“คุณเชื่อไหมในตอนแรกที่ผมส่งสคริปต์ไปให้นักแสดง โปรดิวเซอร์​และทีมงาน ในหน้ากระดาษนั้น ผมจัดทั้งแสง สี เสียง หรือแม้กระทั้งเพลงที่จะเลือกใช้ในแต่ละช่วงเอาไว้เรียบร้อยแล้ว”

นี่คือเรื่องราวที่ เทรย์ เอ็ดเวิร์ด ชูลท์ส ผู้กำกับหนังเรื่อง Waves (2019) กล่าวถึงช่วงเวลาที่หนังกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ซึ่งในตอนนั้นหัวเขาได้มีการวางลำดับจัดแบบแผนในส่วนต่างๆ ทั้งภาพ แสง สี และเสียง ไว้ในบทภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะเขาเชื่อว่าการนำเสนอเรื่องราวให้ออกมาดีนั้น นอกจากเนื้อหา (Content) ที่ดี วิธีการนำเสนอ (Form) ก็ต้องโดดเด่นไม่แพ้กัน

ถ้าเล่าด้วยภาษาหนัง ก็ต้องพูดกันผ่านมุมกล้องไม่ใช่ตัวอักษร

ความน่าสนใจของ Waves อันดับแรกคือการนำเส้นเรื่องสองเส้นมาประกบกัน ต้องเกริ่นก่อนว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตของครอบครัวผิวดำฐานะร่ำรวยในอเมริกา ที่ชีวิตเพียบพร้อมไปด้วยเงินทอง ชื่อเสียง ไปจนถึงอนาคต แต่ทุกอย่างก็พลิกผัน เมื่อวันหนึ่ง ไทเลอร์ พี่ชายคนโต (เคลวิน แฮร์ริสัน จูเนียร์) ได้ก่อเหตุบางอย่าง จนทำให้อนาคตของครอบครัวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หนังใช้วิธีเล่าด้วยการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเรื่องราวของไทเลอร์ในช่วงแรก​ และผลกระทบที่ตามมาจากเรื่องราวของไทเลอร์ในช่วงหลัง

ตรงจุดนี้เองที่หนังเริ่มทำการ ‘แตกกิ่ง’ เรื่องราวออกมามากมาย จากลูกชายเพียงคนเดียวในบ้าน ส่งผลให้พ่อ แม่ และลูกสาว มีชีวิต พฤติกรรม และสภาพจิตใจอย่างหนักหน่วง ซึ่งความเก่งกาจของการเล่าในส่วนนี้คือการแสดงสิ่งนามธรรมให้ชัดเจนผ่าน ‘ภาษาของหนัง’ จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่เล่าผ่านมุมมองลูกชาย หนังจะเลือกใช้วิธีเล่าอย่างรวดเร็ว ฉูดฉาด และอันตราย มีจังหวะภาพที่รวดเร็ว มุมกล้องที่หวือหวา (หลายครั้งทีการใช้มุมมองแบบแทนสายตา เหมือนกับว่าเราเป็นเพื่อนชาวแก๊งคนหนึ่งของไทเลอร์) รวมไปถึงการจัดแสง สี เสียง ตั้งแต่ห้องนอนของไทเลอร์  ไฟในปาร์ตี้ ไปจนถึงสีผมของเขา ที่เป็นภาพสะท้อนถึงความฉาบฉวยได้เป็นอย่างดีถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

กลับกันในช่วงหลังหนังพูดถึงความเปราะบาง ความเสียใจของครอบครัว มุมกล้องและลำดับภาพมีความเชื่องช้ามากยิ่งขึ้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือการใช้เทคนิค ‘แช่กล้อง’ จนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้ส่วนตัวจะมองว่าจุดนี้เป็นข้อเสียที่ทำให้บางครั้งรู้สึกว่ากำลังดูหนังอีกเรื่องอยู่ แต่ก็ช่วยแสดงให้เห็นถือความแตกต่าง แสดงถึงผลกระทบที่มาสั่นคลอนสิ่งที่ชีวิตของตัวละครและตัวหนังในตอนต้น 

ในบทสัมภาษณ์ของ เทรย์ เอ็ดเวิร์ด ชูลท์ส เขาเล่าว่า วิธีการเล่าเรื่องแบบ 2 ส่วนเช่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่อง Chungking Express (1994) ของผู้กำกับฮ่องกงชื่อดัง หว่องกาไว โดยเป็นความตั้งใจถ่ายทอดอารมณ์ที่แตกต่าง ตรงกันข้ามกันสิ้นเชิงเช่นนี้ มาลองประกบและประสานให้เข้ากันได้อย่างนุ่มนวลภายใต้เส้นเรื่องที่เขาคิดค้นขึ้นมา

ปัญหาคลื่นใต้น้ำสะท้อนความล่มสลายของครอบครัว

‘หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของชีวิตที่มีทั้งขึ้นและลง มีทั้งเงียบสงบและโหมกระหน่ำ ทั้งหมดนี้คือการสร้างคลื่นให้กับชีวิต และบังคับให้มนุษย์ได้โต้ไปกับมันจนกว่าจะหมดลมหายใจไปจากโลกใบนี้’ 

นี่คือคำอธิบายถึงสารที่หนังเรื่องนี้พยายามถ่ายทอด แม้หนังจะโดดเด่นในการนำเสนอชีวิตที่ล่มสลายวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งถูกกัดกินความคาดหวังของตัวเอง ครอบครัว และสังคม จนแทบไม่ต่างจากฟองสบู่ที่ล่องลอย เปราะบาง อย่างเห็นได้ชัด (ดังที่ได้กล่าวไปในเรื่องของมุมกล้องที่มีความฉวัดเฉวียน เสียวไส้ และน่ากลัว)

