“คุณอาจจะเป็นผู้โดยสารคนเดียวที่ได้ขึ้นเครื่องวันนี้ก็ได้” พนักงานเช็คอินที่เคาน์เตอร์หมายเลข 8 พูดขึ้นผ่านหน้ากากหลังจากที่รับพาสปอร์ตของเราผ่านถุงมือ แล้วกวาดตาดูแถวเช็กอินสิบกว่าแถวที่มีก็เราเป็นผู้โดยสารที่กำลังเช็กอินอยู่คนเดียวกับพนักงานเช็กอินตรงหน้า ในเคาน์เตอร์หลายแถวห่างออกไปมีพนักงานอีกสองสามคนในเคาน์เตอร์ของบางสายการบินที่ยังให้บริการอยู่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราบินออกจากสนามบินบรัสเซลล์ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้คนจะบางตาจนเกือบกลายเป็นสนามบินร้างเท่านี้ มีเพียงผู้โดยสารประมาณสิบคนที่เพิ่งลงจากเครื่องทยอยเดินออกมาทางประตูขาเข้า อีกประมาณ 20-30 คนที่นั่งแยกตัวอยู่คนเดียวตามจุดต่างๆ เพื่อรอขึ้นเครื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ประจำทางเข้าออก ทหารที่เดินตรวจทั่วอาคาร และเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ ของสนามบิน ด้านในอาคารสนามบินอนุญาตให้เฉพาะผู้โดยสารที่มีตั๋วเข้าเท่านั้น
ตารางการบินที่สนามบินบรัสเซลล์ในวันที่ 29 มีนาคมที่ถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด
ร้านอาหารพร้อมวิวเครื่องบินที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยผู้โดยสารนั่งจิบเบียร์รอขึ้นเครื่อง
ตอนมาถึงสนามบินที่บรัสเซลล์ เรารีบเดินเข้าอาคารจนลืมสังเกตไปว่าไม่มีการตรวจอุณหภูมิร่างกายใดๆ ที่สนามบินเลย ตรงทางเข้าจากที่จอดรถมีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายที่คอยกันไม่ให้คนที่ไม่ใช่ผู้โดยสารเข้าอาคารจึงไม่ได้ถามเจ้าหน้าที่ถึงเหตุผลที่ไม่มีการคัดกรองผู้โดยสารที่มีไข้ เราได้แต่คาดเดาว่ารัฐบาลเบลเยี่ยมคงเห็นว่าคนที่ถือตั๋วเครื่องบินต้องมีความจำเป็นในการเดินทางจริง เพราะฉะนั้นทุกคนที่ต้องเดินทางต้องรับผิดชอบตัวเองและส่วนรวม อีกทั้งผู้โดยสารต้องยอมรับความเสี่ยงขณะเดินทาง
พนักงานคนเดิมเล่าต่อว่ามีผู้โดยสารคนไทยหลายคนไม่ได้ขึ้นเครื่องเพราะไม่มีเอกสาร “ผมเองก็ปฏิเสธผู้โดยสารไปไม่กี่คนหรอก หลายคนไม่รู้เรื่องเอกสารรับรองและใบรับรองแพทย์ก็ต้องกลับบ้าน (ที่เบลเยี่ยม) ไป” เขายังบอกอีกว่าไม่มีประเทศไหนเรียกร้องเอกสารจากผู้โดยสาร แต่สายการบินจะรับเฉพาะผู้โดยสารของชาติตัวเองกลับบ้านเท่านั้น
ถึงแม้มันจะเป็นประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิตที่จะได้นั่งเครื่องคนเดียวทั้งลำ แต่เราคงไม่ลิงโลดสักเท่าไหร่ เพราะยิ่งผู้โดยสารน้อยเท่าไหร่ก็หมายความว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งต้องตกค้างอยู่นอกประเทศมากขึ้นเท่านั้น เพราะพวกเขาหาเอกสารไม่ทัน และการบินไทยมีบริการอีกแค่สองเที่ยวบินก่อนจะหยุดพักชั่วคราวเป็นเวลาสองเดือน สายการบินต่างชาติที่บินเข้าไทยก็เหลือน้อยเต็มที
คงไม่มีใครคาดคิดว่า แล้ววันหนึ่งคนไทยต้องขอ ‘วีซ่า’ เพื่อกลับบ้านตัวเอง โดยเฉพาะในยามวิกฤตที่หลายคนคิดถึงบ้าน อยากกลับมาป่วยที่บ้าน หรือแม้แต่ถ้าต้องเสียชีวิตก็อยากจะอยู่ใกล้ๆ ครอบครัว
สนามบินไร้ผู้คนราวกับปิดทำการ
Fit to Not Fly
นับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมเป็นต้นมา การบินพลเรือนมีมาตรการให้คนไทยทุกคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยต้องแสดงใบรับรองแพทย์ Fit to Fly ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง พร้อมกับใบรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศเพื่อยืนยันตัวตน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางสู่ประเทศไทย
ผู้โดยสารหญิงคนหนึ่งบนเที่ยวบินเดียวกันเล่าว่า เธอต้องกลับไปหาหมอประจำบ้านที่แฟนของเธอจัดแจงนัดให้เป็นครั้งที่สองเพราะใบรับรองแพทย์ใบแรกที่ถูกส่งไปที่สถานทูตนั้นหมดอายุก่อนที่เธอจะเดินทาง
หลายคนอาจมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการคัดกรองผู้คนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้กับคนในประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วการตรวจร่างกายพอเป็นพิธีไม่ได้บอกได้ว่าคนนั้นติดเชื้อหรือเป็นพาหะแล้วหรือไม่ มาตรการดังกล่าวจึงเป็นเพียงเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้คนไทยหมดใจไม่อยากกลับบ้าน เพราะการคัดกรองหรือป้องกันการแพร่เชื้อสามารถทำได้ด้วยการจัดพื้นที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย หรือการกักตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัดและมีการสุ่มตรวจติดตามตัวโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่รัฐจัดการได้และต้องจัดการอยู่แล้ว
นอกจากการเรียกร้องให้แสดงใบรับรองแพทย์ นอกจากเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนคนไทยในต่างแดน เพราะการนัดหมอเพื่อขอใบรับรองแพทย์นั้นไม่ง่ายเหมือนในประเทศไทย และการออกใบรับรอง Fit to Fly นั้นเป็นเรื่องสำหรับหมอประจำบ้านในยุโรปเคยปฏิบัติกัน การออกกฎดังกล่าวจึงดูเป็นการไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวมเพราะในยามวิกฤตเช่นนี้บุคลากรทางการแพทย์ทุกที่ย่อมมีงานล้นมือ แต่กลับต้องมาเสียเวลาอย่างน้อย 15 นาทีเพื่อตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์ให้กับคนไทย แทนที่จะใช้เวลากับคนไข้ที่ต้องการพบแพทย์จริงๆ
สัญลักษณ์เตือนให้คนรักษาระยะห่างติดอยู่เป็นระยะในอาคาร
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ได้สร้างแคมเปญ #คนไทยต้องได้กลับบ้าน รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศ Fit to Fly #BringThaiHome เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจยกเลิกมาตรการดังกล่าวในทันที โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ถึง “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรหรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” โดยต่อมาอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองคนไทยในกรณี แต่แล้วศาลปกครองก็มีคำวินิจฉัยออกมาว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองเพราะรัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปแล้ว
เสียงเรียกร้องของคนไทยนอกราชอาณาจักรคงเบาเกินที่รัฐบาลจะได้ยิน เพราะดูเหมือนเอกสารสองใบยังทำให้ชีวิตการเดินทางยุ่งยากไม่พอ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ขอความร่วมมือคนไทยในต่างประเทศชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 2-15 เมษายน เพื่อรักษาสุขภาพทั้งคนไทยในประเทศและผู้ที่จะเดินทางกลับ หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นและตัวเลขของผู้ติดเชื้อเกิน 2,000 ราย
