ทางการพม่ากล่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ว่าประเทศพม่าพร้อมแล้วที่จะรับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงของบังกลาเทศมากกว่า 2,000 คน กลับประเทศในวันที่ 15 พ.ย. นับเป็นกลุ่มแรกจากทั้งหมด 5,000 คน ภายใต้ข้อตกลงระหว่างสองประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว

แต่ชาวโรฮิงญามากกว่า 20 คนที่มีรายชื่ออาจจะได้กลับประเทศบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขาปฏิเสธที่จะกลับไปอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งตนเองอพยพหนีมา ส่วนบังกลาเทศบอกว่าจะไม่บังคับใคร

องค์การสหประชาชาติยังได้กล่าวว่าสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัยสำหรับย้ายกลับไป ส่วนหนึ่งเพราะว่าชาวพุทธในพม่าประท้วงต่อต้านชาวโรฮิงญาที่ถูกส่งกลับประเทศ หน่วยงานด้านผู้อพยพขององค์การสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ว่า ผู้อพยพชาวโรฮิงญาควรจะได้ไปเห็นและดูสภาพแวดล้อมในพม่าก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะกลับไปหรือไม่  

“มันขึ้นอยู่กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่” วิน ยัต อาย (Win Myat Aye) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคมและการตั้งรกรากใหม่กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่ย่างกุ้ง “แต่ทางเราต้องพร้อม เราพร้อมแล้ว”

อาบูล คาลาม (Abul Kalam)  คณะกรรมการบรรเทาทุกข์และการส่งกลับประเทศของบังกลาเทศ (Bangladesh Relief and Repatriation Commissioner)  กล่าวว่ากระบวนการจะเริ่มต้นได้วันพฤหัสบดีที่ 15 พ.ย. นี้

“การกลับไปจะเป็นไปโดยสมัครใจ ไม่มีใครถูกบังคับให้กลับไป” เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์

ทั้งสองประเทศต่างเห็นตรงกันว่ากลางเดือนพฤศจิกายนเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มส่งชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ที่ลี้ภัยมาอยู่บังกลาเทศ เนื่องจากถูกปราบปรามอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว

ชาวโรฮิงญาระบุว่าทหารและครอบครัวของชาวพุทธฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครอบครัวของพวกเขา เผาหมู่บ้าน และข่มขืนหมู่ คณะตรวจสอบภายใต้องค์การสหประชาชาติกล่าวหาว่ากองทัพมีเจตนา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ แต่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาเกือบทั้งหมด โดยบอกว่าเป็นการใช้กำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้พม่ายอมให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาไปดูหมู่บ้านของตัวเอง หรือพื้นที่อยู่ใหม่ก่อนที่จะ “ประเมินอย่างอิสระว่าพวกเขารู้สึกว่าสามารถกลับไปอยู่ด้วยความปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีหรือไม่”

วิน ยัต อายกล่าวว่าได้เตรียมการสำหรับชาวโรฮิงญา 2,251 คนที่จะเดินทางโดยเรือ 2 ลำ กลับพม่าในวันพฤหัสบดีนี้ ส่วนกลุ่มที่สองมีจำนวน 2,095 คนจะเดินทางภายหลังทางรถ เมื่อผ่านกระบวนการจากเจ้าหน้าที่ พวกเขาก็จะถูกส่งไปยังอีกศูนย์หนึ่งที่ให้พักอาศัย มีอาหาร และสร้างบ้านได้ผ่านข้อตกลงเรื่องการทำงานแลกเงิน

คนที่อพยพกลับจะเดินทางได้เฉพาะในเมืองมองดอเท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเมืองที่ชาวโรฮิงญาต้องอพยพ รวมทั้งยังต้องยอมรับบัตรพิสูจน์สัญชาติ เอกสารแสดงตัวตนที่ชาวโรฮิงญาไม่ยอมรับ เพราะว่ามันระบุว่าพวกเขาเป็นชาวต่างชาติ

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ส่วนใหญ่เป็นคนไร้สัญชาติคัดค้านการกลับพม่าโดยปราศจากการรับประกันสถานะพลเมืองและเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายของพวกเขา

โอลี อาเหม็ด ชาวโรฮิงญาที่อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงตั้งแต่กันยายนปีที่แล้วกล่าวว่า เขาเพิ่งรู้ว่าตนเอง ภรรยา และลูก 4 คน อยู่ในรายชื่อคนที่ต้องถูกส่งกลับ ทั้งที่ไม่เคยถูกถามเลยว่าอยากกลับไปพม่าหรือไม่ การถูกบังคับให้กลับไปทำให้เขากลัว

“ผมมีลูกสาวอายุ 13 ปีและอยู่ในรายชื่อด้วย ผมรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งที่จะต้องพาเธอกลับพม่า ที่มีการข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงวัยเดียวกับเธอ ผู้กระทำความผิดและกระทำความรุนแรงต่อหมู่บ้านของเรายังไม่ถูกลงโทษ เราไม่อยากอยู่ในประเทศอื่นตลอดไป แต่เราจะกลับบ้านเกิดของเราต่อเมื่อมันปลอดภัย”

ที่มา:

https://www.reuters.com/article/us-myanmar-rohingya/myanmar-prepares-for-first-rohingya-returnees-but-u-n-warns-against-rushing-idUSKCN1NG0R2

https://www.theguardian.com/world/2018/nov/11/rohingya-myanmar-bangladesh-genocide-repatriation-un-warning

https://www.rfa.org/english/news/myanmar/bangladesh-refugees-11092018175459.html

Tags: , ,