุการทำงาน 40 ปี ตัวเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถูกคาดหมายให้ผลิตไฟฟ้าสำหรับประชาชนกว่า 200,000 คน

รัสเซียต้องการจะขุดน้ำมันและแก๊สในไซบีเรีย และวางแผนที่จะขยายไปยังทะเลในแถวซีกโลกเหนือ ขณะที่ภาวะโลกร้อนเป็นผลมาจากการที่น้ำแข็งในอาร์กติกละลายอย่างรวดเร็ว และก็น่านน้ำอาร์กติกนี้เองที่จะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของรัสเซีย

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากกรีนพีซวิจารณ์โรงไฟฟ้าลอยน้ำนี้ว่าเป็น “เชอร์โนบิลลอยน้ำ” โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์หายนะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 1986 ซึ่งขณะนั้นรัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียตอยู่ เหตุระเบิดครั้งนั้นเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุด ต้องมีการอพยพคนครั้งใหญ่ และพื้นที่รอบๆ ได้รับผลกระทบรุนแรง

 

ที่มาภาพ:  REUTERS/Anton Vaganov

ที่มา:

Tags: , , , , ,