ความโกลาหลระลอกแรกเริ่มขึ้นหลังคำสั่งดังกล่าวมีผลทันทีในวันที่ 2 เมษายน ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกาต้องเจอกับเงื่อนไขล่าสุดที่เพิ่งประกาศกลางอากาศว่า พวกเขาจะถูกนำไปกักตัวในพื้นที่ที่รัฐจัดไว้ ความไม่ชัดเจนและการเปลี่ยนแปลงกระทันหันกลางอากาศทำให้คนส่วนใหญ่ประท้วงการต้องเข้าพื้นที่กักตัวที่รัฐจัดหาไว้ให้เพราะไม่ทราบเงื่อนไขล่วงหน้ามาก่อน จนกระทั่งทำให้สามคนที่มีไข้สูงสามารถได้หลบหนีการกักตัว และล่าสุดได้มีการเรียกตัวผู้โดยสารทั้งหมด 152 คนจากห้าเที่ยวบินที่บินเข้ากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 เมษายนกลับมารายงานตัวกับศูนย์ Emergency Operation Center (EOC) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 4 เมษายน
ความวุ่นวายนี้นำมาซึ่งคำสั่งเร่งด่วนสำนักการบินพลเรือนห้ามมิให้เที่ยวบินเข้าสู่ประเทศไทยโดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 4-6 เมษายน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้การระบาดรุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิม ดูเหมือนมาตรการของรัฐบาลไทยได้อ้างถึงความปลอดภัยของคนในประเทศและชวนให้คนไทยที่อยู่ต่างแดนท้อใจที่จะกลับบ้านเพียงเพราะเขาอาจจะติดเชื้อหรือเป็นพาหะ และจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็น่าแปลกใจที่รัฐบาลเยอรมันส่งเครื่องบินมารับคนชาติตัวเองที่ติดค้างในเมืองไทยสี่เที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิและภูเก็ตในวันที่ 2 และ 4 เมษายนแม้ว่าอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ร้านค้าและบริการในสนามบินถูกสั่งปิดทั้งหมด แม้แต่เปียโน
บินเข้าไม่ได้ก็ต้องบินออก
แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่อยู่ในยุโรปที่ต้องเผชิญปัญหานี้ เพราะทันทีที่เราเข้าห้องกักตัวเอง ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยศูนย์เอเชียมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แชปเปิลฮิลล์ ได้เล่าถึงความยุ่งยากที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเราของลูกสองคนของเธอที่กำลังศึกษาในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญ เพราะหมอประจำบ้านในรัฐที่ลูกเธอเรียนอยู่จะออกตรวจคนไข้เฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น การออกใบรับรองแพทย์ไม่ได้ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่หมอจะต้องมาใช้เวลากับคนที่ไม่ป่วยจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก
รังสิมาใช้เวลาตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาวางแผนให้เด็กๆ ได้กลับบ้าน ทั้งหาใบรับรองแพทย์ (ที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าในต่างประเทศไม่สามารถเดินเข้าคลินิกไปขอให้หมอออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้นัดหมายเหมือนเมืองไทยได้) เพราะหมอชาวเกาหลีที่รู้จักกันรู้สึกเห็นใจนักเรียนไทยสองคนที่ประเทศตัวเองทำราวไม่อยากให้กลับบ้าน และเธอมีเวลามีสามวันที่จะหาตั๋วเครื่องบินให้ลูกสองคนกลับมาพร้อมกัน แต่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเดินทาง เด็กๆ ต้องเจอกับคำสั่งห้ามบินเข้าประเทศไทย ทำให้พวกเขาต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด และรอให้รัฐบาลเปิดพรมแดนอีกครั้ง