ถ้ามองให้ลึกเข้าไปอีกก็เป็นเรื่องน่าเศร้าเช่นกันที่ครอบครัวในเรื่องไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้ชีวิตโต้ไปกับคลื่นลูกใหญ่เกินตัวเช่นนี้ ภายในเรื่องมีฉากหนึ่งที่พ่อ (สเตอร์ลิง บราวน์) เปิดใจกับสมาชิกครอบครัวว่า “เพราะเราเป็นแบบนี้ เราจึงต้องพยายาม และโดดเด่นกว่าคนอื่น ต้องตื่นให้ไว ฝึกให้หนักกว่าชาวบ้านเขา” ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือการเป็นครอบครัวคนผิวดำในสังคมไฮโซอเมริกา ที่กว่าจะไต่เต้าขึ้นมาได้ ต้องดิ้นรนและพยายามมากว่าคนขาวเป็นอย่างมาก 

หนังเรื่องนี้จึงน่าสนใจและน่าศึกษาอย่างมาก ในเรื่องของการซ้อนประเด็นเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน เพราะขณะที่เรากำลังจ้องมองคลื่นของชีวิตที่กำลังไหลตามไปเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม หากก้มลงไปดูใต้น้ำก็จะมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับและทำให้ครอบครัวนี้ต้องดิ้นรนจนเกินตัวเช่นนี้อยู่เสมอ 

ไม่แปลกใจที่เราจะเห็นตัวละครพยายามใช้ชีวิตอยู่เหนื่อคลื่นตลอด ทั้งภาพการยืนอยู่กลางทะเลหรือแม้กระทั้งการยื่นหัวออกมาจากรถอยู่บ่อยครั้ง (ที่ข้างในรถนั้นกล้องมักจะหมุนวนไปมาแสดงถึงความอันตรายตลอดเวลา) เพราะนั่นอาจเป็นช่วงเวลาเดียวที่เขาได้พักผ่อน หลับตา และหายใจให้ช้าขึ้น ไม่ต้องใช้ชีวิตโต้ตามคลื่นแต่อย่างใด

หนังของคนยุคใหม่ ที่ว่าด้วยเรื่องของดนตรียุคใหม่

หากว่ากันตามตรง หลายสิ่งที่เพิ่งจะสาธยายคุณงามความดีไป ทั้งลำดับภาพ มุมกล้อง สี หรือแก่นของเรื่องนั้น เหล่านี้คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้น และมีอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาแล้วทั้งนั้น เพียงแค่ผู้กำกับใช้ความเก่งกาจในการหยิบจับมาประกอบกันได้อย่างลื่นไหลและสื่ออารมณ์ได้ถึงขีดสุด

แต่สิ่งที่เราในฐานะผู้ชมชื่นชอบหนังเรื่องนี้จริงๆ คือความเฉียบแหลมในการใช้เพลงประกอบ หากเพลง What a difference a day makes ของ ไดนาห์ วอชิงตัน (Dinah Washington) ถูกนำเสนอในฐานะตัวแทนของพ่อและแม่ภายในเรื่อง ในส่วนของคนรุ่นใหม่ทั้งพี่ชายและน้องสาว ทั้งหมดล้วนถูกแทนที่ด้วยเพลงและศิลปินรุ่นใหม่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น A$AP Rocky, Tame Impala, Kanye West , Amy Winehouse, Tyler the Creator , Alabama Shakes, Kendrick Lamar 

ผู้เขียนมองว่านี่คือสิ่งที่วงการภาพยนตร์ควรจะเป็นและพัฒนาตามเทคโนโลยี วิธีคิด ของโลกสมัยใหม่ การไม่ตกอยู่กับหลุมกับดักของเพลงคลาสสิคหรือดนตรีบรรเลง ทำให้หนังเรื่องนี้ดูเป็นผลผลิตที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก

ขอยกตัวอย่างฉากหนึ่งที่คิดว่าวิธีการเล่าเรื่องด้วยเพลงของผู้กำกับนั้นชาญฉลาด ในช่วงที่ไทเลอร์กำลังขอคืนดีกับแฟนสาวอย่าง อเล็กซิส (อเล็กซา เดมี) โดยในช่วงแรกที่กำลังรักกันอยู่นั้น ผู้กำกับเลือกใช้เพลง Focus ของศิลปิน H.E.R. เพื่อแสดงถึงความรักที่กำลังมาผลิบานอีกครั้ง แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดแตกหักหนังก็บรรเลง IFHY ของศิลปิน Tyler, The Creator ซึ่งเหล่านี้ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีเพียงเท่านั้น (IFHY เป็นตัวย่อมาจากประโยค ‘I fucking hate you’ หรือ ‘ฉันแม่งโคตรจะเกลียดแกเลยว่ะ’)

 

เหตุผลที่ Waves คือหนังที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสัปดาห์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้เขียนมองว่านี่คือผลผลิตที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ นำเสนอประเด็นด้วยวิธีที่แปลกใหม่ แยบยล ลึกซึ้ง และวัยรุ่นสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก (สังเกตว่าหนังวัยรุ่นยุคก่อนหน้า ถ้ามีระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ส่วนใหญจะกลายเป็นหนังที่เก่าและเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงได้หากเทียบเคียงกับบริบทในปัจจุบัน)

ดังนั้นหากคุณอยากศึกษาความสร้างสรรค์ที่สดใหม่ของวงการภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้คือตัวแทนที่จัดเก็บพลวัตเหล่านี้ คลุกเคล้าเข้าด้วยกันไว้เป็นอย่างดี

 

Waves (2019) สามารถชมได้ทางเน็ตฟลิกซ์

 

Tags: , ,