เมื่อกลับมานั่งนึกถึงประสบการณ์ที่เราต้องคอยลุ้นอยู่ตลอดว่าการบินไทยจะหยุดบินก่อนหรือเปล่า เราจะได้ขึ้นเครื่องไหม หรือใบรับรองแพทย์เราจะยังใช้ผ่านตม.ที่เมืองไทยได้ไหม เราจะติดเชื้อไหม เราจะกลายเป็นคนแพร่เชื้อไหม มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปทันทีเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ขึ้นเครื่องเพราะกฎเปลี่ยนกะทันหัน หรือ คนที่ต้องติดค้างที่สนามบินที่พวกเขาไปเปลี่ยนเครื่อง
เครื่องการบินไทยเที่ยวบิน TG935 พาผู้โดยสารที่สามารถหาเอกสารได้ทันเพียง 4 คน
เรามาถึงกรุงเทพฯ ตอนเช้าตรู่วันจันทร์ (30 มีนาคม) ในเวลาไล่เลี่ยกับผู้โดยสารจากเที่ยวบินอื่นๆ รวมกันไม่เกิน 20 คนจึงใช้เวลาผ่านด่านเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง กลุ่มคนดูหลากหลาย ทั้งนักเรียน คนทำงาน หรือคนที่ตั้งใจจะย้ายไปอยู่กับว่าที่สามีในยุโรป แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุวัยที่ยังแข็งแรง ขั้นตอนการตรวจไม่ซับซ้อนแต่ทุกคนจะถูกวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งหมดสามจุด ครั้งแรกเมื่อเข้าแถวโหลดแอปฯ เพื่อลงทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่สองเมื่อแสดงใบรับรองแพทย์และยื่นใบรับรองจากสถานทูตให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อประทับวันที่การเดินทางเข้าประเทศและรับคำแนะนำให้กักตัวเองเป็นเวลาสองสัปดาห์ และครั้งที่สามก่อนถึงด่านตม. ซึ่งในเช้าวันนั้นไม่มีใครมีไข้จึงไม่มีใครโดนกักตัวใดๆ แล้วทุกคนก็ผ่านการตรวจคนเข้าเมืองได้อย่างไร้ปัญหา
กลับมาที่เรื่องของคุณรังสิมา เธอต้องวิ่งวุ่นหาเอกสารจนครบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และเตรียมบ้านไว้ให้ลูกทั้งสองคนกักตัวเองโดยไม่ต้องพบปะหรือสัมผัสกับคนอื่น แต่สุดท้ายเด็กๆ ก็ไม่ได้ขึ้นเครื่องเพราะคำสั่งล่าสุดที่ห้ามอากาศยานเข้าจอดในประเทศ รังสิมาถึงกับถอดใจกับการจัดการเพื่อให้เด็กๆ ได้กลับบ้านในช่วงวิกฤตและตัดสินใจเดินทางไปหาลูกที่อเมริกาแทน
“เหนื่อยแล้ว ยอมแพ้ และสงสารลูก กลัวจะโดนกล่าวหาว่าเป็นคนเลว ที่เอาเชื้อไวรัสมาแพร่ในประเทศบ้านเกิด“
ดราม่ากักตัว
จุดตรวจ ‘วีซ่า’ และอุณหภูมิร่างกายของคนไทยที่ต้องการเข้าประเทศ
ทันทีที่นายกรัฐมนตรีประกาศชะลอการเข้าประเทศตอนบ่ายวันที่ 2 เมษายน มีคนกลุ่มหนึ่งได้เดินทางออกมาจากสหรัฐอเมริกาแล้ว และในระหว่างเปลี่ยนเครื่องที่ญี่ปุ่นพวกเขาอาจจะไม่มีเวลามากพอที่จะเช็คข่าวการเปลี่ยนใจครั้งล่าสุดของนายกที่จะทำให้เงื่อนไขการเข้าประเทศของพวกเขาเปลี่ยนไป
ทุกคนที่เดินทางมาถึงในวันที่ 3 เมษายนซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนทำงานหลากหลายอาชีพต่างรับรู้เงื่อนไขก่อนขึ้นเครื่องว่า ต้องพกเอกสารสองใบ (ซึ่งทุกคนขอล่วงหน้ามาก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงตามมาตรการที่ตั้งขึ้นสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้) และกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน
ลองจินตนาการว่าคุณเหนื่อยกับการลุ้นให้ได้กลับบ้านมาตลอดสามวันก่อนหน้านี้ แต่ลงเครื่องมาเจอเซอร์ไพรส์จะถูกพาไปกักตัวที่สัตหีบ หลายคนยังคงจำภาพ ‘มุ้งหลังขันใบ’ ตั้งห่างกันไม่ถึงสองเมตรที่ทางราชการเตรียมไว้กักตัวแรงงานจากเกาหลีใต้จนขยาดว่าตัวเองอาจจะไม่ได้รับความปลอดภัยมากพอ หรืออาจจะแจ็กพ็อตติดเชื้อตอนกักตัวนี่แหละ
แน่นอนว่านั่นต้องไม่ใช่ข้ออ้างที่คนกลุ่มนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการกักตัวในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ เพราะการเดินทางแยกย้ายกระจัดกระจายของคนมากกว่า 150 คนย่อมมีความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อมากกว่าการนำคนทั้งหมดไว้ในยานพาหนะเดียวกันและกักตัวไว้ในพื้นที่เดียวกันเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันที่เริ่มคุมไม่อยู่ทำให้เกิดมาตรการใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงเกิดขึ้นทุกวัน เมื่อคุณเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยก็ต้องยอมรับกฎใหม่ล่าสุดที่ทางรัฐบาลกำหนดขึ้น (ตอนที่คุณบินอยู่บนฟ้า)
ดราม่าที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยที่อยู่ในประเทศเกิดความกลัวกับไวรัสจนถึงกับลืมนึกไปว่า อะไรที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ที่ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่จนหลายคนแอบสนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการห้ามคนไทยกลับเข้าบ้านไปเลยเพื่อเลี่ยงปัญหายอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดูเหมือนมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการสร้างเกลียดชังกันเองในหมู่คนไทยในประเทศและนอกประเทศ ด้วยการสร้างภาพให้คนเดินทางกลับบ้านเป็นผู้นำเชื้อไวรัสมาแพร่ในบ้าน ไร้ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพราะปฏิเสธการกักตัวในพื้นที่ที่จัดให้
แต่เราต้องไม่ลืมว่ารัฐเองก็ไร้ซึ่งมาตรการที่ดีในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหากลุ่มคนที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศกลุ่มนี้ หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ในประเทศทั้งการตรวจพบผู้ติดเชื้อ ความเคร่งครัดที่จะเฝ้าระวังและติดตามผู้ที่กักตัวเองโดยสมัครใจเมื่อเดินทางมาถึงประเทศ หรือความหละหลวมในเรื่องการรักษาระยะห่างในหลายพื้นที่ในช่วงก่อนหน้านี้ ปัจจัยเหล่านี้ต่างนำพาให้เรามาถึงจุดที่ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเริ่มฉุดไม่อยู่
เราเชื่อว่านอกจากไม่มีใครอยากติดเชื้อไวรัส ไม่มีใครอยากเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสโดยเฉพาะคนที่เพิ่งเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ เพราะคงไม่มีใครอยากได้ชื่อว่าเป็นคนนำเชื้อมาแพร่กระจายในบ้าน แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ควรที่จะออกมาตรการเพื่อที่จะทำให้คนไทยในต่างประเทศเอง ‘กลับบ้าน’ ไม่ได้ เพียงเพราะ ‘กลัว’ ว่าเขาจะติดเชื้อและนำมาแพร่ในประเทศ เพราะสิ่งที่รัฐควรทำในฐานะที่คนๆ นั้นเป็นคนไทยแต่อยู่ในต่างประเทศและต้องการกลับบ้าน คือให้ความช่วยเหลือ และต้องมีมาตรการที่ดีในการปกป้องคนไทยในประเทศด้วยต่างหาก
สนามบินสุวรรณภูมิเองก็มีป้ายแจ้งเตือนให้เว้นระยะห่าง
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, fit to fly